จี้ไทยเร่งแก้กม.ค้างาช้าง ฉลองวันคุ้มครองสัตว์ป่าฯ

2 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2704 ครั้ง

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม WWF ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่16 (CITES COP16) ที่กรุงเทพฯ โดยรัฐบาลไทยในฐานะประเทศเจ้าภาพ ได้เสนอให้วันที่ 3 มีนาคม เป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าสากล การเสนอดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาติครั้งที่ 68 ได้ประกาศให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็นวันคุ้มครองสัตว์ป่าสากล

การที่ประชาคมโลกกำหนดให้มีวันคุ้มครองสัตว์ป่าสากล เป็นการย้ำเตือนถึงความสวยงามและหลากหลายของสัตว์และพืชป่า รวมถึงตระหนักถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยง ระหว่างสัตว์ป่า และมนุษย์ทั่วโลก อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการสร้างความตระหนักรู้ ถึงความจำเป็นในการปราบปรามปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่า อันส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งแนวโน้มการผลักดันของประชาคมโลก นำไปสู่การให้คำมั่น และกระทำการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่ามีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้มีมติคว่ำบาตรผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่า อันมีส่วนสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธหรือเครือข่ายอาชญากรรม ในเขตตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และสาธารณรัฐแอฟริกากลางs

รัฐสภาแห่งสหภาพยุโรปมีมติในเรื่องการจัดการปัญหาอาชญากรรมสัตว์ป่า โดยเน้นย้ำถึงการเพิ่มความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และเรียกร้องให้มีการปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมบริเวณชายแดน เพิ่มการคว่ำบาตร และเพิ่มโทษผู้ลักลอบค้าสัตว์ป่า ในส่วนของสหรัฐอเมริกา รัฐบาลสหรัฐฯ ออกแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติต่อต้านการค้าสัตว์ป่าอันเป็นการยกระดับความสำคัญของปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐบาลกลางมากมาย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา การประชุม ณ กรุงลอนดอน (the London Summit) เหล่าผู้นำ รัฐมนตรีและตัวแทนระดับสูงเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการล่า และลักลอบค้าสัตว์ป่า เข้าร่วมหารือ และให้คำมั่นว่าจะดำเนินการอย่างเด็ดขาด และเร่งด่วนที่สุด เพื่อปราบปรามการลักลอบค้าสัตว์ป่า มาตรการที่ได้รับความเห็นชอบจากเหล่าประเทศร่วมลงนามในปฎิญญาลอนดอน ได้แก่ การกำจัดการซื้อขายสินค้าจากสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย เพิ่มความพยายามในการบังคับใช้กฎหมายและจัดให้มีกรอบข้อกฎหมายและมาตรการยับยั้งที่มีประสิทธิภาพ ปฎิญญาลอนดอนได้เรียกร้องให้สนับสนุนวิถีชีวิตทางเลือกอย่างยั่งยืนและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น

น.ส.จันทน์ปาย องค์ศิริวิทยา ผู้จัดการงานรณรงค์ต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่า WWFประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มเสนอให้มีการประกาศให้วันที่ 3 มีนาคมเป็น วันคุ้มครองสัตว์ป่าสากล แต่ก็เป็นที่น่าเสียดาย ที่ประเทศไทยพลาดโอกาสในการรับรองปฎิญญาลอนดอน เพื่อยืนยันความตั้งใจจริงของรัฐบาลไทย ร่วมกับนานาประเทศ และบอกเล่าถึงความคืบหน้าของหน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาการค้างาช้าง

นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีพันธะผูกพันต่อประชาคมโลก ที่ต้องผลักดันการแก้ไขกฎหมาย เพื่อยุติการค้างาช้างให้สำเร็จลุล่วง แม้ว่ารัฐบาลไทยโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ ได้จัดทำร่างกฎหมาย และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด ที่กระบวนการและขั้นตอนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต้องเดินหน้าต่อไปอย่างรวดเร็ว และจริงจังยิ่งขึ้น  วิกฤตการณ์การล่าช้างเอางาที่คุกคามความคงอยู่ของประชากรช้างของโลกต้องได้รับการ แก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด

วันคุ้มครองสัตว์ป่าสากลถือกำเนิดขึ้น เพื่อให้เราทุกคนตระหนักถึงความสวยงามตามธรรมชาติของสัตว์ป่าและพืชป่าหลากหลาย ที่มีอยู่บนโลกใบนี้ อีกทั้งยังเป็นวันครบรอบหนึ่งปีที่รัฐบาลไทยได้ให้คำมั่นว่าจะยุติการค้างาช้าง ประเทศไทยมีเวลาไม่มากนัก ที่จะแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการตามคำสัญญา ความล้มเหลวที่จะยุติการค้างาช้าง ไม่เพียงส่งผลเสียต่อชื่อเสียงประเทศเท่านั้น หากแต่เป็นการปล่อยให้ช้างต้องเผชิญชะตากรรมอันโหดร้ายต่อไป

ประเทศไทยมีองค์ประกอบที่พร้อมมูล ต่อการเป็นแบบอย่างด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าในภูมิภาคนี้ ซึ่งประกอบด้วยระบบการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่ดี การสนับสนุนจากภาครัฐ  ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป รวมถึงผู้เชี่ยวชาญในประเทศและกรอบข้อกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ณ นาทีนี้เป็นโอกาสอันดียิ่งสำหรับประเทศไทย ในการจัดทำแผนการดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายที่จริงจังเห็นผล ซึ่งประเทศไทยกำลังถูกจับตามองอีกครั้ง การลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจังต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วนที่สุด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: