จับตาสื่อกระแสหลักรายงานข่าว3จว.ใต้ ระวังเป็นตัวป่วน'กระบวนการสันติภาพ'

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 5 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2696 ครั้ง

เนื้อข่าวสมดุล ครอบคลุมรัฐ ชาวบ้าน ภาคประชาสังคม แต่ยังตรวจสอบ ลังเล

จากงานวิจัย “วาทกรรมสื่อมวลชนในกระบวนการสันติภาพสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2556” ของ สมัชชา นิลปัทม์ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ตั้งข้อสังเกตต่อสื่อกระแสหลักในการนำเสนอข่าวกระบวนการสันติภาพ ผ่าน การรายงานของ “รายการข่าวสามมิติ” สถานีวิทยุโทรทัศน์ช่อง 3 อสมท. และ “รายการที่นี่ไทยพีบีเอส” ของ สถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2556

งานวิจัยระบุว่า ลักษณะของการรายงานข่าวกระบวนการสันติภาพของ “รายการข่าวสามมิติ” เป็นการงานลักษณะเกาะติด ในประเด็นอย่างสม่ำเสมอ ตัวประเด็นมีความหลากหลายใช้แหล่งข่าวหลายประเภท ให้ความสำคัญกับแหล่งข่าวที่เป็นภาคประชาสังคม นักวิชาการ ค่อนข้างมาก มีการมองประเด็นใหม่ ๆ ที่น่าสนใจหรือสร้างความชัดเจนมากขึ้น เช่น วาทกรรมปัญหาหลักคือแบ่งแยกดินแดน เป็นวาทกรรมที่สามารถโต้แย้งสาเหตุของปัญหาการก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดน ที่เคยมีประเด็นปัญหาแทรกซ้อนอื่น ๆ ให้หมดไป

ส่วนท่าทีของการรายงานข่าว มีลักษณะค่อนข้างเห็นด้วยต่อกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสันติวิธี และมีท่าทีเห็นอกเห็นใจต่อฝ่ายรัฐ ที่ริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยพยายามเกาะติดข่าวเจาะลงในแทบทุกรายละเอียด

ความน่าสนใจของข่าวช่อง 3 ก็คือ มีการรายงานที่สมดุล แหล่งข่าวที่ครอบคลุมหลากหลาย ตั้งแต่เจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และชาวบ้าน

ส่วนการรายงานข่าวของไทยพีบีเอส เป็นการรายงานในลักษณะเกาะติดข่าวในประเด็นดังกล่าวอย่างสม่ำเสมอ แต่มักมีท่าทางของการตรวจสอบ ลังเลสงสัยต่อกระบวนการสันติภาพ ค่อนข้างมาก รวมถึงมักใช้ภาษาในการอธิบายความด้วยศัพท์ทางยุทธวิธี แบบการรายงานข่าวสงคราม นอกจากนี้ยังมีรูปแบบของรายการที่ซ้อนกัน ด้วยการมองเรื่องราวที่ต่อเนื่อง ผ่านผู้สื่อข่าวหลายคน หลายชิ้นข่าว ซึ่งทำให้มีแง่มุมที่หลากหลายกันออกไป

สมัชชา นิลปัทม์ รองคณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระ ขอบคุณภาพจาก http://www.comm-sci1.pn.psu.ac.th/

สื่อไร้ทางเลือกรักษาผลประโยชน์รัฐ

นอกจากนี้งานศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นสื่อกระแสหลักคือ ช่อง 3 และไทยพีบีเอส พยายามที่จะกุมทิศทางข่าวสารให้กระบวนการพูดคุยสันติภาพดำเนินไปได้ โดยส่วนหนึ่งอาศัยเป็นพื้นที่ของสื่อสารจากภาครัฐ เนื่องจากสามารถที่จะเข้าถึงตัวแหล่งข่าว และแหล่งข้อมูลได้ง่ายกว่าฝ่ายบีอาร์เอ็น ที่ยังไม่ให้สื่อมวลชนไทยเข้าถึง ทั้งยังพบว่าสื่อกระแสหลัก แม้ว่ามีท่าทีในการตรวจสอบ หรือลังเลต่อกระบวนการสันติภาพ ทว่าในเนื้อหาและทิศทางของข่าวสาร ก็ยังมีท่าทีของการรักษาผลประโยชน์ของรัฐ แต่ก็มีความอ่อนไหวต่อวาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน” มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการนำเสนอประเด็นที่คาบเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดน และการยกระดับสถานภาพของผู้เห็นต่างจากรัฐ สื่อกระแสหลักไม่สามารถเสนอทางเลือกอื่น เช่น เขตปกครองพิเศษ เขตปกครองตนเอง หรือการประกาศเอกราช โดยมีข้อสังเกตจากการหยิบยกวาทกรรม ที่อ้างความชอบธรรมจากการพูดคุยภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีความชอบธรรมปลอดภัยและไม่ขัดต่อกฎหมายแห่งรัฐ

ช่วงชิงความหมาย “แบ่งแยกดินแดน”

ข้อสำคัญที่พบในสื่อกระแสหลักก็คือ การสื่อสารในพื้นที่สื่อมวลชนกระแสหลัก ผู้ส่งสารพยายามที่จะควบคุมวาทกรรม “แบ่งแยกดินแดน” หากสื่อใดมีความสามารถในการช่วงชิงความหมาย ของกระบวนการสันติภาพครั้งนี้ให้อยู่ในกรอบ ไม่ให้ตกไปอยู่ในร่องความหมายแบ่งแยกดินแดน เพราะอาจเป็นชนวนนำให้กระบวนการสันติภาพครั้งนี้ล่มได้ การสื่อสารจึงมีความสำคัญต่อกระบวนการสันติภาพ สามารถเข้ามากุมความหมาย ทิศทางและความเห็นพ้องต้องการของสังคมได้

ปูมหลังข่าวสายทหาร ชนวนสร้างข้อกังวล

เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของกระบวนการสันติภาพ กับการทำงานของสื่อมวลชนพบว่า สื่อมวลชนยังขาดความรู้เรื่องกระบวนการสันติภาพ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทย สังคมไทยแต่เดิมคุ้นเคยกับกับการเจรจาสันติภาพแบบปิดลับใต้โต๊ะ ซึ่งเป็นมรดกประสบการณ์ในช่วงของสงครามเย็น เมื่อพิจารณาจากปูมหลัง ผู้เป็นบรรณาธิการข่าว ที่รับผิดชอบฝ่ายนี้ ก็มักมีภูมิหลังมาจากการทำงานข่าวด้านการทหารและความมั่นคง โดยสังเกตได้จากศัพท์ที่ใช้ เป็นหมวดคำศัพท์ทางการทหารในสงครามเย็น เช่น การต่อสู้ยืดเยื้อ ในขณะที่ศัพท์เทคนิคด้านกระบวนการสันติภาพสมัยใหม่ มักไม่ปรากฏคำเหล่านี้

นอกจากนี้ยังพบการรายงานข่าวที่ไม่เอื้อต่อการสร้างกระบวนการสันติภาพ เป็นต้นว่า แทนที่สื่อจะรายงานความคืบหน้าว่า การเจรจาเป็นเช่นไร แต่กลับสร้างความวิตกกังวลไปถึงการแบ่งแยกดินแดน ในขณะที่ขั้นตอนที่ดำเนินอยู่ยังไม่ถึงขั้นเจรจา แต่เป็นเพียงขั้นสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกันเท่านั้น

แนะสื่อหลักอย่าเป็นตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ

ข้อสังเกตประการหนึ่งด้านวิธี (Mode) การรายงานข่าวของสื่อมวลชน ยังคงมีท่าทีตรวจสอบ ลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ เคลือบแคลง ต่อกระบวนการสันติภาพ ในหลายประเด็น เช่น ความเคลือบแคลงต่อบทบาทของมาเลเซียและองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ที่ตกอยู่ภายใต้วาทกรรมการยกระดับของกลุ่มขบวนการ บทบาทเช่นนี้มีผลให้แทนที่คนทำงานสื่อจะรับบทบาท เป็นผู้ส่งเสริมให้กระบวนการสันติภาพดำเนินไปได้กลายเป็นว่า ทำให้คนทำงานสื่อกลายเป็น “ตัวป่วนในกระบวนการสันติภาพ” เสียเอง โดยไม่ได้คาดคิด ซึ่งมีผลมาจากฐานคิดการรายงานข่าวแบบสงคราม ที่เน้นรูปแบบของการแพ้-ชนะมากเกินไป รวมทั้งปฏิบัติอย่างเคยชิน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ซึ่งถือเป็นหลุมพรางที่สำคัญของการรายงานข่าวในลักษณะนี้

 

ขอบคุณภาพ http://www.matichon.co.th/

สื่อมวลชนคงต้องทําการบ้านถึงองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับกระบวนการสันติภาพร่วมสมัย ซึ่งเป็นเรื่องใหม่มากในสังคมไทย สื่อมวลชนร่วมสมัยคุ้นเคยกับการทำข่าวความมั่นคงในยุคสงครามเย็น ซึ่งการเจรจาเป็นไปในลักษณะที่ปิดลับ ในขณะที่พลวัตของการเปลี่ยนแปลงด้านองค์ความรู้นี้ก็เปลี่ยนไปด้วย บทบาทของสื่อยังสามารถทำหน้าที่ในการเป็นตาข่ายโอบล้อมความปลอดภัย (Safety Net) ในการโอบอุ้มให้กระบวนการสันติภาพดำเนินต่อไปได้ มากกว่าที่จะเป็นตัวป่วน ในกระบวนการสันติภาพ (Peace Spoiler) เสียเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: