จี้ปลัดพาณิชย์นัดประชุม อย่างุบงิบเจรจาเอฟทีเอ

2 พ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1166 ครั้ง

ตามที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศหารือสานต่อนโยบายการเจรจาเอฟทีเอและการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) รวมทั้งการดูแลมาตรการกระตุ้นการส่งออกเพื่อให้เป็นกลไกในการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ในวันที่ 2 พฤษภาคม นั้น

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เห็นว่า เป็นโอกาสที่ดีที่หน่วยราชการที่รับผิดชอบเรื่องการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ควรหารือเพื่อกำหนดทิศทางการเจรจา ที่เป็นไปเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจในระยะสั้น ๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบเสียหายแก่สังคมไทยในระยะยาว

              “การจะพุ่งเป้าเจรจาเอฟทีเอ เพื่อให้ได้ต่อสิทธิพิเศษทางการค้า GSP นั้น เป็นผลประโยชน์ระยะสั้นมาก ๆ ข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เองก็ชี้ชัดว่า หากถูกสหภาพยุโรปตัดสิทธิทั้งหมด จะกระทบการส่งออกของไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และ กุ้งแช่แข็งและแปรรูปประมาณ 1,080 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 34,560 ล้านบาท) เท่านั้น ไม่ใช่มูลค่าทั้งหมดของการส่งออก ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือสนับสนุนให้ผู้ส่งออกรู้จักปรับตัว เพราะสิทธิ GSP มีไว้สำหรับประเทศยากจนเท่านั้น ซึ่งนักธุรกิจของไทยมีศักยภาพเกินการได้สิทธินี้แล้ว

แต่หากการหารือในวันนี้ เน้นที่เร่งเจรจาเพียงเพื่อหวังให้ได้ต่อสิทธิ GSP จะทำให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก และอาจถูกกดดันให้ต้องยอมตามประเด็นอ่อนไหวต่าง ๆ ทั้งเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา ที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ การคุ้มครองการลงทุน และการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ อาจทำให้ไทยเสียประโยชน์อย่างมหาศาล ไม่ต่ำกว่าปีละ 193,239 ล้านบาท เทียบไม่ได้กับการได้ต่อสิทธิ GSP ที่ทางการไทยประเมินว่าจะสูญเสียแค่ 34,560 ล้านบาทต่อปีเท่านั้น”

ทางด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ หนึ่งในคณะทำงาน 3 ฝ่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ทางกระทรวงพาณิชย์ตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกในการติดตามการเจรจาเอฟทีเอ เปิดเผยว่า ขณะนี้กรรมการภาคประชาชนประกอบด้วย ตนและ ดร.บัณฑูร เศรษฐิโรตม์ นายจักรชัย โฉมทองดี กำลังทำหนังสือถึงนางศรีรัตน์ รัฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานให้จัดการประชุม ที่ไม่ได้มีการเรียกประชุมมานานกว่า 7 เดือน ขณะที่การเจรจากลับดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

               “หากกระทรวงพาณิชย์จะใช้ข้ออ้างว่า เป็นรัฐบาลรักษาการไม่เรียกประชุม คงไม่ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมา คณะเจรจาไปประชุมกับทางสหภาพยุโรปตลอด ดังนั้น มีความคืบหน้าหรือมีประเด็นต้องประชุมหารือในคณะทำงาน 3 ฝ่าย เพราะกลไกดังกล่าว ตั้งขึ้นเพื่อให้ 3 ฝ่ายได้ร่วมกันทำงาน แก้ปัญหาการเผชิญหน้ากัน และใช้เป็นกลไกสร้างความรู้ความเข้าใจให้เพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อให้คณะเจรจามีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเจรจา ไม่สมควรไปงุบงิบเจรจา”

คณะทำงาน 3 ฝ่ายภาคประชาชนยังได้แสดงความห่วงใยในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Government Procurement) ซึ่งทางสหภาพยุโรปต้องการเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างทุกระดับ โดยอ้างเรื่องความโปร่งใสและขจัดการคอร์รัปชั่น แต่สาระหลักที่อียูต้องการ คือการเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างทุกประเภท ทั้งสินค้าและบริการ ทุกระดับ ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น อ้างเรื่องความโปร่งใสห้ามเลือกปฏิบัติต่อนักลงทุนไทย ห้ามอุดหนุน SMEs ห้ามบังคับว่าต้องใช้สินค้าที่ผลิตในไทย มาตรฐานต้องเป็นไปตามสหภาพยุโรปทั้งหมด ห้ามมีข้อยกเว้นแม้กับการจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวเนื่องกับสวัสดิการสังคม ขณะที่กฎหมายอียูหลบเลี่ยงการเข้าถึงตลาดของนักธุรกิจไทยด้วย 'การแบ่งซื้อแบ่งจ้าง' ให้ก้อนงบประมาณเล็กลงไม่ต้องเปิดกว้าง ขณะที่กฎหมายไทยไม่อนุญาตให้ทำเช่นนั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการใช้งบประมาณแผ่นดิน ในการดูและประชาชนและสร้างความเข้มแข็งของผู้ประกอบการในประเทศ โดยที่อาจไม่ได้แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นตามอ้าง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: