โทรศัพท์มือถือเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 ของร่างกายไปแล้วใน พ.ศ.นี้
แม้จะเป็นอุปกรณ์สื่อสารสำคัญสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับนักเรียนปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่แทบลืมนำไปโรงเรียนไม่ได้ ยิ่งไปกว่าหนังสือเรียนเล่มสำคัญ บางคนต้องกลับบ้านทันทีเมื่อรู้ว่าลืมนำโทรศัพท์มาด้วย
เด็กอนุบาลก็มีโทรศัพท์มือถือใช้แล้ว
TCIJ ได้สำรวจโรงเรียนต่าง ๆ ในหลายจังหวัดเกือบทั่วประเทศ ทั้งโรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ โรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด โรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัด โรงเรียนเอกชน ฯลฯ พบว่า นักเรียนที่มีอายุน้อยที่สุดของโรงเรียน ที่มีโทรศัพท์มือถือใช้คือ ชั้นอนุบาล 2 ซึ่งครูประจำชั้น โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือตอนล่างระบุว่า
“ในห้องเรียนอนุบาลจะมีประมาณ 2-3 คน ที่นำโทรศัพท์มือถือมาด้วย ซึ่งผู้ปกครองให้เด็กนำมาฝากครูประจำชั้นไว้ เพื่อป้องกันสูญหาย เนื่องจากเด็กไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ และเมื่อผู้ปกครองโทรมา ครูจะรับให้แทน แต่ก็สร้างภาระให้กับครูมาก”
พ่อแม่ซื้อให้ลูกแบบไร้เหตุผล
เหตุผลเดียวกันของทั้งผู้ปกครองและนักเรียนที่อ้างถึงการนำโทรศัพท์มือถือมาโรงเรียนคือ “ใช้เพื่อนัดหมายหลังเลิกเรียน เพราะเด็กต้องไปเรียนพิเศษ หรือบางครั้งพ่อแม่มารับช้ากว่ากำหนด จึงต้องมีไว้เพื่อติดต่อระหว่างกัน”
“การซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูก ถามว่าเหตุผลและความจำเป็นอยู่ตรงไหน พ่อแม่จะตอบไม่ได้ คิดแค่ว่าอยากให้ลูกมี ก็เพราะลูกคนอื่นเขามีกัน คือไม่มีเหตุผลอะไรเลย แต่บางครั้งก็ตอบว่า จะได้ใช้ประโยชน์ติดต่อกัน ลูกมาโรงเรียน เดี๋ยวกลับบ้านไม่ได้ จะได้โทรบอกกัน นัดว่าจะรับที่ไหน อันนี้คือข้ออ้าง แต่เหตุผลจริง ๆ คือ ลูกคนอื่นเขามี ทำไมไม่ให้ลูกเรามี อันนี้เป็นเหตุผลส่วนใหญ่ของคนที่ให้ลูกมีโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เล็ก ๆ” ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลประจำจังหวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง กล่าว พร้อมระบุว่า “เด็กอนุบาลที่นี่ใช้เครื่องสมาร์ทโฟนนะครับ ยิ่งลูกผู้มีอันจะกินด้วย ยิ่งปู่ย่าตายาย ยิ่งตามใจกว่าพ่อแม่อีก”
ส่วนนักเรียนที่เริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้จำนวนมากขึ้นเกินครึ่งห้องเรียน ครูในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนเอกชน โรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัย โรงเรียนเทศบาล ที่อยู่ในตัวเมืองของแต่ละจังหวัด ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ระบุตัวเลขที่สอดคล้องกันว่า เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ขณะที่นักเรียนในโรงเรียนสังกัดสพฐ. เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่อยู่ห่างตัวเมืองออกไปหรืออยู่ในชนบท นักเรียนมีโทรศัพท์มือถือน้อยมาก เพราะผู้ปกครองมีฐานะยากจน หลายคนมองว่าไม่ใช่เรื่องจำเป็น ส่วนหนึ่งไม่พร้อมจะซื้อให้ลูก และคนที่นำมาโรงเรียน มักถูกครูสั่งให้เก็บหรือห้ามนำมาอีก เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดสูญหาย และครูไม่ต้องการแบกรับภาระที่นอกเหนือจากการเรียนการสอน
ลูกใช้อย่างไร้การควบคุม
แต่ปัจจุบันความวิตกกังวลของครูที่มีต่อการใช้โทรศัพท์ของนักเรียน กลับไม่ใช่เรื่องการสูญหาย แต่เป็นเรื่อง “ความเหมาะสม” ในสิ่งที่เด็กพบเห็นจากโทรศัพท์มือถือที่นำมาใช้ เนื่องเพราะเครื่องโทรศัพท์ที่เด็กนำมาใช้ในปัจจุบันไม่ใช่เครื่องที่ใช้สำหรับโทรออกหรือเรียกเข้าเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่เป็นเครื่อง “สมาร์ทโฟน” ที่สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เพื่อเข้าไปยังสื่อต่างๆ อย่าง “ไร้การควบคุม”
“นักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกคนมีฐานะดี พ่อแม่มองว่าการซื้อโทรศัพท์มือถือให้ลูกครั้งหนึ่งต้องคุ้มค่า โทรศัพท์ได้ ถ่ายรูปได้ คิดเลขได้ เล่นเกมส์ได้ ใช้อินเตอร์เน็ตได้ แต่พ่อแม่ไม่เคยรู้ว่า เมื่อเด็กนำมาโรงเรียนแล้วเด็กเปิดเข้าไปดูอะไรบ้าง อ่านเรื่องอะไรบ้าง เห็นภาพอะไรบ้าง” ผู้บริหารโรงเรียนเอกชนในภาคกลางคนหนึ่งระบุ
สลดดญ.ป.6 ส่งไลน์ด่าเพื่อน ‘มึงแย่งผัวกูทำไม’
“เด็กทุกวันนี้ใช้โทรศัพท์เกินความจำเป็น เด็กอยู่ในห้องเรียนเดียวกัน ยังส่งไลน์ (Line) คุยกัน นินทาครู แอบอัดเสียงครู และหนักข้อที่เราพบอย่างสลดใจคือ ไลน์ข้อความในกลุ่มเด็กป.6 ‘มึงแย่งผัวกูทำไม’ และเด็กป.6 เดี๋ยวนี้ ถ้าไปขอโทรศัพท์มือถือมาเปิดดู จะพบว่ามีคลิ๊ปหนังโป๊เต็มไปหมด เป็นเรื่องน่ากลัวมาก ไม่เชื่อไปขอเปิดดูสิ มีทุกคน แม้แต่เด็กป.3 ป.4 ก็สุมหัวเล่นเกม ดูคลิปโป๊กันแล้ว ผู้ใหญ่ระดับบริหารก็มาถามว่า ทำไมเกิดเรื่องแบบนี้ ก็อยากถามกลับไปว่า แล้วคลิ๊ปเหล่านี้มันหลุดมาได้ยังไง มาคิดสิว่าจะช่วยกันอย่างไร เมื่อสังคมเป็นแบบนี้”
“เราเคยพบนักเรียนชั้นป.6 เล่นโทรศัพท์มือถือในห้องเรียน เมื่อเรียกมาดูพบว่า ในเครื่องโหลดคลิ๊ปโป๊เก็บไว้เต็มไปหมด ภาพโป๊อีกเยอะมาก เราถามว่าใครโหลดเขาบอกว่าเป็นของพี่ชายบ้าง ของพ่อบ้าง บ่ายเบี่ยงไป เราจึงเรียกผู้ปกครองมาพบ พ่อแม่กลับไม่ตำหนิอะไรลูกของเขา แต่กลับต่อว่าครูว่า เรื่องแค่นี้เล็กน้อย โรงเรียนจุกจิกเกินไป สมัยนี้เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทยแล้ว ปัจจุบันนี้ แจ้งผู้ปกครองไปเถอะแจ้งไปก็สูญเปล่า เขาหาว่าครูจู้จี้จุกจิก มากเรื่อง พ่อแม่ปกป้องลูกทันที อย่างนี้เป็นต้น”
หลายโรงเรียนใช้วิธีเก็บโทรศัพท์นักเรียนระหว่างทำการสอน
กลัวลูกกวน โยนโทรศัพท์ให้เล่นตัดรำคาญ
ผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวยังระบุต่อว่า โทรศัพท์มือถือสำหรับนักเรียนในปัจจุบัน กลายเป็นภัยเงียบที่พ่อแม่มองไม่เห็น เมื่อพ่อแม่ต้องการความเป็นส่วนตัว ก็จะให้โทรศัพท์กับลูกเล่นเกมส์ หรือเปิดอินเตอร์เน็ต โดยไม่รู้ว่าเด็กเปิดดูอะไร แต่เมื่อเด็กเงียบและไม่มารบกวนตัวเองก็พอใจแล้ว
ปัญหาที่ตามมาถึงโรงเรียนก็คือ นักเรียนนำมาใช้เล่นในห้องเรียน ทำให้เด็กไม่สนใจเรียน เพราะสนใจแต่การแชตคุยเล่นกันในห้อง ถึงขนาดบางรายด่าทอครูผู้สอน แอบถ่ายรูปครูส่งในไลน์ ด่าว่าเพื่อนต่างกลุ่มในเชิงชู้สาวด้วยถ้อยคำหยาบคาย แอบดูคลิ๊ปที่ไม่เหมาะสม ฯลฯ
เมื่อถามผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมขยายโอกาสแห่งหนึ่ง ว่าโรงเรียนได้ให้ความรู้เรื่องเทคโนโลยีกับเด็ก อย่างถูกต้องหรือไม่ ขณะที่เด็กได้รับความรู้มาจากภายนอกมากขึ้น
ผู้บริหารคนดังกล่าวระบุว่า มีการใช้โทรศัพท์มือถือได้หลายแบบหลายวิธี และใช้ทำอย่างอื่นได้มากกว่าการโทรหากัน ปัจจุบันพ่อแม่ไม่รู้ว่าลูกทำอะไร แต่เมื่ออยู่ที่โรงเรียนครูจะรู้ เพราะวิชาคอมพิวเตอร์จะสอนเด็กว่า ต้องทำอะไรบ้าง ค้นหาอะไรได้บ้าง แต่พฤติกรรมคือ ถ้าการสอนทั้งหมดจากโรงเรียนทำให้เด็กเชื่อฟัง ร้านเกมส์คงไม่เปิดกันเป็นดอกเห็ด คงไม่มีเด็กไปเล่นกันเต็มไปหมดแบบทุกวันนี้
มือถือเด็กมัธยมแทบทุกรายมีคลิ๊ปโป๊
“อย่างเด็กชั้นมัธยมฯ ไปเอาโทรศัพท์ของเขามาสิ เคยมีครูสุ่มยึดมาตรวจสอบ พบว่าในนั้นมีคลิปโป๊เป็นร้อยเรื่อง ซึ่งโทรศัพท์มือถือเราไม่ให้เอามา เพราะเรารับผิดชอบไม่ได้ เพราะเคยมีกรณีหายเกิดขึ้น แล้วถ้าบางคนที่พ่อแม่เขาซื้อเครื่องที่มีราคาแพงให้ลูก ถ้าเกิดหายขึ้นมาแล้ว มันยุ่ง เราจึงสั่งห้ามไม่ให้เอามา ถ้าหายเราจะไม่รับผิดชอบ แล้วของเราก็มีรหัส WiFi เพื่อไม่ให้จับกลุ่มนั่งดูอะไรกันแบบที่เราควบคุมไม่ได้
โชคดีว่าโรงเรียนเราจะตั้งอยู่ในชนบท เด็กส่วนใหญ่ครอบครัวยากจน เด็กที่มีฐานะดี ครอบครัวมีฐานะดี จะไม่เรียนที่นี่ เพราะฉะนั้นจะมีบางคนเท่านั้นที่มีโทรศัพท์มือถือ เอามาโชว์เอามาเล่น ห้องหนึ่งก็ประมาณคนสองคน แต่เด็กเดี๋ยวนี้เรียนรู้ได้เร็ว เพราะสื่อจากภายนอก มีให้เห็นมาก”
“คลิปโป๊พวกนี้เด็กโหลดมาเองทั้งนั้น พ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนาไม่รู้เรื่องหรอก ถ้าจะให้มาโหลดมาอะไรเขาจะไม่สนใจเลย แต่เด็กมัธยมมีคลิปเป็นร้อยเรื่อง สิ่งที่น่ากลัวคือ ถ้าเราไม่รู้เท่าทันเด็ก ถ้ารัฐบาลคอนโทรลตรงนี้ให้ดี อยากจะโหลดอะไรก็โหลดได้มันกลายเป็นการเพาะเชื้อร้ายในเยาวชนเลยนะ เพราะใครสนใจเรื่องอาชญากรรม ความรุนแรง ก็โหลดมาดู ใครสนใจเรื่องเพศ ก็โหลดมา เต็มไปหมด ถามว่าต่อไปเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่แล้วมันจะเป็นยังไง” ผู้บริหารโรงเรียนฯ กล่าวด้วยความเป็นห่วง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คลิปโป๊เป็นสื่อลามกอันดับหนึ่งที่เข้าถึงเด็ก โดยมีเด็กถึงร้อยละ 30 ที่ระบุว่า ดูคลิปโป๊เป็นครั้งคราวถึงเป็นประจำ (โครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) สำรวจในปี 2552) หรือ ร้อยละ 20.3 มีการใช้โทรศัพท์มือถือระหว่างคาบเรียนบ่อยถึงประจำ (รายงานสำรวจในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กในหัวข้อ “1 วันในชีวิตเด็กไทย” จากสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เดือนมกราคม 2556) เป็นต้น
ยังไม่นับรวมการเล่นเกมออนไลน์ ที่เด็กซื้ออุปกรณ์เพื่อการเล่นเกมผ่านระบบออนไลน์ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขณะที่ผู้ปกครองออกมาร้องเรียนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือ กระทั่งเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเพียงช่องทางจำหน่ายต้องยกเลิกค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้
นักเรียนจำนวนมากอาศัยช่วงเวลาที่ครูสอนแอบเล่นโทรศัพท์มือถือ
สะท้อนผลการเรียนลดลง ลอกการบ้านเพื่อน
ขณะที่ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งในภาคเหนือ กล่าวถึงผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้น หลังจากการใช้โทรศัพท์มือถือกลายเป็นเรื่องปกติในโรงเรียนว่า ผลกระทบที่ตามมาอย่างเห็นได้ชัดคือ ผลการเรียนของเด็กลดลง เด็กเกิดความมักง่ายมากขึ้น หากผู้ปกครองสังเกตจะพบว่า มีเด็กหลายคนใช้วิธีลอกการบ้านเพื่อน ด้วยการถ่ายภาพสมุดการบ้านเพื่อน แล้วนำไปลอกที่บ้านโดยไม่ทำเอง ถ่ายกระดานดำที่ครูสอนโดยไม่จดลงสมุด ไม่อ่านหนังสือเรียน เพราะคิดว่าในเว็บไซต์ที่เข้าไปมีสรุปไว้แล้ว ทั้งที่เนื้อหาที่สรุปมาไม่ครบถ้วน เด็กจะคิดเลขแบบง่าย ๆ ไม่ได้ เพราะใช้แต่เครื่องคิดเลข แม้แต่เลขสองหลัก เล่นเกมส์ที่ส่งเสริมให้เกิดความรุนแรง ส่งเสริมเรื่องเพศ ทำให้เกิดการใช้กำลัง ทะเลาะวิวาท และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร เป็นต้น
“สิ่งที่โรงเรียนเตือนแม้จะเป็นสิ่งที่ปรารถนาดีต่อเด็ก แต่โรงเรียนก็ต้องระวัง เพราะเดี๋ยวนี้ทุกคนคิดว่าเป็นสิทธิส่วนตัว ครูตัดผมนักเรียนไม่ได้ ครูตีเด็กไม่ได้ ครูสั่งสอนตักเตือนไม่ได้ แม้แต่ติดผลการเรียนบนบอร์ดก็ติดให้รู้ไม่ได้ เพราะพ่อแม่บางคนก็หาว่าเป็นการประจานลูกของเขา เดี๋ยวนี้ครูทำอะไรก็จะถูกถ่ายคลิปส่งไปฟ้องกระทรวงศึกษาธิการ ไปร้องเรียน เราจะพบว่า เด็กเดี๋ยวนี้มีพฤติกรรมที่แย่ลงมาก บางรายอาการหนักมาก ถึงขนาดด่าครู ด่าพ่อแม่ตัวเองขึ้นเฟซบุ๊กก็มี เพราะไปทำในสิ่งที่ขัดใจเขา พ่อแม่จึงตามใจลูก เชื่อลูกทุกอย่าง แม้ว่าลูกจะโกหก เด็กก็เสียคน” ผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาชื่อดังในภาคเหนือกล่าว
“สิ่งที่น่ากลัวคือ เด็กไม่รู้เท่าทันเทคโนโลยี และจะกลายเป็นการเพาะเชื้อร้ายในเด็ก ให้กระทำความผิดทางเพศ เป็นจุดเริ่มของอาชญกรรมที่รุนแรงในอนาคต”
อ่านหนังสือน้อย ชอบเนื้อหาสั้นๆ รับข้อมูลด้านเดียว
นอกจากนี้ผู้บริหารโรงเรียนสังกัดอบต.ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง แสดงความเห็นว่า นอกจากข้อเสียที่เด็กเข้าไปดูอะไรที่ไม่เหมาะสมแล้ว โทรศัพท์มือถือยังทำให้เข้าถึงข้อมูลด้านร้ายได้ง่าย ทำให้เด็กพบเจอคนง่าย มีปฏิสัมพันธ์กันง่าย จนเกิดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทั้งเรื่องทางเพศและอาชญากรรม และสิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกก็คือ การอ่านข้อมูลจากสื่อที่ถูก “คัดลอก ตัดตอน ไม่ครบถ้วน” ทำให้เด็กรับข้อมูลข่าวสารเพียงด้านเดียว ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ข้อมูลที่ไม่เป็นจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เกิดความเชื่อผิดๆ ฯลฯ เพราะเด็กคิดว่าข้อมูลที่ได้รับนั้นเป็นเรื่องจริง และน่าเชื่อถือ เพราะไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลด้านอื่นมาก่อน ทำให้ปฏิบัติตามในสิ่งที่ผิดตามมา เช่น เรื่องราวในประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม บริบทชุมชน ฯลฯ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนออกมาในการเขียน แสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยที่เด็กไม่รู้ว่า นั่นคือการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือทางออก ผู้บริหารโรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งกล่าวว่า ผู้ที่มีอำนาจควรจัดระบบระเบียบเว็บไซต์ หรือสื่อที่ไม่เป็นอันตรายและทุกคนเข้าถึงได้ และสื่ออันตรายก็ไม่ควรมีแล้ว เมื่อไม่มีให้โหลด คนอาจจะเป็นคนดีขึ้นก็ได้ เพราะไม่มีอะไรให้โหลด ทั้งที่อยากจะโหลดก็ทำไม่ได้ อันดับแรกระดับผู้บริหารต้องจัดระเบียบก่อน ไล่ปิดเว็บไซต์ที่ไม่สมควรไม่เหมาะสมทั้งหลายก่อน ทำไมมีหลายประเทศทำได้ ซึ่งตรงนี้ระดับบริหารต้องช่วยก่อน รองลงมาในระดับท้องถิ่นค่อยให้ความรู้เพิ่มเติม
“เหมือนบอกเด็กว่า ห้ามสูบบุหรี่ แต่ออกไปนอกโรงเรียนมีคนสูบบุหรี่เต็มไปหมด แล้วมาบอกให้โรงเรียนห้าม บอกตรง ๆ ว่ามันยากมาก ข้างบนระดับนโยบายสำคัญกว่าเราเยอะ ทำอย่างไรให้เว็บไซต์ที่มีประโยชน์ยังอยู่ และเว็บไซต์ที่ไม่มีประโยชน์หายไป” ผู้บริหารโรงเรียนแห่งหนึ่งกล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ