ธุรกิจแอพแท็กซี่สู้เดือดบนถนนเมืองไทย ขาย'รวดเร็ว-ปลอดภัย-ไม่ปฏิเสธลูกค้า'

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 3 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4347 ครั้ง

กำลังมาแรงสำหรับเทคโนโลยีการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ บนโทรศัพท์สมาร์ทโฟน สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องเรียกใช้บริการแท็กซี่สาธารณะอยู่เป็นประจำ เพราะนอกจากเป็นบริการที่สะดวกรวดเร็วแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดที่ผู้โดยสารยุคนี้ต้องการคือ ความปลอดภัย ทำให้บริการรูปแบบนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับใครที่เคยใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่น ทางโทรศัพท์มือถือไปแล้ว คงเห็นถึงความสะดวกสบายกับบริการนี้ เพราะที่ผ่านมามีการเผยแพร่รีวิวประสบการณ์การใช้บริการแท็กซี่แอพลิเคชั่นผ่านสื่อต่าง ๆ มากมาย ขณะที่บริษัทเจ้าของแอพพลิเคชั่น ก็เปิดตัวผ่านสื่อเพื่อโปรโมทธุรกิจผ่านสื่อมวลชนอย่างกว้างขวาง ทำให้ปัจจุบันการให้บริการเรียกแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นในประเทศไทย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ มีบริษัทที่เปิดให้บริการเป็นที่รู้จักทั่วไป 3 บริษัท ซึ่งให้บริการแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างชาติ ที่เข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

Grab Taxi จากมาเลเซียตีตลาดอาเซียน

เริ่มต้นที่บริษัท Grab Taxi ประเทศไทย จำกัด สัญชาติมาเลเซีย ก่อตั้งจากเพื่อนนักศึกษาร่วมสถาบัน Harvard Business School มีนายแอนโทนี่ แทน ชาวมาเลเซีย พัฒนาแอพพลิเคชัน Grab Taxi ร่วมกับเพื่อนชาวเวียดนาม จนได้รับรางวัลรองชนะเลิกการประกวดแผนธุรกิจของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งนี้ ต่อมาจึงร่วมกันเปิดบริษัทในประเทศไทยกับ น.ส.จุฑาศรี คูวินิชกุล กรรมการผู้จัดการ หลังจากที่ Grab Taxi ประสบความสำเร็จในประเทศมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้งสองประเทศมียอดการดาวน์โหลดมากกว่า 4 แสนครั้ง

Grab Taxi เป็นแอพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน รองรับทั้งระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไอโอเอส และวินโดวส์โฟน ที่ดาวน์โหลดลงเครื่องเพียงครั้งเดียว สามารถนำไปใช้งานได้ทั้ง 4 ประเทศ คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และสิงคโปร์ จุดเด่นของแอพนี้ก็คือ นำระบบค้นหาตำแหน่งผ่านดาวเทียม หรือ GPS มาใช้งานเพื่อค้นหาตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้อัตโนมัติ เพียงกำหนดตำแหน่งปลายทางของผู้ที่ต้องการเดินทาง แอพพลิเคชั่นจะค้นหารถแท็กซี่ที่อยู่ใกล้ที่สุด และแสดงระยะทางจากจุดเรียกไปยังจุดหมาย และค่าโดยสารโดยประมาณให้ทราบ เมื่อกดเรียกรถแล้ว ผู้โดยสารจะได้รับการยืนยันภายใน 1 นาที พร้อมข้อความที่ระบุใบหน้า และเบอร์โทรศัพท์ของพนักงานขับรถ รวมถึงทะเบียนรถและเวลาถึงที่หมายโดยประมาณ อีกทั้งยังสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของรถได้ตลอดเวลาขณะขับมารับผู้โดยสาร รวมถึงสามารถโทรศัพท์พูดคุยเพื่อนัดแนะตำแหน่งที่รอหรือจะให้รับได้ด้วย

ขอบคุณภาพจาก www.ensogo.com/

นอกจากนี้ยังมีระบบ Track My Ride ที่สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งการติดตามการเดินทางเพื่อความปลอดภัยให้กับครอบครัว หรือเพื่อน ๆ เพื่อให้ทราบการเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ขณะโดยสารรถจนถึงที่หมายผ่านโซเซียลเน็ตเวิร์กต่าง ๆ อาทิ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อีเมล วอทส์ แอพ และไลน์ ฯลฯ ขณะที่คนขับแท็กซี่ก็สามารถเลือกได้ว่าจะรับงานหรือไม่ โดยระบบจะเลือกส่งงานให้กับแท็กซี่คันที่วิ่งอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กับผู้โดยสารที่สุดก่อน

สำหรับค่าโดยสาร ผู้โดยสารจะต้องจ่ายเพิ่มให้คนขับแท็กซี่อีก 25 บาท นอกเหนือจากค่ามิเตอร์ตามระยะทาง แอพพลิเคชั่นมี 2 เวอร์ชั่น คือ แอพพลิเคชั่นสำหรับผู้โดยสาร และแอพพลิเคชั่นคนขับแท็กซี่ที่รองรับเฉพาะระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ เมื่อผู้โดยสารจะใช้งานในครั้งแรกจะมีการให้ลงทะเบียนชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และ อีเมลก่อน ขณะที่คนขับก็จะต้องมาลงทะเบียนกับทางบริษัท เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นของทั้งผู้โดยสาร และคนขับ ปัจจุบันบริษัทระบุว่า มีแท็กซี่สนใจสมัครร่วมเครือข่ายกับบริษัทมากขึ้นเรื่อย ๆ และน่าจะทำให้ธุรกิจนี้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ล่าสุด Grab Taxi ยังเพิ่มบริการ Grab Car โดยเปิดให้ผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาร่วมบริการในลักษณะแท็กซี่ลีมูซีนด้วย ขณะที่ค่าบริการขึ้นอยู่กับระยะทาง โดยจะเริ่มต้นที่ 45 บาท

Easy Taxi เตรียมชูความเร็ว-รอแค่ 5 นาที

รายต่อมาที่แม้จะมีการทดลองเปิดให้บริการมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้ไม่นาน คือ Easy Taxi ของ บริษัทอีซี่ แท็กซี่ไทยแลนด์ สัญชาติบราซิล หลังทำตลาดทั่วโลกมาแล้วกว่า 32 ประเทศ และหลังจากให้บริการในประเทศไทยมา 11 เดือน มียอดดาวน์โหลดแล้วกว่า 5 แสนครั้ง มีเครือข่ายแท็กซี่ในระบบกว่า 8,000 ราย ทำให้อัตราการรอรถเฉลี่ยอยู่ที่ 10 นาที ซึ่งอยู่ในระดับที่ผู้โดยสารรับได้ แต่จะพยายามลดลงให้เหลือเพียง 5 นาที ด้วยการเพิ่มจำนวนแท็กซี่ในระบบให้มากขึ้น

ส่วนการให้บริการยังคงเน้นเรื่องความปลอดภัยของทั้งผู้โดยสารและคนขับ ความซื่อสัตย์ของแท็กซี่ ลืมของไม่หาย โดยจะมีการอบรมผู้ขับรถแท็กซี่จนกว่าจะผ่านการประเมินก่อน ซึ่งผู้โดยสารจะเป็นผู้ให้คะแนนการบริการ โดย Easy Taxi แอพพลิเคชั่น เป็นการทำงานรองรับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ไอโอเอส วินโดวส์โฟน และ แบล็กเบอร์รี่ ดีไวซ์ หลังจากผู้ใช้บริการกดยืนยันการเรียกให้รถแท็กซี่มารับ ผู้ใช้บริการจะได้รับการแจ้งยืนยันการให้บริการ พร้อมชื่อและภาพของผู้ขับขี่ รวมทั้งภาพของรถ ทั้งยังสามารถทราบตำแหน่งจริงที่รถแท็กซี่อยู่ได้ พร้อมกับการชำระเงินผ่านแอพพลิเคชั่น, การให้บริการสำหรับลูกค้าในรูปแบบของลูกค้าองค์กร,สถานที่ที่ชื่นชอบ เดินทางไปบ่อย คุณสมบัติด้านการบริการอื่นๆ เพิ่มเติม ส่วนลดพิเศษ, การรับ-ส่งข้อความระหว่างผู้โดยสารกับผู้ขับขี่ การบันทึกประวัติการเดินทาง ข้อมูลของแท็กซี่ที่พร้อมให้บริการในพื้นที่ ๆ ผู้โดยสารอยู่ เช่นเดียวกับแอพพลิเคชั่นอื่น ๆ ทั่วไป

Uber จากอเมริกาเน้นหรูจ่ายบัตรเครดิตได้

ส่วนแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่อีกแบรนด์ ที่เปิดตลาดในประเทศไทย เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการที่ต้องการใช้รถรับจ้างระดับหรูหรา หรือรถระดับไฮคลาส คือ Uber หรือ อูเบอร์ บริษัทให้บริการแท็กซี่ที่ถือกำเนิดขึ้นที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ก่อนขยายไปทั่วโลกถึงปัจจุบัน 38 ประเทศ โดย Uber เป็นผู้ให้บริการแท็กซี่แบบที่มีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง ใช้การเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน มีตำแหน่งของรถที่มารับ และคำนวณเวลาให้เรียบร้อย ที่แตกต่างจากแอพพลิเคชั่นอย่าง Grab Taxi และ Easy Taxi คือผู้โดยสารสามารถจ่ายค่าโดยสารผ่านบัตรเครดิต ผ่านแอพลิเคชั่นได้เลย ไม่จำเป็นต้องจ่ายด้วยเงินสด

สำหรับอัตราการให้บริการของ Uber Taxi ตั้งราคาค่าโดยสารไว้เริ่มต้นที่ 45 บาท แต่มีขั้นต่ำต่อเที่ยวที่ 75 บาท ที่เป็นการบวกค่าบริการเพิ่ม โดยบริษัทมีรถหรูให้บริการ คือ Mercedes-Benz E-Class กับ Toyota Camry เป็นต้น ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักธุรกิจ ผู้บริหาร ที่ไม่ต้องการขับรถไปยังสถานที่ต่าง ๆ เอง เช่น งานเลี้ยง หรือประชุมต่างๆ ที่หาที่จอดรถยาก หรือไม่มีที่จอดรถ เป็นต้น

Uber เปิดตัวในเมืองไทย เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา

รูปแบบการให้บริการของ Uber ไม่ต่างจากสองเจ้าแรก โดยเป็นการให้ข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ข้อมูลจึงจะถูกบันทึกไว้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามผู้ขับขี่รถแท็กซี่ได้เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของทั้ง 3 บริษัทนี้ โดยระบุว่า 2 บริษัทแรกดีกว่า เนื่องจากคนขับเป็นอิสระในการขับรถและสามารถหยุดพัก ได้ตามต้องการ เพียงแต่มาเข้าระบบเพื่อต้องการให้มีรายได้ที่มั่นคงและไม่ต้องขับรถตระเวนหาลูกค้า ขณะที่ผู้ขับรถของ Uber จะได้รับเงินค่าจ้างเป็นรายวันจาก Uber ไม่มีค่าคอมมิชชั่น ไม่มีรายได้พิเศษอื่น ๆ และต้องทำงานแบบไม่มีวันหยุด ขึ้นอยู่กับคนขับว่าจะหยุดงานวันไหน และวันไหนหยุดงานจะไม่ได้รับค่าจ้าง ขณะที่มุมมองของผู้โดยสารมองในประเด็นเรื่องความปลอดภัยว่าไม่แตกต่างกันมากนัก แต่ความแตกต่างอยู่ที่รถและคนขับมากกว่า เพราะรถที่ร่วมกับ Grab Taxi และ Easy Taxi เป็นรถแท็กซี่ทั่วไป ขึ้นอยู่กับนิสัยของคนขับแต่ละคน ขณะที่รถของ Uber เป็นรถหรูกว่าและคนขับสุภาพกว่า และราคาค่าบริการแพงกว่า

รายได้หลักมาจากโฆษณาในแอพ

สำหรับโมเดลธุรกิจของบริษัทแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่เหล่านี้ โดยเฉพาะ Grab Taxi และ Easy Taxi นั้น ปัจจุบัน เปิดเผยว่า รายได้หลัก 100 เปอร์เซนต์ มาจากโฆษณาแบนเนอร์บนแอพพลิเคชั่น แต่ในอนาคตอาจจะจัดแบ่งรายได้จากค่าธรรมเนียมธุรกิจ สำหรับส่วนแบ่งรายได้มีด้วยกัน 2 ส่วนคือ ส่วนแรกหักรายได้จากพนักงานขับรถ และส่วนที่ 2 หักรายได้จากผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้สรุปรูปแบบอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจดูเหมือนจะไม่ได้รับการเปิดเผยในรายละเอียดนัก เพราะการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง บริษัทส่วนใหญ่จึงเก็บรายละเอียดข้อมูลไว้เป็นความลับ ส่วนคนขับแท็กซี่ในระบบ จะได้ค่าบริการเป็นส่วนต่างเพิ่ม 25-50 บาท จากผู้ใช้บริการ และคิดค่าบริการตามมิเตอร์ปกติ

ขณะที่บริษัท Uber หารายได้จากอัตราส่วนจากค่าโดยสาร แต่ไม่เปิดเผยว่า คิดเป็นสัดส่วนเท่าใดของค่าโดยสาร แต่ต่างกันไปตามระดับของการบริการ แต่โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 20 เปอร์เซนต์ ดังนั้นหากระยะทางยิ่งไกลและบริการระดับสูงขึ้น อัตราส่วนของค่าบริการที่จะได้รับก็มากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ในช่วงเวลาเร่งด่วน ที่มีความต้องการใช้แท็กซี่สูง Uber จะเพิ่มค่าบริการขึ้นด้วย เนื่องจากจำนวนรถที่ให้บริการมีน้อยกว่า Grab Taxi และ Easy Taxi และเพื่อไม่ให้มาตรฐานการให้บริการตกลงไป ทั้งยังเป็นการดึงดูดผู้ให้บริการรถโดยสารให้เข้ามาอยู่ในระบบในช่วงนั้นให้มากขึ้นด้วย

ขอบคุณภาพจาก www.triparoundthai.com/

สมาคมแท็กซี่ฯ หนุนแท็กซี่วิทยุฯ พัฒนาตัวเองสู้แอพ

ขณะที่การพัฒนาและการแข่งขันของธุรกิจนี้กำลังมาแรง นายธารินทร์ แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กลับมองว่า บริษัทเหล่านี้อาจต้องต่อสู้ทางธุรกิจมากกว่าการทำในประเทศอื่น เพราะอุปสรรคของการทำตลาดในประเทศไทย ยังมีปัจจัยที่ต้องแก้ไขหลายอย่าง ทั้งการเข้าถึงระบบแอพพลิเคชั่นของทั้งผู้โดยสารและผู้ขับแท็กซี่ หรือแม้กระทั่งเทคนิคพิเศษของผู้ขับแท็กซี่ไทยบางคนที่ไม่ตรงไปตรงมาก็อาจทำให้ตลาดแอพพลิเคชั่นเรียกแท็กซี่โตได้ไม่สุด และอาจจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสาร หรือศูนย์วิทยุเรียกแท็กซี่ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการแท็กซี่ของไทยอีกด้วย

         “ถามว่าตลาดของแอพพลิเคชั่นแบบนี้จะโตหรือเปล่า ผมมองว่า ก็สามารถโตได้ แต่คงต้องใช้เวลาและแนวทางแก้ปัญหาอีกหลายเรื่อง ที่บริษัทต่างชาติจะต้องแก้ไข เช่น เรื่องของการเข้าถึงโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟน อย่างคนขับแท็กซี่ส่วนมากที่จะเข้าระบบ อย่างน้อยจะต้องมีโทรศัพท์ที่ต่ออินเตอร์เน็ตได้ รายจ่ายในการจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตจะคุ้มหรือไม่ และโทรศัพท์ก็ราคาแพงและเสียง่ายหากใช้ต่ออินเตอร์เน็ต ดังนั้นกลุ่มแท็กซี่ที่ใช้พวกนี้จึงมีไม่มากนัก หากเทียบเป็นเปอร์เซนต์ ปัจจุบันมีจำนวนแท็กซี่ที่เข้าระบบนี้อยู่ที่ประมาณ 0.5 เปอร์เซนต์ ผู้ขับต้องไปคำนวณว่าคุ้มหรือไม่ เพราะต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตรายเดือน และมีระบบการหักในบัตรเติมเงินด้วย แต่ถ้าคำนวณแล้วคุ้ม คนขับยินดีก็เป็นสิทธิ ถามว่าดีไหม ก็ต้องตอบว่าก็ดี เพราะถ้าคนขับแท็กซี่เข้าร่วมแล้วมีรายได้มากขึ้นก็เป็นผลดีกับตัวคนขับแท็กซี่เอง ผู้โดยสารพึงพอใจเรื่องการให้บริการเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว” นายธารินทร์กล่าว

ขอบคุณภาพจาก www.siamintelligence.com/

นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและเคยรับทราบข้อมูลมาซึ่งได้ให้คำแนะนำกับบริษัทเหล่านี้ไปแล้ว คือเรื่องของความไม่ตรงไปตรงมาของคนขับแท็กซี่บางคน ที่อาจจะเป็นปัญหาทางธุรกิจของบริษัทได้ ที่สำคัญอาจส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารด้วย เช่น กรณีที่บางช่วงเวลาบริษัทมีโปรโมชั่น เช่น หากวิ่งรถได้ 3 เที่ยวขึ้นไปจะมีเงินพิเศษโอนเงินให้ผู้ขับเพิ่มเติม ก็อาจจะมีการให้ญาติหรือคนรู้จัก เป็นคนโทรเรียกแล้วตัวเองเป็นคนไปรับซ้ำ ๆ เพราะอยู่ในพื้นที่เพื่อทำเที่ยว เพราะจะทำให้ได้เงินพิเศษจากบริษัท จนบางทีเมื่อลูกค้าจริง ๆ เรียกก็ไม่ไปรับ อ้างรถเสียหรืออุบัติเหตุบ้าง เพื่อให้ลูกค้าโทรไปยกเลิกเอง แต่ตัวเองยังได้รับยอดอยู่ประมาณนี้ ทำให้ผู้โดยสารไม่ได้รับความสะดวกสบาย บริษัทจึงต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ด้วย

          “ผมฟังมาเยอะ แต่ไม่ได้คิดอะไรเพราะเป็นบริษัทเอกชน แต่ที่มองคืออาจจะส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารอื่น หรือศูนย์วิทยุแท็กซี่เล็ก ๆ ดั้งเดิมที่เขาทำได้ดีอยู่แล้ว มีความปลอดภัยเหมือนกัน ซึ่งเป็นแท็กซี่ท้องถิ่น อันนี้ก็เคยบอกบริษัทไปเหมือนกัน ทำให้มองว่าแอพพลิเคชั่นแบบนี้จะโตหรือไม่ บริษัทคงต้องศึกษาพฤติกรรม และรู้จักคนไทยให้มากขึ้น ที่สำคัญยังมีคนขับแท็กซี่ดีๆ อีกจำนวนมาก ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยีแพงๆ แต่ก็เป็นแท็กซี่ที่ดี ผมก็ห่วงแค่นั้น ซึ่งจริงๆ เราน่าจะส่งเสริมศูนย์แท็กซี่มีความปลอดภัยให้มากขึ้นด้วย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึง เช่น คนแก่ คนพิการ หรือ ชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ซึ่งสมาคมเราก็พยายามจะพัฒนาอยู่เหมือนกัน” นายธารินทร์กล่าว

อย่างไรก็ตามหากมองในทางธุรกิจ การแข่งขันจากผู้ให้บริการหลายรายก็ย่อมส่งผลดีต่อผู้ใช้บริการอยบ่างแน่นอน อย่างน้อยก็มีทางเลือกมากขึ้น เพื่อลดปัญหาการเรียกแท็กซี่แล้วถูกปฏิเสธ เรื่องความปลอดภัยทั้งผู้ขับแท็กซี่และผู้โดยสาร การให้บริการที่แต่ละคนจะต้องพัฒนาหรือปรับปรุงมากขึ้น ส่วนเรื่องของราคาค่าบริการขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และกำลังซื้อของแต่ละคน

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมใน จับตา : ตลาดแอพพลิเคชั่นมือถือ 2013-2014

http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4955

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: