จุฬาฯเป็นที่ดินพระราชทานจริงหรือ

ศูนย์ข่าว TCIJ 1 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 14389 ครั้ง


พร้อมพระราชทานเงินที่เหลือจากการสร้างพระบรมรูปทรงม้า เพื่อสร้างอาคารเรียนและตึกบัญชาการบนที่ดินของพระคลังข้างที่จำนวน 1,309 ไร่ ซึ่งอยู่ที่อำเภอปทุมวัน และได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตนำเงินที่เหลือจากการก่อสร้างให้ใช้เพื่อกิจการของโรงเรียน

โดยผู้บัญชาการโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำสัญญาเช่าที่ดินดังกล่าว เช่าลงวันที่ 26 ตุลาคม 2459 จากกรมพระคลังข้างที่ โดยเก็บผลประโยชน์ที่ได้จากการทำประโยชน์ที่ดินส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินบำรุงกิจการโรงเรียนและอีกส่วนหนึ่งเป็นค่าเช่าจ่ายให้แก่กรมพระคลังข้างที่ พื้นที่นี้จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของพระคลังข้างที่อย่างสมบูรณ์  สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ตามความประสงค์ รวมทั้งอาจจะขึ้นค่าเช่าจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ต่อสัญญาเช่าได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ดินผืนนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่เพราะต้องการนำเงินค่าเช่าที่ดินเพื่อเลี้ยงชีพบาทบริจาริกา

สรุปได้ว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ทำการเช่าที่ดินดังกล่าวจากพระคลังข้างที่ เพื่อใช้ในการศึกษาและไปจัดการหาประโยชน์เพื่อใช้ในกิจการเพื่อการศึกษา

เป็นเจ้าของที่ดินสมบูรณ์หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475  ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม มีการแบ่งแยกทรัพย์สินของสถาบันกษัตริย์และสาธารณะประโยชน์ออกจากกัน ในปี 2476 มีการปรับกรมพระคลังข้างที่เดิมให้เปลี่ยนเป็น สำนักงานพระคลังข้างที่ ภายใต้การดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ต่อมาภายหลังรัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม 2477 (2478 ตามปีปฏิทินปัจจุบัน) ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 ทำให้มีความพยายามของผู้บริหารในขณะนั้นคือ  พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและอธิการบดีจุฬาฯ ทำหนังสือขอให้คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ขอให้ยกที่ดินผืนดังกล่าวให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมขอให้ยกหนี้สินค่าเช่าที่จุฬาฯ ติดค้างกับพระคลังข้างที่ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

จนกระทั่งปี 2482 พ.ต.หลวงพิบูลสงคราม ได้กลับมาดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาฯ อีกเป็นวาระที่ 2 แต่ในครั้งนี้ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วย พ.ต.หลวงพิบูลสงครามจึงได้ทำหนังสือขอที่ดินผืนนี้อีกครั้งแก่คณะผู้สำเร็จราชการ และนำข้อเสนอดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรโดยเสนอในรูปแบบของร่างพระราชบัญญัติโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินอันเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ตำบลปทุมวัน อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ผลปรากฏว่าพระราชบัญญัติดังกล่าวก็สามารถผ่านรัฐสภาออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นของจุฬาฯ โดยสมบูรณ์ และไม่ได้เป็นที่ดินของพระคลังข้างทีอีกต่อไป

โดยเหตุผลในการโอนที่ดินดังกล่าวให้เป็นสมบัติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นได้เขียนไว้ชัดเจนว่า “เพื่อเป็นสถานศึกษาและค้นคว้าศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อจะส่งเสริมวิชาชีพชั้นสูงและทะนุบำรุงวัฒนธรรมแห่งชาติสืบไป”

ทรัพย์สินนอกพื้นที่ไข่แดงอีกมหาศาล รอการพัฒนา

นอกจากที่ดินในเขตปทุมวันแล้ว จุฬาฯ เองยังมีที่ดินอื่น ๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดที่มีโครงการพัฒนาในเชิงพาณิชย์อยู่อีก ได้แก่

- บริเวณถนนอ่อนนุช (สุขุมวิท 77) ฝั่งตรงข้ามวัดมหาบุศย์ เป็นที่ดินเปล่ามีพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ 3 งาน 77 ตร.ว. รายละเอียดโครงการตามแผนของจุฬาฯ เป็นกลุ่มอาคารประมาณ 4 กลุ่ม ความสูงอาคาร 3–4 ชั้น พัฒนาพื้นที่ให้เป็น Sport Park โดยได้จัดหาผู้ลงทุนเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการทำสัญญาเช่าพื้นที่ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2557 ปัจจุบันยังคงเป็นที่ดินเปล่าไม่มีการก่อสร้างหรือปรับสภาพพื้นที่ แต่มีสำนักงานขายโครงการคอนโดมิเนียม ลุมพินีวิล 2 ของบริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนต์ ซึ่งมีพื้นที่โครงการติดกับที่ดินของจุฬาฯ และโรงโม่ปูนของบริษัท CPAC ในเครือซิเมนต์ไทยใช้พื้นที่อยู่ ที่ดินบริเวณซอยอ่อนนุช กรมธนารักษ์ได้ประเมินราคาที่ดินช่วงปี 2555-2558 มีราคาอยู่ที่ 45,000-120,000 บาท/ตารางวา

- บริเวณถนนพระราม 9 สภาพที่ดินเป็นพื้นที่ว่างเปล่ามีระบบสาธารณูปโภคพร้อม แต่ถูกเวนคืนที่ดินบางส่วนเพื่อตัดถนนเป็นถนนเชื่อมระหว่างถนนพัฒนาการและถนนศรีนครินทร์ แบ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่ 1 ประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา เป็นที่ดินที่เคยจัดเป็นสวัสดิการของมหาวิทยาลัยให้บุคลากร เป็นส่วนที่ถูกเวนคืนเพื่อตัดถนน ส่วนที่ 2 ประมาณ 9 ไร่ 64 ตารางวา ปัจจุบัน จุฬาฯ รับซื้อคืนจากบุคลากรเนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีทางออกถนนสาธารณะ มีถนนส่วนบุคคลตัดกลางพื้นที่  ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกเวนคืนจำนวน 1 งาน 73 ตารางวาคงเหลือพื้นที่ 8 ไร่ 64 ตารางวา ระดับตํ่ากว่าถนนประมาณ 1 เมตร

- บริเวณเขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี 2546 สำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ได้พิจารณาคัดเลือกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดวรนิทัศน์ เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณเขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่ประมาณ 11 ไร่ ระยะเวลาการเช่า 15 ปี เพื่อพัฒนาให้เป็น Boutique Hotel ที่มีมาตรฐานระดับ 5 ดาวตามมาตรฐานของสมาคมโรงแรมไทยใช้ชื่อโครงการวรบุระรีสอร์ทแอนด์สปา โดยเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2547 ได้เปิดให้บริการเมื่อเดือนตุลาคม 2548

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง คลิก เปิดขุมทรัพย์'ที่ดินจุฬาฯ'มูลค่าแสนล้าน มหา’ลัยแปลงร่างเป็นนักพัฒนาอสังหาฯ

ทรัพย์สินของจุฬาฯ

อ่านข่าวเก่าที่เกี่ยวข้อง คลิก ปัญหาที่ดิน‘จุฬาฯ-อุเทนฯ’จบยาก อุเทนฯเปิดข้อมูลเก่า-สัญญาเช่าสู้ จุฬาฯยันเดินหน้าแผนจัดการที่ดิน โดยทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 26 มิถุนายน 2556

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: