หากไม่ใช่โรงอาหารในสถานศึกษา การจะหาอาหารจานละไม่กี่สิบบาทในปัจจุบันแทบเป็นได้ยาก เพราะข้าวราดแกงริมทางเท้าในกรุงเทพฯ ราคาอย่างต่ำกว่าจานละ 30 บาท
เมื่อทุนนิยมกระโดดข้ามรั้วเข้าไปในสถาบันการศึกษา เปลี่ยน โรงอาหารหนึ่งในสวัสดิการเลี้ยงปากท้องให้นักศึกษาซึ่งกำลังอยู่ในวัยเรียนในราคาย่อมเยาว์ ให้กลายเป็นธุรกิจค้ากำไรกับผู้บริโภคที่ไม่มีรายได้อย่างนักศึกษา โดยมหาวิทยาลัยเปิดให้บริษัทเอกชนเข้าไปรับสัมปทานกิจการศูนย์อาหาร จากอาหารราคาจานละเพียงสิบกว่าบาท บางรายการขยับราคาเทียบเท่าครึ่งหนึ่งของค่าแรงขั้นต่ำ
ป้ายประท้วงนับสิบป้าย แขวนรอบโรงอาหารกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษาของพวกเขา เหตุใดอาหารในสถานศึกษาที่ควรเป็นสวัสดิการราคาถูก จึงมีราคาสูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เหตุใดจึงให้ธุรกิจอาหารครบวงจรรายใหญ่ของประเทศ เป็นผู้กำหนดปากท้องของนักศึกษา
ขอบคุณภาพจาก https://www.facebook.com/chanyut.wigitpong
จากการพูดคุยกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รายหนึ่ง เปิดเผยว่า ตั้งแต่เปลี่ยนจากโรงอาหารกลางเป็น ‘ศูนย์อาหาร CP Food World’ ตนและนักศึกษาอีกหลายคนได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เมื่อพิจารณาตามความเป็นจริง ราคาอาหารที่จำหน่ายในศูนย์อาหารจะอยู่ในระดับเดียวกับศูนย์อาหารสมัยใหม่ในที่อื่นๆ แต่ในสถานศึกษา อาหารควรจะเป็นสวัสดิการราคาถูกให้กับนักศึกษาและบุคลากร
“เมื่อครั้งยังเป็น ‘โรงอาหารกลาง’ ข้าวราดแกงและกับข้าวหนึ่งอย่าง ราคาเพียงจานละ 17 บาท แต่ตอนนี้ปรับราคาขึ้นเป็น 25 บาท หากใส่กล่องนำกลับไปกินที่บ้าน คิดราคาเพิ่มอีก 5 บาท สินค้าบางอย่างเช่นข้าวมันไก่ ราคาสูงถึงจานละ 40 บาท เพื่อนนักศึกษาหลายคนที่สู้ราคาอาหารไม่ไหวเลือกที่จะเดินไกลขึ้น เพื่อออกไปซื้อกับข้าวถุงในตลาดย่านชุมชนหลังมหาวิทยาลัยที่ยังพอหาซื้อได้ในราคาถุงละ 10 บาท” นักศึกษาคนเดิมกล่าว
โขกค่าเช่า หักยอดขาย ผูกขาดวัตถุดิบ
ใช่แต่เพียงผู้บริโภคในห่วงโซ่ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงโรงอาหารครั้งนี้เท่านั้น แต่ข้อต่อสำคัญอย่างผู้ค้ารายเก่า กลับอยู่ในสถานะที่ไม่แตกต่างกัน
สมาน (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ค้าดั้งเดิม เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมตนจ่ายค่าเช่าโดยตรงให้กับมหาวิทยาลัย เดือนละ 800 บาท แบ่งเป็นค่าเช่าที่ 600 บาท ค่าน้ำ- ไฟ แบบเหมาจ่าย 200 บาท ขณะที่ปัจจุบันจ่ายให้กับเจ้าของสัมปทาน เดือนละประมาณ 6,000 บาท แบ่งเป็น ค่าเช่าที่ 4,000 บาท ค่าส่วนกลางที่เพิ่มขึ้นมาอีก 1,200 บาท และที่เหลือเป็นค่าน้ำ-ไฟคิดจากจำนวนที่ใช้จริง ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นกว่าเจ็ดเท่าตัว ทำให้สมานต้องลดจำนวนพนักงานในร้านลง เหลือเพียงหนึ่งคนจากสามคน และเพิ่มค่าอาหารขึ้นอีกรายการละ 5 บาท
ขณะที่แอ๊ด (นามสมมติ) ผู้ค้าอีกรายเล่าว่า นอกจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นแล้ว เงินจำนวน 20 เปอร์เซ็น จากยอดขายต่อเดือน จะถูกหักให้กับเจ้าของสัมปทาน แต่เนื่องจากเป็นช่วงเปิดศูนย์อาหารใหม่ลูกค้ายังไม่มากจึงขอลดลงเหลือเพียง 15 เปอร์เซ็น อีกทั้งตนและลูกจ้างในร้านต้องเปลี่ยนการแต่งกายเป็นเครื่องแบบของศูนย์อาหาร
ขณะที่ผู้ค้าบางรายกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากเครื่องแบบและภาชนะที่ต้องใช้ของศูนย์อาหารแล้ว วัตถุดิบในการปรุงอาหาร เช่น หมู ไก่ ถูกกำหนดให้ใช้สินค้าจากบริษัทในเครือของผู้รับสัมปทานเท่านั้น
นอกจากค่าเช่าที่เพิ่มขึ้นและกำไรที่หายไป ความหลากหลายของอาหารต่าง ๆ ภายในร้านล้วนหายไปเช่นกัน เพราะกฎของศูนย์อาหารระบุว่า ห้ามจำหน่ายสินค้าประเภทเดียวกับที่มีจำหน่ายในร้านค้าของบริษัท นั่นย่อมทำให้น้ำดื่มตรามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครื่องดื่มดับกระหายราคาถูกที่สุดในรั้วการศึกษาจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในศูนย์อาหารแห่งนี้
ไม่เฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่กิจการโรงอาหารถูกเอกชนรายเดียวกันน้เข้าไปรับสัมปทานเปลี่ยนเป็นศูนย์อาหารครบวงจร โดยเปิดตัวไปเมื่อเดือนกันยายน 2556
จากการสำรวจร้านค้าภายในศูนย์อาหารโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า ลักษณะโดยรวมไม่ต่างจากที่ศูนย์อาหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มากนัก
แอน (นามสมมติ) เจ้าของร้านจำหน่ายสินค้าเพื่อสุขภาพ เล่าว่า ในแต่ละเดือนตนจ่ายค่าเช่าพื้นที่ประมาณ 20,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำ-ไฟ ถุงบรรจุสินค้าก็ต้องใช้ของบริษัทเท่านั้น และหากวันไหนเปิดหรือปิดร้านช้าจะถูกปรับเงินครั้งละ 500 บาท
ปัญหาปากท้องในรั้วสถานศึกษาถูกระบายลงเป็นคำพูดผ่านป้ายประท้วงนับสิบแผ่น แขวนรอบศูนย์อาหาร ไม่เพียงแค่นั้น คลิปวีดีโอที่มีบทสัมภาษณ์ผู้บริหารรายละเอียดชี้แจงถึงการปรับปรุงโรงอาหารให้ทันสมัยขึ้นในขณะที่ราคาอาหารจะยังคงถูกควบคุมให้อยู่ในราคาเดิมก่อนปรับปรุง ถูกเผยแพร่ต่อกันในโลกออนไลน์พร้อมภาพเปรียบเทียบราคาอาหารที่ขัดกับคำอธิบายของผู้บริหารในขณะนั้น
สื่อหลายสำนักนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง มีการเผยแพร่เอกสารรายงานการประชุมของคณะผู้บริหารเรื่องสัมปทานโรงอาหารกลาง พร้อมตั้งคำถามถึงสาเหตุที่ให้เอกชนรายใหม่เข้ามาเป็นผู้รับสัมปทาน ทั้งที่ก่อนหน้านั้นไม่ได้ระบุในรายงานการประชุม และนักศึกษารับรู้เพียงแค่มหาวิทยาลัยจะปรับปรุงโรงอาหารให้ทันสมัยขึ้น
แจงเหตุซีพีรับสัมปทานเพราะใช้งบฯน้อยกว่า
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวชี้แจงผ่านเฟซบุ๊ก ถึงข้อสงสัยเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า บริษัทที่จะเข้ามาทำโรงอาหารใหม่ในตอนทำประชาพิจารณ์ บอกเลิกโครงการไป เพราะเข้าใจว่ามีปัญหาเรื่องเงินลงทุน ทางศูนย์รังสิตที่เป็นผู้รับผิดชอบโรงอาหารกลางจึงไปให้ ‘ซีพีเอฟ’ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เข้ามาทำแทน ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่ามาก โครงการเดิมประมาณ 100-200 ล้านบาท ส่วนของซีพีเอฟใช้เพียง 20 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ฝ่ายกิจการนักศึกษาจะไม่ใช่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องโรงอาหาร แต่ในฐานะที่ตนเป็นคนรับผิดชอบในการทำประชาพิจารณ์ครั้งนั้น ก็ต้องรับผิดชอบด้วย ความจริงเมื่อทราบเรื่องในภายหลังว่า ซีพีเอฟเข้ามาดำเนินการแทน จึงได้แจ้งทางองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และสภานักศึกษาถึงกรณีดังกล่าว
ส่วนราคาอาหารที่พุ่งสูงขึ้น ผศ.ดร.ปริญญาอธิบายว่า หลักการของมหาวิทยาลัยที่กำหนดให้ผู้มาลงทุนปรับปรุงโรงอาหารกลางต้องทำคือ ต้องมีรายการอาหารในราคา 25 บาท ซึ่งที่ปรากฎคือ ถึงแม้จะมีรายการอาหารในราคา 25 บาท แต่รายการอาหารบางรายการยังคงมีราคาสูงเกินจริง จึงเห็นว่าควรมีการแก้ไข โดยจะเร่งหารือกับส่วนที่ดูแลโรงอาหารกลาง และเจรจากับซีพีเอฟให้ปรับปรุงเรื่องราคาอาหาร
โรงพยาบาล-มหาวิทยาลัยแหล่งระบายวัตถุดิบ-สินค้าเครือซีพี
เมื่อตรวจสอบไปยัง บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด (ซีพีเอฟ) พบว่า โครงการซีพี ฟู้ด เวิลด์ CP Food World เป็นหนึ่งในธุรกิจลูกภายใต้การบริหารของซีพีเอฟ ในรูปแบบศูนย์อาหารครบวงจร เจาะตลาดชนชั้นกลาง เน้นการเข้าไปดำเนินกิจการภายในโรงพยาบาล สำนักงานและสถานศึกษาต่าง ๆ หลังจากทดลองตลาดเปิดสาขาแรกที่อาคารปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลศิริราช เมื่อปลายปี 2555 สามารถทำรายได้มากกว่าเดือนละ 3 ล้านบาท บางเดือนพุ่งสูงถึง 5 ล้านบาท เฉลี่ยวันละ 120,000 บาท
อย่างไรก็ตาม นายวิรัตน์ เตชะนิรัติศัย รองกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจค้าปลีก บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด ผู้บริหารศูนย์อาหารซีพี ฟู้ดเวิลด์ ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชน เมื่อเดือนกันยายน 2556 ว่า ศูนย์อาหารเปิดใหม่นี้ทำหน้าที่เสมือนแหล่งกระจายสินค้าในเครือบริษัทซีพี และเป็นการต่อยอดแนวคิดท่านประธาน (นายธนินท์ เจียรวนนท์) ที่ต้องการขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่มีทั้งการผลิต แปรรูปอาหาร และช่องทางจำหน่ายในรูปแบบของค้าปลีก
การให้เอกชนเข้ามารับสัมปทานโรงอาหารในสาบันการศึกษา อาจชวนให้ตั้งคำถามต่อสถาบันการศึกษาทั้งหลายว่า แท้จริงแล้วอาหารควรเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานราคาถูก ที่สถาบันการศึกษาควรจัดสรรให้นักศึกษา หรือสินค้าที่ขยับราคาตามเงินในกระเป๋า
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ