สถานการณ์สุนัขจรจัดและพิษสุนัขบ้า

3 พ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2549 ครั้ง


สุนัขจรจัดจะถูกส่งไปยังศูนย์ควบคุมสุนัขกรุงเทพมหานคร เขตประเวศ ซึ่งเป็นสถานที่ดูแลชั่วคราว เพื่อเข้าสู่การคัดกรองโรค ผ่าตัดทำหมัน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า โดยจะอยู่ที่ศูนย์ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก่อนจะคัดเลือกสุนัขที่มีสุขภาพดีและไม่มีเจ้าของมาติดต่อขอรับคืนส่งต่อไปเลี้ยงดูที่ศูนย์พักพิงสุนัขกรุงเทพมหานคร อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี สุนัขจะเข้ารับการฟื้นฟูสุขภาพและฝึกฝนพฤติกรรมให้เชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้นเพื่อให้สุนัขจรจัดที่มีพฤติกรรมและสุขภาพดีได้รับการอุปการะต่อไป ซึ่งศูนย์พักพิงฯ มีบริเวณกว้างขวางกว่า 231 ไร่ เพียงพอต่อการรองรับสุนัขได้ถึง 8,000 ตัว

ขณะที่ศูนย์ควบคุมฯ แม้ว่าจะกักสุนัขไว้เพียง 1-2 สัปดาห์ แต่ความเป็นอยู่ที่ไม่ค่อยถูกสุขลักษณะ มีกลิ่นเหม็น น้ำท่วมขัง และสุนัขอยู่อย่างแออัด ทำให้มีการร้องเรียนจากผู้ที่รักสุนัขที่แวะเวียนเข้ามาบริจาคเยี่ยมชมต้องการให้มีการปรับปรุง

สุนัขจรจัดที่มีในศูนย์ทัพทันกว่า 5,000 ตัว ที่ศูนย์ประเวศอีกกว่า 1,000 ตัว ในแต่ละเดือนสุนัขจะเพิ่มขึ้นประมาณ 300-400 ตัว และเสียชีวิตไป 200 ตัวต่อเดือน ซึ่งเสียชีวิตเนื่องมาจากว่าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ และการเจ็บป่วยของสุนัขเอง

สำหรับงบประมาณในการดูแลสุนัขจรจัดต้องใช้กว่า 12 ล้านบาทต่อปี โดยจะมีการเบิกจ่ายอาหารเป็นงวด ๆ โดยกำหนดให้สุนัขเล็กกินวันละ2 ครั้ง เช้า-เย็น สุนัขโตกินวันละ 1 ครั้ง คือช่วงบ่าย ซึ่งค่าอาหารจะคิดเฉลี่ยต่อตัว ตัวหนึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 6.5 บาท โดยแต่ละเดือนสถานกักกันสัตว์ประเวศจะใช้อาหารถึง 4 ตันต่อเดือน หากคิดเป็นเงินจะอยู่ที่ 70,000-80,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่อำเภอทับทันจะใช้มากถึง 40-42 ตันต่อเดือน หรือประมาณ 960,000 กว่าบาทนอกจากนนี้ กทม.เคยมีนโยบายในปี 2554 ที่จะทำหมันและฝังไมโครชิพให้สุนัขจรจัดจำนวน 20,000 ตัว ใช้งบประมาณ 6.5 ล้านบาท

จากการประชุมประจำทุก 5 ปีของผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าหรือกลัวน้ำจาก 12 ประเทศในแถบเอเชียรวมทั้งไทย ล่าสุดจัดขึ้นเมื่อปี 2555 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระบุว่าปัญหาโรคพิษสุนัขบ้ายังเป็นภัยคุกคามภูมิภาค มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 70,000 ราย เฉพาะสถานการณ์ในอินโดนีเซียระบาดอยู่ใน 24 จาก 33 จังหวัด รุนแรงที่สุดคือบนเกาะบาหลี และจังหวัดนูซาเต็งการาตะวันออก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ระบาดของพิษสุนัขบ้าบนเกาะบาหลีค่อยๆ ทุเลาลงตั้งแต่ช่วงปี 2553 หลังมีโครงการรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าให้สุนัขจรจัดมากกว่า 200,000 ตัว

ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยพบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548-2556 มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 130 ราย โดยแยกเป็นภาคกลาง 85 ราย ภาคใต้ 23 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 17 ราย และภาคเหนือ 5 ราย ตามลำดับ และมีผู้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือถูกสุนัขกัดประมาณปีละ 5 แสนคน ส่วนในปี 2556 ที่ผ่านมา มีรายงานผู้เสียชีวิต 6 ราย ใน 5 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สุนัขไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และคนที่เสียชีวิตไม่ได้มาพบแพทย์หลังจากถูกสุนัขหรือแมวกัดข่วน

จากการตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ พบเชื้อ 110 ตัวอย่าง ในพื้นที่ 21 จังหวัดในทุกภาคของประเทศ โดยสัตว์ที่ส่งตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในสุนัข ร้อยละ 90.59 แมว ร้อยละ 5.13 และโค กระบือ ร้อยละ 4.27

ขณะนี้ประเทศไทยยังพบทั้งคนและสัตว์ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าและมีผู้เสียชีวิตทุกปี โดยแต่ละปีมีผู้ถูกสุนัขกัดไม่ต่ำกว่า 1 ล้านราย ในจำนวนนี้ประมาณครึ่งหนึ่งมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคคิดเป็นค่าใช้จ่าย 1,000 ล้าน

นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่เลี้ยงสุนัขและแมวใน กทม.นำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีน เพียงร้อยละ 60 และมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าร้อยละ 70 ติดเชื้อมาจากสัตว์เลี้ยงของตนเอง โดยไม่รู้ว่าสัตว์ดังกล่าวติดเชื้อพิษสุนัขบ้า และชะล่าใจว่าสุนัขของตนเองเลี้ยงเป็นอย่างดีต้องปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า จึงทำให้ผู้เลี้ยงเสี่ยงป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์เลี้ยงสูงมาก อีกข้อกังววลหนึ่งคือผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าส่วนใหญ่ไม่ไปหาหมอเพราะไม่สนใจกับบาดแผลเล็กๆ เหล่านั้น

ที่มา

เดลินิวส์

ไทยรัฐ

ผู้จัดการออนไลน์

ขอบคุณรูปภาพจาก http://lovemelovemadog.wordpress.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: