ก้าวหน้า เสาวกุล:  สังคมไทยยอมให้เรามีชีวิต แต่ไม่ให้เรามีศักดิ์ศรี

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 2 ธ.ค. 2557


มีคำพูดว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความอดทนต่อความแตกต่างหลากหลายทางเพศ แต่ไม่ได้การยอมรับอย่างแท้จริง นี่คงเป็นเหตุให้คนหลากหลายทางเพศยังคงถูกละเมิดในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่การทำร้ายร่างกายจนถึงการเลือกปฏิบัติ

สิทธิของคนหลากหลายทางเพศยังเป็นประเด็นใหม่และองค์ความรู้ก็กำลังอยู่ในระยะการก่อร่างสร้างตัวในความเห็นของ ก้าวหน้า เสาวกุล ประธานร่วมสมาคมอิลก้า เอเชีย และคณะกรรมการสมาคมอิลก้า (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association) ระดับโลก คนไทยคนแรกและคนเดียวในขณะนี้ที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสากลที่ขับเคลื่อนด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งมีอายุ 30 กว่าปี

ก้าวหน้าในฐานะผู้ชายข้ามเพศ (Transman) เล่าภาพสะท้อนจากการไปประชุมอิลก้าโลกในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ประเทศเม็กซิโก ทั้งยังเป็นผู้นำเสนอจนทำให้ประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดประชุมอิลก้าโลกในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นโอกาสดีสำหรับเครือข่ายหลากหลายทางเพศในไทย ประเทศที่แม้จะเกิดกว้าง แต่การเลือกปฏิบัติกลับยังซุกซ่อนเป็นเนื้อร้ายกัดกินสิทธิมนุษยชน

ประเทศที่ยอมให้คนหลากหลายทางเพศมีชีวิต แต่ไม่ยอมให้มีศักดิ์ศรีเท่าเทียม

TCIJ: คุณมาทำงานร่วมกับอิลก้า (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association)ได้ยังไง

ก้าวหน้า: เมื่อเริ่มแรกมีความสงสัยเรื่องตัวตนทางเพศของตัวเอง ผมค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต โชคดีที่ผมอ่านภาษาอังกฤษได้ ได้รู้ว่าเขามีการเคลื่อนไหวยังไง แล้วก็มาค้นหาข้อมูลของไทย ได้เจอกลุ่มอัญจารี ซึ่งทำงานเรื่องนี้ แล้วครั้งหนึ่งศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจัดเสวนาเรื่องการเคลื่อนไหวด้านสิทธิทางเพศในเมืองไทย ผมก็ไปเจอพี่อัญชนา สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการอัญจารี มีการพูดคุยกัน และได้เป็นอาสาสมัครของอัญจารี ทำให้ผมได้มีโอกาสไปสัมนากฎหมายคู่ชีวิต พ.ร.บ.ความเสมอภาคระหว่างเพศ หลังจากนั้นผมได้ทุนไปเรียนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนกับสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียร่วมกับจุฬาฯ แล้วก็ได้ทุนไปอบรมเรื่องเพศสภาพกับความยุติธรรม มาอยู่กับเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ จนกระทั่งมีโอกาสเป็นตัวแทนไปนำเสนอในงานเอเชียน ฟอรั่ม จึงได้รู้จักกับเครือข่ายอาเซียน แอลจีบีที (L-Lesbian, G-Gay, B-Bisexual, T-Transgender)

ในงานอิลก้า เอเชีย เมื่อปีที่แล้วมาจัดที่ประเทศไทยและมีการเปิดโควต้ารับสมัครสมาชิกบอร์ดบริหารที่เป็นทรานเจนเดอร์หรือคนข้ามเพศของอิลก้า เอเชีย ครั้งแรก ทางอัญจารีจึงเสนอชื่อผมเป็นผู้สมัครและผมก็ได้รับเลือกด้วยการพูดเพียงไม่กี่ประโยค เนื่องจากผู้สมัครอีกสามท่านเป็นผู้หญิงข้ามเพศ มีผมเป็นผู้ชายข้ามเพศคนเดียว ผมก็บอกว่าผมจะสะท้อนเสียงของกลุ่มข้ามเพศทั้งผู้หญิงและผู้ชายให้แก่คนทั้งเอเชียได้ยิน ผมคิดว่าที่ประชุมคงรู้สึกคล้ายๆ กันคือคนที่เป็นผู้ชายข้ามเพศ มองเห็นได้น้อยหรือมีคนเข้ามาทำงานตรงนี้น้อย จึงให้โอกาสผมเข้ามา

และในการเลือกครั้งที่สองคือการเลือกประธาน ประธานของอิลก้า เอเชีย จะมีสองประเภทคือ Female กับ Non-Female ผมก็ลงสมัครในตำแหน่งของ  Non-Female คู่กับผู้ชายอีกคนหนึ่งจากอินโดนีเซีย และผมก็ได้รับเลือก ผมจึงได้เป็นประธานอิลก้า เอเชีย และเป็นผู้ชายข้ามเพศคนแรกในคณะกรรมการบอร์ดระดับโลกของอิลก้า

TCIJ: คงมีคนจำนวนมากที่อยากรู้ว่า อิลก้าคืออะไรและทำอะไร

ก้าวหน้า: อิลก้าเป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยกลุ่มเกย์ที่อังกฤษ เมื่อปี 2521 เป็นองค์กรที่รวบรวมเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ 1,100 องค์กร ทั้งหมด 80 ประเทศทั่วโลก และยังเปิดรับสมัครองค์กรอื่นๆ ที่ทำงานด้านนี้อยู่เรื่อยๆ อิลก้ามีสำนักงานอยู่ทุกทวีป มีอิลก้า ยุโรป, อเมริกาเหนือ, ละตินอเมริกา, เอเชีย, โอเชเนีย (ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และหมู่เกาะแปซิฟิก) และแอฟริกา  แต่ละทวีปจะมีบอร์ด 6-10 คนมีประธานของตัวเอง

ในโครงสร้างระดับทวีปจะมีการจัดสัมนาทุกสองปี เพื่อจะสร้างเครือข่ายหรือรับรู้สถานการณ์ของทวีปนั้นๆ ตอนนี้ สำหรับอิลก้า เอเชีย เพิ่งจดทะเบียนเป็นมูลนิธิที่ประเทศจีน เขตปกครองพิเศษฮ่องกง บทบาทของอิลก้า เอเชีย ยังจำกัดอยู่เฉพาะการสร้างเครือข่ายและการจัดประชุมทุกสองปี เคยจัดที่เชียงใหม่ ที่สุราบายา อินโดนีเซีย จัดมาแล้วทั้งหมด 5 ครั้ง และครั้งต่อไปจะจัดที่งานไพรด์ ที่ไต้หวัน ส่วนในอนาคต อิลก้า เอเชีย มีแผนยุทธศาสตร์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรเครือข่าย

 

"สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่พูดความจริงต่อกัน แต่ในทางกลับกัน

เรากลับเป็นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้นแต่ขณะเดียวกัน

เราก็ไม่ได้ยอมรับเพศที่สามอย่างเคารพในฐานะที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ"

 

ด้านหนึ่ง อิลก้าเป็นองค์กรที่ปรึกษาของคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหรือยูเอ็น เราทำงานในด้านการประสานงานกับยูเอ็น พูดง่ายๆ ว่าเป็นองค์กรที่ไปล็อบบี้ยูเอ็น ทำงานในเชิงการเมืองในแต่ละภูมิภาค แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเข้มแข็งหรือบทบาทหน้าที่ของอิลก้าแต่ละภูมิภาคไม่เท่ากัน เนื่องจากว่าการก่อตั้งใช้เวลาไม่เท่ากัน

โครงสร้างของอิลก้า เวิร์ล จะมีการจัดประชุมทุกๆ สองปี แล้วแต่สมาชิกจะเลือกว่าที่ไหน จัดมาแล้ว 27 ครั้ง ครั้งล่าสุดคือเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่ประเทศเม็กซิโก้ ผมกับทีมงานก็ไปนำเสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งหน้า ซึ่งเรียกว่าเป็นครั้งที่ยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ เพราะจะเป็นการรวมตัวของนักสิทธิมนุษยชนด้านความหลากหลายทางเพศและผู้ที่มีองค์ความรู้ด้านความหลากหลายทางเพศจากทั่วโลกกว่า 500 ชีวิตมาประชุมที่เมืองไทย แล้วมีโอกาสที่เสียงของเอเชียจะได้ส่งเสียง เพราะตัวอิลก้าเองจัดประชุมหมุนเวียนก็เพื่อรับฟังสถานการณ์ทั่วโลก แล้วอิลก้าเองก็จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับสิทธิความหลากหลายทางเพศด้วย

TCIJ: จากการไปร่วมประชุมที่เม็กซิโก้ สถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศในระดับโลกเป็นอย่างไร

ก้าวหน้า: ต้องอธิบายเป็นภูมิภาค เพราะ 6 ภูมิภาคมีความก้าวหน้าทางด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศไม่เท่ากัน อเมริกาเหนือจะเห็นว่าในแคนาดามีการแต่งงานของเพศเดียวกันมาแล้วเป็นสิบปี ในอเมริกา ศาลสูงเพิ่งสั่ว่าการห้ามการแต่งงานของเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดรัฐธรรมนูญ ก็มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในแต่ละรัฐทุกวัน

ในอเมริกาใต้ดูจะก้าวหน้ามากที่สุด โดยประเทศที่น่าจะเป็นเรือธงของการเคลื่อนไหวคืออาร์เจนตินา ในการให้สิทธิทางเพศของคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ โดยเฉพาะคนรักเพศเดียวกันจะได้สิทธิในการแต่งงาน ส่วนคนข้ามเพศจะได้สิทธิ์เปลี่ยนคำนำหน้า เปลี่ยนสถานะทางเพศ และการเปลี่ยนเพศสภาพยังได้รับการยอมรับจากระบบสาธารณสุข คือสามารถเปลี่ยนได้โดยไม่ต้องใช้เงินตัวเอง แต่รัฐจะออกเงินให้ในฐานะพลเมือง ตรงนี้ค่อนข้างก้าวหน้ามาก เดนมาร์กก็เพิ่งจะนำไปใช้ จะเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลง ถ่ายโอนความรู้กัน

ส่วนโอเชเนีย จะเห็นว่ามีความก้าวหน้าในออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนในเอเชียค่อนข้างหลากหลาย ประเทศที่มีการเปลี่ยนเพศสภาพแล้วเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้มีญี่ปุ่น เนปาล ส่วนการแต่งงานเพศเดียวกันไม่มีสักประเทศ แล้วประเทศในตะวันออกกลางก็ยังมีโทษของการประหารชีวิต การเฆี่ยนตี ประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเวียดนาม กฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกันก็เพิ่งตกไป

ส่วนที่น่าเป็นห่วงมากๆ จะเป็นทวีปแอฟริกา มีกระแสต่อต้านเกย์ค่อนข้างเยอะ มีบทลงโทษ คือความรุนแรงจะอยู่ที่ประเทศไหนมีโทษทางอาญา คือโบยตี กักขัง จำคุก จนกระทั่งถึงโทษประหาร เอเชียแถบตะวันออกกลางและเอเชียกลางจะเป็นเรดโซน แอฟริกาก็เรดโซนค่อนข้างเยอะ ภูมิภาคที่มีความก้าวหน้าคือยุโรปกับละตินอเมริกา

TCIJ: เรามักเข้าใจว่าสิทธิมนุษยชนน่าจะพัฒนาไปด้วยกันกับการเมืองและเศรษฐกิจ แต่คุณบอกว่าละตินอเมริกาค่อนข้างจะก้าวหน้าเรื่องสิทธิของผู้มีความหลาหลายทางเพศ คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร

ก้าวหน้า: มันเป็นเรื่องของการต่อสู้เชิงความคิด ผมไม่มีความรู้เรื่องระบบการเมืองในละตินอเมริกาเลย แต่เท่าที่สัมผัสมา ผมคิดว่าแนวคิดทางสังคมเขาค่อนข้างแข็งแกร่ง แนวคิดค่อนข้างเอียงไปทางซ้าย แต่ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิ โทษของการเป็นคนรักเพศเดียวกันหรือคนข้ามเพศ ไม่มี ผมเข้าใจว่าตัวชุมชน ตัวการเคลื่อนไหวของเขาเข้มแข็ง คนที่มาประชุมที่เม็กซิโกส่วนใหญ่เป็นชาวละตินอเมริกา จะเห็นว่าละตินอเมริกาเป็นภูมิภาคที่เคลื่อนไหวเข้มแข็งมากในเรื่องสิทธิทางเพศ

ทำไมถึงเรียกว่าเข้มแข็ง การรวมตัวหรือการทำงานชุมชนเหนียวแน่น โดยกลไก โดยลักษณะจะเห็นว่าเขามีความคิดก้าวหน้าค่อนข้างเยอะ ปกติแนวคิดสังคมนิยมจะไม่ให้สิทธิทางเพศอย่างอดีตโซเวียตหรือจีน แต่ผมเห็นว่าสังคมนิยมในแบบอเมริกาใต้กลับให้ความสำคัญกับสิทธิความเท่าเทียมกัน ผมคุยกับคนทำกฎหมายที่อาร์เจนตินาว่า ทำไมประเทศของคุณจึงก้าวหน้าจังเลยในเรื่องนี้ เขาตอบว่าเพราะเขาต่อสู้โดยมีหลักที่มั่นคงแข็งแรง นั่นคือหลักสิทธิมนุษยชน เขากลับพูดว่าสิ่งที่ฉันเป็นมันคือสิทธิ์ ดังนั้น ฉันจะยืนหยัดเพื่อเอากฎหมายที่อยู่บพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนโดยสมบูรณ์เท่านั้น แม้ในขบวนการแอลจีบีทีเองจะมีการถกเถียงว่า รับๆ กฎหมายไปก่อน แล้วค่อยแก้ทีหลังหรือจะถูกพูดว่าได้คืบจะเอาศอก ซึ่งเป็นคำที่คนไทยมักจะพูดกันเวลาร่างกฎหมาย แต่คนที่ทำงานเรื่องในอาร์เจนตินาไม่ยอม และจะใช้หลักสิทธิมนุษยชนสนับสนุนความคิดของตัวเอง

ถ้าจะให้ผมให้เครดิต ผมให้เครดิตคนทำงานเรื่องสิทธิทางเพศ การจะต่อสู้เรื่องนี้ หนึ่งต้องมีองค์ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชน และเชื่อมโยงกับสิทธิพลเมือง กับหลักสากลอะไรก็ตามที่เป็นหลักยึด ที่ยอมรับกัน ผมว่าเขามีองค์ความรู้เรื่องนี้เข้มแข็งและทำงานชุมชนได้เข้มแข็ง เพราะการเคลื่อนไหวด้านกฎหมายต้องอาศัยคน อาศัยการล็อบบี้ อาศัยการคุยกับนักการเมือง กฎหมาย Gender Recognition ของอาร์เจนตินาผ่านโดยประธานาธิบดีที่เป็นผู้หญิง ซึ่งพยายามที่จะยกบทบาทผู้หญิง แล้วขบวนการเคลื่อนไหวสิทธิความหลากหลายทางเพศก็มาด้วยกันกับการเคลื่อนไหวของสิทธิสตรี

TCIJ: ถ้าย้อนกลับมาดูสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในไทย ซึ่งถ้ามองจากที่เห็นทั่วไปก็ดูเหมือนจะดี ไม่มีความรุนแรง สังคมยอมรับ มันเป็นอย่างที่เห็นจริงหรือเปล่า

ก้าวหน้า: ถ้าให้วิจารณ์ สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่พูดความจริงต่อกัน เป็นสังคมที่ปากว่าตาขยิบ แต่ในทางกลับกัน เรากลับเป็นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้น เราไม่มีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์เท่าไหร่ ยกเว้นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความเกรงใจต่อความแตกต่างในระดับหนึ่ง เราไม่มีความรุนแรงอันชัดเจนกับเพศที่สาม แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่ได้ยอมรับเพศที่สามอย่างเคารพในฐานะที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเพศอื่นๆ

สิทธิมนุษยชนคือหนึ่ง-คุณมีชีวิต สอง-คุณมีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเสมอภาค ขั้นต้นคือคนไทยยอมรับให้เรามีชีวิตอยู่ได้ โดยไม่ถูกทำร้ายเฆี่ยนตี อาจจะมีสถานที่ที่ห้ามผู้หญิง ห้ามกะเทยขึ้นบ้าง แต่ที่สำคัญคือยังมีความรุนแรงที่แฝงในกฎหมายและคำว่าวัฒนธรรมอันดี เช่น เป็นกะเทยไปสมัครเรียนแพทย์ มีข้อห้ามไว้ว่าศีลธรรมอันดีหรือบุคลิกภาพไม่เหมาะสม คำว่า เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมนี่แหละที่เป็นตัวตัดสินว่า คุณตรงกับบรรทัดฐานสังคมหรือไม่

ผมถามครับว่า มีนักการเมืองคนไหนที่ประกาศตัวว่าเป็นเกย์ ไม่มี ในสังคมชั้นสูง เช่น ผู้พิพากษา ตำรวจ ทหาร หรือคนที่มีบทบาทในสังคมชั้นสูง มีมั้ยครับที่แสดงออกว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน สิ่งเหล่านี้เรียกว่า กำแพงแก้ว มันคล้ายๆ กับการเหยียดสีผิวในอเมริกาในช่วงทศวรรษก่อนๆ คนหลากหลายทางเพศยังแสดงออกไม่ได้ ผมเชื่อว่ามีทุกอาชีพ แต่คุณเปิดเผยไม่ได้

ย้อนกลับมาคำถามที่ว่า ทำไมเปิดเผยไม่ได้ ก็เพราะระบบความคิดเรื่องเพศที่ยังจำกัดแค่สองเพศตามเพศสรีระ การมีเพศที่แตกต่างจากเพศที่สังคมยอมรับหมายความว่าคุณไม่เหมาะสมหรือผิดธรรมเนียมประเพณี หรือกระทั่งในความคิดในศาสนาต่างๆ ก็บอกว่าเป็นบาป เป็นกรรม ทำให้พื้นที่ทางการในบทบาทต่างๆ เช่น แพทย์ ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ นักการเมืองของคนที่เป็นแอลจีบีทีไม่เปิด แต่พื้นที่ที่เปิดกลับเป็นอาชีพค้าขาย ตัดผม คาบาเรต์ นางโชว์ ตลก คนเหล่านี้ไม่สามารถฝ่ากำแพงแก้วออกมาได้

ผมจบเกียรตินิยมอันดับ 2 ผมไปสมัครงาน 13 ที่ 5 ที่บอกให้ผมไปใส่กระโปรง ทุกอย่างผ่านหมด หลายที่บอกว่าที่นี่ไร้กรอบ แต่ก็มีขอบเขต เขาให้คำนิยามแบบนี้ เขารู้สึกว่าการที่เราเป็นแอลจีบีที เราเป็นลูกค้าที่เป็นมิตร เขาได้เงิน แต่เมื่อไหร่ที่เราเป็นพนักงาน เขาจะคิดว่าแล้วลูกค้าจะรู้สึกยังไงที่พนักงานเป็นแอลจีบีที เนื่องจากค่านิยม ระบบคิด การศึกษา ระบบสังคม เปิดกว้างในระดับหนึ่ง คือเปิดกว้างให้มีชีวิต แต่ยังไม่ให้เรามีชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีและเท่าเทียม

การเท่าเทียมต้องใช้กฎหมาย 3 ตัวที่ประเทศไทยควรจะมีคือ กฎหมายการต่อต้านการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ มันเป็นการยกระดับศักดิ์ศรีของคนให้เท่ากัน เสมอภาคกัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญเก่าอยู่ในมาตรา 30 ส่วนรัฐธรรมนูญใหม่ผมไม่อยากคิดฝัน แล้วก็ไม่อยากสังฆกรรมด้วย สองคือกฎหมายการแต่งงานของเพศเดียวกัน มันคือการสมรสที่เท่าเทียม ทำไมถึงสำคัญ บางท่านเห็นว่าการแต่งงานเป็นเรื่องของชนชั้นกลาง ชาวบ้านเขาอยู่กัน เขาไม่แต่งกันก็ได้ แต่จริงๆ มันมีผลประโยชน์หลายอย่างที่มาพร้อมการแต่งงาน มีบทบาทหน้า มีสิทธิที่มาพร้อมกัน นิยามความเป็นครอบครัวจะถูกสร้างใหม่ ครอบครัวหมายถึงพ่อ-พ่อก็ได้ แม่-แม่ก็ได้ หรือแม้กระทั่งเป็นคนข้ามเพศ เป็นทอมกับกะเทยแต่งงานกันก็ได้ สามคือกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศ ที่เยอรมนีมีช่องให้ติ๊กทีหลังว่าเด็กคนนี้เป็นเพศอะไร พ่อแม่ไม่ติ๊ก ให้เด็กติ๊กเอง นี่คือความก้าวหน้า เรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อน บางประเทศใช้เกณฑ์การเปลี่ยนแปลงสรีระร่างกายเป็นเกณฑ์การเปลี่ยนสถานะทางเพศ คุณต้องแปลงตั้งหัวจรดเท้าก่อน บางประเทศใช้แค่การสัมภาษณ์ก็เปลี่ยนคำนำหน้าชื่อได้แล้ว ไปเปลี่ยนที่อำเภอง่ายเหมือนเปลี่ยนชื่อ

ตอนที่ผมไปอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนที่จุฬาฯ ผมถามอาจารย์ท่านหนึ่งว่า สิทธิของผม สิทธิของคนหลากหลายทางเพศล่ะอยู่ไหน อาจารย์บอกว่ามันเป็นสิ่งใหม่ ซึ่งถ้าสังคมไหนไม่ถึงกับเลือดตกยางออก ก็แปลว่ามันเป็นเรื่องที่ยังรอได้ ผมกลับมองว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่รอไม่ได้ เพราะความรุนแรงมันอยู่รอบตัว ไปห้องน้ำผมเข้าห้องน้ำชาย ทุกวันผมมีความเสี่ยงว่าจะถูกไล่ออกมาหรือเปล่า ทุกวันผมถูกเรียกตรวจบัตร ผมถูกถามว่านี่ใช่บัตรของคุณหรือเปล่า ผมถูกตีตราว่าเป็นคนผิดปกติ ผมมีข้อจำกัดในการสมัครงาน ผมโดนมหาวิทยาลัยไล่ออกจากห้องสอบเนื่องจากผมใส่กางเกง ยังไม่รวมความรุนแรงด้านจิตใจ คือความรุนแรงในเชิงกายภาพอาจจะเห็นไม่เด่นชัด แต่มันมีอยู่ เช่น กระทืบตุ๊ดให้หายเป็นตุ๊ด หรือซ่อมทอม แก้ดี้ ความคิดเหล่านี้ยังมีอยู่ แฝงอยู่

มันแสดงให้เห็นว่า เราเป็นสังคมที่มีความอดทนอดกลั้น แต่ก็พร้อมที่จะเกิดความรุนแรง อย่างกรณีคู่หญิงรักหญิงบนรถไฟฟ้า แล้วมีการโต้เถียง ทะเลาะกัน ว่าทำไม่เหมาะสม ถ้าเป็นคู่ชาย-หญิงนะครับ ในระดับหนึ่ง ถ้าเป็นเพศที่สามก็รุนแรงขึ้นไปอีก แต่ถ้าเป็น ณเดชน์กับญาญ่าจูบกัน ทุกคนตบมือ

TCIJ: การประชุมอิลก้าโลกอีก 2 ปีข้างหน้าในเมืองไทย จะมีอะไรในงานครั้งนี้บ้าง

ก้าวหน้า: ตอนที่เราเสนอตัวจัด เราแข่งกับสองประเทศคือคิวบาและบอสวานา โดยมีคุณหมอแท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิฯ บินไป 32 ชั่วโมงเพื่อพูดแค่ 3 นาที เพื่อแสดงให้เห็นว่าเรามีความพร้อมที่จะจัดงานและได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการสิทธิฯ

ต้องเข้าใจว่าอิลก้าเป็นองค์กรที่ได้รับทุนสนับสนุนจากหลายแหล่ง จุดประสงค์ของการจัดประชุม หนึ่งคือการอัพเดทสถานการณ์ของการเคลื่อนไหวด้านสิทธิทั่วโลก สองคือฟังเสียงแอลจีบีทีทั่วโลกว่าตอนนี้มีการเคลื่อนไหวอย่างไร สามคือการสร้างคอนเน็กชั่น การจัดงานที่เม็กซิโกเมื่อเดือนตุลาคมมีคนเอเชียได้ไปประมาณ 30 คนจาก 450 คน แต่ถ้ามาเอเชีย โอกาสที่คนเอเชียหรือคนไทยจะมีโอกาสเข้าถึงการเคลื่อนไหวระดับนานาชาติหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้

อิลก้าจึงให้ความสำคัญกับความหลากหลายคือให้โอกาสแต่ละพื้นที่ได้ส่งเสียงของตัวเอง งานนี้จะสร้างผลกระทบ 2 ด้าน ด้านอิลก้าเองจะได้รับฟังเสียงของเอเชียมากขึ้น ฝั่งที่เราพยายามเน้นคือประเทศที่เป็นมุสลิม ตะวันออกกลาง ประเทศที่มีความรุนแรง หรือประเทศที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แต่มีความก้าวหน้าในสิทธิทางเพศก็น่าสนใจ เช่น เวียดนาม

"ถ้าเราไม่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานหรือเข้าใจว่า

ทุกคนควรมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เรื่องสิทธิทางเพศก็ไม่เกิดหรอกครับ

เพราะมันอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน"

ประเด็นที่ 2 คือสิ่งที่เครือข่ายของไทยจะได้รับคือการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างเครือข่าย และการส่งเสียงออกไปข้างนอกว่าเกิดอะไรขึ้นข้างใน อันนี้คือสิ่งสำคัญมาก เพราะการไปเม็กซิโกของผม ผมได้เห็นความก้าวหน้าของอาร์เจนตินาและประเทศในแถบละตินอเมริกา และวิธีการที่คนเราจะยอมรับเพศสภาพ ตอนนี้เรามีแอลจีบีทีไอคิว ต่อไปไม่รู้จะมีอีกกี่ประเภท คือคนที่มีหลายเฉดมากๆ จนเพศเป็นสิ่งที่เราไม่นิยามเลยก็ได้ การรับรู้หรือองค์ความรู้เหล่านี้ ถ้าไม่เกิดการพูดคุยจะไม่เกิดการส่งต่อ ถ่ายโอน

คน 450 คนจากทั่วโลก ในอีก 2 ปีข้างหน้า คนไทยอาจจะมามากกว่านั้น ถือว่าในประวัติศาสตร์ความหลากหลายทางเพศของไทย ครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่ประเทศไทยได้รับการยอมรับในระดับหนึ่งว่าเป็นพื้นที่เปิดให้กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศทั่วโลกได้เข้ามาใช้พื้นที่ตรงนี้ในการรวมตัวกัน และเรามีแผนไว้ว่าเราจะจัดงานในวันสิทธิความหลากหลายทางเพศของไทยคือวันที่ 29 พฤศจิกายน แต่งานประชุมอิลก้าโลกที่เคยจัดมา อย่างที่สวีเดน นายกรัฐมนตรีเขามาเปิดงานนะ ผู้ว่าสต็อกโฮมมาเปิดงาน จัดเลี้ยงที่ศาลากลางจังหวัด ที่เม็กซิโกเลี้ยงที่พิพิธภัณฑ์ของเมือง คือเป็นงานที่เป็นหน้าเป็นตา เป็นสิ่งที่แสดงออกซึ่งการยอมรับความหลากหลายทางเพศ ผมและทีมงานก็คิดอยู่เหมือนกันว่าเราจะเอาอะไรไปต้อนรับเขา

TCIJ: กฎหมายที่ผ่านยากๆ ในช่วงที่เป็นประชาธิปไตย มักจะถูกผลักดันให้ออกมาในช่วงรัฐบาลทหาร เหมือนตอนปี 2549 ในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ทางเครือข่ายความหลากหลายทางเพศคิดจะผลักดันกฎหมาย 3 ฉบับที่ว่าหรือเปล่า

ก้าวหน้า: ไม่ครับ ผมมีโอกาสแลกเปลี่ยนทางออนไลน์กับรุ่นพี่หลายๆ ท่านที่ทำงานเคลื่อนไหวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2550 และมาตรา 30 เรื่องการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เราได้บทเรียนในเรื่องประชาธิปไตยว่า ตราบใดที่เรายังไม่เคารพประชาธิปไตย ไม่มองสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ตราบนั้นการเคลื่อนไหวหรือการผลักดันกฎหมายใดๆ ก็ตาม มันไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้

ประเทศที่เศรษฐกิจไม่ดีอย่างอาร์เจนติตา แต่เขามีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง กลับสามารถออกกฎหมายที่ดีได้ เราจึงมองว่าเราน่าจะหันกลับไปทำงานรากหญ้า งานชุมชนให้มากขึ้น รวมตัวให้เหนียวแน่นขึ้น และผลักดันในภาคประชาชนเพื่อให้สร้างกฎหมายที่เป็นของเราจริงๆ ตอบสนองสิทธิและเสรีภาพ ทำให้เรามีศักดิ์ศรีเสมอภาคจริงๆ เพราะจริงๆ แล้วกฎหมายที่ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) เสนอ เช่น กฎหมายความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ สนช. ก็หยิบเอาร่างของ พม. (กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์) มา ซึ่งควรจะเรียกว่าเป็นกฎหมายกีดกันระหว่างเพศมากกว่า

ผมเชื่อว่า ถ้าเราไม่ให้สิทธิขั้นพื้นฐานหรือเข้าใจว่าทุกคนควรมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน เรื่องสิทธิทางเพศก็ไม่เกิดหรอกครับ เพราะมันอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชน

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊ค TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: