ท้าพิสูจน์EIAรฟฟ.กระบี่ ถ้าไม่จริงกฟผ.ต้องยกเลิก

วันชัย พุทธทอง TCIJ 1 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2047 ครั้ง

เมื่อวันที่ 30 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงาน กระแสการคัดค้านท่าเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพิ่มสูงเป็นผล ภายหลังการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือเวทีค.3 เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา โดยมีบริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด และบริษัท แอร์เซฟ จำกัด ซึ่งได้รับจ้างจากกฟผ. เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งในเวทีดังกล่าวได้กีดกันกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านไม่ให้มีส่วนร่วม และมีเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบพร้อมอาวุธมาคุ้มครองการจัดเวที ส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจในวงกว้างจากคนในพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว

รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล นักวิชาการที่ติดตามการก่อสร้างท่าเรือขนถ่านหิน และโรงไฟฟ้ากระบี่ มาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า การเดินหน้าของกฟผ.และบริษัทที่ปรึกษา เพื่อก่อสร้างโครงการท่าเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยอ้างว่าไฟฟ้าไม่พอใช้ และล่าสุดการจัดเวทีค.3 โดยอ้างว่าเป็นการรับฟังความคิดเห็นประชาชน แต่ความจริงกฟผ.ไม่ให้ความเป็นธรรมกับคนในพื้นที่ เป็นการอ้างที่เป็นเท็จ เป็นการอ้างเพื่อต้องการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพียงเพื่อต้องการความมั่นคงทางการเงินของกฟผ. และกดดันให้ชาวบ้านต้องเสียสละให้กฟผ.สร้างท่าเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อให้คนกฟผ.มีโบนัสงามๆ

       “จ.กระบี่เป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สะอาด เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก มีเหตุผลอะไรที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อให้อาหารทะเลปนเปื่อนสารพิษ โรงไฟฟ้าเผาถ่านหิน 8,000 ตันต่อวัน ปล่อยสารพิษสารตะกั่ว 48 กก./วัน ปล่อยสารปรอท 240 กรัม/วัน(2ขีด) แคดเมียม 1.2 ก.ก./วัน สารหนู 12 ก.ก./วัน แต่กฟผ. ไม่กล้าแสดงตัวเลขแบบนี้” ดร.เรณูกล่าว

         “การจัดเวทีค.3 ต้องเป็นโมฆะ เหตุผลที่ชาวบ้านในพื้นที่สะท้อน คือรับไม่ได้ เพราะเขาบอกว่ามันประเมินบ้าอะไรของมัน ประเมินอะไรก็ไม่กระทบ ความทุเรศคือประเมินและป้องกันแต่โครงการตัวเอง เช่น เขื่อนกันคลื่นเอาไว้ปกป้องแต่โครงการท่าเรือ สร้างแนวกันคลื่นยาว 1 กิโลเมตร เอาไว้กันแรงกัดเซาะจากเรือวิ่ง และกัดเซาะชายฝั่งบริเวณโครงการ การสร้างเขื่อนกันคลื่นยาว 1 กิโลกรัม ตอม่อต่างๆ ที่เป็นโครงสร้างท่าเทียบเรือทำให้เกิดการเปลี่ยนของกระแสน้ำ กัดเซาะขายฝั่ง ซึ่งโดยสรุปมีการประเมินว่าไม่มีผลกระทบ

         “ในเวทีค.3 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ดิฉันได้ให้ความเห็นและท้ากฟผ.ว่า กฟผ.กล้ารับรองหรือไม่ว่า ข้อมูลในร่างรายงานที่ใช้รับฟังความเห็นเป็นจริงทั้งหมด ถ้าดิฉันสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีความเท็จ ในร่างรายงานนี้กฟผ.จะต้องยุติโครงการทันที ผลคือ เงียบคะ ไม่มีใครกล้ารับคำท้า แปลว่าอะไรคะ เอกสารประกอบการรับฟัง มีความเท็จแทรกอยู่”

         “จึงขอท้าดร.อนุชาติ เจ้าหน้าที่กฟผ.ที่รับผิดชอบโครงการดังกล่าวว่า ควรรีบออกมาแถลงต่อสาธารณชนว่า กฟผ.ขอรับรองว่าร่างรายงานฉบับรับฟังความเห็นในเวทีค.3 นั้นเป็นความจริงทั้งหมด หากผู้ใดสามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นเท็จ กฟผ.จะยุติโครงการนี้ และผู้รับผิดชอบจะลาออกทันที เพราะทำให้องค์กรเสื่อมเสีย ดร.อนุชาติและกฟผ.จะกล้ารับคำท้าหรือไม่ เพราะจากการตรวจสอบรายงานพบว่าเป็นเท็จ” ดร.เรณูกล่าว

ดร.เรณูกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องแจกเอกสารให้ประชาชน เพราะวัตถุประสงค์ในขั้นค.3 คือ ทบทวนร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการที่กฟผ. จะต้องใช้ส่งออกไปให้หน่วยงานพิจารณาต่อไป ซึ่งในคณะกรรมการสี่ฝ่ายแก้ปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ชัดเจนว่า ต้องแจกเอกสารร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ให้ประชาชน ห้ามคาดหวังให้ประชาขนไปดาวน์โหลดเอกสาร เรื่องนี้บริษัทที่ปรึกษาทราบดี ลองคิดแบบคนทั่วไปก็ได้ ถ้าจะมาให้ประชาชนทบทวนร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ที่กฟผ.จะส่งให้สผ. เพื่อขอความเห็นชอบตามกฎหมาย เอกสารมี 2 เล่ม หนามากกว่า 1,000 หน้า จะให้ประชาชนอ่านออนไลน์คงไม่ใช่ เพราะพวกเขาเป็นผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่เจ้าของโครงการ จะให้เข้าไปพิมพ์ออกมาเอง ก็ไม่ใช่แน่

ที่ผ่านมากฟผ.แจกเสื้อ แจกแว่นแลกลายเซ็นต์ พาแกนนำฐานเสียงไปดูงานญี่ปุ่น แต่ไม่แจกเอกสารฉบับสมบูรณ์ เพราะอะไร คงไม่ใช่ประหยัดงบประมาณแน่ แต่กฟผ.ขาดธรรมาภิบาลในการจัดประชุมรับฟังความเห็น

         “น่าเสียดายที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นประธานในการรับฟังเวทีค.3 โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วขนถ่านหิน ไม่ได้แสดงความห่วงใยประชาชนที่มาเข้าร่วมเวที แต่ไม่มีที่นั่ง เพราะส่วนใหญ่มีคนสหภาพกฟผ.นั่งอยู่เกือบเต็มพื้นที่ นี่ถ้าท่านห่วงใย เอ่ยปากให้แบ่งที่นั่งกันคนละซีกผู้ได้รับผลกระทบจะได้ใช้สิทธิของพวกเขาแสดงความคิดเห็น แต่ต้องไปนั่งตากแดดอยู่ข้างนอกศาลาประชาคม ที่ล้อมรอบด้วยทหาร อย่างกับอาชญากร วิธีการจัดเวทีแบบนี้เป็นวิธีการที่หยาบมาก”

ชาวบ้านในพื้นที่การสะท้อนว่า ถ้าสร้างท่าเทียบเรือขนถ่านหินบ้านคลองรั้ว และใช้เรือขนถ่านหินขนาด 10,000 เดทเวทตัน กินน้ำลึก 4.5 เมตร จะทำลายหญ้าทะเลเพราะร่องน้ำที่เรือจะวิ่งเข้ามา มีระดับน้ำลึกต่างกัน ระหว่าง 2-5 เมตร ช่วงเวลาน้ำลง 2 ข้างร่องน้ำ มีแต่หญ้าทะเล เห็นชัด (ขนาดเรือครั้งแรกที่กฟผ.มาชี้แจง เวที ค.1 บอกจะใช้เรือขนาด 3,000 เดทเวทตัน กินน้ำลึก 3.5 เมตร สรุปใหญ่ขึ้น 3 เท่ากว่า)

ผืนหญ้าทะเลกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ตามแนวลำเลียงถ่านหิน บริเวณเกาะสีบอยา เรือขนาดนี้ใบพัดเรือจะตะกุยตะกอนใต้ท้องทะเลมาทับถมหญ้าทะเล ให้เสื่อมโทรมและตาย หญ้าทะเลเป็นอาหารของพะยูน ที่นี่เป็นบ้านพะยูน หญ้าทะเลยังเป็นอาหารของหอยฝาเดี่ยวที่พบมาก คือหอยหวาน หอยชักตีน ซึ่งมีในธรรมชาติบริเวณนี้ประชาชนเก็บไปบริโภคได้ เรือขนถ่านหินวิ่งวันละ 2 เที่ยวยังมีเรือลากจูง และเรือบังคับให้เรือใหญ่เข้าร่องน้ำที่ความเร็วต่ำเสียงเรือรบกวนพะยูน และไล่จากคลื่นเสียงพะยูน จึงจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ด้าน นายกฤตภาส รัตนากาญจน์ กลุ่ม Save Krabi กล่าวว่า มาถึงวันนี้คนกระบี่ได้ข้อสรุปแล้วว่า กฟผ.ไม่มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามกฏหมาย ไม่ได้มีความจริงใจที่จะให้คนกระบี่หรือใครก็ตามที่มีส่วนได้เสียจากโครงการดังกล่าว ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นกรณีกฟผ.จะสร้างท่าเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่ บ้านคลองรั้ว อ.เหนือคลองจ.กระบี่ เมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา

          “เวทีค.3 ที่ผ่านมา มีความรู้สึกด้านลบกับเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมาก แสดงให้เห็นถึง ความไม่เป็นธรรมของกฟผ. และรัฐไทยการอ้างว่าจัดเวทีเวทีรับฟังความคิดเห็น แต่ใช้กองกำลังทหารติดอาวุธจำนวนมากเข้ามายืนคุ้มสถานที่จัดงาน เข้าข่ายการข่มขู่ประชาชน เพราะการที่ประชาชนมือเปล่าอยากเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในเวที แต่มีการใช้กองกำลังพร้อมอาวุธมากมายเช่นนี้หมายความว่าอะไร ซึ่งไม่ต่างจากการปล้นสิทธิในการตัดสินใจของประชาชน”

นายกฤตภาสกล่าวต่อว่า วิธีการดำเนินงานของกฟผ. อย่าคิดว่าคนกระบี่รู้ไม่เท่าทัน ขอบอกว่าพวกกฟผ.ทำอะไรอยู่ในสายตาคนกระบี่ตลอดเวลา คนในพื้นที่ย่อมจะรับรู้เมื่อมีคนนอกพื้นที่เข้ามาในพื้นที่ และดำเนินการอะไรไปบ้าง อย่าคิดว่าจะรอดสายตาคนในพื้นที่ คนในพื้นที่จับตากฟผ.ตั้งแต่ต้น และพบข้อน่าสงสัยตั้งแต่เริ่มต้น มีการจัดวางกองกำลังทางเข้ามาในเวที มีคนของกฟผ.หรือหน่วยงานที่จัดตั้งมา เข้าไปนั่งในเวที ทำให้เก้าอี้ที่เตรียมไว้หน้าเวทีเกือบเต็ม ทำให้ประชาชนที่คิดเห็นแตกต่างไม่สามารถเข้าไปนั่งได้

วิธีการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของกฟผ.ไม่โปร่งใสตั้งแต่แรก ปิดกั้นแม้แต่เก้าอี้จะนั้งก็เตรียมให้เฉพาะคนที่เตรียมกันมาได้เข้ามานั่งจนเต็ม แล้วจะเรียกว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นได้อย่างไร หรือแม้แต่เอกสารที่แจกสำหรับพูดคุยแสดงความคิดเห็นในเวทีถามว่ามีใครได้รับบ้าง คนที่ได้รับคือคนที่ฝ่ายจัดเวทีเตรียมมาเท่านั้น  เป็นการปิดหูปิดตา ไม่อยากให้ชาวบ้านรับรู้ความจริง

        “กฟผ.ไม่พูดความจริงเรื่องไฟฟ้า อ้างลอย ๆ ให้คนทั่วไปเข้าใจผิดว่า คนกระบี่คัดค้านการผลิตไฟฟ้า ซึ่งความจริงเป็นเช่นนี้ จ.กระบี่ผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันเตาได้ประมาณ 300 เมกะวัตต์ แต่จ.กระบี่ใช้ไฟฟ้าประมาณ 100 เมกะวัตต์ ทำให้ไฟฟ้าเหลือใช้อยู่ประมาณ 200 กว่าเมกะวัตต์ หากไปดูในภาคใต้แทบทุกจังหวัดผลิตไฟฟ้าได้เอง”

        “จ.สุราษฎร์ธานีผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนเชียวหลาน จ.นครศรีธรรมราช มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนอม จ.สงขลา มีการผลิตไฟฟ้าที่อ.จะนะ มีโรงไฟฟ้า 800 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โรง จ.ยะลา มีการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนบางลาง มีคำถามว่า ในเมื่อแทบทุกจังหวัดมีโรงไฟฟ้าและผลิตได้จนเหลือใช้ แล้วจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ทำไมอีก พวกคุณทำมาหากินกันเอง แต่มาสร้างความเดือดให้คนในพื้นที่แบบนี้ ไม่เป็นธรรมแน่นอน ขอบอกว่าคนกระบี่จะไม่ยอมรับการถูกรังแก ถูกเอาเปรียบอีกต่อไป”

จ.กระบี่ มีรายได้จากการเกษตร การประมง การท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของคนจ.กระบี่ มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเที่ยวจ.กระบี่ วันนี้นักท่องเที่ยวได้รับรู้แล้วว่ากฟผ.กำลังจะสร้างท่าเรือขนถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งนักท่องเที่ยวรับรู้ว่าถ่านหินมีผลกระทบและกว้างขวางมาก ผลกระทบไม่ใช่เกิดเฉพาะจ.กระบี่เท่านั้น แต่จะกระทบไปทั่ว นักท่องเที่ยว แสดงความคิดเห็นว่า การเผาถ่านหินคือการเผากระบี่ กลุ่ม SAVE กระบี่ จึงขอเรียกร้องให้ทุกคนลุกขึ้นมาช่วยกันปกป้องกระบี่ให้รอดพ้นจากการถูกกฟผ.เผาด้วยถ่านหิน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: