เครือข่ายประชาชนต้านมลพิษทั้งในไทยและต่างประเทศ เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งกู้หน้า ภายหลังจากที่ผู้แทนรัฐบาลไทยพลาดท่าลงนามร่วมอนุสัญญามินามาตะฯ ไม่ทันเวลา โดยต้องเร่งทำภาคยานุวัติ ดำเนินนโยบายและมีมาตรการป้องกันภัยจากสารปรอทตามอนุสัญญาฯ เพื่อควบคุมอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เตาเผาขยะ และบรรดาสินค้าที่มีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ
นางสาวเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่า ขณะนี้มีผู้แทนรัฐบาลจากกว่า 100 ประเทศเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อร่วมเวทีประชุมระหว่างรัฐบาลที่จะมีการเจรจาเกี่ยวกับอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยสารปรอท ภายใต้เป้าหมายร่วมกันพัฒนาแนวทางและมาตรการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การ ปกป้องสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมต่างๆ ที่ก่อให้เกิดการปลดปล่อยสารปรอทและสารประกอบของปรอทเช่น การควบคุมการปล่อยสารปรอทจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เตาเผาขยะ และอุตสาหกรรมบางประเภท รวมทั้งการกำหนดนโยบายการเลิกผลิตและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้สารปรอทเป็นส่วนผสม อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าขันก็คือรัฐบาลไทยที่เป็นเจ้าภาพกลับไม่ได้มีโอกาสที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว เนื่องจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดของรัฐบาลที่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องนี้ จนทำให้ลงนามรับรองอนุสัญญาฯ ไม่ทันเวลา
นายแมนนี่ คาลอนโซ ประธานร่วมของเครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (IPEN) กล่าวว่า สหประชาชาติและประเทศสมาชิกได้รับรองอนุสัญญามินามาตะฯ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่เมืองคุมาโมโต ประเทศญี่ปุ่น หลังจากที่ผู้แทนรัฐบาลต่างๆ รวมถึงผู้แทนรัฐบาลไทย ใช้เวลาเจรจาต่อรองนานกว่า 3 ปี จึงเป็นที่ยุติและให้การรับรอง ในส่วนของ IPEN กำลังสนับสนุนให้รัฐบาลประเทศต่างๆ อย่างน้อย 50 ประเทศ ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เพื่อทำให้อนุสัญญาฯ ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ซึ่งจะส่งผลให้แต่ละประเทศต้องปรับปรุงกฎหมายของตนเพื่อควบคุมมลพิษจากสารปรอท และมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อศึกษาและสำรวจอย่างจริงจังว่า แต่ละประเทศมีอะไรเป็นแหล่งกำเนิดหรือแหล่งปล่อยสารปรอทสู่สิ่งแวดล้อมบ้าง เพื่อจะได้วางแผนป้องกันต่อไป และฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนสารปรอทเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด การพัฒนาแนวทางปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีที่สุด เป็นต้น
ด้านนายทานิ โยอิจิ ผู้แทนจากกลุ่มผู้ป่วยโรคมินามาตะและกลุ่มพลเมืองผู้สนับสนุนอนุสัญญาสารปรอท ประเทศญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวว่า อยากให้รัฐบาลแต่ละประเทศสร้างสังคมที่ปลอดภัยจากพิษภัยของสารปรอท เนื่องจากกรณีโรคมินามาตะที่เกิดจากสารปรอทที่โรงงานอุตสาหกรรมปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมนั้น เป็นโศกนาฏกรรมครั้งรุนแรงที่สุดของคนญี่ปุ่นและเป็นบทเรียนที่สร้างความสูญเสียแก่มนุษยชาติมากพอแล้ว อารยชนทุกคนต้องร่วมมือกันป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดียวกันนั้นขึ้นอีก ทั้งนี้เขาหวังว่า จะไม่มีที่ใดในโลกต้องเผชิญกับโรคมินามาตะอีก
ดร. อาภา หวังเกียรติ นักวิชาการจากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นำสเนอข้อมูลว่าอนุสัญญามินามาตะฯ นี้กำหนดให้มีการควบคุมแหล่งกำเนิดสารปรอท ซึ่งเป็นสารเคมีที่ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม สะสมในห่วงโซ่อาหาร และก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม โดยตามอนุสัญญาฯ จะควบคุมแหล่งกำเนิดทั้ง 2 ประเภท คือ แหล่งกำเนิดแบบจงใจ เช่น ผลิตภัณฑ์ที่เติมสารปรอทในกระบวนการผลิต และอุตสาหกรรมที่เติมสารปรอทในกระบวนการผลิต เช่น เหมืองแร่ทองคำที่ใช้สารปรอทเป็นสารสกัดแร่ อุตสาหกรรมเคมีที่ใช้ปรอทเป็นสารเร่งปฏิกิริยา เช่น โรงงานผลิตไวนิล คลอไรด์ โมโนเมอร์ (VCM) และโรงงานคลอร์อัลคาไล และแหล่งกำเนิดแบบไม่จงใจ เช่น อุตสาหกรรมที่ระบุในภาคผนวก D ได้แก่ การใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า และโรงงานอุตสาหกรรม โรงหลอมโลหะ (ตะกั่ว สังกะสี ทองแดง ทอง) เตาเผาขยะ เตาเผาปูนซีเมนต์ เป็นต้น
นางสาวจริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่าอนุสัญญาว่าด้วยสารปรอทเป็นเพียงมาตรการเบื้องต้นที่ทุกประเทศทั่วโลกจำเป็นอย่างยิ่งยวดต้องลงนาม
“ประเทศไทยเพิกเฉยต่อการจัดการสารปรอทมาตลอด ซึ่งนอกจากจะไร้ความรับผิดชอบต่อพลเมืองของประเทศตนเองแล้ว ยังเพิกเฉยต่อพลเมืองของประเทศอื่นด้วย เพราะการปนเปื้อนของสารปรอทไร้พรมแดน มาตรการที่เข้มงวดของการปล่อยสารปรอทตามอนุสัญญาคือการดักจับโดยพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมา แต่ความเป็นจริงแล้ว ประชาชนของประเทศไทยกำลังก้าวหน้ามากกว่านั้น จากการลุกขึ้นมาต่อสู้ให้รัฐบาลยกเลิกถ่านหินในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่ของประเทศที่มีแนวโน้มจะเพิ่มการใช้ถ่านหินในประเทศมากขึ้นจากแผนพีดีพีเดิมเพราะนี่คือการปลอดปรอทอย่างแท้จริง” ผู้แทนจากกรีนพีซกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ