กระแส‘ปอกะบิด’พิชิตหลากโรค-มาแรง ปั่นราคาสูงเวอร์-เตือนระวังกระทบตับไต

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 24961 ครั้ง

นับเป็นสมุนไพรมาแรงในวันนี้  สำหรับ “ปอกะบิด” หรือ “ปอบิด” พืชพื้นเมืองที่ถูกระบุเผยแพร่ต่อกันกว้างขวาง ว่ามีสรรพคุณสามารถแก้โรคภัยไข้เจ็บได้ ตั้งแต่ รักษาโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ลดน้ำหนัก แก้โรคเหน็บชา ชาปลายมือปลายเท้า โรคภูมิแพ้ ไทรอยด์ ปวดข้อ เข่า หลัง รวมถึง ไมเกรน และมีสรรพคุณบำรุงตับ ไต และใช้ได้ในโรคเรื้อรังทุกชนิด รวมถึงระบบของสตรี จนทำให้กลายเป็นที่ต้องการอย่างมากในขณะนี้ ทำให้ราคาของสมุนไพรที่เคยเป็นเพียงยาแผนโบราณตำรับชาวบ้าน มีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 200-600 บาท เลยทีเดียว

เผยแพร่สรรพคุณรักษาสารพัดโรค

จากการสำรวจข้อมูลการซื้อขาย “ปอกะบิด” ในตลาดยาสมุนไพร ของศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า ปัจจุบัน  สมุนไพรชนิดนี้มีความต้องการอย่างมาก เนื่องจากมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ถึงสรรพคุณว่า แก้โรคภัยไข้เจบต่าง ๆ สารพัด มีการซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง โดยนำปอกะบิด มาพัฒนาเป็นรูปแบบต่าง ๆ ให้รับประทานง่ายขึ้นเช่น ชนิดผงชง หรือเป็นถุงชา

ต้นปอกะบิด

ในเอกสารข้อมูลที่เผยแพร่เพื่อการจำหน่าย “ปอกะบิด” ส่วนใหญ่ระบุถึงสารประกอบสำคัญที่มีอยู่ในพืชชนิดนี้ว่า ประกอบด้วย สารเฮมิเซลลูโลส 15.8 เปอร์เซนต์ ลิกนิน 2.89 เปอร์เซนต์ เซลลูโลส 18.6 เปอร์เซนต์ เพกทิน 0.4 เปอร์เซนต์ น้ำมัน 3.11 เปอร์เซนต์ กรดไฮดรอกซี่คาร์บอซีลิค ไฟโตสเตอรอล

พร้อมชี้ถึงประโยชน์ของสารต่าง ๆ เช่น “เพกทิน” ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ซึ่งขึ้นกับระดับคอเลสเตอรอลในเลือดที่มีอยู่เดิม และอาหารที่รับประทานเป็นประจำ นอกจากนั้นยังมีผลยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง และมีผลต่อการควบคุมน้ำหนักตัว แต่ไม่มีผลรบกวนการดูดซึมแร่ธาตุในร่างกาย

“เซลลูโลส” ช่วยในการกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้เคลี่อนไหว เส้นใยบางชนิดสามารถดูดซับน้ำได้ดี จึงทำให้อุจจาระอ่อนนุ่ม ขับถ่ายง่าย ท้องไม่ผูก ลดโอกาสการเกิดโรคริดสีดวงทวาร เซลลูโลสเมื่อถูกย่อยแตกตัวออก ให้น้ำตาลกลูโคสจำนวนมาก

“กรดไฮดรอกซี่คาร์บอซีลิค” เป็นสารที่ช่วยบำรุงผิว เพื่อทำให้ผิวนุ่ม ไร้ริ้วรอยและช่วยปรับสภาพผิว Acid เป็นวิตามินบีชนิดหนึ่ง ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และการสร้างเม็ดเลือดแดง

ปอกะบิดตากแห้งก่อนส่งขาย

มีโพลีฟีนอลต้านอนุมูลอิสระ แต่เภสัชฯชี้ยังไม่มีงานวิจัยหนุน

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งคือ ในเอกสารระบุสรรพคุณของ “ปอกะบิด” ของร้านค้าบางแห่ง ระบุว่า มี สารประกอบ “โพลิฟีนอล” อยู่ด้วย พร้อมกับชี้ถึงคุณสมบัติของ สารประกอบ “โพลีฟีนอล” สามารถต้านอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โดยการลดระดับของคอเลสเตอรอล ควบคุมความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังต้านโรคอ้วน โดยกระตุ้นการสร้างความร้อนของร่างกาย ซึ่งช่วยเผาผลาญพลังงาน และช่วยกำจัดโรคอ้วน ส่วนคุณสมบัติต้านโรคเบาหวาน ยังป้องกันฟันผุ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านแบคทีเรีย ไวรัส

            “สารประกอบ โพลีฟีนอล (Polyphenol) มีผลในการยับยั้งการกลายพันธุ์ การเกิดมะเร็งในมนุษย์(SOD) Superoxide มีสารต้านมะเร็งสูง ทำให้ช่วยป้องกัน และต่อต้านโรคมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอล ช่วยในเรื่องระบบการไหลเวียนของโลหิต ระบบการย่อยอาหาร ลดความดัน รวมทั้งช่วยในการขับสารพิษ ออกจากร่างกาย ชะลอความเสื่อมสภาพของการทำงานของอวัยวะและความชรา”

อย่างไรก็ตามจากการสอบถามข้อมูลไปยังหน่วยบริการฐานข้อมูลสมุนไพร สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่า “ปอกะบิด” มีสารโพลีฟีนอล แบบใดชนิดไหนเป็นส่วนประกอบ ทั้งนี้โดยปกติแล้ว สารโพลีฟีนอลจะพบได้ทั่วไปในพืชส่วนใหญ่ แต่หากต้องการทราบถึงรายละเอียดจำเป็น จะต้องตรวจสอบทางห้องทดลองแบบเจาะลึก ว่าสารเดี่ยวชนิดนี้มีในพืชชนิดใด

ทั้งนี้สำหรับประโยชน์ของสารโพลีฟีนอลนั้น  ข้อมูลจากสำนักงานสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีการทดลองในห้องทดลองพบว่า สารโพลีฟีนอลมีฤทธิ์ต้านสารอนุมูลอิสระ ที่สามารถป้องกันโรคต่าง ๆ ได้ แต่ก็เป็นเพียงการทดลองกับสัตว์ทดลอง ยังไม่มีการวิจัยในมนุษย์แต่อย่างใด

            “เมื่อยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดเช่นนี้ จึงต้องระมัดระวัง เนื่องจากมีข้อมูลว่า ปอกะบิดมีผลต่อตับและไต การรับประทานจึงต้องอยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และจะต้องตรวจสุขภาพอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องตับและไต” เจ้าหน้าที่กล่าว

มีงานวิจัยชิ้นเดียวยืนยัน ชี้ลดเบาหวานได้จริง แต่ต้องระวังตับ

สอดคล้องกับการสืบค้นข้อมูลของ ศูนย์ข่าว TCIJ เกี่ยวกับสมุนไพร “ปอกะบิด” หรือ “ปอบิด” ดังกล่าว เพื่อหาหลักฐานการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ รวมทั้งคุณสมบัติทางเภสัชวิทยาที่ชัดเจนว่า ยังไม่พบว่ามีข้อมูลงานวิจัยที่ชัดเจนเกี่ยวกับสมุนไพรชนิดนี้ นอกจากงานเขียนเชิงวิชาการ โดย รศ.รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ที่ให้ข้อมูลเชิงวิชาการ เรื่อง ปอบิด พิชิตสารพัดโรคได้จริงหรือ (  http://www.pharmacy.mahidol.ac.th/thai/knowledgeinfo.php?id=143) โดยในงานดังกล่าว รศ.รุ่งระวี ระบุว่า “แม้ว่าจากผลการวิจัยจะพบว่า สารที่สกัดได้จากปอกะบิด จะมีฤทธิ์ที่สามารถลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ก็ยังไม่มีข้อมูลละเอียดเพียงพอต่อปริมาณการใช้ ดังนั้นการใช้ปอกะบิดในการรักษาโรคจึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง”

ในบทความวิชาการดังกล่าว รศ.รุ่งระวีระบุว่า ปอบิดมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Helicteres isora L. เป็นพืชในวงศ์ Sterculiaceae มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นมากมาย เช่น ปอกะบิด ปอทับ มะปิด มะบิด (พายัพ) ขี้อ้นใหญ่ ปอลิงไซ (ภาคเหนือ) ลูกบิด (ไทยภาคกลาง) ซ้อ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่) เซ้าจี (สระบุรี) เป็นพืชที่ขึ้นเองตามริมป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรังที่รกร้าง แม้กระทั่งในบริเวณกรุงเทพมหานคร พบได้ทั่วไปทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน และอินเดีย ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูงไม่มาก ประมาณ 1-2 เมตร มีขนสีน้ำตาล ใบเดี่ยว รูปไข่กว้าง ขอบใบหยัก เมื่อลูบผิวใบรู้สึกสากคาย ออกดอกปีละครั้ง ช่วงเวลาอาจแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นและภูมิอากาศ ตามบันทึกขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ ออกดอกและติดผลประมาณเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม และช่วงฤดูร้อน ประมาณเดือนเมษายน กลีบดอกสีส้มอิฐ เป็นหลอด เมื่อติดฝัก เป็นฝักยาว 3-4 ซม. บิดเป็นเกลียวคล้ายเชือกขวั้น เมื่อแก่จะแตก มีสีน้ำตาลดำ

โฆษณาที่ประกาศปอกะบิดพร้อมอ้างสรรพคุณต่างๆ ใน Google

สำหรับสรรพคุณทางยานั้น จากข้อมูลในตำรายาไทย ใช้เปลือกต้นและราก บำรุงธาตุ ผล ใช้แก้บิด (สันนิษฐานว่า ตามรูปร่างของผล) แก้ปวดเบ่ง (อันเนื่องมาจากบิด) ท้องเสีย ขับเสมหะ ตำพอกแก้ปวดเคล็ดบวม

ในประเทศอินเดียใช้ผลแก้ท้องเสียเช่นเดียวกัน และมีการทดลองพบว่า สารสกัดด้วยน้ำมีฤทธิ์ที่ดีในการยับยั้งเชื้ออีโคไล ที่เป็นเชื้อสาเหตุของอาการท้องเสียทั่วไป และให้ผลดีกับเชื้อ Salmonella typhimurium ซึ่งเป็นเชื้อสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลปานกลางต่อเชื้อไข้ไทฟอยด์ (Salmonella typhi) ซึ่งมีอาการไข้ร่วมกับท้องเสียอื่น และมีผลยับยั้งการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อเรียบ ถึงแม้งานวิจัยนี้จะสอดคล้องการใช้ในโรคท้องเสีย ขนาดที่ใช้ในคนก็ยังระบุไม่ได้ชัดเจนนัก

การศึกษาวิจัยประสิทธิภาพของปอบิดในโรคอื่นที่น่าสนใจ ได้แก่ โรคเบาหวาน พบว่า สารสกัดน้ำจากผลปอบิด มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดในหนูขาว ที่ทำให้เป็นเบาหวาน และป้องกันไม่ให้ระดับไขมันสูงขึ้น ซึ่งมักพบตามมาหลังจากการเป็นเบาหวาน ฤทธิ์ของสารสกัดคล้ายกับยาไกลเบนคลาไมด์ การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยงพบว่า เพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อของหนู และเพิ่มการขนส่งน้ำตาลเข้าสู่เซลล์กล้ามเนื้อกระบังลม แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่ายาเมทฟอร์มิน

อย่างไรก็ดีการทดลองเหล่านี้แม้จะสรุปได้ว่าสารสกัดน้ำจากผลปอบิด น่าจะมีผลลดน้ำตาลในเลือดได้ แต่ยังไม่เพียงพอที่จะระบุขนาดที่ใช้ และยังไม่สามารถนำมาใช้ทดแทนยารักษาเบาหวานได้จริง จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมต่อไป ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพและความเป็นพิษ เนื่องจากปอบิดไม่ใช่พืชอาหาร การทดลองเพื่อหาความเป็นพิษ เมื่อใช้ระยะยาวเป็นอีกงานวิจัยที่สำคัญ

            “นอกจากนี้ยังพบว่า สมุนไพรจำนวนไม่น้อย ที่มีรายงานความเป็นพิษต่อตับและไต หากรูปแบบหรือขนาดที่ใช้ไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ยังมีข้อมูลไม่ครบเช่นนี้ สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกใช้ด้วยตนเอง หรือได้ทดลองใช้แล้ว ให้ตรวจภาวะการทำงานของตับไตอย่างสม่ำเสมอทุก 3 เดือน และห้ามใช้ในผู้ที่มีประวัติ หรือแม้แต่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคตับ หรือโรคไต สำหรับโรคอื่น ๆ ที่กล่าวอ้างถึงนั้น ยังไม่พบการวิจัยที่พิสูจน์ฤทธิ์ดังกล่าว อีกทั้งโรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่กล่าวอ้างนั้น ไม่ได้มีข้อมูลการใช้แผนโบราณสนับสนุน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือกใช้” รศ.รุ่งระวี ระบุไว้ในบทความวิชาการชิ้นดังกล่าว

ขอบคุณภาพจาก http://www.market2easy.com/, http://xn--12c2brc4gta3a.blogspot.com/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: