บนกลีบงามของ ‘ดอกกุหลาบ’ หนึ่งในไม้ตัดดอกทำเงินของประเทศไทย ที่ถูกมนุษย์นำไปร้อยรัดเข้ากับความรัก คือด้านที่สวยงามของดอกไม้ ทว่าอีกด้านของความงามและเม็ดเงินที่ผูกเข้ากับชีวิตเกษตรกร กุหลาบคือดอกไม้เศรษฐกิจที่วงจรชีวิตถูกฉีดพ่นด้วยสารเคมีจำนวนมากเพื่อคงความงาม แต่ดอกไม้ไม่ใช่อาหารที่ผ่านเข้าปากการตรวจสอบระวังภัยและพิษตกค้างจึงไม่มีใครกังวล
ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สวนกุหลาบผลิดอกเป็นเม็ดเงินจากการส่งออก ในปี 2556 ในรูปดอกสด มีมูลค่า 19,987,246 บาท ในขณะที่ผลสำรวจภาวะสุขภาพของแรงงานในภาคเกษตรกรรมในปี 2554-2556 จำนวน 13 ล้านคนจากประชากรไทยที่มีงานทำ 38 ล้านคน พบปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในเลือดประมาณร้อยละ 30
ขอบคุณภาพจาก http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/115/16115/images/Roses2/21.jpg
พบพระ-ฮอด แหล่งปลูกใหญ่หลายพันไร่
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกกุหลาบประมาณ 7,000 ไร่ แหล่งปลูกใหญ่สุดอยู่ที่ จ.ตาก อ.พบพระ มีพื้นที่ปลูก 3,665 ไร่ กรมส่งเสริมการเกษตรให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า แหล่งปลูกกุหลาบตัดดอกใหญที่สุดในประเทศอยู่ที่อ.พบพระ จ.ตาก พ่อค้าแม่ค้าปากคลองตลาดจำนวนหนึ่งยอมรับว่า กุหลาบดอกสดกลีบสวยและราคาถูกส่วนมากมาจากที่นี่ รองลงมาคือ อ.สะเมิง อ.ฮอด อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่
นางอรพินทร์ แสงมณี นักวิชาการกรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงานเกษตรอำเภอพบพระ จ.ตาก เปิดเผยถึงมูลค่าไม้ดอกทำเงินว่า ให้ผลผลิตเฉลี่ย 10,000 ดอกต่อไร่ต่อเดือน ราคาเฉลี่ยดอกละ 1-2 บาท มูลค่าผลผลิตต่อไร่ทั้งปีประมาณ 120,000 บาท
เลาะไปถามถนนอำเภอช่องแคบ มุ่งหน้าสู่ไร่ปฐมเพชร นายภารดร กานดา เกษตรกรวัย 50 ปี ผู้ปลูกกุหลาบมากว่า 41 ปี บนพื้นที่ปลูกหลายสิบไร่ ภารดรเล่าขั้นตอนการผลิตจากผืนดินว่างเปล่าจนงอกงามเป็นดอกกุหลาบ เริ่มต้นจากการเตีรยมดินผสมปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอก ตากดินให้แห้ง ต้นทุนค่าปุ๋ยคอกตกอยู่ที่ราคาตันละ 3,000 บาทต่อไร่ จากนั้นนำกล้าพันธุ์ที่เตียมไว้ลงดิน ราคาประมาณ ต้นละ 2 บาท ซึ่งพื้นที่ 1 ไร่จะใช้กล้าพันธุ์อยู่ที่ราว 3,000 ต้น ขณะที่ราคาตลาดอยู่ที่ดอกละ 0.5-1 บาท
ระยะเวลา 6 เดือนจากกล้ากุหลาบเป็นต้นโตเต็มวัยพร้อมตัดดอก คือช่วงเวลาที่เกษตรกรต้องคอยดูแลอย่างพิถีพิถัน เพราะเป็นที่ทราบกันดีในวงการผู้ปลูกว่า กุหลาบขาด ‘ยา’ ไม่ได้
ขอบคุณภาพจาก http://4.bp.blogspot.com/
ใช้สารเคมีทุกขั้นตอนการผลิต
จากภาคตะวันตกมุ่งขึ้นเหนือสู่อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ แหล่งปลูกกุกลาบขนาดใหญ่รองจากจังหวัดตาก เนื้อที่กว่า 4,366 ไร่
โรคใบจุด (Black spot) เป็นโรคที่ผู้เลี้ยงกุหลาบรู้จักมักคุ้น เพราะเป็นกับกุหลาบเกือบตลอดปี ซึ่งทำความเสียหายอย่างร้ายแรง ใบกุหลาบที่เป็นโรคนี้จะมีจุดวงกลมสีดำที่ผิวด้านบนของใบ จุดนี้จะขยายวงกว้างออกไปอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีฝนตกสม่ำเสมอ หรือในฤดูหนาวที่มีน้ำค้างมาก ๆ
“ดอกกุหลาบจะขาดยาฆ่าแมลงไม่ได้ ถ้าสัปดาห์ไหนไม่พ่นยา กุหลาบจะติดโรคกันหมด” คำยืนยันจาก นายอุทิศ อนุรัตน์ เกษตรกรและประธานชมรมผู้ปลูกกุหลาบในจ”เชียงใหม่ อุทิศเล่าว่า กุหลาบเป็นพืชที่อ่อนและติดโรคง่าย ไม่เฉพาะโรคใบจุดที่เป็นตลอดทั้งปี เพลี้ยไฟและไรแดง เป็นอีกสองศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายไม่แพ้กัน
อุทิศยอมรับว่า สารเคมีที่ใช้ปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตจนถึงตัดดอกส่งขาย ในทุก 7 วัน กุหลาบจะผ่านการฉีดพ่นยาปราบศัตรรูพืชและแก้โรคตามอาการ เฉลี่ย 2-3 ครั้ง ตลอดระยะเวลา 6 เดือน และจะพ่นยากันเชื้อราเป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนตัดดอกส่งขาย 2-3 วัน โดยพื้นที่ 1 ไร่ ใช้ยาปราบศัตรูพืช 125 ลิตร เฉลี่ยราคาลิตรละ 260 บาท คิดเป็นเงิน 32,500 บาทและหลังจากตัดดอก กุหลาบทั้งหมดจะถูกคงความสดโดยนำไปแช่น้ำผสมวิตามินบี12 ชนิดเดียวกับที่ผสมในยาเครื่องดื่มชูกำลัง เป็นเวลา 3-5 ชั่วโมง
เกษตรกรให้ข้อมูลว่า สารเคมีส่วนมากที่ใช้ ยาฆ่าเชื้อรา ได้แก่ เบโนมิล ดาโคนิล เมทาแลกซิล ยากำจัดไรกุหลาบ ได้แก่ ไพรบิดาเบน อิมิดาคลอพริด ออนคอล (เบนฟูราคาร์บ) ยากำจัดหนอน อะบาเม็กติน ไซเพอร์เมทริน ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายเคมีภณฑ์ทางการเกษตร
เสี่ยงอันตรายถึงชีวิตเป็นพิษต่อระบบนิเวศ
อย่างไรก็ตาม ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ คณะวิศกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวเตือนถึงอันตรายของสารเคมีที่เกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบว่า จากการตรวจสอบสารเคมีที่เกษตรกรใช้ หลายชนิดทำให้เกิดการแพ้อย่างรุนแรงทั้งทางผิวหนังและดวงตาหากใช้ฉีดพ่นติดต่อกันหลายปี บางชนิดเช่น ยาฆ่าเชื้อรา เบโนมิล พบว่าเป็นสารอันตรายที่ถูกสั่งระงับการใช้ในต่างประเทศ เนื่องจากมีอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์เสี่ยงต่อการแท้งลูก รวมถึงยากำจัดไร ดาคลอพริด ซึ่งเคยมีเกษตรกรหญิงชาวโปแลนด์ วัย 48 ปี เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากอาการกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ อีกทั้งยังพบการลดจำนวนลงของเม็ดเลือดขาวอย่างรวดเร็วซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นผลจาการสูดดมสารเคมีอิมิดาคลอพริด อีกทั้งสารเคมีทุกตัวที่ใช้ในกระบวนการผลิตเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศโดยรอบ โดยเฉพาะในฤดูฝนเสี่ยงต่อการปนเปื้อนในแหล่งน้ำ
กว่ากุหลาบสักจะงอกจากแปลงดิน เดินทางจากไร่มาถึงตลาด ผ่านถึงมือผู้บริโภคจะต้องผ่านสารเคมีในปริมาณมากมายมหาศาล ซึ่งน้อยคนนักจะรู้ว่า เบื้องหลังความงามนั้นเต็มไปด้วยพิษร้าย
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน จับตา: การส่งออกดอกกุหลาบของไทย
http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4496
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ