ขรก.นั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ชี้กระทบกลไกสอบทุจริต

2 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 3091 ครั้ง

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD-Thailand Political Database) เปิดเผยการตรวจสอบข้อมูลการเมืองไทยล่าสุด โดยเป็นการเก็บรวบรวมจากเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอัยการwww.cmiss.ago.go.th/director.php และข้อมูลจากรายงานประจำปี ย้อนหลัง 2553-2555 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจพบสถิติว่า ในปี 2556 มีรายชื่ออัยการเข้าไปดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจ (บอร์ดรัฐวิสาหกิจ) ดังนี้

1.นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ประธานคณะกรรมการอัยการ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 3.ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

2.นายถาวร พานิชพันธ์ รองอัยการสูงสุด คณะกรรมการอัยการ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

3.นายตระกูล วินิจฉัยภาค รองอัยการสูงสุด คณะกรรมการอัยการ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง       ได้แก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  2.โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง

4.นายเข็มชัย ชุติวงศ์ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง ได้แก่ 1.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 2.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

หมายเหตุ : รวมรวมจาก เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอัยการ http://www.cmiss.ago.go.th/director.php และจากรายงานประจำปี 2553-2555 ของรัฐวิสาหกิจ 57 แห่ง

ทั้งนี้เมื่อย้อนข้อมูลไปในอีก 3 ปี ย้อนหลัง คือตั้งแต่ปี 2553-2555 พบว่า อัยการหลายคนเข้าไปดำรงตำแหน่งในกรรมการรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2553 อัยการที่ดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจ มีทั้งหมด 6 คน คือ นายชัยเกษม นิติสิริ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นายวิชาญ ธรรมสุจริต นายอรรถพล ใหญ่สว่าง และนายวีระชัย คล้ายทอง ซึ่งทั้ง 6 คนนี้ เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 2 แห่งขึ้นไป โดยอัยการที่ได้รับค่าตอบแทนรวมมากที่สุด คือ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน  ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้น 3,203,732.18 บาท รองลงมาคือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) ) ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้น 954,709.8 บาท และอันดับ 3 คือ นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือการไฟฟ้านครหลวง บริษัท อสมท จำกัด มหาชน ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งสิ้น 766,913 บาท

หรือในปี 2554 มีอัยการทั้งหมด 10 คน อัยการที่ได้รับค่าตอบแทนรวมมากที่สุด คือ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชนธนาคารกรุงไทย จำกัด มหาชน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 4,902,731.65 บาท รองลงมาคือ นายชัยเกษม นิติสิริ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 1,483,531.36 บาท และอันดับ 3 คือ นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่ง จำกัด และการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้รับค่าตอบแทนรวมทั้งหมด 1,348,825.81 บาท

แม้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 255 วรรคหก ระบุว่า ห้ามมิให้พนักงานอัยการเป็นที่ปรึกษาหรือดำรงตำแหน่งอื่นในรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐ เพื่อป้องกันมิให้พนักงานอัยการใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาผลประโยชน์ แต่หากได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอัยการก็สามารถทำได้

และกรณีของนายจุลสิงห์ที่ได้เข้าดำรงตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 4 แห่ง ตามรายงานประจำปี 2554 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้น พบว่าระยะเวลาการดำรงตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้ทับซ้อนกันเกิน 3 แห่ง จึงไม่ผิดตาม พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 มาตรา 7 ที่กำหนดว่า ผู้ใดจะดำรงตำแหน่งกรรมการในรัฐวิสาหกิจเกินสามแห่งมิได้

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.จรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 (สสร.50) ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มีอิสระในปฏิบัติหน้าที่ในฐานะอัยการของแผ่นดิน (ยกฐานะจากการเป็นส่วนราชการ) อีกทั้งต้องการให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน จึงห้ามมิให้พนักงานอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นใด โดยเฉพาะการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น ถ้ากรรมการหรือผู้บริหารรัฐวิสาหกิจกระทำผิดกฎหมาย หน่วยตรวจสอบหรือผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายก็ต้องเสนอเรื่องผ่านสำนักงานอัยการ เพื่อพิจารณาฟ้องร้องผู้กระทำผิดต่อศาล ถ้าหากพนักงานอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้ร่วมกระทำผิดเสียเอง จะไม่ฟ้องร้องเอาผิดกับตัวเอง

ส่วนที่มากรณีรัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีข้อยกเว้นให้คณะกรรมการอัยการ สามารถให้ความเห็นชอบให้พนักงานอัยการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจได้นั้น ศ.ดร.จรัสระบุว่า ก็เพราะในขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้รับการชี้แจงจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า พนักงานอัยการอาจจำเป็นต้องเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่ง เพราะมีบทบัญญัติในกฎหมายรัฐวิสาหกิจกำหนดให้พนักงานอัยการเป็นกรรมการโดยตำแหน่งไว้ ถ้าพนักงานอัยการเป็นกรรมการไม่ได้ กรรมการรัฐวิสาหกิจเหล่านั้นก็จะไม่ครบองค์คณะ ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ หากจะให้ดำเนินการได้ ก็ต้องไปแก้กฎหมายรัฐวิสาหกิจเหล่านั้น ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งต้องเวลา ฯลฯ ฉะนั้น จึงเสนอให้มีข้อยกเว้นไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังเช่นที่ว่าข้างต้น

            “แต่ในทางปฏิบัติดูเหมือนคณะกรรมการอัยการฯ จะใช้ดุลพินิจตามข้อยกเว้นนี้ ให้ความเห็นชอบให้พนักงานอัยการไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง ซึ่งผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และเนื่องจากองค์กรอัยการมีอิสระ จึงไม่มีองค์กรใดสามารถทักท้วงหรือยับยั้งการใช้ดุลพินิจที่ว่านี้ได้ เว้นแต่จะมีผู้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการอัยการฯ ที่ว่านี้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมายังเคยไม่มีองค์กรใดนำเรื่องนี้เสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด (จะเสนอเรื่องเมื่อใดก็ได้) จึงกล่าวได้ว่า การบังคับใช้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ยังไม่สมบูรณ์” ดร.จรัสกล่าว

พร้อมกันนี้เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ยังได้ตรวจสอบข้อมูลพบว่า บุคคลที่ได้รับค่าตอบแทนรวมสูงสุดจากการเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง ประจำปี 2554 คือ นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และยังเป็นกรรมการ ของ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้ค่าตอบแทนรวม 2,720,000.00 บาท รองลงมาคือ นายวัชรกิติ วัชโรทัย และนางเบญจา หลุยเจริญ ซึ่งเป็นกรรมการของ บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้ค่าตอบแทนรวม 2,700,000.00 บาท และนายสุรพล นิติไกรพจน์ เป็นกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด มหาชน ได้ค่าตอบแทนรวม 2,680,000.00 บาท

หมายเหตุ :ข้อมูลทั้งหมดมาจากการเก็บรวมรวมจากรายงานประจำปี ย้อนหลัง 2553-2554 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 57 แห่ง

ในเรื่องนี้เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย มีข้อเสนอแนะดังนี้ 1.ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบกิจการรัฐวิสาหกิจ เช่น สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และปปช. ควรปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยการตรวจสอบและประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และ 2.ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการอัยการในการใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา 255 ว่าชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

อย่างไรก็ตามเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ยังระบุด้วยว่า ได้ประมวลข้อมูลพื้นฐานส่วนหนึ่งไว้แล้ว น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเริ่มต้นในเรื่องนี้ได้ จึงมีข้อเสนอคือ

1.ให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบกิจการรัฐวิสาหกิจ เช่น สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และป.ป.ช. ควรปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยการตรวจสอบและประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการอัยการในการใช้ข้อยกเว้นตามมาตรา 255 ว่าชอบด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

2.ในอีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการอัยการ ควรใช้ดุลพินิจในเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรอัยการดำรงรักษาความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ได้อย่างสง่างาม เป็นที่เชื่อถือของประชาชน ต้องไม่ใช้ข้อยกเว้นของรัฐธรรมนูญ เป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ส่วนตน ควรตรวจสอบตนเองก่อนที่จะให้องค์กรอื่นๆ เข้ามาตรวจสอบ

3.หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลกิจการรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ กระทรวงการคลัง ควรตรวจสอบและปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักการธรรมาภิบาลวิสาหกิจ (Corporate governance) ที่ยึดถือกันเป็นสากล เช่น ไม่ให้พวกข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ (ปลัดกระทรวง อธิบดี ฯลฯ) ข้าราชการบำนาญ และบรรดาพรรคพวกของรัฐมนตรีและนักการเมือง เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจแบบผูกขาด และรับค่าตอบแทนและผลประโยชน์จากรัฐวิสาหกิจปีละหลายล้านบาท โดยอ้างว่าเข้าไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐ แต่ที่จริงแล้วก็ปล่อยให้รัฐวิสาหกิจเอาเปรียบผู้บริโภค คอร์รัปชั่น ขาดประสิทธิภาพ ฯลฯ อย่างที่เห็น ๆ กัน

4.หากอ้างว่าข้าราชการเหล่านี้เข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ เพื่อจะเข้าไปรักษาผลประโยชน์ของรัฐจริง ๆ ข้าราชการเหล่านี้ก็ไม่ควรมีสิทธิรับผลประโยชน์ใดๆ จากตำแหน่งหน้าที่กรรมการรัฐวิสาหกิจ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยประชุม โบนัส หรือผลประโยชน์อื่น ๆ เพราะท่านเหล่านี้ได้รับเงินเดือนจากตำแหน่งราชการอยู่แล้ว การรับผลประโยชน์จากตำแหน่งกรรมการรัฐวิสาหกิจอีกทางหนึ่ง จึงน่าจะถือว่าเป็นการรับประโยชน์โดยไม่ชอบ

5.สำหรับกรรมการฯ ที่ไม่ได้เป็นข้าราชการ ก็ควรกำหนดกรอบของการให้ผลประโยชน์ตอบแทนกรรมการรัฐวิสาหกิจให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะพอสม ไม่ควรให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเบี้ยประชุม โบนัส ฯลฯ ให้กรรมการคนละ 3-5 ล้านบาทต่อปี เพราะไปกำหนดให้จ่ายตามสัดส่วนของผลกำไร ต้องเข้าใจว่ากำไรของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่นั้น ส่วนใหญ่เกิดจากการทำธุรกิจผูกขาด หรือไม่ก็มาจากการขุดทรัพยากรธรรมชาติของรัฐไปขาย โดยรัฐเก็บค่าภาคหลวงเพียงเล็กน้อย ต้นทุนต่ำ กำไรก็ต้องสูงเป็นธรรมดา เงินและทรัพย์สินที่รัฐวิสาหกิจนำไปเป็นทุนดำเนินการจำนวนมหาศาล ก็เป็นเงินและทรัพย์สินของรัฐทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นเงินทุนของผู้เป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ (ท่านเหล่านี้ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ดังเช่นกรรมการอำนวยการของบริษัทเอกชน) สรุปแล้วกำไรที่ได้นั้น ไม่ได้เกิดจากฝีมือของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ และกรรมการฯ ก็ไม่มีสิทธิรับประโยชน์จากกำไรนั้นโดยตรงแต่อย่างใด หลักการจ่ายโบนัสและผลประโยชน์แก่กรรมการรัฐวิสาหกิจตามสัดส่วนกำไร จึงไม่ถูกต้องตั้งแต่ต้น

6.นอกจากนั้น กระบวนการสรรหาและแต่งตั้งกรรมการรัฐวิสาหกิจ ก็ควรยึดหลักความโปร่งใส เปิดเผยต่อสาธารณชนให้มากที่สุด  นอกเหนือไปจากหลักเกณฑ์ในเรื่องความรู้ความสามารถและหลักแห่งการไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในการสรรหาคณะกรรมการอำนวยการขององค์กรสาธารณะโดยทั่วไป  เช่น หน่วยงานที่มีหน้าที่สรรหาฯ ควรประกาศให้สาธารณชนทราบถึงการรับสมัคร การสรรหา และผลการสรรหาคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ เป็นต้น ไม่ควรใช้วิธีการสรรหากันเองภายในหน่วยงาน และเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นอันเสร็จ ดังที่ปฏิบัติกันมา เพราะวิธีนี้เปิดช่องให้มีการแต่งตั้งพวกเดียวกันเอง ทำให้รัฐวิสาหกิจเป็นแหล่งแสวงหาประโยชน์ของข้าราชการกลุ่มเล็กๆ และเป็นเครื่องตอบแทนทางการเมืองของบรรดานักการเมือง อย่างที่เห็นๆ กันอยู่ทุกวันนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: