จับตากา‘ไม่ประสงค์จะลงคะแนน’เพิ่มขึ้น ใช้สิทธิเพื่อรักษาสิทธิ-ไม่ได้คิดได้ตัวส.ส.

ชนากานต์ อาทรประชาชิต ศูนย์ข่าว TCIJ 5 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 2298 ครั้ง

ช่องทำเครื่องหมายว่า “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ในบัตรเลือกตั้ง ถูกกำหนดให้มีขึ้นครั้งแรกตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 นับแต่นั้นมามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นการทั่วไปจำนวน 6 ครั้ง โดยบัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนนมีจำนวนมากที่สุดในการเลือกตั้งส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2549 เป็นสัดส่วนต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ร้อยละ 33.14 หลังจากนั้นการเลือกตั้งครั้งดังกล่าว ถูกประกาศให้เป็นโมฆะและมีการรัฐประหาร

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบร้อยละของบัตร “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ระหว่างการเลือกตั้งในปี 2544 และ ปี 2554 พบว่า ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกาช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” มากขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของจำนวนผู้มาใช้สิทธิก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน น่าสังเกตว่า แม้จะมีช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนน แต่ในปี 2554 มีร้อยละของ “บัตรเสีย” มากกว่าบัตร “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

เกิดอะไรเมื่อกา 'ไม่ประสงค์จะลงคะแนน'

ในเขตเลือกตั้งใด หากในวันเลือกตั้งมีผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพียงคนเดียว ผู้สมัครจะต้องได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเลือกตั้งไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องมากกว่าจํานวนบัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง หากได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และไม่มากกว่าจํานวนบัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนน ให้ก.ก.ต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้น โดยให้รับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง

หากการเลือกตั้งครั้งที่ 2 มีผู้สมัครคนเดียว ได้คะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และน้อยกว่าบัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนน ก.ก.ต.จะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เป็นครั้งที่ 3 ในครั้งนี้แม้จะมีผู้สมัครเพียงคนเดียว แต่ได้รับคะแนนเลือกตั้ง ถือว่าเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง ไม่ว่าจะมากกว่าหรือน้อยกว่าร้อยละ 20 ของจํานวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัตรไม่ประสงค์จะลงคะแนนก็ตาม

ส่วนการลงคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ การกาช่องไม่ประสงค์จะลงคะแนนไม่ได้กำหนดอะไรตามกฎหมาย

สำหรับผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ต้องแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อเขตหรืออำเภอภายใน 7 วัน หลังเลือกตั้ง หากไม่ได้ไปใช้สิทธิและไม่ได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือเหตุที่แจ้งนั้นไม่ใช่เหตุอันสมควร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ.2550 ให้ถือว่าผู้นั้นเสียสิทธิดังต่อไปนี้ 1.สิทธิยื่นคํารองคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส.และ ส.ว. 2.สิทธิสมัครรับเลือกตั้งและสิทธิได้รับการเสนอชื่อเขารับการสรรหาเป็น ส.ส. ส.ว. สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น 3.สิทธิสมัครรับเลือกเป็นกํานันและผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่

การเสียสิทธินี้กำหนดเวลาตั้งแต่วันที่เลือกตั้ง ครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จนถึงวันเลือกตั้งครั้งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนั้นไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น

อย่างไรก็ตามมีการตั้งข้อสังเกตว่า การเลือกกาช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนน” ส่วนใหญ่เกิดจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่ไม่ประสงค์จะเลือกใครที่มาลงสมัคร หรือไม่ต้องการเลือกพรรคไหนที่ส่งผู้สมัคร

 

ขอบคุณภาพ vote no จาก http://trinitynews.ie/vote-no/

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: