เผยเหตุเด็กเบี้ยวหนี้กยศ. รายได้ไม่พอ-รุ่นพี่แนะมั่ว

TCIJ 3 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1953 ครั้ง

สกศ. ลงพื้นที่ศึกษาสภาพผลกู้ยืมเงิน กยศ.จังหวัดขอนแก่น พบเหตุเด็กกู้ยืมไม่คืนเงิน เพราะรายได้ไม่เพียงพอใช้หนี้ ขณะที่ผลสำรวจร้อยละ 50 หนุนปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการชำระหนี้ หากรายได้ไม่ถึง 15,000 บาท ต่อเดือน อีกทั้งเปลี่ยนคุณสมบัติผู้กู้จากเกณฑ์รายได้ครอบครัวมาเป็นผลการเรียน ด้านผู้บริหารเสนอผู้พิการกู้แล้วไม่ต้องใช้คืน

เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 เว็บไซต์ nationtv.tv รายงานว่า รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ รองเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า สกศ. เล็งเห็นความสำคัญของมาตรการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา ด้วยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องกว่า 17 ปี จึงเห็นควรต้องมีการศึกษาสภาพและผลการกู้ยืมเงิน กยศ. ว่าเป็นไปตามเจตนารมย์ของกองทุน กยศ. หรือไม่ โดยได้เลือกจังหวัดขอนแก่น เป็นกรณีศึกษา เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีผู้กู้ยืม กยศ. สูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มียอดจัดสรรมากถึงร้อยละ 3 ของวงเงินกองทุน กยศ. และเป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายที่สำนักงานกองทุน กยศ. ให้มีการจัดกิจกรรมไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเงินกู้ยืมก่อนฟ้องคดี หรือเป็นพื้นที่ที่มีผู้กู้คืนเงินกองทุน กยศ. น้อย

ข้อมูล ณ วันที่ 3 1 ก.พ.2556 พบว่า ผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้คืนกองทุน ตั้งแต่ปี 2542 มีทั้งสิ้น 127,265 คน เป็นผู้ค้างชำระบางส่วน สูงถึงร้อยละ 76 ของผู้กู้ที่ครบกำหนดชำระหนี้คืน และค้างชำระทั้งจำนวน ร้อยละ 27 โดยมีผู้กู้ที่ค้างชำระจำนวนมาจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน มากสุด ประมาณร้อยละ 37 รองลงมา คือสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาร้อยละ 28

พบรายได้ไม่พอใช้หนี้

รศ.ดร.ชวนี กล่าวต่อว่า จากผลการวิเคราะห์แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 4,184 คน จำแนกเป็นผู้กู้ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา 3,566 คน สำเร็จการศึกษาแล้ว 625 คน และผู้บริหารสถานศึกษา 62 คน พบว่า สาเหตุที่ไม่ชำระเงินคืน เนื่องจากมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้หนี้ และบางคนเข้าใจว่าไม่ต้องใช้คืนก็ได้ เพราะมีการสอนกันมาระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง อีกทั้งส่วนใหญ่ไปสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่า และมีความจำเป็นต้องชำระเงินคืนก่อน ส่วนกองทุน กยศ. ดอกเบี้ยน้อย จึงเห็นว่ายังไม่ต้องชำระคืนก็ได้ นอกจากนั้น กลุ่มตัวอย่างที่กำลังศึกษาอยู่ร้อยละ 50 เห็นด้วยกับการปรับปรุงกับการดำเนินงานของกองทุน กยศ.

แนะปรับเกณฑ์ปล่อยกู้

สำหรับประเด็นที่เห็นด้วยมากที่สุดคือ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการชำระหนี้ที่กำหนดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ ที่ผู้กู้เริ่มชำระหนี้เงินกู้ 15,000-16,000 บาทต่อเดือน หากไม่ถึงเกณฑ์ดังกล่าวไม่ต้องชำระ โดยไม่ต้องกำหนดระยะเวลาปลอดหนี้ 2 ปีอย่างในปัจจุบัน และให้สามารถชำระหนี้ได้ถึงอายุ 60 ปี เมื่อครบกำหนดค้างชำระให้ตัดเป็นหนี้สูญ ส่วนคุณสมบัติของผู้กู้ควรเปลี่ยนจากเกณฑ์รายได้ครอบครัว มาพิจารณาจากศักยภาพและความสามารถในการเรียน รวมถึงควรนำผลการเรียนมาพิจารณาต่อว่าจะให้กู้ยืมต่อเนื่องหรือไม่ ส่วนกลุ่มผู้บริหารมีข้อเสนอแนะ อาทิ ควรใช้หลักทรัพย์มาค้ำประกันการกู้ยืม ผู้พิการกู้แล้วไม่ต้องใช้คืน เป็นต้น

เพิ่มช่องทางชำระหนี้

ทั้งนี้ผู้กู้เห็นว่า ควรเพิ่มช่องทางการชำระหนี้ ผ่าน Counter Service มากที่สุด รองลงมาคือชำระผ่านธนาคารพาณิชย์ทั่วไป และชำระผ่านทางไปรษณีย์ อย่างไรก็ตาม สกศ. จะประมวลผลที่ได้จากกรณีศึกษา เสนอต่อคณะกรรมการกองทุน กยศ. เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางในการดำเนินงานของกองทุน กยศ. ให้มีประสิทธิภาพต่อไป โดยคาดว่าจะเสนอภายในเดือนกรกฎาคมนี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: