ศาสนาเป็นอาณาเขตต้องห้ามของเพศและเซ็กส์ มันคือบาปและกรรมที่ถูกกันเอาไว้ให้ห่างจากความบริสุทธิ์ของศาสนา แต่มลทินของเซ็กส์กลับเป็นธรรมชาติที่ฝังอยู่ในตัวมนุษย์ ในมุมนี้มันจึงเป็นความขัดแย้งที่ยากจะหาจุดลงตัว ทั้งในหลายครั้งครา ศาสนาเสมือนจะถูกป้องกันพื้นที่ไว้เฉพาะผู้ชายและกีดกันเพศอื่นๆ ออกไป ซึ่งก็รวมถึงศาสนาพุทธในประเทศไทยด้วย
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ TCIJ สนทนากับนักบวชที่ชอบคุยเรื่องเพศ เรื่องเซ็กส์กับสังคมผ่านคอลัมน์ต่างๆ บนหน้าสื่อ พระชาย วรธัมโม พระสงฆ์ที่ค้นพบการกดขี่ กีดกัน ทางเพศในพุทธศาสนา และการตีความแบบยึดคัมภีร์เคร่งครัดที่เพิ่มความทุกข์แก่ผู้คน แทนที่จะปลดปล่อยผู้คนออกจากความทุกข์ กล่าวได้ว่าเป็นการวิพากษ์ศาสนาพุทธแบบไทยอย่างลงลึกในระดับคำสอนในคัมภีร์ที่เชิญชวนให้พุทธศาสนิกครุ่นคิดว่า เกิดอะไรขึ้นกับพุทธศาสนาในไทย
แล้วการเห็นปัญหาการกีดกันทางเพศและการตีความคำสอนที่ไม่เท่าทันยุคของศาสนาพุทธไทยสามารถแก้ไขได้หรือไม่ พระชายตอบว่า ไม่ได้ ทำได้มากที่สุดคือพูดให้พุทธสถาบันได้ยิน...ก็เท่านั้น
TCIJ: พระคุณเจ้าอยู่ในสถาบันสงฆ์หรือบวชมา 25 พรรษา เกิดอะไรขึ้นหรือพระคุณเจ้าพบเห็นอะไรเข้า ถึงอยากจะออกมาคุยเรื่องเพศผ่านมุมมองพุทธศาสนาทั้งที่ตนเองยังเป็นนักบวช
พระชาย: จุดเปลี่ยนคือประมาณปี 2538 ตอนนั้นเราไปเข้าอบรมรายการอบรมที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ซึ่งก็มีประเด็นเรื่องเพศด้วย กระบวนการอบรมตอนนั้นมีทั้งคนที่เป็นเกย์ เป็นเลสเบี้ยน ซึ่งพอมีการพูดถึงประเด็นเหล่านี้ปรากฏว่าคนที่เข้าร่วมอบรมมาด้วยกันตั้งสามสี่วันเกิดความไม่มั่นคง ความหวั่นไหว ทั้งที่สามสี่วันก่อนหน้าทุกคนก็มีความสนุกสนานกันดีกับประเด็นต่างๆ ต้องใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งบรรยากาศของคนที่เข้าร่วมอบรมจึงกลับมาดีขึ้น และตรงนี้ที่ทำให้เราคลิกเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่น่าค้นคว้าศึกษาให้มากขึ้น
มันทำให้เราเห็นชัดเจนว่าประเด็นเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ไม่พูดคุยกันในสังคมไทย เมื่อไม่พูดคุยกันก็ก่อให้เกิดบางอย่างที่ตกตะกอน จนถึงวันหนึ่งเมื่อมีคนทำตะกอนนี้ให้ขุ่นขึ้นมาก็กลายเป็นปัญหาที่เราไม่สามารถเข้าถึงความจริงในเรื่องเพศได้
ณ จุดนั้นจึงทำให้เราเริ่มศึกษาว่า อะไรทำให้คนเรามีความทุกข์จากความไม่เข้าใจตรงนี้ เริ่มไปค้นหา การค้นหาก็คือจากคนใกล้ตัวบ้าง โดยเฉพาะจากคนที่ทำงานด้านนี้อย่างอาจารย์ชลิดาภรณ์ (ส่งสัมพันธ์ ???) หรือองค์กรที่ทำงานรณรงค์เรื่องเพศ ซึ่งในช่วงนั้นยังมีไม่มาก แต่เราก็พยายามค้นหามาเรื่อยๆ ในที่สุดความรู้ชุดนี้ก็ทำให้เราตกผลึกขึ้นมา ตอนหลังเราก็พยายามค้นคว้าประเด็นเรื่องเพศในศาสนาพุทธด้วย เช่น เรื่องเกย์ เรื่องบัณเฑาะ พอค้นไปค้นมา เราก็เจอประเด็นการกดขี่เพศหญิงอย่างการห้ามบวชภิกษุณี การไม่ให้แม่ชีมีบทบาทเสมอกับพระสงฆ์ ทำให้เห็นว่ามันเป็นการกดทับที่ซ้อนๆๆ จนเรียกได้ว่าเป็นการกดขี่ที่ยากจะมองเห็น
TCIJ: สิ่งที่พระคุณเจ้าทำคือการนำมุมมองแบบพุทธไปจับสถานการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศ แล้วอธิบายมันออกมา?
พระชาย: ใช่ แต่ต้องเข้าใจว่าคนเขียนเป็นแค่คนคนหนึ่งที่อยู่ในองค์กรใหญ่ เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนทั้งองค์กรใหญ่จะเห็นร่วมกันกับเรา เราเพียงเสนอมุมมองที่เท่าทันกับเหตุการณ์และทำให้คนเข้าใจได้ง่ายกว่าการพูดตามพระธรรมวินัยที่ไม่ได้ถูกตีความอะไรเลย หรืออาจจะตีความในแง่การรักษาขนบ ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของคนในยุคปัจจุบันก็ได้
TCIJ: โดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะศาสนาใด เพศเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นบาป สรุปได้หรือเปล่าศาสนามีพื้นที่ให้กับเรื่องเพศค่อนข้างน้อยอยู่แล้ว จึงทำให้ศาสนาไม่ค่อยมีการปรับตัวในเรื่องนี้
พระชาย: เรามามองกันที่ทางจิตดีมั้ยครับ คือเวลาที่ศาสนาพุทธบอกว่าเป็นบาป เป็นกรรม ในแง่หนึ่งเราคงไม่ลืมว่าคำพูดแบบนี้มันทำให้คนที่แตกต่างรู้สึกแย่กับตัวเอง ไม่ใช่เฉพาะคนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน กะเทยเท่านั้นที่รู้สึก แม้แต่คนทั่วไปเราเชื่อว่าก็รู้สึกไม่ดีเหมือนกัน เช่น การช่วยตัวเอง การท้อง การมีเซ็กส์ในวัยเรียน การท้องนอกสมรส ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละประเด็นเป็นประเด็นที่ตีกรอบคนมาก
แต่ในความเป็นจริง คนไม่ได้อยู่ในกรอบหรืออยู่นอกกรอบคนละนิดละหน่อย พอถ้อยคำแง่ลบของศาสนาแพร่กระจายออกไป ส่วนหนึ่งทำให้คนรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ซึ่งเรามองว่าศาสนาไม่ควรไปในเส้นทางนั้น น่าจะมีคำพูดที่ทำให้คนรู้สึกดีกับตัวเอง อาจจะไม่ถึงกับว่าพอมีเซ็กส์แล้วดีใจ แต่หมายถึงน่าจะช่วยประคับประคองความเป็นมนุษย์ที่มีเซ็กส์ให้คู่ไปกับแก่นคำสอนของศาสนาได้ด้วย ไม่ใช่ผลักคนให้รู้สึกแย่
เท่าที่ปรากฏจากการไปทำเทรนนิ่งแต่ละครั้งกับคนที่มีความหลากหลายทางเพศหรือแม้แต่เข้าไปฟังวงสนทนาที่พูดถึงประสบการณ์ทางเพศที่เป็นคนรักต่างเพศ แต่ละคนต่างรู้สึกบอบช้ำจากศาสนาของตัวเองทั้งนั้น เพียงแต่ว่าแต่ละคนไม่รู้จะพูดหรือวางตัวอย่างไร ในที่สุดก็เก็บๆ กดๆ กันไป
ตรงนี้แหละที่ทำให้เราเห็นว่า ไม่เฉพาะคนหลากหลายทางเพศหรือคนที่อยู่นอกกรอบเท่านั้น แม้แต่คนที่อยู่ในกรอบหรือชาย-หญิงก็เป็นทุกข์เหมือนกัน ตรงนี้ก็เป็นจุดเปลี่ยนอีกจุดหนึ่งที่ทำให้เราต้องกลับมาค้นหาคำสอนของศาสนาว่า จริงๆ แล้วพุทธมองเรื่องเพศอย่างไรหรือมีท่าทีอย่างไร ซึ่งในที่สุดก็พบว่าพุทธไม่ได้เอาใจใส่ในเรื่องเพศมากนัก แต่สิ่งที่พุทธศาสนาเอาใจใส่ก็คือทำอย่างไรให้คนบรรลุธรรมหรือค้นพบสติปัญญาด้วยตนเอง อย่างที่ท่านทะไลลามะพูดว่าจะทำอย่างไรให้คนค้นพบมหาสมุทรแห่งปัญญาภายในตนเองมากกว่า ซึ่งเป็นหัวใจของทุกศาสนาที่จะทำอย่างไรให้คนค้นพบตัวเอง หรือศาสนาเทวะนิยมคือทำอย่างไรให้ทุกคนค้นพบพระเจ้าในตัวเอง
TCIJ: ศีลข้อ 3 ของพุทธไม่ได้พยายามตีกรอบเรื่องเพศ แต่กำลังบอกว่าอย่าแย่งชิงหรือขโมยคู่รักของคนอื่น?
พระชาย: ถูกต้องครับ จริงๆ แล้วศีลข้อ 3 จะว่าไปก็คือศีลข้อ 2 นั่นแหละคือการไม่ลักขโมย แต่นี่พูดเฉพาะเจาะจงไปที่พื้นที่บนเตียง คือไม่ควรขโมยคู่รักของคนอื่น ซึ่งก็มีอยู่ในทุกศาสนานะ ไม่ใช่มีแต่ในศาสนาพุทธอย่างเดียว
TCIJ: เวลาพูดถึงศีลข้อ 3 ในภาษาชาวบ้าน เรามักจะพูดว่าอย่าไปผิดลูกผิดเมียคนอื่น ประเด็นคือการผิดเมียยังพอตีความอย่างที่พระคุณเจ้ากล่าวได้ แต่พอพูดว่าผิดลูก ในยุคปัจจุบันเริ่มมีปัญหา เพราะสังคมปัจจุบันการมีเซ็กส์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในสถาบันการแต่งงานแล้ว วัยรุ่นหรือนักศึกษาก็มีเซ็กส์กัน ซึ่งทุกคนล้วนแต่เป็นลูกของคนอื่น เมื่อถ้อยคำแบบนี้ผูกติดกับศีลข้อ 3 จึงกลายเป็นว่า เพศในศาสนาพุทธเป็นเรื่องต้องห้าม ศาสนาพุทธห้ามการมีเซ็กส์นอกสถาบันการแต่งงาน เรื่องนี้พระคุณเจ้าคิดอย่างไร
พระชาย: คำถามนี้ไม่ได้ทำการบ้านมาเลย (หัวเราะ) แต่ก็เคยคิดอยู่เหมือนกันนะว่า วัยรุ่นควรจะมองศีลข้อนี้อย่างไร ในแง่หนึ่งสังคมก็คาดหวังให้วัยรุ่นไม่มีเพศสัมพันธ์ น่าจะเป็นเพราะเห็นว่ายังเรียนอยู่ เมื่อยังเรียนอยู่ก็อาจจะรับผิดชอบตัวเองไม่ได้ แต่ในแง่หนึ่ง ถ้าจะสอนเด็กอาจต้องสอนให้เขารู้สึก เข้าใจ ว่าเขายังไม่สามารถดูแลตัวเองได้ เงินทุกบาททุกสตางค์ให้มาเพื่อการศึกษา แต่ถ้าคุณจะทำอย่างนั้น มันก็เป็นเรื่องที่ต้องใช้สติปัญญาการพิจารณาเยอะมาก เช่น ถ้าเกิดท้องขึ้นมาจะทำอย่างไร หรือจะป้องกันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ฝ่ายหนึ่งต้องกินยาคุม อีกฝ่ายต้องใช้ถุงยาง แล้วถ้าเกิดอุบัติเหตุถุงยางแตกขึ้นมาจะทำอย่างไร คิดว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะผ่านจุดนี้ไปได้ แล้วก็มีหลายคนที่ผ่านจุดนี้ไปอย่างล้มลุกคลุกคลาน บางคนท้องในวัยเรียน บางคนก็ถูกผู้ชายบอกเลิกเมื่อรู้ว่าฝ่ายหญิงตั้งท้อง
นี่ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ต้องมีศีลข้อนี้ เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้แหละ เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งเรามองว่า การอยู่ด้วยกันของวัยรุ่นน่าจะตระหนักรู้มากขึ้นว่า สิ่งนี้จะนำไปสู่อะไร ศาสนาที่วางกรอบไว้ เราก็ไม่ได้คัดค้าน แต่ในแง่หนึ่งเราก็ไม่ได้เห็นด้วย เพราะเวลาที่เราสอนเรื่องนี้ไปแรงๆ เวลามีคนละเมิดขึ้นมา เขาก็ต้องรู้สึกผิดกับตัวเอง อย่างกรณีนักศึกษาที่ทิ้งลูก คนอื่นอาจจะมองว่าเป็นเด็กใจแตก แต่เราไม่ได้มองอย่างนั้น เรามองว่าหลังจากนี้สภาวะจิตเขาจะเป็นอย่างไร จะมีกำลังใจ มีเรี่ยวแรงที่จะเรียนต่อหรือเปล่า
TCIJ: ถ้านักศึกษาเป็นแฟนกัน แล้วมีเซ็กส์กันถือว่าขโมยของรักของพ่อแม่เด็กคนนั้นหรือเปล่า
พระชาย: ส่วนหนึ่งก็ประมาณนั้นนะ เพราะในศีลข้อสามถ้าไปตรวจดูให้ดี พูดถึงว่าห้ามมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ภายใต้การดูแลของจุดๆๆ ซึ่งมีหลายอย่างทั้งพ่อแม่ สำนักภิกษุณี หมายถึงมันครอบคลุมบุคคลหลายประเภทที่ยังต้องได้รับการดูแลจากผู้ใหญ่ แต่ในศีลข้อสามก็ไม่ได้พูดอย่างเคร่งครัดเสียทีเดียว เพราะยังมีการพูดถึงอิสระในการเลือกของบุคคลนั้นด้วย คือคงไม่ได้หมายความว่า แม้คนนั้นจะอายุ 30 แล้วไปมีเพศสัมพันธ์ถือว่าผิดศีล คงไม่ใช่ เข้าใจว่ามีการพูดถึงอายุอยู่ แต่ไม่ชัดเจน อาจเป็นเพราะในยุคสมัยนั้นไม่ได้มองเยาวชนเหมือสมัยนี้ แต่เราอยากมองว่า ถ้าบุคคลคนคนนั้นโตเพียงพอที่จะตัดสินชีวิตตนเองได้ มันน่าจะหลุดพ้นจากความหมายที่ว่าเป็นลูกของคนอื่นหรือผิดลูกคนอื่น
TCIJ: สรุปแล้วศีลข้อสามคงต้องไปทำการสังคายนาและตีความกันให้เป็นจริงเป็นจังเพื่อตอบโจทย์สังคมสมัยใหม่
พระชาย: ใช่แล้ว แต่ทางที่ดีที่สุดในฐานะที่คุณยังเป็นคนคนหนึ่งในสังคม การควบคุมพฤติกรรมทางเพศของคุณก็มีความสำคัญเหมือนกัน อย่างน้อยถ้าคุณควบคุมได้ก็ทำให้คุณไม่เดือดร้อนในระดับหนึ่ง
TCIJ: ศาสนาพุทธในไทยถูกมองว่ากีดกันคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่นตอนบวช พระอุปัชฌาย์จะถามว่าคุณเป็นผู้ชายหรือไม่
พระชาย: เรื่องนี้เกิดขึ้นเพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีนักบวชหญิง ยังไม่มีภิกษุณี จึงถามเพื่อระบุและจำแนกกลุ่มให้ชัดเจนว่าคนนี้เป็นผู้ชาย ถ้าเป็นผู้หญิงก็ห้ามบวช ต่อมาจึงเกิดภิกษุณี แต่คำถามนี้ก็นำไปสู่การตีความว่า ใครที่จะบวชได้บ้าง
ทีนี้ มันมีหลายการตีความอย่างน้อย 2 รูปแบบคือคุณเป็นผู้ชายในทางกายภาพหรือคุณเป็นผู้ชายในทางใจด้วย ถ้าตีความในแบบที่ 2 นั่นก็หมายความคนที่เป็นผู้หญิงข้ามเพศหรือกะเทย ห้ามบวช ตรงนี้เรามองว่าในสังคมไทยเองก็ประกอบไปตั้ง 77 จังหวัด การตีความของพระอุปัชฌาย์ก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นขึ้นอยู่กับการตีความของพระอุปัชฌาย์ เท่าที่ปรากฏจะพบว่าต่างจังหวัดบวชได้ แต่ในวัดใหญ่ๆ ในเมืองจะถูกห้าม
TCIJ: จำเป็นต้องถาม?
พระชาย: คำสอนถูกส่งทอดมา เป็นพุทธบัญญัติ จึงตอบไม่ได้ว่าจำเป็นหรือเปล่า ที่ถามอาจเป็นเพราะว่าต้องการคัดกรองคน ที่สำคัญคือศาสนาพุทธได้กลายเป็นสถาบันไปแล้ว จึงเกิดตรงนี้ขึ้น ซึ่งถ้าย้อนกลับไปดูสมัยแรกๆ ที่พระพุทธเจ้าเผยแผ่คำสอน สมัยนั้นคำสอนยังไม่ได้เป็นสถาบัน พระพุทธเจ้าก็คือคนคนหนึ่งที่ค้นพบบางสิ่งและนำไปสอนผู้คน ในยุคแรกๆ พระพุทธเจ้าก็ยังยอมให้คนที่เป็นบัณเฑาะห์บวช ซึ่งปรากฏว่าบัณห์เฑาะคนนั้นเกิดไปมีเพศสัมพันธ์กับคนที่อยู่ข้างๆ วัดเข้า จึงกลายเป็นวินัยขึ้นมาว่าห้ามคนกลุ่มนี้บวช
ถ้าไปค้นดูจริงๆ จะพบว่า การห้ามบัณห์เฑาะบวชไม่ได้เกิดจากพระพุทธเจ้าโดยตรง แต่เกิดจากสังคม เกิดจากชุมชนสงฆ์ เกิดจากภิกษุรอบข้างที่ไม่เข้าใจ จึงไปขอให้ท่านบัญญัติข้อนี้ขึ้น คนในยุคนั้นก็อาจจะมีอคติกับบัณห์เฑาะอยู่แล้ว แล้วก็โจษขานกันไป ในยุคนี้อาจจะเรียกว่าการเหมารวม แต่สมัยนั้นอาจไม่มีใครพูดว่าเป็นการเหมารวม จึงกลายเป็นว่าบัณห์เฑาะหรือใครก็ตามที่เกิดมาแล้วมีอวัยวะเพศไม่ชัดเจนห้ามบวช
TCIJ: แบบนี้เราจะตีความว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เป็นประชาธิปไตยหรือคับแคบ
พระชาย: เรามองว่าเป็นประชาธิปไตยที่ไม่ได้มองจิตใจของคนกลุ่มน้อยมากกว่า คำว่าประชาธิปไตยก็มีหลายความหมายนะ แต่ความหมายหนึ่งที่เราไม่เคยมองเลยคือประชาธิปไตยแบบที่เมื่อคนหมู่ใหญ่ตัดสินอะไรไปแล้ว เคยคิดบ้างหรือไม่ว่าสิ่งที่ตนเองออกแบบมา มันไปกดทับคนอื่น
TCIJ: ปัจจุบัน คำถามเช่นที่ว่าควรเปลี่ยนหรือยัง
พระชาย: ก็สมควรจะเปลี่ยน เพราะว่ามันมีคนที่เป็นกะเทยหลายคนที่พลาดโอกาสตรงนี้ หรือต้องอะลุ้มอล่วยกันมากขึ้น คนที่บวชแล้วก็ไม่น่าไปจับเขาสึก ส่วนคนที่ยังไม่ได้บวชก็น่าจะมีหนทางที่จะเปิดพื้นที่ทางศาสนาให้คนกลุ่มนี้
TCIJ: แต่สังคมไทยมองว่าคนเหล่านี้ทำให้ศาสนาพุทธเสื่อม
พระชาย: จริงๆ แล้วไม่ใช่คนเจนเดอร์นี้เท่านั้นที่ทำให้คนศรัทธาตก แม้แต่ผู้ชายเองก็เหมือนกัน อย่างเช่นข่าวพระผู้ชายแอบไปมีเซ็กส์ ซึ่ง ณ เวลานี้ถ้าดูสัดส่วนแล้วก็พอๆ กัน เราอย่าไปโทษใคร โทษที่ตัวบุคคลดีกว่า เพราะเวลาเราโทษที่เพศจะเห็นได้ว่าเพศที่ไม่เคยถูกตำหนิเลยก็คือเพศชาย ทั้งที่เพศชายก็ทำให้ศาสนาได้รับความเสียหายคล้ายๆ กัน เรามักไปโทษเจนเดอร์อย่างกะเทยหรือบัณเฑาะห์ ดังนั้น จึงเกิดการห้ามคนกลุ่มนี้บวช แต่ไม่ห้ามผู้ชายบวช มันก็ทำให้เห็นความเหลื่อมล้ำ
TCIJ: โดยทั่วไปแล้วคัมภีร์ทางศาสนาเปรียบเหมือนสิ่งสูงสุดของศาสนานั้นๆ แทบจะแตะต้อง เปลี่ยนแปลงไม่ได้ พอพระคุณเจ้าพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติบางข้อเพื่อเปิดพื้นที่ให้แก่คนหลากหลายทางเพศ จะมีความเป็นไปได้แค่ไหน
พระชาย: ใช่ มันยาก และเราก็คงทำอะไรไม่ได้นอกจากพูดๆ ไปให้เขาได้ยิน เผื่อว่าเขาจะรับรู้บ้างว่า สิ่งที่กำลังทำอยู่มันไปทำร้ายใครหรือเปล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราควรจะบอกคนที่อยู่ในองค์กรที่มีอำนาจเยอะให้ตระหนักรู้ขึ้นมานิดหนึ่งว่า ศาสนาพุทธเองพยายามทำลายระบบวรรณะ ซึ่งในยุคนั้นก็สามารถทำได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันการแบ่งวรรณะด้วยเรื่องเพศ เรากลับมองไม่เห็นกันเลย เราจะมีดวงตาเห็นธรรมกันบ้างมั้ยว่า การที่เราห้ามผู้หญิง ห้ามกะเทย ห้ามบัณห์เฑาะบวช นี่แหละคือการจัดชนชั้นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอาจจะรุนแรงและน่ากลัวกว่าวรรณะที่เราเห็นกันอยู่
TCIJ: ในพุทธศาสนาระบุไว้ชัดๆ หรือเปล่าว่าการเป็นกะเทย เป็นบัณเฑาะห์ หรือเป็นคนหลากหลายทางเพศเป็นกรรม หรือขึ้นอยู่กับการตีความคัมภีร์ของแต่ละบุคคล
พระชาย: คำสอนเรื่องกรรมต้องคุยให้เคลียร์ เพราะเวลาพูดเรื่องกรรมปุ๊บ มันเหมือนเราไปตีตราเขา ฉุดเขาให้ยึดอยู่กับอดีต คุณรู้หรือว่าอดีตเขาไปทำอะไรมา นอกจากคุณจะมีญาณที่มองเห็น คำสอนที่ว่ากรรม มันเป็นการส่งทอดสืบต่อกันมา ทุกวันนี้เหมือนพูดๆ กันไป แต่พิสูจน์ไม่ได้ว่านี่มันเป็นกรรมจริงหรือ
แรกเริ่มเดิมที พระอานนท์เคยผิดศีลข้อ 3 ทำให้ชาติหนึ่งของพระอานนท์เกิดเป็นบัณห์เฑาะ คงจะมาจากตรงนี้ที่เกิดการตีความไปว่า ถ้าอย่างนั้นคนที่เป็นเกย์ เลสเบี้ยน ก็น่าจะเกิดจากเหตุนี้เหมือนกัน การตีความเรื่องกรรม คนมักมีแนวโน้มว่าถ้าผลเป็นอย่างนี้ อดีตน่าจะมีบางอย่างที่เชื่อมกัน เช่น ถ้าเป็นเกย์ ศีลข้อไหนที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ ก็คือข้อ 3 มันน่าจะมาจากตรรกะแบบนี้หรือเปล่า การสอนเรื่องกรรม บางทีก็มีผลเสียนะ คือแทนที่คนจะไปข้างหน้า กลับไปยึดติดกับอดีต ในที่สุดก็ไม่ได้ช่วยเรื่องจิตวิญญาณของคน หรืออย่างที่ศาสนาพุทธสอนว่าเกิดเป็นผู้หญิงมีกรรม ไม่เหมือนผู้ชายที่เกิดมาแล้วได้บวช แต่การไม่ได้บวชนี่เป็นเพราะการกดขี่หรือเปล่า เพราะคณะสงฆ์ไม่ยอมรับ แทนที่จะไปโทษเรื่องกรรม แล้วมันก็จะไปตรงกับคำสอนที่ว่าเกิดเป็นผู้หญิงเพราะมีกรรม
TCIJ: เคยค้นหาคำตอบหรือเปล่าว่า ทำไมศาสนาพุทธของไทยมีแนวโน้มที่จะกีดกันเพศอื่นๆ ไม่ให้เข้าสู่สถาบันแห่งนี้
พระชาย: น่าจะมาจากส่วนหนึ่งเรื่องเพศเป็นเรื่องที่คนต้องขัดเกลาตัวเอง เนื้อเรื่องของศาสนาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของศาสดาองค์หนึ่งออกไปค้นหาความจริง ในรูปแบบของเรื่องเล่าหรือตำนาน เป็นลักษณะของการค้นหาที่บริสุทธิ์มากๆ ไม่เกี่ยวกับเพศ ไม่มีอะไรที่จะแปดเปื้อนกับพระเจ้าหรือการบรรลุธรรม มองเรื่องเพศเป็นเรื่องต่ำ เป็นความชั่วร้าย
ทีนี้ การที่คนที่แตกต่างหลากหลายในเรื่องเพศ อัตลักษณ์ของคนกลุ่มนี้คือการชอบเพศเดียวกัน กลายเป็นว่าเราไม่ได้ปฏิเสธการขัดเกลาในเรื่องเพศเท่านั้น แต่เราปฏิเสธคนที่มีอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างจากเราด้วยและถือว่าการมีความต้องการทางเพศกับเพศตรงข้ามเป็นเรื่องถูกต้อง หรือคนที่รักต่างเพศเข้าถึงศาสนาได้ดีกว่า ศาสนาปฏิเสธเรื่องเพศอยู่แล้ว คนที่มีความหลากหลายทางเพศจึงถูกปฏิเสธเพราะคุณไม่ได้อยู่ในกรอบของผู้ชาย-ผู้หญิง
TCIJ: ถ้าเราต้องการจะรื้อถอนชุดความคิด ความเชื่อแบบนี้ในพุทธศาสนาของไทยให้เปิดกว้างสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ควรทำอย่างไร
พระชาย: ทำไม่ได้หรอก อย่างมากก็แค่พูดออกไปแบบนี้ ตั้งแต่ทำงานด้านนี้มาประมาณสิบกว่าปีก็มองออกว่ามันเปลี่ยนไม่ได้หรอก แต่เราแสดงความเห็นได้ ให้คนที่พร้อมจะคิดเห็นไปกับเราได้ตื่นรู้ขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง
TCIJ: คิดว่าทุกวันนี้ศาสนาพุทธถือว่าปรับตัวทันกับโลกสมัยใหม่หรือเปล่า
พระชาย: ถ้าดูภาพรวมก็พูดไม่ได้นะ เพราะก็มีบางสำนักที่พยายามปรับให้ทันโลก เช่นสำนักของหลวงพี่ไพศาลที่พยายามเสนอในส่วนที่เป็นแก่นของพุทธศาสนา แต่ศาสนาพุทธในเมืองไทยค่อนข้างหลากหลาย จะพูดว่าปรับตัวทันก็ได้ จะบอกว่าปรับตัวไม่ทันก็พูดได้ แต่คิดว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นอย่างหลังมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้สำนักปฏิบัติมีเยอะขึ้นเมื่อเทียบกับยุคก่อนปี 2500 ซึ่งช่วงนั้นจะพบว่าสำนักปฏิบัติธรรมไม่ได้มีเยอะเหมือนสมัยนี้ เรื่องสติปัฏฐานเอง เดี๋ยวนี้คนก็เข้าใจเยอะมากขึ้น ขณะเดียวกันศาสนาพุทธแบบวัตถุนิยมที่เอาแต่ปิดทอง ฝังลูกนิมิตก็เยอะเหมือนกัน จึงบอกไม่ได้ว่าเป็นแนวไหนมากกว่า แต่ก็มองได้ว่าตามไม่ทันหลายเรื่อง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ