เครือข่ายฯสลากเตรียมชง พรบ.ปฏิรูปสลากเพื่อสังคม

4 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1410 ครั้ง

เมื่อวันที่ 4 เมษายน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน ประชุมเตรียมความพร้อมการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) ที่โรงแรมอมารีแอร์พอร์ต กรุงเทพฯ

นายธนากร คมกฤส ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลาก กล่าวถึงความสำคัญของการผลักดันการเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) ว่า ประเทศไทยมีการจำหน่ายสลากภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งดำเนินการบริหารจัดการสลาก โดยมีรายได้นำส่งเข้ารัฐกว่า 13,000-14,000 ล้านบาท/ปี (28 เปอร์เซนต์ ตามพ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ) และสำนักงานสลากฯได้รับค่าบริหารจัดการ 2,000 ล้านบาท/ปี ( 3 เปอร์เซนต์ ตามพ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลฯ) ทั้งนี้ ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯ ที่ผ่านมาประสบกับปัญหาหลายประการ อาทิ ความเชื่อมั่นในกระบวนการออกรางวัลของคนในสังคม ความโปร่งใสในการจัดสรรโควต้า หรือแม้กระทั่งปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคา

ดังนั้นจึงเป็นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ภาคประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมและผลักดันให้ระบบสลากไทยมีความโปร่งใสมากกว่าจะถือเป็นการบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯเพียงฝ่ายเดียว โดยแนวทางที่เครือข่ายฯเห็นพ้องต้องกันในการแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาคือการร่วมกันผลักดันร่าง พรบ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชนนั่นเอง)

ด้าน นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ กรรมาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการปฏิรูประบบการบริหารจัดการสลากในประเทศไทย กล่าวถึงระบบสลากไทยว่า ปัจจุบันกิจการสลากอยู่ภายใต้การกำกับของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตาม พรบ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ซึ่งดำเนินการบริหารจัดการสลากทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล รวมทั้งสิ้น 72 ล้านฉบับ ทั้งนี้ในการผลักดันร่างพรบ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน)เพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่ของระบบสลากนั้น มุ่งเน้นไปที่การผลักดันให้ระบบสลากไทยเป็นสลากเพื่อสังคม สร้างความโปร่งใส หยุดการขายเกินราคาและนำเงินมาพัฒนาสังคม โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้

กำหนดให้มี “คณะกรรมการกำกับกิจการสลากเพื่อสังคมแห่งชาติ” ทั้งสิ้น 15 คน และมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ   (กรรมการ 7 คนมาโดยตำแหน่ง อาทิ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาความมั่นคงฯ เป็นต้น และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการสรรหาอีก 8 คน) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการสลากฯนั้น มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แก้ไขปัญหา ควบคุม กำกับดูแล ออกระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการออกสลากรวมถึงการให้ความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบเกี่ยวกับสลาก

กำหนดให้จัดตั้งสำนักงาน “องค์กรสลากแห่งประเทศไทย” (สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม) เพื่อทำหน้าที่จัดพิมพ์และดำเนินการจำหน่ายสลากตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการสลากฯกำหนด โดยให้องค์กรฯมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้สังกัดกระทรวงการคลัง

โครงสร้างการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายสลาก แบ่งออกเป็น ร้อยละ 60 กำหนดให้เป็นเงินรางวัล (คงเดิมจากพรบ.สำนักงานสลากฯ) ร้อยละ 10 นำเก็บเงินเข้ารัฐ (จากเดิมกำหนดไว้ ร้อยละ28) ร้อยละ 15 กำหนดให้เป็นการจัดสรรเข้า “กองทุนสลากเพื่อสังคม” และร้อยละ 15 กำหนดให้เป็นเงินเพื่อการบริหารจัดการ (จากเดิมกำหนดไว้ ร้อยละ 12)  ทั้งนี้ ในส่วนของกองทุนสลากเพื่อสังคม เป็นกองทุนฯที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ กำหนดให้มี “คณะกรรมการกองทุนสลากเพื่อสังคม” เป็นผู้กำกับดูแลและจัดสรรเงินเพื่อนำไปพัฒนาสังคมในด้านต่าง ๆ อาทิ เด็ก ผู้หญิง คนชรา ผู้พิการ เป็นต้น

นอกจากนี้นายไพศาลยังกล่าวถึงเหตุการณ์คลิปหวยล็อคที่ผ่านมาว่า สาเหตุที่คนในสังคมเชื่อว่าการออกรางวัลสามารถล็อคได้ เนื่องจากกระบวนการออกรางวัลของสำนักงานสลากกินแบ่งที่ใช้ในปัจจุบันเป็นกระบวนการที่สำนักงานสลากดำเนินการเองทั้งหมด แตกต่างจากการออกรางวัลในต่างประเทศที่มักจะมีการดำเนินงานที่แยกกันชัดเจน โดยจะมีองค์กรที่ผลิตสลาก ออกรางวัลไม่ใช่องค์กรเดียวกัน

ทางด้านน.ส.ศิริพร ยอดกมลศาสตร์ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาการจำหน่ายสลากเกินราคาได้สร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก โดยจำนวนเงินที่ผู้ซื้อสลากต้องจ่ายเกินราคานั้นคิดเป็น 11,489 ล้านบาทต่อปี รวมถึงกระบวนการจัดระบบโควตาสลาก จากเดิมสำนักงานสลากฯจะเป็นผู้ออกระเบียบคุณสมบัติและคัดเลือกผู้ได้รับโควต้า ซึ่งเป็นระบบที่ก่อเกิดปัญหาเนื่องจาก ไม่สามารถตรวจสอบวิธีการคัดเลือกได้ ก่อให้เกิดการผู้ขาดโควต้าสลากโดยกลุ่มนายทุนและยังเป็นการกีดกันผู้ค้ารายย่อยตัวจริง ให้ไม่สามารถเข้าถึงการเป็นผู้รับโควตาโดยตรงได้ ซึ่งร่าง พรบ.ฯ ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถเข้าถึงสลาก

ในส่วนของกระบวนการในการเข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคมนั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากและเครือข่ายภาคประชาชนจะร่วมกันผลักดันการเสนอร่างฯดังกล่าว โดยการร่วมกันลงนามเพื่อผลักดันร่างฯ ตามกรอบกระบวนการการผลักดันกฎหมายรัฐธรรมนูญ  เบื้องต้นทางเครือข่ายฯได้มีการเปิดลงรายชื่อบุคคลทั่วไปที่สนับสนุนการจัดตั้งกองทุนสลากเพื่อสังคมโดยมีเป้าหมายที่ 1,000,000 รายชื่อ เพื่อแสดงให้เห็นพลังที่ต้องการให้เกิดกองทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม (ผ่านทางเว็บไซต์http://www.thaicivilfund.com) ทั้งนี้ ร่างพ.ร.บ.กิจการสลากเพื่อสังคม พ.ศ. .... (ฉบับประชาชน) ถือเป็นกฎหมายทางการเงิน จำเป็นที่จะต้องให้นายกรัฐมนตรีลงนามเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ทางเครือข่ายฯ จะหาวาระพิเศษเพื่อเข้ายื่นกฎหมาย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

                       

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: