ไทย-ลาวเหยื่อผลกระทบจาก‘เขื่อนจีน’ หมดหวังเอ็มอาร์ซี-ตั้ง‘สภาประชาชน’สู้

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 4 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2200 ครั้ง

ความผันผวนของระดับน้ำในแม่น้ำโขงในช่วงระยะหลายเดือนที่ผ่านมา กำลังกลายเป็นประเด็นห่วงใยของหลายฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงนี้กำลังสร้างผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมากที่ต้องอาศัยแม่น้ำสำคัญสายนี้ดำรงชีวิต

ในการบรรยายสรุปสำหรับสื่อมวลชน เรื่อง “น้ำโขงแล้ง : ผลกระทบจากโครงการเขื่อนตอนบนในเขตประเทศจีน,ปรากฏการณ์ El Nino, หรือ ความล้มเหลวในการบริหารจัดการสายน้ำ?”  ซึ่งจัดโดยชมรมนักข่าวอาเซียน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากร และนักวิชาการเกี่ยวกับแม่น้ำโขง ต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงอย่างผิดธรรมชาตินี้ ส่วนสำคัญเกิดจากความพยายามของประเทศต้นน้ำที่ยังคงมุ่งใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขง โดยไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้คนจำนวนมากในประเทศท้ายแม่น้ำสำคัญแห่งนี้

แม่น้ำโขงผันผวนหนักเชื่อเขื่อนจีนเป็นสาเหตุ

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้แทน International Rivers องค์กรเอกชนนานาชาติด้านการอนุรักษ์แม่น้ำทั่วโลก ระบุว่า จากข้อมูลล่าสุด พบว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม ปี 2556 ที่ผ่านมา ระดับน้ำในแม่น้ำโขง เพิ่มระดับอย่างรวดเร็วจนเอ่อท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำ ตั้งแต่พรมแดนไทย - ลาว ที่จ.เชียงราย ลงไปถึง จ.เลย และ นครพนม สร้างความเสียหายแก่พื้นที่การเกษตรริมฝั่งแม่น้ำ เรือหาปลา เครื่องมือประมง และการหาปลาของชาวบ้าน เหตุน้ำท่วมกลางฤดูแล้งทั้งที่ไม่มีฝนตก จึงกลายเป็นข้อสงสัยตามมา จนมาถึงช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2557 สิ่งที่สร้างเรื่องประหลาดใจก็เกิดขึ้นอีก เมื่อแม่น้ำโขงได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ที่ อ. เชียงแสน จ. เชียงราย เหลือเพียง 2.01 เมตร จากที่สูงถึง 7 เมตรเมื่อ ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้กินพื้นที่ลงไปตลอดลำน้ำ และมีรายงานสถานการณ์แล้งจากแทบทุกพื้นที่ริมแม่น้ำโขง

            “การขึ้นลงที่ผันผวนไปมาแบบผิดธรรมชาติ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงโดยเฉพาะพฤติกรรมการอพยพของปลาแม่น้ำโขง ซึ่งกว่าร้อยละ 70 เป็นปลาอพยพทางไกลเพื่อวางไข่ขยายพันธุ์ นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการปลูกพืชริมฝั่ง การหาปลา การใช้ประโยชน์ในรูปแบบน้ำประปา รวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนริมแม่น้ำ และเป็นที่น่ากังวลถึงอนาคตของแม่น้ำโขง  ระบบนิเวศตามธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำโขง  ท่ามกลางการเดินหน้าสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงต่อไปอย่างไม่หยุดยั้งในขณะนี้” น.ส.เพียรพรกล่าว

ปัจจุบัน เขื่อนในจีนสร้างเสร็จแล้วถึง 6 แห่งทางตอนบน ส่วนทางตอนล่าง ในขณะที่ในลาวก็กำลังเดินหน้าการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่โครงการรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะมีความพยายามในการขอคำตอบที่สำคัญเกี่ยวกับการลดผลกระทบต่าง ๆ ต่อแม่น้ำโขงจากทั้งรัฐบาลจีน และ รัฐบาล สปป.ลาว แต่ดูเหมือนว่าเจ้าของโครงการจะไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนัก

เอ็มอาร์ซี-เสือกระดาษ-คอร์รัปชั่น ยังมี

ด้าน นางผกาวรรณ จุฬามาณี ที่ปรึกษาคณะกรรมการแม่น้ำโขงไทย และอดีตผู้อำนวยการส่วนงานคณะกรรมการแม่น้ำโขง (MRC) กล่าวว่า ที่ผ่านมาเอ็มอาร์ซีพยายามขอให้ประเทศสมาชิก รวมถึงจีนคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อน หรือสร้างกิจกรรมใด ๆ ก็ตามบนแม่น้ำโขง แต่ด้วยข้อจำกัดทั้งเรื่องของระเบียบ รวมถึงบทบาท หน้าที่ที่อาจจะไม่มีอำนาจไปสั่งการอะไรได้มากนัก จึงทำให้ไม่สามารถที่จะสร้างแรงกดดันอย่างมีพลังกับประเทศต่าง ๆ ต้นน้ำได้ นอกจากนี้กลไกหรือรูปแบบของการทำงานของเอ็มอาร์ซี ที่ส่วนใหญ่จะมุ่งไปด้านวิชาการ และทฤษฎีทางวิชาการเป็นส่วนใหญ่จึงไม่สามารถที่จะสร้างผลทางรูปธรรมได้มากนัก จึงถือเป็นข้อจำกัดสำคัญ จนทำให้ถูกมองว่า เอ็มอาร์ซีเป็นเพียงเสือกระดาษ ทั้งที่แท้จริงแล้วหากมองจากการทำงานของตนในหน่วยงานนี้เอ็มอาร์ซีไม่ได้เป็นเสือกระดาษเท่านั้น แต่ยังเป็นเสือที่ถูกไล่ตีอีกด้วย

            “ถ้ามองถึงเรื่องกลไก ก็จะเห็นได้ว่าเอ็มอาร์ซีไม่สามารถสร้างแอคชั่นใด ๆ ได้เลย เพราะถูกสร้างขึ้นมาเป็นองค์กรวิชาการ ขณะเดียวกันงบประมาณที่ได้ก็ยังมาจากการการระดมทุนและการบริจาคดังนั้น การใช้จ่ายเงินไปกับการทำงานด้านวิชาการ ซึ่งบางทีก็ไม่ได้ผลทางปฏิบัติมากนัก เอ็มอาร์ซีจึงควรปรับบทบาท เพราะถึงจะมีจุดแข็งเรื่องของวิชาการ แต่ก็ไม่สามารถเอาไปใช้ได้ รวมทั้งต้องปรับปรุงพฤติกรรมของประเทศสมาชิก การลงเงินไปปีละ 700-800 ล้านบาท แต่มีปัญหาอื่น ๆ มาก หรือแม้คอร์รัปชั่นยังมีอยู่ การได้เงินมาแต่ก็ไม่ไปไหนสักที แต่ละประเทศจะต้อง ต้องยึดหลักของส่วนรวม เพราะตอนนี้เมื่อเงินเข้ามาก็ดึงไปใช้ในแต่ละประเทศของตัวเอง กลไกเอ็มอาร์ซีที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาอาจจะเหมาะสมขณะนั้น แต่จนถึงตอนนี้เหมาะสมหรือไม่นั้น อาจจะไม่ เมื่อการพัฒนาผ่านไปอย่างรวดเร็วจึงต้องมานั่งทบทวนกันใหม่” นางผกาวรรณกล่าว

สำหรับประเด็นเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจะมีผลต่อแม่น้ำโขงหรือไม่นั้น นางผกาวรรณ กล่าวว่า ตนคิดว่า ไม่ว่าจะเป็นเอลนิลโญ่ หรือลานีญา ตามที่นักวิชาการระบุมาก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากเหตุที่เกิดขึ้นเป็นเพราะธรรมชาติจึงเป็นสาเหตุที่ราชการระบุว่า ไม่สามารถทำอะไรได้ จึงไม่มีการแก้ไขปัญหาอะไร แต่หากพิจารณาลงไปจริง ๆ แล้วตอนนี้ยอมรับว่าทุกอย่างได้เปลี่ยนแปลงไปก็จริง ไม่ได้เป็นธรรมชาติเหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะเข้าไปเสริมทำให้ธรรมชาติแย่เข้าไปอีกก็คงจะต้องแก้ปัญหา โดยเฉพาะการกระทำของมนุษย์ที่จะไม่ไปซ้ำเติมให้แม่น้ำโขงย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม

ภาคประชาชนจับมือตั้ง  “สภาประชาชนลุ่มน้ำโขง” สู้เขื่อน

ขณะที่ นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ตัวแทนกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากแม่น้ำโขง กล่าวว่า ปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศจีน และลาว เป็นเรื่องที่ชาวบ้านพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และนำไปเจรจาเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน แต่ก็ไม่เคยมีการตอบสนอง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สิ่งที่คิดร่วมกันในแนวทางนี้ คือการร่วมตั้งสภาประชาชนลุ่มน้ำโขง ร่วมกันระหว่างประชาชนของแต่ละประเทศที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำโขง เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในภาคประชาชนที่มีพลัง เพื่อเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการที่จะให้ประเทศต้นน้ำ คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนในท้ายน้ำจำนวนมากด้วย โดยขณะนี้ จะเริ่มจากประชาชนไทยและลาวก่อน แล้วจะขยายต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ทั้งกัมพูชา และเวียดนาม แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายภาคประชาชนในระดับนี้ เพื่อให้เห็นว่าประชาชนคิดอะไร และต้องการให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง โดยจะเป็นการร่วมทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อให้เห็นว่า วิถีชีวิตของคนแม่น้ำโขงมีประโยชน์ร่วมกันหลายอย่าง

            “อย่างไรก็ตาม หวังว่าการประชุมแม่โขง ซัมมิท (Mekong Summit) จะมีการพูดคุยเกี่ยวกับการดูแลประชาชนในลุ่มน้ำโขง เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมารัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในลุ่มน้ำโขงต่างก็รู้อยู่แล้วว่า เกิดผลกระทบอะไรขึ้นบ้าง และอย่างน้อยก็ควรจะมีการพูดคุยเรื่องการแก้ปัญหาในภาคประชาชน แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยได้พูดเรื่องนี้ อยากให้รัฐบาลนำไปคุยกันเพื่อลดทอนปัญหา เพราะปัญหาเรื่องน้ำเป็นเรื่องใหญ่ หากปล่อยไปเช่นนี้ ปัญหาการแย่งชิงน้ำย่อมจะมีแน่ และอาจจะสั่งสมในกลุ่มคนที่เดือดร้อนกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าตอนนี้ยังไม่บรรเทาให้ปัญหาน้อยลง เมื่อเขื่อนมากขึ้นปัญหามากขึ้น อย่าคิดว่าคนจะอยู่เฉย ๆ ถึงที่สุดแล้วก็อาจจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นได้อย่างแน่นอน” นายนิวัฒน์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: