แฉอสม.มั่วชื่อทำพิจารณ์ ขึ้นป้ายไล่โรงไฟฟ้ากระบี่

วันชัย พุทธทอง TCIJ 3 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1859 ครั้ง

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่บ้านแหลมหิน ต.คลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ชาวชุมชนคลองรั้วรวมตัวกันขึ้นป้ายคัดค้านท่าเรือขนถ่านหิน เพื่อลำเลียงถ่านหินให้โรงไฟฟ้ากระบี่ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เนื่องจากกังวลผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับชุมชนและระบบนิเวศ เนื่องจากที่ผ่านมาท่าเรือขนถ่ายน้ำมันของโรงไฟฟ้ากระบี่ ทำน้ำมันรั่วลงทะเลส่งผลกระทบอย่างรุนแรง โดยไม่มีการแก้ไขปัญหา หลังจากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่จ.กระบี่ ใกล้กับโรงไฟฟ้ากระบี่เดิม ในพื้นที่ต.คลองขนาน อ.เหนือคลอง มีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ โดยนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ด้วยเงินลงทุน 5-6 หมื่นล้านบาท และท่าเรือขนถ่ายถ่านหิน แต่โครงการได้รับการต่อต้านจากชาวบ้านในบริเวณนั้นอย่างต่อเนื่อง

นางกนกวรรณ แซ่เอี่ยว ชาวบ้าน บ้านแหลมหิน ต.คลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เป็นโครงการลำเลียงถ่านหินเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.กระบี่ แต่ถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่มาตลอด เพราะกังวลผลกระทบ แต่โรงไฟฟ้าถ้านหินไม่รับฟังการคัดค้านของคนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเพราะเป็นผลประโยชน์ของการดำเนินโครงการมันเยอะมาก

นางกนกวรรณกล่าวต่อว่า ท่าเรือขนถ่ายถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรองรับการขนถ่ายถ่านหินจากเรือขนาด 3,000 ตัน ที่จะออกไปขนถ่ายมาอีกถอดหนึ่งจากเรือขนาด 100,000 ตัน บริเวณ จุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเลบริเวณเกาะปอ และชายฝั่งต.เกาะกลาง จากนั้นถ่านหินจะถูกส่งผ่านสายพานลำเลียงหรืออุโมงค์ใต้ดินจากท่าเรือบ้านคลองรั้วไปยังโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือ แต่จะส่งผลกระทบต่อทะเลและพื้นที่ทำกินของประชาชนทั้งในทะเลและบนฝั่ง

บ้านคลองรั้ว ประชาชน มีการทำเกษตร และทำการประมง ซึ่งโครงการดังกล่าวจะส่งผลกระทบทั้งสองอาชีพโดยตรง เพราะการขนส่งถ่านหินหลังจากนำขึ้นมาจากเรือเพื่อส่งเข้าป้อนโรงไฟฟ้าต้องผ่านพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ผ่านพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่ป่าชายเลน และพื้นที่ชุมน้ำระดับโลกที่เราเรียกว่าแรมซ่าไซด์

เส้นทางขนถ่านหิน เจ้าของโครงการอ้างว่า ได้ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ครอบคลุมเพียงรัศมี 5 กิโลเมตรจากท่าเทียบเรือและจุดขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล แต่คนในชุมชนไม่เคยเห็นคนของเจ้าของโครงการเข้ามาศึกษาในพื้นที่ หรือเข้ามาแอบศึกษาโดยชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด หากเป็นเช่นนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสอย่างชัดเจน

            “มีคำถามว่า ทำไมศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่เพียง 5 กิโลเมตร จากบริเวณที่เรือจอดเท่านั้น หรือนักวิชาการของโรงไฟฟ้าถ่านหิน พูดคุยกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ว่า อย่ามีผลกระทบเกิน 5 กิโลเมตร หากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องตลกแล้ว ตัวอย่างน้ำมันเตาของโรงไฟฟ้ากระบี่รั่วลงทะล ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง แต่เรื่องกลับเงียบ ซึ่งเป็นน้ำมันเตาที่ส่งให้โรงไฟฟ้ากระบี่ เจ้าเดิมนี้และคนในชุมชนเจ็บปวดมากเกินพอแล้ว และเมื่อเกิดผลกระทบผลความรุนแรงก็จะกระจายไปทั่วทะเล และไม่เคยมีหน่วยงานไหนเสนอหน้าเข้ามาแก้ไขปัญหา คนในชุมชนก็ต้องรับผลกระทบอย่างโดดเดียว นี้คือเหตุผลของการคัดค้านโครงการเพราะเจ็บปวดมามากพอแล้ว” นางกนกวรรณกล่าว

ด้านนางจิตรา น้องไพรี ชาวบ้านบ้านแหลมหิน ต.คลองรั้ว อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ กล่าวว่า กระบวนการได้มาของเอกสารโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว เพื่ออ้างความชอบธรรมให้ได้สร้างโครงการที่เรียกว่า ค.1 และค.2 เป็นการจัดทำกันเองของพวกนักวิชาการและกลุ่มแม่บ้านหรือที่เรียกว่า กลุ่มอสม.ในชุมชนประมา ณ 4-5 คน โดยนำรายชื่อคนในชุมชนที่มาร่วมประชุมอสม. ไปอ้างว่าเป็นรายชื่อคนที่สนับสนุนโครงการซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นางจิตรากล่าวอีกว่า กลุ่มอสม.ออกมาพูดให้ได้ยินว่า ค.1ค.2ผ่านแล้ว เพราะพวกเขาทำเอกสารกันเองจะไม่ผ่านได้อย่างไร เอกสารที่ทำเสร็จเรียบร้อยแล้วด้วย ซึ่งเป็นการพูดที่แสดงให้เห็นถึงความภูมิใจอย่างมากของคนจำนวน 4-5 คนนี้ คือขบวนการให้ได้มาของขบวนการสนับสนุนโครงการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นกับโครงการที่จะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวางต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

            “แสดงให้เห็นชัดเจนว่า มีความเสี่ยงอย่างมาก เมื่อทราบขบวนการและเห็นหน้ากลุ่มคน 4-5 คนมาสุมหัวกันทำเอกสารปลอมขึ้นมาสนับสนุนโครงการ ที่มีมูลค่าหมื่นล้านแสนล้าน การกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ ค.1 ค.2ที่เขาเรียกกัน เจ้าของโครงการเขาทำกันแบบนี้นี้เอง แล้วจะให้คนในชุมชนใว้ใจได้อย่างไร ชุมชนจึงต้องการสื่อสารให้สาธารณะได้รับรู้โดยการขึ้นป้ายคัดค้านโครงการ” นางจิตรากล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: