พบสถิติเลือกตั้งส.ว.ตํ่าสุด ระบุสะท้อนคนเบื่อการเมือง

3 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2059 ครั้ง

เมื่อเวลา 09.50 น. วันที่ 3 เมษายน ที่อาคารศศนิเวศ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย มูลนิธิตาสว่าง มูลนิธิฟรีดริช เนามัน จัดเสวนา “ปอกเปลือกสภาสูง : เกมอำนาจ การตรวจสอบและผลประโยชน์” โดยนายอรรถสิทธิ์ พานแก้ว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ หัวหน้าศูนย์วิจัยข้อมูลการเมืองไทย แถลงข่าว “เปิดสถิติการทำงานส.ว.“เกมอำนาจสภาสูง โหวตอย่างไร? โหวตเพื่อใคร?” ว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ว. เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ใน 77 จังหวัดได้สะท้อนสภาวะทางการเมืองของประเทศได้อย่างชัดเจน คือประชาชนมาถึงจุดของการเบื่อการเมือง เห็นได้จากสถิติของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งที่มีเพียงร้อยละ 42.78 ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของการเลือกตั้งในประเทศไทย

สถิติต่ำกว่าผลเลือกตั้งส.ส. แค่ร้อยละ 31

นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่า การเลือกตั้งส.ว.ครั้งนี้ ยังต่ำกว่าการการออกไปใช้สิทธิของการเลือกตั้งส.ส. เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2557 ที่ผ่านมา ซึ่งการเลือกตั้งส.ว.ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้มีบรรยากาศการออกมาคัดค้านหรือขัดขวาง ที่สำคัญตัวเลขบัตรเสียที่ร้อยละ 5.20 และคะแนนของผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน ยังสูงถึงร้อยละ 11.96 เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการอาการเบื่อการเมือง รวมถึงการออกไปใช้สิทธิที่น้อย ก็ยังส่งผลถึงคะแนนของว่าที่ส.ว.แต่ละคนที่ได้รับมาอีกด้วย โดยเมื่อนำเอาคะแนนที่ได้มาเทียบเป็นสัดส่วนกับผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็จะพบว่า ปัญหาของความเป็นผู้แทนของส.ว. ที่มีต่อประชาชน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งคือความชอบธรรม ของการเป็นตัวแทนนั้นได้เกิดขึ้นมาแล้ว โดยจากสถิติการเลือกตั้งทั้งหมด 77 จังหวัด พบว่า ทุกจังหวัด ว่าที่ ส.ว. ที่ได้รับเลือก ได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงที่ตํ่ากว่าร้อยละ 31 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด

พบอุดรฯคะแนนเฉลี่ยสูงสุด-นนทบุรีตํ่าที่สุด

นายอรรถสิทธิ์กล่าวต่อว่า โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ อุดรธานี คิดเป็นร้อยละ 30.15 รองลงมา คือ ปราจีนบุรี ร้อยละ 28.89 และสระแก้ว ร้อยละ 26.36 ขณะที่จังหวัดที่มีสัดส่วนน้อยที่สุดคือ นนทบุรี ร้อยละ 6.37 รองลงมาคือ ภูเก็ต ร้อยละ 6.55 และ ปทุมธานี ร้อยละ 8.11 โดยผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ความคาดหวังของการออกแบบวุฒิสภา ที่ต้องเป็นกลางและปลอดการเมืองนั้น เป็นความคาดหวังที่ไม่ได้เกิดขึ้นตามที่คาดไว้ ที่สำคัญความพยายามในการลดภาวะสภาผัวเมีย ระหว่าง ส.ว. และ ส.ส. ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่ได้กำหนดให้ที่มาของวุฒิสมาชิกเป็น 2 แบบ จากการเลือกตั้ง และจากการสรรหา อีกทั้งยังกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่อนุญาตให้ผู้สมัครที่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ลงรับเลือกตั้งได้นั้น จึงล้มเหลวอีกครั้งหนึ่ง

เย้ยว่าที่ส.ว.เป็นร่างทรงอำนาจสองขั้ว

นายอรรถสิทธิ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้พบว่า ว่าที่ส.ว.เลือกตั้งจำนวน 18 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 23.38 มีพื้นเพภูมิหลัง ความสัมพันธ์ที่จัดได้ว่าเป็นครอบครัวการเมือง แต่หากดูให้ละเอียดแล้วจะเห็นว่า ว่าที่ ส.ว.เกือบ 50 คน จัดได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายทางการเมืองในจังหวัด ทำให้สภาวะที่จะเกิดขึ้นในการต่อสู้กันในเกมอำนาจของวุฒิสภา และการต่อสู้ต่อรองกับสภาผู้แทนฯ ซึ่งในอดีตที่เปรียบได้กับสภาผัวเมียก็จะเปลี่ยนไปในสภาวะและรูปแบบใหม่ ที่เครือข่ายไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า นอกจากนี้ในความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น วุฒิสภาเปรียบได้กับสมรภูมิรบของสองขั้วอำนาจ ที่ต่อสู้ผ่าน ส.ว.ที่ถือได้ว่าเป็นร่างทรงของทั้งสองขั้ว ซึ่งผิดไปจากเจตนารมณ์ของการมีวุฒิสภาที่ต้องปลอดการเมือง เพื่อประสิทธิภาพการตรวจสอบ ถอดถอน

เทียบการต่อสู้เป็น “สภาปรีโอลิมปิค”

นายอรรถสิทธิ์กล่าวด้วยว่า ยิ่งภารกิจที่สำคัญของส.ว. ที่ต้องทำในช่วงของการเปิดสมัยประชุมสภาใหม่นี้ ในการดำเนินการพิจารณาถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา และอาจจะรวมถึง การดำเนินการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี จากกรณีโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว จึงเปรียบวุฒิสภาชุดนี้เทียบได้กับสภาปรีโอลิมปิค ที่การต่อสู้ของขั้วอำนาจที่ไม่อาจทำได้ในสภาผู้แทนฯ โดยผู้เล่นชุดใหญ่ จึงทำให้ ส.ว. ที่ต้องลงมาต่อสู้กันในเกมการเมืองแทนส.ส. ในฐานะผู้เล่นชุด ปรีโอลิมปิค

สะท้อนภาวะคนไทย “เบื่อการเมือง”

นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่า ทั้งนี้ ด้วยอาการเบื่อการเมืองของคนไทย และผลการทำงานของ ส.ว. ชุดที่ผ่านมา ที่การทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายบริหาร ไม่ได้แสดงความแตกต่างระหว่างส.ว. ทั้ง 2 ประเภท และที่สำคัญการต่อสู้ในเกมการเมืองและการต่อรองของส.ว. มักจะอยู่ในเรื่องของการแต่งตั้ง ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นการลงคะแนนลับ และไม่เปิดเผยผลการลงมติรายบุคคล แต่ประชาชนก็เดาได้ว่า เป็นเรื่องของการต่อสู้ในเกมทางการเมืองอย่างชัดเจน ทำให้ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดวิกฤติศรัทธาในการทำงานของวุฒิสภาได้ในอนาคต และการตั้งคำถามกับการดำรงอยู่ของวุฒิสภาได้

            “การที่ประเทศในขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร การต่อสู้ทางการเมืองในระบบทั้งหมดก็จะอยู่ในวุฒิสภา ประชาชนควรต้องจับตามองการทำงานของนักการเมืองเหล่านี้ เพื่อที่จะไม่ปล่อยให้คนเพียงไม่กี่คนนำพาประเทศไปในทางใดทางหนึ่ง และที่สำคัญผลงานและพฤติกรรมของ ส.ว. ที่เกิดขึ้นจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความจำเป็นของการมีวุฒิสภาในบริบททางการเมืองไทยในขณะนี้” นายอรรถถสิทธิ์กล่าว

“สมชาย”หนุนลงมติถอดถอนเปิดเผย

จากนั้นมีการเสวนา หัวข้อ “ปอกเปลือกสภาสูง: เกมอำนาจ การตรวจสอบและผลประโยชน์” ประกอบด้วย นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ อดีตส.ว.ราชบุรี นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา และนายอรรถสิทธิ์

นายสมชายกล่าวในวงเสวนาว่า ตนอยากเสนอว่าการถอดถอนในชั้นวุฒิสภาต้องลงมติอย่างเปิดเผย ถ้าลงคะแนนลับก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เพราะการลงคะแนนลับ เชื่อว่าจะมีการประสานงานกันได้ ซึ่งคะแนนตอนนี้ก็ทำให้นายนิคมได้ยืนวันว่า ไม่เป็นห่วง เพราะนายนิคมมั่นใจว่า คะแนนไม่ถึง 90 คะแนนจาก 150 เสียง ซึ่งเป็นคะแนน 3 ใน 5 จากส.ว. 150 คนตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

 

แนะจับตาส.ว.อิสระหรือไม่จากผลโหวต

นายสมชายกล่าวต่อว่า ส่วนการวิเคราะห์ว่าส.ว.อิสระมีอยู่จริงหรือไม่ หากมาดูกระบวนการจากการเลือกตั้งส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละคน ก็ต้องใช้ฐานคะแนนจังหวัดนั้น หรือต้องเป็นฐานเสียงเก่าที่มีอยู่ซึ่งเป็นฐาน โดยมาจากพรรคการเมือง อาทิ ภาคเหนือมาจากพรรคเพื่อไทย ภาคอีสานมาจากพรรคเพื่อไทย ภาคใต้มาจากพรรคประชาธิปัตย์ หรือภาคกลางก็มาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งผลคะแนนที่ออกมาก็ไปตามกลุ่มก้อนของคะแนนที่จะชนะ ส่วนส.ว.จะอิสระหรือไม่อิสระก็อยู่ที่การกระทำ เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่เราก็สามารถตรวจสอบที่การกระทำของส.ว.คนนั้นได้ นอกจากนี้จะพิสูจน์ได้จากการโหวต ซึ่งการทำหน้าที่ ส.ว.นี้สังคมต้องจับตา เพื่อให้คนในจังหวัดรู้ว่าใครถอดถอนใครและทำเพื่ออะไร

ท้ายุบวุฒิสภาทิ้งหากทำงานไม่ได้

นายสมชายกล่าวต่อว่า ทั้งนี้เมื่อปี 2543 พบว่า ส.ว.มีความเป็นครอบครัวน้อยกว่าปี 2549 ซึ่งพบว่า เมื่อปี 2549 มีส.ว.50-80 คน มีความโยงใยกับพรรคการเมือง ทำให้ส่วนหนึ่งคิดว่า ระบบสรรหาเป็นเรื่องถูกต้อง เพราะเป็นการเลือกตั้งตัวแทนอาชีพแทนเข้ามา ส่วนเรื่องการล็อบบี้ของส.ว.นั้นกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งการแต่งตั้ง หรือถอดถถอน แต่สุดท้ายการตัดสินใจก็อยู่ที่ส.ว.คนนั้น ว่าจะทำหน้าที่อย่างไร ขณะที่การปฏิรูปซึ่งเป็นสิ่งที่กำลังถูกเรียกร้อง ตนก็ต้องมาคิดว่าวุฒิสภาจะควรมีอยู่หรือไม่ ซึ่งตนอยากท้าให้ยุบวุฒิสภาทิ้ง หากส.ว.ทำงานไม่ได้อีกแล้ว ทั้งเรื่องถอดถอนหรือเรื่องแต่งตั้ง จึงต้องมาคิดว่าหน้าที่ส.ว.มีอะไร ส่วนข้อถกเถียงเรื่องที่มาของส.ว.จะเป็นอย่าางไรสามารถคิดกันได้

ชี้มาตรา 7 เปิดช่องผ่าทางตันประเทศ

นายสมชายกล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาตนเคยลงชื่อถอดถอนมาเกือบทุกคน แต่ไม่เคยสำเร็จ ถ้าจะปฏิรูปต้องคิดใหม่ทั้งหมด ทั้งส.ส. ส.ว. และองค์กรอิสระ ซึ่งคนไทยสามารถหาช่องของกฎหมายได้เก่ง ส่วนกรณีถ้าไม่มีนายกฯ ไม่มีคณะรัฐมนตรี(ครม.) หรือไม่มีสภา ก็ต้องไปดูว่าอะไรทำอะไรได้ บางคนบอกว่าตอนนี้จะใช้มาตรา 7 ได้หรือไม่ ตนคิดว่าสามารถทำได้หากถึงทางตัน ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เคยใช้มาตรา 7 กับกรณีคุณหญิงจารุวรรณ​ เมณฑกา อดีตผู้ว่าฯการตรวจเงินแผ่นดินมาแล้ว ซึ่งตนก็มีหลักฐานเก็บไว้ชัดเจน ทั้งนี้ มาตรา 7 จะใช้ได้กับกรณีที่ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ ไม่ใช้กับนายกฯอย่างเดียว มาตรา 7 ก็สามารถใช้กับเรื่องอื่นได้

            “กฎหมายหลายมาตราเขียนไว้เป็นทางออกทั้งมาตรา 3 มาตรา 7 มาตรา 309 ได้ ส่วนจะมีใครนำไปใช้หรือไม่ ผมไม่ทราบ” นายสมชายกล่าว

นายสมชาย แสวงการ

หนุนส.ว.ชุดใหม่ทำหน้าที่อิสระ

นายสมชายกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดนายนิคม ในความเห็นของตนคิดว่า นายนิคมคิดว่าผิดแน่นอน ในการลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ที่มาของส.ว. จึงอยากให้ส.ว.ชุดใหม่ที่กำลังเข้ามาทำหน้าที่จะต้องเป็นอิสระ โดยประชาชนก็ต้องช่วยกันติดตามที่ป.ป.ช.แถลงว่ามีความผิดว่าเป็นอย่างไร ซึ่งจากนี้นายนิคมก็ต้องออกมาชี้แจง อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนการลงคะแนนถอดถอนยังเป็นคะแนนลับที่ไม่เปิดเผย ถ้าให้มีการเปิดเผยได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม หากกรณีถอดถออนนายนิคมสามารถทำได้ วุฒิสภาควรจะได้รับการชื่นชมให้ทำหน้าที่อยู่ต่อไป

เชื่อกกต.รับรองส.ว.ใหม่ก่อนสอยใน 1 ปี

นายสมชายกล่าวว่า สำหรับขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 7 วันหลังการเลือกตั้งส.ว.แล้วเสร็จ ถ้าไม่มีเรื่องร้องเรียนก็คาดว่ากกต.จะรับรองส.ว.ชุดใหม่ได้ แต่ถ้ามีเรื่องร้องเรียนก็จะมีการสอบสวนภายใน 30 วัน แต่ตนคาดว่ากกต.จะรับรองส.ว.ชุดใหม่ ก่อนจะไปสอยอีก 1 ปี เช่นเดียวกับกรณีม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯกทม. แต่คาดว่า วันที่ 29 เม.ย.นี้ กกต.จะรับรองส.ว.ใหม่ทั้งหมด ส่วนการเรียกประชุมสภาวันที่ 18 เม.ย. มีวาระการถอดถอนนายนิคม นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา รวมถึงรับรองกรรมการป.ป.ช. และเลือกกรรมการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่องทั้งหมดก็จะอยู่ในวาระนี้ โดยกระบวนการถอนถอน เมื่อป.ป.ช.ชี้มูลวุฒิสภาก็ต้องรับเรื่องใน 20 วัน ถ้าไม่รับเรื่องจะผิดกฎหมายตามมาตรา 157 ซึ่งส.ว.ชุดใหม่ก็ต้องมีการให้ข้อมูลกันเพื่อให้ทำหน้าที่ต่อได้

ค้านยกเลิกวุฒิสภา-หนุนกรองกฎหมาย

ด้านนายเกชากล่าวว่า การเป็นส.ว.กับ 2549 กับปี 2551 มีความแตกต่างกันมาก เมื่อปี 2549 ส.ว.จะลาออกจากพรรคการเมืองแล้วมาสมัครได้ทันที ส่วนส.ว.ปี 2551 จะมีระยะห่างจากพรรคการเมืองค่อนข้างมาก แต่ส.ว.เมื่อปี 2549 มีส.ว.เครือญาติค่อนข้างมาก พอมาเมื่อปี 2551 ก็มีการกรองบุคคลเหล่านี้ได้ค่อนข้างมากเช่นกัน ส่วนตอนนี้ส.ว.จะยึดโยงกับพรรคการเมืองหรือไม่ ต้องไปตรวจสอบ เพราะถ้ามองระบบการเมืองไทยก็ต้องอาศัยฐานคะแนนส่วนหนึ่ง บางคนได้ 3-5 แสนคะแนนโดยไม่ทำอะไร เพราะประเทศไทยมีระบบอุปถัมภ์ ซึ่งระบบสภาสูงก็เป็น และสภาล่างก็เป็น ทั้งนี้ตนเห็นว่า จำเป็นยังต้องมีส.ว.ไว้กลั่นกลองก่อน อาทิ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถ้าไม่มีส.ว.กฎหมายคงผ่านไปเรียบร้อย ก็จะเกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง

นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์

แนะจับตาเม.ย.การเมืองผ่าทางตัน

นายเกชากล่าวด้วยว่า ส่วนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยากให้การลงคะแนนเหลือเพียงกึ่งหนึ่ง หรือแค่ครึ่งหนึ่งคือ 75 คน จากเดิมต้องใช้ 3 ใน 5 หรือตัวเลข 90 เสียงขึ้นไป จึงเชื่อว่าหากมีการแก้ไขตัวเลขการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแค่กึ่งหนึ่ง นักเมืองจะเกรงกลัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ประเทศเดินหน้าไปได้ ก็ต้องผ่าทางตัน จะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ และเชื่อว่าหลังเทศกาลสงกรานต์นี้จะได้เห็นอะไรมากขึ้นกว่าเดิม หรือในช่วงเดือนเม.ย.ปลาย ๆ ก็อาจจะได้ข้อยุติ อีกทั้งส่วนตัวเชื่อว่าการเลือกตั้งจะยังไม่เกิดในปีนี้ แต่อาจจะเกิดในเม.ย.ปีหน้าได้

            “ไม่ห่วงสถานการณ์หลังจากนี้ เพราะเชื่อว่ามีผู้หลักผู้ใหญ่คอยดูแลอยู่มีพระสยามเทวาธิราชคอยคุ้มครอง เชื่อว่าทุกอย่างจะผ่านไปได้ ส่วนเรื่องนายกฯคนกลางนั้น อาจจะมีคนส่งให้ศาลวินิจฉัยว่ามีวิธีใดบ้างทำได้ หรือทำไม่ได้อย่างไร” นายเกชากล่าว

จี้เปิดเผยการลงคะแนนถอดถอน

ขณะที่นายอรรถสิทธิ์กล่าวว่า ประชาชนต้องมองวุฒิสภาว่าทำหน้าที่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาส.ว.ไม่ค่อยได้บอกสังคมในการทำหน้าที่ของตัวเอง ซึ่งส.ว.ชุดใหม่ที่เข้ามานั้นต้องมองพฤติกรรมดีกว่าเดิม และยังเชื่อว่าส.ว.ชุดใหม่มีความตั้งใจทำงาน โดยการเปิดเผยข้อมูลประชาชนก็จะสามารถตรวจสอบเครือข่ายของส.ว.คนนั้นได้ว่าเป็นภาพลักษณ์อย่างไร จึงอยากให้มีการเปิดเผยการทำหน้าที่ของส.ว. โดยเฉพาะการลงคะแนนเสียงถอดถอน เพราะถ้าไม่มีการเปิดเผยก็จะเสื่อมเสียภาพลักษณ์ เพราะจะไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นใคร หรือคนไหนเข้าประชุมบ้าง หากมีการเปิดเผยข้อมูลแล้วคำว่าสภาผัวเมียก็จะหายไป

ขอบคุณข่าวจากมูลนิธิตาสว่าง http://www.info.or.th

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: