จัดโผโปรเจ็กต์8หน่วยงาน คสช.อนุมัติ4.7หมื่นล้าน

4 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2201 ครั้ง

สำนักงบประมาณจัดโผโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน 8 หน่วยงาน ได้เงินลงทุนแน่ปี 2558-2560 วงเงินรวมกว่า 4.7 หมื่นล้าน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช. ทางหลวงนำโด่ง 2.5 หมื่นล้านขยาย 4 เลน เวนคืนมอเตอร์เวย์ “พัทยา-มาบตาพุด” อัดฉีดทางหลวงชนบท 1.7 หมื่นล้านเร่งเครื่องถนนลาดยาง การรถไฟฯและ รฟม.ได้ค่าเวนคืนรถไฟฟ้าสีเขียว ส้ม ชมพู เหลือง และรถไฟทางคู่ 5 สายทันตอกเข็มปี"58

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จัดสรรงบฯ ให้กระทรวงคมนาคมภายใต้ยุทธศาสตร์พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวน 47,727 ล้านบาท ผูกพัน 3 ปีแยกเป็นในปี 2558 จำนวน 18,506 ล้านบาท ปี 2559 จำนวน 16,659 ล้านบาท และปี 2560 จำนวน 12,561 ล้านบาท

โดยมี 8 หน่วยงานคือ

1.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) วงเงินรวม 136.25 ล้านบาท ดำเนินการในแผนงานพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง เช่น ค่าจ้างที่ปรึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ วงเงิน 40 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสมถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา 40 ล้านบาท ศึกษาจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมการบิน 75 ล้านบาท

2.กรมเจ้าท่า (จท.) วงเงิน 2,265 ล้านบาท สำหรับแผนงานพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ จ้างที่ปรึกษาพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จ.กระบี่ 45 ล้านบาท โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสักระยะที่ 1 ค่าก่อสร้าง 2,220 ล้านบาท

3.กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) จะได้งบฯอยู่ในแผนงานเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเพื่อเชื่อมโยงฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) วงเงิน 40 ล้านบาท เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุก 15 แห่ง

4.กรมทางหลวง (ทล.) วงเงินรวม 25,573 ล้านบาท เป็นโครงการถนนเชื่อมโยงระหว่างเมืองหลักกับฐานการผลิตหลักของประเทศ มีค่าก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร เพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 6 สายทาง 4,757 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินมอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด 2,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้างบูรณะทางหลวงสายหลักระหว่างภาค 17 โครงการ 17,115 ล้านบาท และก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างประเทศบริเวณชายแดน 1 สายทาง 1,200 ล้านบาท

5.กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงินรวม 17,029 ล้านบาท ทำโครงการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล ได้แก่ ค่าเวนคืนที่ดินถนนต่อเชื่อมราชพฤกษ์-กาญจนาภิเษกแนวเหนือใต้ 2,500 ล้านบาท ค่าก่อสร้างถนน 6 สายทาง 2,956 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีโครงการเพิ่มขีดความสามารถเชื่อมโยงเออีซี มีการก่อสร้างถนนลาดยาง 750 กม. ถนนพื้นที่ภาคใต้ 25 โครงการ สะพาน 2,280 เมตร และสะพานชุมชน 40 โครงการ วงเงิน 6,831 ล้านบาท ก่อสร้างถนนสนับสนุนการท่องเที่ยว 9 สายทาง วงเงิน 706 ล้านบาท

ค่าเวนคืนที่ดินและค่าจ้างที่ปรึกษา 4 โครงการเชื่อมโยงประตูการขนส่งระหว่างประเทศ 1,891 ล้านบาท, โครงการพัฒนาอำนวยความสะดวกการขนส่งทางถนน มีค่าก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟ 6 แห่ง ค่าเวนคืนที่ดิน 17 โครงการ 2,143 ล้านบาท

6.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 253 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้างอู่จอดรถเมล์ NGV 5 อู่ 7.การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 2,461 ล้านบาท มีงานปรับปรุงระบบอาณัติสัญญาณทั่วประเทศ ติดตั้งเครื่องกั้นถนนเสมอระดับดิน 427 ล้านบาท ค่าเวนคืนและค่าจ้างที่ปรึกษารถไฟทางคู่ 5 สายทาง 649 ล้านบาท ค่าสำรวจออกแบบรถไฟทางคู่ 6 สาย 1,304 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดินและจ้างที่ปรึกษารถไฟส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์ จากสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง 80 ล้านบาท

8.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) วงเงิน 1,131 ล้านบาท เพื่อเวนคืนที่ดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 1,000 ล้านบาท สำรวจอสังหาริมทรัพย์สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) 83 ล้านบาท ค่าศึกษาออกแบบอีไอเอสายสีน้ำเงินต่อขยาย (บางแค-พุทธมณฑลสาย 4) 48 ล้านบาท

ขอบคุณข่าวจากประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: