‘พะยูง’แชมป์ไม้ถูกตัด-คุ้มเสี่ยงคิวละล้าน วิกฤตป่าไทยเหลือ102ล.ไร่-ถูกรุกทำกิน

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 4126 ครั้ง

ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ สำหรับสถานการณ์การลดลงอย่างต่อเนื่องของพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย แม้ว่าจะมีความพยายามในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถทำให้พื้นที่ป่าไทยเพิ่มจำนวนขึ้นได้มากนัก ล่าสุดจากการเปิดเผยของกรมป่าไม้ ระบุว่า ประเทศไทยเหลือพื้นที่ป่าเพียง 102 ล้านไร่ โดยภายในระยะเวลา 5 ปี พบว่าป่าไม้หายไปถึง 5 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ต่อปีเลยทีเดียว

พื้นที่ป่าไทยลดลงต่อเนื่องปีละ 1 ล้านไร่

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยข้อมูลจากการแปลภาพถ่ายดาวเทียมการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทย ซึ่งให้ข้อมูลว่า พื้นที่ป่าที่ลดลงดังกล่าว เป็นการสำรวจเพิ่มเติมหลังจากสำรวจครั้งล่าสุดระหว่างปี 2551-2556 โดยในปี 2551 พบพื้นที่ป่าทั่วประเทศมี 107 ล้านไร่ ไม่รวมสวนยางและสวนผลไม้ ซึ่งก็ถือว่ามีปริมาณน้อยอยู่แล้วหากเทียบกับพื้นที่ทั่วประเทศ แต่การสำรวจล่าสุดในปี 2556-2557 กลับพบว่า พื้นที่ป่าเหลือเพียง 102 ล้านไร่  ลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จากการแปลข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมดังกล่าวพบว่า มีลักษณะการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต้องการพื้นที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำให้จำนวนไม้ซุง หรือไม้ใหญ่เหลือจำนวนน้อยมากอย่างน่าเป็นห่วง

ขอบคุณภาพจาก http://greenscape1413.wordpress.com/

‘พะยูง’ครองแชมป์แห่งการลักลอบตัด

สำหรับชนิดของไม้ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด อธิบดีกรมป่าไม้เปิดเผยว่า ยังคงเป็นไม้พะยูง ที่พบถูกลักลอบตัดทุกวัน ทำให้คดีจับกุมมีจำนวนสูงขึ้นมาก เรียกได้ว่าสามารถจับกุมได้ทุกวัน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จากสถิตการจับกุมในปี 2556 ถือว่าเป็นปีที่มีการจับกุมมากที่สุด มีตัวเลข

 ในพื้นที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) จับกุมได้มากถึง 343 คดี ผู้ต้องหา 183 ราย ไม้ของกลาง 6,959 ท่อน หรือ 309.88 ลูกบาศก์เมตร ได้ไม้แปรรูป 1,706 แผ่น สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (ขอนแก่น) จำนวน 303 คดี ผู้ต้องหา 122 ราย ไม้ของกลาง 6,910.00 ท่อนหรือ 297.05 ลูกบาศก์เมตร ได้ไม้แปรรูป จำนวน 2,859 แผ่นหรือ 91.56 ลูกบาศก์เมตร สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่  6 (นครพนม) จำนวน 264 คดี ผู้ต้องหา 140 ราย ไม้ของกลาง 4,360 ท่อน  หรือ 139.59 ลูกบาศก์เมตร ไม้แปรรูป จำนวน 6,793 แผ่นหรือ139.23 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) จำนวน 229 คดี ผู้ต้องหา 88 ราย จำนวนไม้ของกลาง 2,193.00 ท่อน หรือ 100.63 ลูกบาศก์เมตร ได้ไม้แปรรูป จำนวน 5,889.00 แผ่นหรือ 155.76 ลูกบาศก์เมตร และ ในพื้นที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 7 (อุบลราชธานี)จำนวน 88 คดี ผู้ต้องหา 34 ราย ไม้กลางของ 2,508 ท่อน หรือ 83.33 ลูกบาศก์เมตร ไม้แปรรูป 909 .00 แผ่นหรือ 22.09 ลูกบาศก์เมตร

ขอบคุณภาพจาก http://www.l3nr.org/posts/437140

นายทุนกว้านซื้อตามวัดต้นละ 1 ล้านบาท

สำหรับสาเหตุการตัดไม้พะยูง ยังคงเป็นเพราะความต้องการไม้ที่สูงมากจากประเทศจีน เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และตบแต่งอาคารบ้านเรือน เนื่องจากเป็นไม้ที่มีลวดลายสวยงาม ทำให้ราคาซื้อไม้จากพื้นที่ป่า โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ถูกปั่นให้สูงขึ้นไปตามความเสี่ยงในการกวดขันจับกุมของเจ้าหน้าที่ จากราคาเดิมคิวละ 3 แสนบาท เป็นคิวละ 1 ล้านบาท ทำให้มีความพยายามในการลักลอบตัดไม้พะยูงสูงขึ้นมาก

            “แม้ว่าไม้พะยูงจะไม่ใช่ไม้หวงห้าม การตัดตามหัวไร่ปลายนา หรือในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ภายในบ้านสามารถทำได้ แต่ปัญหาคือ การลักลอบส่งไม้เหล่านี้ออกนอกประเทศ ล่าสุดกรมป่าไม้ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าอาวาสหลายวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่า มีนายุทนมาติดต่อขอซื้อไม้พะยูงที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่วัด หลายวัดมีไม้พะยูงขนาดใหญ่มากกว่า 10 ต้นขึ้นไป ทำให้บางวัดตัดสินใจขายไม้พะยูงให้กับนายทุนไปแล้ว ในราคาต้นละกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่า ขบวนการซื้อขายไม้พะยูงยังมีการติดสินบนกรรมการวัดและกรรมการหมู่บ้าน เพื่อขอให้วัดหรือหมู่บ้านอนุมัติให้ตัดไม้พะยูงไปขาย เพื่อนำเงินไปพัฒนาวัดหรือหมู่บ้าน” นายบุญชอบกล่าว พร้อมระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นกับวัดหลายสิบวัดแล้ว บางวัดมีต้นพะยูงจำนวนมาก ปลูกเป็นแปลง ซึ่งมีนายทุนมาเจรจาขอซื้อ และวัดหลายแห่งต้องยอมขาย เพราะกลัวอิทธิพล และหากปล่อยทิ้งไว้ก็เป็นภาระที่ต้องมีคนมาเฝ้าตลอด 24 ชั่วโมง โดยขณะนี้ได้ให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำรวจวัดที่มีไม้พะยูงทั้งหมดแล้ว

ขอบคุณภาพจาก http://www.matichon.co.th

ไม้ของกลางมูลค่า 2 หมื่นล้าน แต่ขายไม่ได้

ข้อมูลกรมป่าไม้ระบุว่า ปัจจุบันกรมป่าไม้ดูแลไม้พะยูงของกลางทั่วประเทศจำนวน 5,000 คิว แต่หากรวมกับไม้พะยูงของกลางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จะมีทั้งหมด 20,000 คิว เป็นมูลค่ารวมประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่หากส่งไปขายในต่างประเทศ ราคาจะสูงขึ้นอีก 2-3 เท่าตัว ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณภาพเนื้อไม้

สิ่งที่เป็นคำถามตามมาคือ กรมป่าไม้จะจัดการอย่างไรกับไม้ของกลางที่มีมูลค่าสูงเหล่านี้ อธิบดีกรมป่าไม้ระบุว่า เรื่องแนวคิดการบริหารจัดการกับไม้ของกลางเหล่านี้ ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ตัดสินใจ หรือสรุปว่าจะนำไปขายหรือไม่ แต่ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะกรรมการจัดการไม้มีค่า โดยมีผบ.ทบ. เป็นประธาน มีหลักการให้นำไม้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ในประเทศ เช่น การสร้างพิพิธภัณฑ์ หรือบำรุงรักษาวัด หรือสถานที่ราชการ ส่วนแนวทางการดำเนินการกับนายทุนต่าง ๆ นั้น จะเร่งดำเนินการเร็ว ๆ นี้ โดยประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ดำเนินคดีผู้ค้าเป็นตัวอย่าง ทั้งการอายัดทรัพย์และดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งไปพร้อม ๆ กฎหมายจัดการ เพราะกฎหมายของปปง. ในปี 2556 ด้านทรัพยากรเริ่มมีการยึดทรัพย์ได้ ซึ่งขณะนี้กำลังตรวจสอบการจับกุม ว่าจะสามารถดำเนินการยึดทรัพย์เป็นตัวอย่างได้หรือไม่ เช่น ใน จ.สมุทรสาคร ที่มีการจับกุมไม้พะยูงในโกดัง ว่าเข้าข่ายสามารถอายัดทรัพย์ได้หรือไม่ นอกจากนี้จะประสานกับกอ.รมน. เนื่องจากมีรายชื่อนายทุนที่ลักลอบค้าไม้พะยูงอยู่ในบัญชี เพราะการข่าวของกอ.รมน.ระบุชื่อชัดเจนว่าใครเป็นผู้ค้าบ้าง

ขอบคุณภาพจาก http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2667129

            “ในเรื่องมาตรการป้องกันการลักลอบตัดไม้พะยูง การบังคับใช้กฎหมายก็ว่ากันไป แต่ในทางปฏิบัติผมอยากให้ใช้มาตรการด้านสังคมเข้ามาช่วยจะดีที่สุด เช่น ให้ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันประณามสำหรับคนที่ลักลอบตัดไม้พะยูง ในเรื่องนี้หลายพื้นที่ใน จ.อุบลราชธานี สามารถจับกุมผู้ต้องได้ เพราะส่วนหนึ่งมาจากการชี้เบาะแสของชาวบ้าน เพราะที่นั่นจะมีความหวงแหนไม้พะยูง เพราะเป็นไม้ประจำถิ่น แต่หลายพื้นที่ก็ออกมาต่อต้าน เช่น ในพื้นที่ปางสีดาออกมาต่อต้านเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ เพราะเป็นการตัดรายได้มหาศาลของพวกเขา ทั้งนี้ผมเคยไปคุยกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้อาวุโสว่าคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับไม้พะยูง ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน หรือเจ้าหน้าที่จะมีจุดจบไม่สวยนัก แม้เรื่องนี้จะไม่มีสถิติอย่างเป็นทางการ แต่เป็นความเชื่อและเกิดขึ้นจริงกับพวกที่เกี่ยวข้องกับไม้พะยูง” อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว

ดำรงค์ระบุมีจนท.ร่วมขบวนการ ต้องใช้มาตรการเด็ดขาด

ด้านนายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้สัมภาษณ์ ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเรื่องเดียวกันว่า เรื่องปัญหาลักลอบตัดไม้พะยูง เป็นปัญหาที่หากไม่มีการใช้มาตรการเด็ดขาดย่อมไม่สามารถหยุดยั้งการกระทำผิดได้เลย เพราะจากข้อมูลที่ตนได้มาตลอดคือ กลุ่มนายทุนเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะใช้เงินว่าจ้างคนในพื้นที่คอยตัดให้เท่านั้น แต่ยังมีการว่างจ้าง พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือของกรมอุทยานฯ เอง เพื่อให้ชี้แหล่งให้ด้วย โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่ปลายแถว เพราะไม่เช่นนั้นคงไม่มีใครรู้ว่า แหล่งไม้พะยูงอยู่บริเวณใดบ้าง ดังนั้นหากไม่มีการใช้มาตรการจัดการอย่างเด็ดขาดเชื่อว่าไม้เหล่านี้จะหมดป่าไทยแน่นอน

ขอบคุณภาพจาก http://www.aecnews.co.th/crime/read/1331

นายดำรงค์กล่าวว่า แนวคิดของตนตั้งแต่เป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ คือจำเป็นจะต้องตั้งหน่วยเฉพาะกิจเข้าไปในการปราบปรามกลุ่มลักลอบในพื้นที่ โดยย้ายเจ้าหน้าที่เดิม ๆ ออกมาจากพื้นที่ก่อนเพื่อตัดท่อส่งข่าวสาร ที่จะแจ้งข่าวให้พวกลักลอบรู้ พร้อมกันนี้ก็ใช้มาตรการเด็ดขาดไปเลย เพื่อให้เกิดความกลัว เพราะตอนนี้ไม่ใช่แต่เพียงคนชาวบ้านทั่วไปที่เข้ามาลักลอบ แต่เป็นที่รู้กันว่า กลุ่มที่เข้ามาลักลอบเป็นเจ้าหน้าที่ทหารของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีอาวุธครบมืออยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่เด็ดขาดก็คงสู้ไม่ได้ และในส่วนของพื้นที่นั้น กรมอุทยานฯ จะต้องปิดไม่ให้ประชาชน ชาวบ้านเข้าไปทำกิจกรรมใดๆ เลยในพื้นที่อุทยานฯ เพื่อป้องกัน รักษาป่า

จี้ประเทศเพื่อนบ้านเข้มงวดอย่าร่วมขบวนการ

            “เรื่องนี้ผมทำมาตลอด เราก็รู้ๆ กันอยู่ว่านายทุนเป็นกลุ่มไหน มีวิธีการอย่างไร ดังนั้นจะต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาดไม่เช่นนั้นไม่พะยูงหมดป่าแน่ นอกจากนี้ยังจะต้องบอกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเราด้วยว่า จะต้องช่วยควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด ไม่ปล่อยให้มีการขโมยลักลอบตัดไม้จากประเทศเพื่อนบ้านเข้าไปเพื่อส่งต่อไปยังประเทศใหญ่ ๆ แล้วทำไม่รู้ไม่เห็นเพราะตัวเองได้ประโยชน์ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะต้องทำ และเร็ว ๆ นี้ผมก็จะไปยื่นหนังสือประท้วง ที่สถานเอกอัครราชทูตลาว จีน และเวียดนาม ทั้งเรื่องของไม้พะยูง และสัตว์ป่าต่าง ๆ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่า มีอะไรเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าไม้ของไทย” นายดำรงค์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงกรณีไม้พะยูงของกลางจำนวนมากว่า ขณะนี้คงจะดำเนินการอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลให้ผบ.ทบ.จัดการเอาไปซ่อมสถานที่ต่าง ๆ แต่หากไม่ดูและบริหารจัดการดีแล้ว ไม้พะยูงก็จะผุพัง สลายไปตามกาลเวลา และมูลค่าของไม้ของกลางปัจจุบันมีมูลค่าสูงหลายหมื่นล้านบาททีเดียว

สำหรับไม้พะยูงเป็นไม้เนื้อแข็ง ตระกูลเดียวกับไม้แดง ไม้ประดู่ ปัจจุบัน เป็นไม้ที่ราคาแพงมากที่สุดในโลก เนื่องจากมีความนิยมในการใช้ไม้ชนิดนี้ในประเทศจีน โดยเริ่มนิยมตั้งแต่จีนนำเข้าไม้พะยูงเพื่อนำไปซ่อมแซมพระราชวังต้องห้าม ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 2551 ต่อมาผู้มีฐานะมีความนิยมนำไม้พะยูงไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์ แต่ระยะหลังไม้พะยูงมีราคาพุ่งสูงขึ้นมาก ทางนายทุนจึงหันมาทำเป็นวัตถุมงคล และของแต่งบ้านชิ้นเล็ก ๆ เช่น ปี่เซียะเทพเจ้า ฮก ลก ซิ่ว แทน ทำให้เวลานี้ไม้พะยูงนับว่าเหลือเฉพาะในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก เพราะในประเทศลาว และกัมพูชา ที่เคยมีไม้ชนิดนี้ได้ถูกตัดขายให้กับประเทศจีนจนหมดป่า จนนายทุนต้องหันมาลักลอบตัดจากประเทศไทยนั่นเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: