ยอดตั้งรง.5เดือนแรกลด คาดคสช.เร่งครึ่งปีหลังเพิ่ม

2 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1926 ครั้ง

นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เดือนพฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา จำนวนโรงงานที่ขอประกอบกิจการใหม่ยังคงปรับตัวลดลง ต่อเนื่องอยู่ที่ 216 แห่ง ลดลง 39.66 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รวมทั้งด้านเงินลงทุน 1.59 หมื่นล้านบาท ลดลง 47.92 % เนื่องจากนักลงทุนต่างรอความชัดเจนด้านนโยบายจากภาครัฐ หลังมีเพียงรัฐมนตรีรักษาการ ส่งผลให้ยอดเปิดโรงงานใหม่ในรอบ 5 เดือนแรกของปี 2557 (ม.ค.-พ.ค.2557) มีโรงงานที่ประกอบกิจการใหม่ทั้งสิ้น 1,477 แห่ง ลดลง 15.84 % เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มูลค่าการลงทุน 1.08 แสนล้าน บาท ลดลง 12.79 %

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนตั้งโรงงานสูงสุด คือ

  • อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ 138 แห่ง มูลค่าการลงทุน 2.23 หมื่นล้านบาท
  • กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อโลหะ164 แห่ง ลงทุน 6,991 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 99 แห่ง 5,667 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมอาหาร 108 แห่ง เงินลงทุน 4,336 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 144 แห่ง มีลงทุน 3,826 ล้านบาท

ส่วนจำนวนอุตสาหกรรมที่มีการขยายกิจการในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 41 แห่ง ลดลง 33.87 % เทียบกับ พ.ค. ปี 2556 มูลค่าการลงทุน 2,216 ล้าน บาท ลดลง 73.44 %

ขณะที่ยอดการขยายกิจการใน 4 เดือนแรกอยู่ที่ 216 แห่ง ลดลง 18.49 % เงินลงทุน 3.8 หมื่นล้านบาท ลดลง 41.30 % โดยอุตสาหกรรมที่มีการขยายการ ลงทุนมากที่สุดใน 4 เดือนแรกคือ

  • อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก 33 แห่ง เงินลงทุน 2,369 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมอาหาร 28 แห่ง เงินลงทุน 7,219 ล้านบาท
  • ผลิตภัณฑ์จากพืช 23 แห่ง เงินลงทุนเพิ่ม 1,065 ล้านบาท

นายณัฐพลกล่าวว่า การตั้งโรงงานใหม่และการขยายกิจการที่ลดลง มาจากปัญหาการเมืองในประเทศที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง รวมทั้งนักลงทุนส่วนใหญ่รอความชัดเจนด้านนโยบายของภาครัฐ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องกระตุ้นภาคเอกชนให้เกิดการลงทุนอีกครั้ง ขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ การให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้กับนักลงทุน การลดขั้นตอนการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การยุบคณะกรรมการกลั่นกรองพิจารณาอนุญาตโรงงานเพื่อให้ลดขั้นตอนลง เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มครึ่งปีหลังการตั้งโรงงานใหม่และการขยายโรงงานจะมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มกลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ มีความชัดเจนขึ้นหลังมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาดูแล ส่งผลทำให้ผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจและกลับมาจับจ่ายใช้สอยสินค้า

อีกทั้งทาง คสช. ได้เร่งผลักดันให้ใช้งบประมาณปี 2557 เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจะส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น นอกจากนี้การยุบคณะกรรมการกลั่นกรองฯ นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้มีโรงงานเกิดขึ้นใหม่ในครึ่งปีหลังเพิ่มขึ้น แต่ทุกอย่างต้องอยู่ในปัจจัยที่การเมืองปกติไม่มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น

ในส่วนของอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มดีขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะ เนื่องจากครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีการชะลอตัวลงจากยอดขายภายในประเทศ รวมทั้งอุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมโทรทัศน์เปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัล ทำให้ผู้บริโภคมีการซื้อโทรทัศน์ใหม่ และกล่องรับสัญญาณเพื่อรับชมทีวีดิจิทัลช่องใหม่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจเครื่องใช้ใช้ไฟฟ้าน่าจะมีการเติบโตกว่าครึ่งปีแรก

นายณัฐพลกล่าวว่า ส่วนยอดการเลิกกิจการพบว่า ในเดือนพ.ค.มี โรงงานเลิกกิจการทั้งสิ้น 63 แห่ง ลดลง 47.93 % เทียบกับเดือน พ.ค.2556 ทำให้การเลิกกิจการโรงงานในช่วง 4 เดือน อยู่ที่ 432 แห่ง ลดลง  28.12 % เช่นเดียวกัน ซึ่งยอดเลิกกิจการที่ลดลงมาก เนื่องจากการแจ้งเลิกกิจการไม่จำเป็นต้องเข้ามาแจ้งทันทีเหมือนกันขอเปิดกิจการ ซึ่งยอดเลิกกิจการจึงไม่สามารถสะท้อนความจริงได้ทั้งหมด

ทั้งนี้อุตสาหกรรมที่มีเลิกกิจการ มากที่สุดใน 4 เดือนแรก คือ

  • อุตสาหกรรมผลิต ยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยาน พาหนะและอุปกรณ์ 68 แห่ง
  • อุตสาหกรรมแปรรูป ไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ 47 แห่ง
  • ผลิตภัณฑ์อโลหะ 36 แห่ง

หากมองในแง่การจ้างงานกลุ่มที่ปิดกิจการและต้องเลิกจ้างงานมากที่สุดคือ

  • อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ปิด 5 แห่ง มีการจ้างงาน 3,441 คน
  • อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรและเครื่องกล 25 แห่ง มีการจ้างงาน 2,832 คน
  • อุตสาหกรรมเครื่องแต่งกาย ยกเว้นรองเท้า ปิดกิจการ 13 แห่ง มีการจ้างงาน 2,037 คน

ขอบคุณข่าวจากกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: