สถาบันพระปกเกล้าเสนอแนวทาง 3 ระยะต้านทุจริตสู่การปฏิรูปประเทศ 

4 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2424 ครั้ง

สถาบันพระปกเกล้าได้จัดแถลงผลงานทางวิชาการเพื่อการปฏิรูปประเทศ ภายใต้โครงการ "สู่ทศวรรษที่เก้า: ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย" ซึ่งมีการจัดสัมมนาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยเป็นการนำข้อมูล ข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นที่รวบรวมได้จากทุกภาคส่วนจัดทำเป็นผลวิจัยเพื่อนำเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่าง รธน.) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปประเทศอย่างยั่งยืนและหาทางออกจากความขัดแย้ง

นางถวิลวดี บุรีกุล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตเพื่อสร้างดุลอำนาจอย่างแท้จริงว่า จากผลการศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อการทุจริตของสถาบันพระปกเกล้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าแนวโน้มความเชื่อมั่นของประชาชนต่อองค์กรที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตไม่เพิ่มขึ้นเลย ขณะที่ประชาชนยังพบเห็นการทุจริตด้วยตนเองมากขึ้น แต่ไม่ได้แจ้งไปยังหน่วยงานใดให้ดำเนินการ

นอกจากนี้ ประชาชนยังเชื่อว่ามีการทุจริตระดับประเทศมากกว่าระดับท้องถิ่น เนื่องจากระดับประเทศมีงบประมาณมากกว่า และประชาชนกว่าร้อยละ 10 คิดว่าการทุจริตเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้งานลุล่วงไปได้ ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่มาก ทั้งยังสะท้อนถึงการไม่รู้ร้อนรู้หนาวต่อการทุจริตในสังคม แต่สัดส่วนของประชาชนที่คิดเห็นดังกล่าวนี้ก็ยังน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ที่ไม่ยอมรับการทุจริต

สำหรับแนวทางและมาตรการต่อต้านการทุจริตที่เหมาะสมของประเทศไทย แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

1.มาตรการระยะสั้น ได้แก่ การเร่งปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายในการปราบปรามการทุจริตอย่างจริงจังโดยไม่เลือกปฏิบัติ หน่วยงานที่ต่อต้านการทุจริตควรปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานให้เป็นเชิงรุก ออกกฎเกณฑ์ให้ข้าราชการระดับสูงต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินเช่นเดียวกับนักการเมือง ขณะที่ผู้นำประเทศและองค์กรทุกระดับจะต้องทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคม และทุกองค์กรต้องช่วยกันรณรงค์การบังคับใช้ประมวลจริยธรรมให้เกิดผลจริงในทางปฏิบัติ รวมทั้งสื่อมวลชนจะต้องเป็นสื่อกลางในการเผยแพร่ข่าวสารการทุจริตด้วย

2.มาตรการระยะกลาง ควรมีการปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ วางแผนปรับปรุงโครงสร้างองค์กรอิสระให้มีความเป็นอิสระเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง ควรปรับปรุงกลไกการคุ้มครองพยานในคดีทุจริต และปฏิรูประบบการคัดสรรบุคลากรที่จะเข้ามาทำหน้าที่ด้านการต่อต้านการทุจริตให้มีคุณภาพ

3.มาตรการระยะยาว คือ การพัฒนาพลเมืองตั้งแต่ระดับรากฐานผ่านการให้การศึกษาตั้งแต่ระดับเยาวชน กระตุ้นส่งเสริมความตระหนักรู้ เพื่อสร้างรากฐานสังคมธรรมาภิบาล การจัดระบบสวัสดิการทางสังคมให้ประชาชนอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ กระบวนการทั้งหมดจะต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมืองที่ปรารถนาจะให้เกิดการแก้ปัญหาการทุจริตอย่างแท้จริงของฝ่ายการเมือง จึงจะทำให้มาตรการทุกระยะลุล่วงไปได้

ในส่วนของกลไกต่อต้านการทุจริต ประกอบด้วย 1.การปรับเปลี่ยนทัศนคติ ด้วยกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม สร้างบรรทัดฐานการซื่อสัตย์สุจริต เท่าเทียม ให้เกิดแก่สังคม และสร้างค่านิยมหลักความซื่อตรง 2.มาตรการป้องกันการทุจริต โดยเน้นกฎหมายเพื่อส่งเสริมไม่ให้เกิดการกระทำผิด และเพื่อปรับพฤติกรรม

3.การลงโทษผู้ทุจริต ด้วยการสร้างความเกรงกลัวต่อการทำทุจริต โดยให้เกิดการต่อต้านทางสังคม (โซเชียล แซงชัน) และ 4.องค์กรตรวจสอบการทุจริต ทั้งแบบเป็นทางการ เช่น องค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ กับแบบไม่เป็นทางการ ได้แก่ ภาคประชาชน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: