บทวิเคราะห์ : มาตรา 7 : end game ของ กปปส.?

กานต์ ยืนยง 3 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3481 ครั้ง

การคงเวทีเพื่อปิดกั้นถนนหลัก ๆ เหล่านี้ของกปปส. ในระยะหลังยิ่งส่งผลกระทบสะท้อนกลับ สร้างความไม่พอใจต่อประชาชนกรุงเทพฯ ที่ต้องอาศัยการสัญจรผ่านเส้นทางต่าง ๆ เหล่านั้น อีกทั้งการชุมนุมปิดกั้นยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ และมีปัญหาเรื่องการรักษาความปลอดภัยกับมวลชนที่ชุมนุมจากการลอบยิงและการใช้ระเบิดของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย โดยเฉพาะในระยะหลังเกิดการปะทะกันแทบทุกวันในช่วงกลางคืน

ในขณะที่การคง 5 เวทีย่อยที่มีขนาดมวลชนจำนวนน้อยกว่า ทั้งเวทีที่สะพานชมัยมรุเชฐ นำโดยกลุ่ม คปท., เวทีที่สะพานผ่านฟ้า นำโดยกลุ่ม กปท., เวทีที่กระทรวงพลังงาน บริเวณโรงพยาบาลหัวเฉียว โดยกลุ่ม กคป, เวทีที่กระทรวงมหาดไทยโดยกลุ่มนปป. และเวทีที่ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ ที่นำโดย หลวงปู่พุทธะอิสระ ในด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่า มวลชนที่เข้าร่วมการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่มีการนำและการดำเนินงานที่แยกเป็นอิสระจาก การนำของ กปปส. และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ

การตัดสินใจยุบรวมเวทีไปไว้ที่สวนลุมพินี นอกเหนือจากเหตุผลข้างต้นแล้ว อีกด้านหนึ่งก็พิสูจน์ให้เห็นว่าลำพังเพียงการชุมนุมและการประท้วงของมวลชนบนท้องถนน ไม่เคยก่อให้เกิดการโค่นอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ในบริบทของการเมืองไทยมาก่อนเลย กลไกหลักที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ได้นั้น จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นจากการทำรัฐประหารของกองทัพ และ/หรือ การใช้อำนาจขององค์กรอิสระ อาทิเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ป.ป.ช. ฯลฯ เพื่อตัดสินความผิดต่อรัฐบาลในปัจจุบันเพียงเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. (ขอบคุณภาพจาก โพสต์ทูเดย์)

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เท่าที่ปรากฎมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฎว่ากองทัพจะทำการเลือกข้าง เพื่อยืนหยัดอยู่เคียงข้างมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาล จนกระทั่งมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจออกมาทำการรัฐประหารเหมือนที่เคยปรากฎในช่วงปี พ.ศ.2549 ท่าทีของกองทัพในปัจจุบันเพียงแต่พยายามไม่ทำตัวสนับสนุนรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้ทำตัวสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกปปส. ไปด้วย ท่าทีเช่นนี้เกิดขึ้นจากหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นเพราะการแสดงสัญญาณอย่างชัดแจ้ง จากประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ ที่ไม่ต้องการสนับสนุนการทำรัฐประหารของกองทัพ หรือการคาดคำนวณผลได้ผลเสียของฝ่ายเสนาธิการของกองทัพถึงผลกระทบภายหลังการทำรัฐประหาร ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า จะมีการต่อต้านอย่างหนักจากมวลชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล ไปจนถึงข้อจำกัดในท้ายที่สุดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. คนปัจจุบันเอง ที่เขาเหลืออายุราชการอีกเพียงไม่กี่เดือน ก็จะถึงวาระการเกษียณราชการภายในปีนี้ เพราะหากกองทัพตัดสินใจทำรัฐประหารจริง แต่ช่วงเวลาอายุราชการที่เหลือสั้นเต็มทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จะทำให้เขาไม่สามารถวางกำลังคนของตนในตำแหน่งที่ทำให้เขามั่นใจได้ว่า เขาจะสามารถเกษียณราชการ และใช้ชีวิตหลังเกษียณไปได้อย่างไว้วางใจ เพราะจากประสบการณ์ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. คนก่อนที่ได้ตัดสินใจทำรัฐประหารไปนั้น แม้จะมีอายุราชการอยู่นานพอจะวางกำลังคนที่เขาไว้วางใจในตำแหน่งต่าง ๆ แต่เขาเองก็ยังไม่สามารถวางมือจากเกมอำนาจได้อย่างเต็มที่ และจำเป็นต้องสร้างพรรคการเมืองและเลือกเล่นการเมืองในระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามเล่นงานเขาในภายหลัง

เมื่อเป็นเช่นนี้ การที่จะทำให้เกิดสถานการณ์ที่ฝ่ายยุทธศาสตร์ของ กปปส. ต้องการให้เกิด คือสร้างสภาวะสุญญากาศทางอำนาจ เพื่อนำไปสู่การตั้ง “นายกรัฐมนตรีคนกลาง” และ “สภาประชาชน” เพื่อทำหน้าที่ “บริหารประเทศชั่วคราว” จนกว่าจะคืนอำนาจให้กับประชาชน เพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งในกำหนดเวลาที่ฝ่าย กปปส. ได้เคยประกาศเอาไว้คือในอีก 18 เดือนหรือหนึ่งปีครึ่งข้างหน้า จึงหนีไม่พ้นจะต้องใช้กลไกที่เป็นองค์กรอิสระ โดยกลไกที่ต้องจับได้แก่ การที่ ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เรียก “ยิ่งลักษณ์”รับทราบข้อกล่าวหาถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในกรณีนโยบายการรับจำนำข้าว

ขอบคุณภาพจาก FB : พลังประชาชน โค่นล้มระบบทักษิณ

อันที่จริง การสร้างวาทกรรมให้นโยบายรับจำนำข้าว = โกง และทำให้ประเทศชาติล่มสลาย เป็นเรื่องที่น่าสนใจและต้องศึกษา การโหมกระแสการคอร์รัปชั่นต่อนโยบายการรับจำนำข้าว ของหน่วยงานอิสระและผู้ปราศรัยบนเวที กปปส. ต่างก็สร้างภาพให้ประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล รู้สึกตอกย้ำถึงความรู้สึกที่จะต้องปรับรัฐบาลออกจากอำนาจ และยอมรับรัฐบาลที่ “เป็นกลาง” ทางการเมือง อาทิเช่น คำปราศรัย ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประเทศไทย “เรื่อง การจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือติดสินบน ประเทศไทยติดอันดับที่ 77 ของโลก เป็นที่ 4 ใน ASEAN” http://on.fb.me/1mxSFFH ทั้งที่ในความเป็นจริงรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีตัวเลข Corruption Perception Index (CPI) อยู่ในระดับ 3.5 ตกลงจากปีที่แล้วซึ่งทำได้สูงที่ 3.7 (เป็นรองเฉพาะรัฐบาลทักษิณ) ซึ่งอาจเป็นปัญหาเรื่องนโยบายการรับจำนำข้าว แต่ก็ไม่ใช่ตัวเลขน้อยที่สุด (ตัวเลข CPI ที่ 3.2 เป็นช่วงตอนต้นรัฐบาลทักษิณ / ปลายรัฐบาลชวน) โปรดดูข้อมูล CPI ของ 23 ประเทศ ในรอบ 12 ปี (ไฟล์ https://www.dropbox.com/sh/l3sbmgzxgo8d53e/B5cXrEXJ1T/APAC_CPI_2002_2013.xlsx)

แต่ในที่สุดเสียงแห่งเหตุผลที่พยายามแสดงข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่สามารถตัดสินได้อย่างเหมารวมว่า รัฐบาลมีปัญหาเรื่องการฉ้อโกง จนกระทั่งต้องยอมรับรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่มีพลังทัดทานกระแสมวลชนฝ่ายต่อต้านรัฐบาลได้มากพอ อารมณ์ร่วมของมวลชนและประชาชนส่วนหนึ่งสร้างโอกาสให้ความสามารถในการผลักรัฐบาลปัจจุบันให้ตกไป จากการรักษาการ และสร้างสภาวะสุญญากาศให้เกิดขึ้น มีเพิ่มขึ้นมากอย่างไม่เคยมีปรากฎมาก่อน

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี (ขอบคุณภาพจาก FB : พลังประชาชน โค่นล้มระบบทักษิณ)

ในทันทีที่ป.ป.ช. ตัดสินว่า คดีในกรณีการรับจำนำข้าวของนายกรัฐมนตรีมีมูลจริง จะนำไปสู่การยุติการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนนี้คงเกิดขึ้นในช่วงเวลาปลายเดือนมีนาคมไปจนถึงกลางเดือนเมษายน ปัญหาคือการยุติการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี จะนำไปสู่การพ้นสภาพของครม. ทั้งคณะด้วยหรือไม่ ฝ่ายรัฐบาลคงยืนยันว่าไม่ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ และคงจะผลักดันรองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งขึ้นมาทำหน้าที่แทนที่คุณยิ่งลักษณ์ต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นคุณพงษ์เทพ เทพกาญจนา แต่อีกฝ่ายหนึ่งยืนยันว่า จะต้องให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นไปจากหน้าที่ตามนายกรัฐมนตรีไปด้วย ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาพให้เกิดสุญญากาศทางอำนาจ

เมื่อนั้นก็จะอ้างมาตรา 7 เพื่อให้มีการดำเนินการเป็นไปตามประเพณี การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยความหมายคือการขอพระราชทานนายกรัฐมนตรี แต่เนื่องจากกรณีนี้ไม่ใช่การโค่นรัฎฐาธิปัตย์ โดยการทำรัฐประหาร กฎหมายรัฐธรรมนูญยังมีอยู่ จึงจะมีการอ้างมาตรา 3 โดยอ้างว่า อำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชนชาวไทย ดังนั้นโดยอาศัยอำนาจนี้ จึงจะมีการงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เพื่อขอให้มีการตั้งนายกรัฐมนตรีโดยไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งสภาประชาชน

ปัญหาทางทฤษฎีการเมืองที่สำคัญก็คือว่า หากเชื่อว่ามาตรา 7 จะนำไปสู่ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นั่นหมายถึงการกลับไปสู่ “พระราชอำนาจ” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสว่า การใช้มาตรา 7 นั้น “ไม่เป็นประชาธิปไตย” และนอกจากนั้นการใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการใช้พระราชอำนาจเกินกว่าที่มีความเห็นกันในทางทฤษฎีทางการเมือง ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทำผิด (The King can do no wrong) เนื่องจากการกระทำของพระมหากษัตริย์จำเป็นต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นเอง จะเป็นผู้รับการวิพากษ์วิจารณ์แทนพระมหากษัตริย์ พระองค์จึงไม่อยู่ในฐานะที่ทรงกระทำผิดได้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงเป็นเรื่องภายในระหว่างพระองค์กับผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พระราชอำนาจนั้นโดยทั่วไปจึงจำกัดอยู่ที่ การที่ทรงตักเตือน การที่ทรงให้คำแนะนำ และการเป็นที่ปรึกษา

ขอบคุณภาพจาก FB : พลังประชาชน โค่นล้มระบบทักษิณ

คณะทำงานฝ่ายยุทธศาสตร์ของ กปปส. บางคนพยายามไม่ผูกเรื่องมาตรา 3 และมาตรา 7 เข้ากับเรื่องพระราชอำนาจ เพราะตระหนักดีว่า มีความเสี่ยงในการถูกครหา ว่าเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาข้องเกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง พวกเขาให้เหตุผลว่า เรื่องเหล่านี้มีเป็นเรื่องของประชาชนโดยแท้ แต่ข้อเท็จจริงคือ (1) ความเห็นของประชาชนที่เห็นด้วยกับ กปปส. นั้นเป็นความเห็นของประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ หรือเป็นเพียงความเห็นของประชาชนส่วนหนึ่ง และมีประชาชนอีกอย่างน้อยกึ่งหนึ่งของประเทศก็ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ กปปส. เช่นเดียวกัน และ (2) กรณีการเกิดสุญญากาศทางอำนาจนั้น เป็น “สุญญากาศทางอำนาจเทียม” ที่ตั้งใจให้เกิดขึ้นหรือไม่ หรือในความเป็นจริงหากยึดหลักประชาธิปไตยในที่สุดก็ยังมีหนทางเดินหน้าประเทศต่อไป โดยไม่จำเป็นต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และสภาประชาชนขึ้น ในทางตรงข้ามการผลักดันให้เกิดสุญญากาศเทียมดังกล่าวขึ้น รังแต่จะสร้างความขัดแย้งเรื้อรังบานปลายหนักยิ่งขึ้นไปอีก

ด้วยปัญหาเหล่านี้ ทำให้นักทฤษฎีทางการเมืองอีกหลายคนมองว่า ถึงที่สุดแล้วจำเป็นจะต้องเชื่อมโยงการอ้างอิงการใช้ มาตรา 3 และมาตรา 7 ในการสร้างสุญญากาศทางอำนาจนี้ เข้ากับพระราชอำนาจ จึงจะเกิดความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ โดยอาศัยเหตุผลเฉพาะบริบทของเมืองไทยที่เรียกว่า “ราชประชาสมาศรัย” หรือการใช้อำนาจร่วมกันระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน

แต่นั่นก็มีปัญหาทางทฤษฎีอีกว่า จริงหรือไม่ที่ความพยายามดังกล่าว เป็นความพยายามที่จะย้อนกลับโครงสร้างทางการเมืองการปกครองไปก่อนปี พ.ศ.2475 อันเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน และจริงหรือไม่ที่ความพยายามดังกล่าว เป็นการดึงให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความขัดแย้งกับประชาชนขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยได้ผ่านความขัดแย้งนั้นมาแล้ว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: