จี้ประกาศคุ้มครองแม่ตาว หลังสู้แคดเมี่ยมกว่า10ปี

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 1 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2385 ครั้ง

แม้จะใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว สำหรับการแก้ปัญหาสารพิษปนเปื้อนในพื้นที่ ต.แม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก หลังสร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนลุ่มน้ำแม่ตาวและแม่กุ นำมาสู่การฟ้องร้องในกระบวนการยุติธรรมเพื่อขอให้มีการแก้ไขปัญหาตามกระบวนการอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที เสวนาเรื่อง “สานพลัง สร้างสุขภาพวะ สู่เขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแม่ตาว” เพื่อระดมความคิดเห็นในการนำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางพิษณุโลก เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ให้กระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ ต.พระธาตุผาแดง ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ตามมาตรา 43  แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ภายใน 90 วัน ซึ่งภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำกระบวนการและแผนดำเนินการภายใต้การประกาศเขตพื้นที้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการคณะกรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะทำงานเพื่อพิจารณาเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบริเวณลุ่มน้ำแม่ตาว โดยมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาสถานการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลสภาพแวดล้อม ปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาอื่น ๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว ขณะเดียวกันยังร่วมพิจารณาการกำหนดขอบเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และพิจารณาการจัดทำแผนงานการจัดการคุณภาพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่แม่ตาวด้วย ทั้งนี้การทำงานมีการลงพื้นที่วิเคราะห์ข้อมูล สภาพแวดล้อม และมุ่งเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม มารตรการฟื้นฟูเยียวยา รวมถึงระบบการเฝ้าระวังทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพก่อนที่จะขับเคลื่อนแผนงานให้น่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการต่อไป

ด้านนายญาณพัฒน์ ไพรมีทรัพย์ ตัวแทนชุมชนคนลุ่มน้ำแม่ตาว อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าว่า ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีหลายหน่วยงานเข้าไปศึกษาวิจัยในพื้นที่จำนวนมาก แต่กลับพบว่า ไม่ได้มีการแก้ปัญหาที่เป็นรูปธรรมเลย เพราะในดินยังมีสารแคดเมียมปนเปื้อนในข้าว หรือในแหล่งน้ำ ที่ชาวบ้านจะต้องอาศัยอยู่ ก็ยังมีสารพิษอยู่ สิ่งที่หลายหน่วยงานพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาคือการเข้ามาบอกว่า ให้ชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นแทน ไม่ว่าจะเป็นอ้อย หรือยางพารา ที่ครม.สมัยนั้นพยายามบอกให้ชาวบ้านทำ แต่เพราะราคาของพืชเหล่านี้ไม่ได้ทำให้ชีวิตชาวบ้านดีขึ้น ราคาของพืชชนิดเดียวกัน แต่ในบางพื้นที่ของประเทศกลับมีราคาดีกว่าที่ชาวบ้าน อ.แม่ตาวปลูก ดังนั้นจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ชาวบ้านจะต้องหันกลับไปปลูกข้าวเหมือนเดิม เพราะข้าวเป็นพืชที่สอดคล้องกับชีวิตของคนในชุมชนมากกว่า แม้ไม่มีเงินแต่ถ้ามีข้าวชาวบ้านก็อยู่ได้

        “สิ่งที่น่าสงสัยก็คือการแก้ปัญหาทำไมจึงไม่แก้ให้ถูกที่ เพราะบอกให้ชาวบ้านเปลี่ยนการปลูกพืช แต่ในดินก็ยังมีแคดเมี่ยมอยู่เมื่อพืชที่ถูกบอกให้เปลี่ยนไปปลูกแทนไม่ได้ผลที่ดี ชาวบ้านก็ต้องกลับมาปลูกข้าวเหมือนเดิมในขณะที่ไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาดินทั้งที่เราพบว่ามีนักวิจัยเข้าพื้นที่มาเยอะมาก แต่สุดท้ายก็ไม่เห็นผล บางคนหายไปเลยก็มี” นายญาณพัฒน์กล่าว

สำหรับประเด็นเรื่องของเยียวยาเรื่องสุขภาพของผู้ป่วยในพื้นที่ หากพิจารณา 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีความช่วยเหลือในระยะแรก แต่ในระยะหลังการเยียวยาไม่ต่อเนื่อง โรงพยาบาลระบุว่าไม่มีงบประมาณที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรื่องนี้อีกในขณะที่ชาวบ้านอีกจำนวนมากยังคงต้องต่อสู้กับโรคที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสารแคดเมี่ยม ไม่ว่าจะเป็นโรคไต หรือโรคกระดูกพรุน

        “ผมคิดว่าแม้ว่ากระบวนการยุติธรรมจะไม่ได้ช่วยเหลือให้ชาวบ้านมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ทีเดียวนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดความจริง การประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมถือเป็นความสำเร็จขั้นแรกของการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบล ซึ่งได้รับผลกระทบจากแคดเมี่ยมในร่างกายมานานนับ 10 ปี หลังจากนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบควรสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อกำหนดแผน มาตรการและขอบเขตของพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นบทเรียนของพื้นที่อื่นต่อไป”

นายวีรนิต ฐานสุพร ผู้อำนวยการกลุ่มงานพื้นที่คุ้มครองสิ่วแดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า พื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว มีการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมในดิน ตะกอนดิน และน้ำในลำน้ำแม่ตาว และแม่กุ รวมทั้งมีผู้ป่วยที่มีสารแคดเมี่ยมในร่างกาย ดังนั้นการจัดทำเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการควบคุมและฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม และการเฝ้าระวังทางสุขภาพของประชาชน จึงได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาการปนเปื้อนของสารแคดเมี่ยมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำมาสู่การยกร่างแผนปฏิบัติการเพื่อควบคุม ป้องกัน ฟื้นฟู และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว

สำหรับร่างกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่วแดล้อมในพบริเวณพื้นที่ ต.พระธาตุผาแดง  ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก พ.ศ.... ได้กำหนดให้พื้นที่ตามขอบเขตการปกครองทั้ง 3 ตำบล เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และแบ่งบริเวณย่อยออกเป็น 3 บริเวณ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมต่อสภาพปัญหาและสภาพกายภาพของพื้นที่ คือ บริวณที่ 1 จะเป็นบริเวณที่มีศักยภาพแร่สังกะสี บริเวณที่ 2 จะเป็นบริเวณพื้นที่ 1.5 กิโลเมตร จากแนวขนานลำห้วยแม่ตาวทั้งสองฝั่ง และบริเวณ 1 กิโลเมตร จากแนวขนานของลำห้วยแม่กุทั้งสองฝั่ง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผลการตรวจพบการปนเปื้อนสารแคคเมี่ยมในดินและลำน้ำ ส่วนบริเวณที่ 3 เป็นบริเวณที่นอกเหนือบริเวณที่ 1 และ บริเวณที่ 2 ส่วนแผนฟื้นฟู ได้กำหนดยุทธศาสตร์ของแผนออกเป็น 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ยุทธศาสตร์การยกระดับคุณภาพชีวิต และสุขภาพที่ดีให้กับประชาชน และยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของทุกภาคี ซึ่งในแต่ละยุทธศาสตร์ จะกำหนดแผนงานโครงการและหน่วยราชการที่รับผิดชอบ

      “การดำเนินการต่อไป สผ.จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้จากการประชุมประชาคมเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2557 มาพิจารณาปรับแก้ไข และจะนำร่างกฎกระทรวงและร่างแผนฟื้นฟู เสนอคณะทำงานระดับอำเภอ คณะทำงานระดับจังหวัด คณะอนุกรรมการพิจารณาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีต่อไป”

สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว มีดอยผาแดงเป็นแหล่งต้นน้ำ ไหลผ่านพื้นที่ห้วยแม่ตาว และแม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก บริเวณนี้เคยเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่สำคัญของประเทศ ประกอบกับการพัฒนาระบบเหมืองฝายที่เข้มแข็ง ผลผลิตจึงได้รับการยกย่องว่าเป็นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ดอยผาแดง ยังเป็นแหล่งสังกะสีคุณภาพดีที่ใหญ่ที่สุดในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งบริษัทเอกชนได้รับประทานบัตรกิจการเหมืองแร่มาตั้งแต่ปี 2512 โดยบริษัท ไทยซิงค์ จำกัด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องเลิกกิจการทิ้งเป็นเหมืองร้างถึง 7 ปี กระทั่งปี 2525 บริษัท ผาแดงอินดัสเทรียล จำกัด (มหาชน) ได้เข้ารับช่วงสัมปทานกิจการจนถึงปัจจุบัน

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.2541-2546 สถาบันจัดการน้ำนานาชาติ (International Water Management Institute : IWMI) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร ตรวจวัดระดับสารแคดเมี่ยมในดินและข้าวบริเวณ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก พบการปนเปื้อนในที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ซึ่งบริโภคข้าวที่ผลิตได้จากบริเวณนั้น ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวบ้านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสะสมแคดเมี่ยมในร่างกาย เนื่องจากสารแคคเมี่ยมทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมและโรคกระดูกผุ เนื่องจากร่างกายสูญเสียแคลเซี่ยมออกมาทางปัสสาวะ กระทั่งโรงพยาบาลแม่สอดต้องออกบัตร ผู้ป่วยโครงการแคดเมี่ยม ได้รับบริการโดยไม่คิดมูลค่าหลังพบสถานการณ์ด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่เลวร้ายลง

ต่อมาปี 2547 คณะรัฐมนตรีในขณะนั้น มีมติมอบหมายให้ จ.ตาก ทำลายข้าวที่ปนเปื้อนสารแคดเมี่ยมอย่างเร่งด่วน พร้อมประกาศรับซื้อข้าวจากบ้านมาทำลาย ขณะเดียวกันมีมติจ่ายค่าชดเชยให้ชาวนาที่ปลูกข้าวและพืชอาหารในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวเป็นเวลา 3 ปี พร้อมส่งเสริมให้ปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นทดแทน เช่น อ้อย ยางพารา ไม้ดอก เป็นต้น อย่างไรก็ตามผลที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านตื่นตัว เคลื่อนไหวเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น พร้อมกันนี้ยังได้ร่วมกับ สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลก เพื่อให้มีคำสั่งบังคับ 6 หน่วยงาน ได้แก่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการพัฒนาที่ดิน คณะกรรมการควบคุมมลพิษ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุม ป้องกัน และแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ฟื้นฟู เยียวยาสภาพแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนที่ป่วยจากการได้รับสารแคดเมี่ยมสะสมในร่างกาย และขอให้หยุดการประกอบกิจการเหมืองแร่สังกะสีทั้ง 2 บริษัท พร้อมชดใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท จากการทำเหมืองแร่สังกะสีที่ทำให้ที่ดินทำกินเสียหาย เสื่อมโทรม จากการปนเปื้อนแคดเมี่ยมจนไม่สามารถกินข้าวและพืชผลการเกษตรอื่นที่ปลูกได้

กระทั่งเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 ให้กระทรวงทรัพยากรธรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในท้องที่ ต.พระธาตุผาแดง, ต.แม่ตาว และ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ภายใน 90 วัน ซึ่งภายหลังจากศาลมีคำสั่งแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องจัดทำกระบวนการและแผนดำเนินการภายใต้การประกาศเขตพื้นที้คุ้มครองสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์ดังกล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: