พบขนมหน้าร.ร.ใช้อย.ปลอมถึง90ชนิด หนุนใช้สีสัญญาณจราจร-ลดเด็กบริโภค

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 2 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 9990 ครั้ง

ที่ประชุมสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2557 “ร่วมตรวจสอบ เสอแนะ แสดงพลังผู้บริโภค” : ภายในงานมีการจัดเสวนากลุ่มย่อยเรื่อง คุ้มครองผู้บริโภคด้วยฉลาก : ฉลากที่เป็นมิตรทำอย่างไรให้เป็นจริง โดยมีผู้ร่วมเสวนาอาทิ ผู้แทนจากคณะกรรมการอาหารและยา เครือข่ายผู้บริโภค เสนองานศึกษาเรื่องฉลากไฟสัญญาณไฟจราจรกับการนำมาใช้ควบคุมการบริโภคขนมถุงภายในโรงเรียน พร้อมเร่งตรวจสอบและเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ขายขนมติดฉลากลวง

น.ส.จุฑา สังขชาติ เลขาธิการสมาคมผู้บริโภคสงขลา กล่าวว่า จากการสำรวจฉลากของขนมเด็กที่จำหน่ายหน้าโรงเรียนในจ.สงขลาและสุราษฎร์ธานี ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2557 จำนวน 272 รายการ พบว่า กว่า 1 ใน 3 ของฉลากทั้งหมดที่สำรวจ มีปัญหาการแสดงข้อมูลบนฉลากไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร ปี พ.ศ.2543 เช่นพบว่า มากถึงร้อยละ 42.3 ไม่แสดงวัน เดือน ปีที่หมดอายุของผลิตภัณฑ์ กว่าร้อยละ 33.5แสดงเลขที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท็จหรือตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาอย่างยิ่ง และอาจก่อให้เกิดอันตรายกับผู้บริโภคได้

การเอาผิดกับผู้ประกอบการที่จำหน่ายขนมติดฉลากไม่ถูกต้อง ในโรงเรียนหรือหน้าโรงเรียน กลับพบปัญหาในทางปฎิบัติ เนื่องจากต้องขอความร่วมมือกับครูในโรงเรียนให้ช่วยติดตามและเฝ้าระวัง ไม่ให้นักเรียนซื้อขนมดังกล่าว อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบริเวณหน้าโรงเรียน ส่วนใหญ่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียน จึงเกิดความลำบากใจ หากจะจัดการขั้นเด็ดขาด ในขณะที่ผู้ประกอบการเองอาจไม่มีความรู้ว่า ขนมที่จำหน่ายอยู่นั้น เป็นอันตรายหรือไม่ถูกต้องตามประกาศกระทรวง ข้อเสนอที่น่าจะช่วยให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ดีมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กเล็กคือ ฉลากสีสัญญาณไฟจราจร แดง เหลือง เขียว เพื่อบอกถึงอันตรายของขนมชนิดต่างๆ เนื่องจากง่ายต่อการจดจำ

ด้านนายพงษ์ภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ กล่าวว่า จากการศึกษา โครงการศึกษาเบื้องต้นในการทดลองปฏิบัติการใช้ฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจรในโรงเรียน ด้านฉลากอาหารที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภค โดยเบื้องต้นให้เด็กฝึกอ่านข้อมูลฉลากปริมาณสารอาหาร ชนิดของสารอาหาร ที่อยู่ข้างห่อขนม เนื่องจากพบว่าเด็กจำนวนมากไม่เข้าใจรายละเอียดที่ระบุบนซองขนม ทราบเพียงปริมาณขนมในซอง แต่ไม่ทราบอัตราในการบริโภคต่อซอง แม้จะมีข้อความกำกับว่า ควรบริโภคกี่หน่วยก็ตาม

นอกจากนี้จากการเก็บแบบสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็กครั้งแรก พบข้อมูลที่น่าตกใจ คือ เด็กคนหนึ่งบริโภคขนมอย่างน้อย 5 ซองต่อวัน ทำให้ร่างกายได้รับปริมาณโซเดียม น้ำตาล เกินปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตและโรคอ้วน

อย่างไรก็ดี เมื่อเริ่มนำฉลากสัญญาณไฟจราจรมาใช้ พบว่าเด็กเริ่มมีการตื่นตัวมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากพฤติกรรมการบริโภคต่อวันของเด็ก อยู่ที่ 298 ซอง เมื่อเริ่มโครงการก็เหลือแค่ 113 ซองต่อวัน

            “พอเรามีการให้ข้อมูลกับเขา เด็กจะเริ่มรู้ว่าขนมแต่ละประเภทควรกินปริมาณเท่าไร เรามีกิจกรรมให้ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กตัดสินใจที่จะซื้อได้มากขึ้น” นายพงษ์ภัทรกล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงงานศึกษาเรื่องฉลากสัญญาณไฟว่า เคยนำไปอบรมในโรงเรียน 41 แห่งทั่วประเทศ โดยให้นักเรียนเป็นผู้ปฎิบัติ ลงมือทำฉลากสัญญาณไฟ และนำไปติดบริเวณหน้าร้านสหกรณ์ในโรงเรียน  ปรากฏว่าขนมที่ติดฉลากสัญญาณไฟยอดขายลดลง โดยเฉพาะฉลากสีแดงยอดขายลดลงเป็นจำนวนมาก

            “การติดฉลากไฟสัญญาณจราจรอาจสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประกอบการ ในประเทศแถบยุโรป มีการต่อต้านจากผู้ผลิตขนมรายใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากฉลากไฟจราจร โดยอ้างว่าการใช้สีแดงแทนอันตรายนั้น เสมือนทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวดูเป็น ‘ผู้ร้าย’ ต่อผู้บริโภค” ดร.ประไพศรีกล่าว

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ จับตา : ผลการใช้ฉลากสีสัญญาณคุมขนมเด็ก

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4173

อ่านข่าวออนไลน์จากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ ได้ทุกวัน

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: