คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกรายงาน ชี้การกระทำของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และชาวกะเหรี่ยงอยู่มาดั้งเดิมก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติ และส่งมาตรการการป้องกันทั้งแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ
วันที่ 2 ตุลาคม ประชาไทรายงานว่า จากเหตุการณ์อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน นำโดยนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร สนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าผลักดัน เผาบ้าน เผายุ้งฉาง ชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน จนนำมาสู่เฮลิคอปเตอร์ทหารตก 3 ลำ มีนายทหาร ทหารและสื่อมวลชนเสียชีวิต 17 ราย ในช่วงเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2554
ต่อมาเครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมได้ร้องเรียนต่อสภาทนายความ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า ระหว่างมิถุนายน 2553 ถึงกรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและทหารได้ดำเนินการผลักดัน รื้อถอน และทำลายบ้านเรือนของชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิม จำนวนหลายสิบหลัง
สภาทนายความ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น ตรวจสอบแล้วพบว่า ชาวบ้านเป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงมีบัตรประจำตัวประชาชน ที่ระบุว่าเป็นคนไทยโดยกำเนิด มีถิ่นฐานบ้านเรือนและทรัพย์สินจริง และมีความเสียหายจากการกระทำของเจ้าหน้าที่จริง โดยเจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจเข้ามาเผาทำลายทรัพย์สิน บ้านเรือนของประชาชน จึงมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เรียกเงินชดเชยค่าเสียหายและขอให้ประชาชนได้กลับไปทำกินในภูมิลำเนาเดิม ปัจจุบันคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล
ด้านคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่า ได้พิจารณาและดำเนินการตรวจสอบพบว่า มีข้อมูลของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขายืนยันว่า ราษฎรชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน เป็นหมู่บ้านดั้งเดิม ประชากรมีอาชีพเพาะปลูกเพื่อยังชีพเป็นหลักรวมทั้งการหาของป่า มีการสำรวจมาตั้งแต่ พ.ศ.2526 ต่อมามีการจัดทำทะเบียนราษฎรชาวไทยภูเขา เมื่อเดือนเมษายน 2531 มีรวมทั้งสิ้น 71 ครอบครัว 367 คน รวมถึงนายโคอี้ มีมิ อายุกว่า 100 ปีและครอบครัว
คณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและป่าจึงเห็นว่า การอยู่อาศัยของราษฎรชาวกะเหรี่ยงบริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน มีลักษณะเป็นสิทธิของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม เนื่องจากได้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินเป็นที่ตั้งบ้านเรือน และใช้เป็นที่ทำกินหรือพื้นที่ทางการเกษตร มีวิถีการดำรงชีวิต ประเพณีวัฒนธรรมมาเป็นระยะเวลานาน มีลักษณะการตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งย่อมจะต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมกับหน่วยงานของรัฐในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้มีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและทำกินในที่ดินพิพาท ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
การกระทำที่เป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของชาวกะเหรี่ยง ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ และจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิไม่ได้ โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีสาระสำคัญอยู่ที่การได้อยู่อาศัยในชุมชนของตน และการได้เลือกที่จะมีวิถีชีวิตแห่งตนตามขนบธรรมเนียมประเพณี เมื่อผู้ถูกร้อง (นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน) รับว่า ได้เข้ารื้อถอนและเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวจริง
การใช้มาตรการเผาทำลายทรัพย์สิน จึงเป็นการใช้อำนาจเกินกว่ากรณี เนื่องจากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ใช้อำนาจ ดังนั้น การใช้มาตรการในการเผาทรัพย์สินจึงเป็นการละเมิดต่อสิทธิในทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงกลุ่มผู้ร้อง
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีมติว่า การใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของผู้ถูกร้อง ในการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 4 มาตรา 41 และมาตรา 66 จึงเห็นควรกำหนดมาตรการการแก้ไขปัญหา และป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนกรณีนี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาดำเนินการดังนี้
1.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สมควรตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงในประเด็นการเข้าผลักดัน รื้อถอน และเผาทำลายทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินของผู้ถูกร้องให้แล้วเสร็จ และสมควรยุติการดำเนินการ จับกุม ข่มขู่ คุกคาม ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดิน ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง และผ่อนผันให้ชาวกะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมทันที จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ
2.ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำรวจการถือครองที่ดินทำกินของกลุ่มชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึกบางกลอยบนและบ้านใจแผ่นดินตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2541 เรื่อง การแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าไม้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
3.ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับจังหวัดเพชรบุรี แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ชาวกะเหรี่ยงที่ได้รับความเสียหายจากการเข้ารื้อถอน เผาทำลายทรัพย์สินของผู้ถูกร้อง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
4.ให้กระทรวงวัฒนธรรมดำเนินการแก้ไขปัญหาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
5.ให้กรมการปกครองโดยอำเภอแก่งกระจาน จัดทำโครงการเคลื่อนที่ เร่งรัดการสำรวจ และให้สัญชาติไทยแก่กะเหรี่ยงกลุ่มนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ได้รับรายงานฉบับนี้
ขอบคุณที่มา: ประชาไท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ