ปรากฎการณ์ "ใหม่" อย่างการแทรกแซงของรัสเซียในการผนวก "ไครเมีย" ที่เคยเป็นของยูเครน เข้าเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย ภายหลังจากการที่มีการเดินขบวนในยูเครนเพื่อโค่นล้มอดีตประธานาธิบดีที่นิยมรัสเซียลงไป และมีการสถาปนารัฐบาลใหม่ชั่วคราวขึ้นมารักษาการจนกว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ครั้นแล้วรัสเซียก็หาได้ยุติแต่เพียงเท่านั้นไม่ มีการเดินขบวนจลาจล และการยึดอาคารที่ทำการของรัฐ ในพื้นที่หลายแห่งของยูเครนตะวันออกที่มีพื้นที่ติดต่อกับรัสเซีย ว่ากันว่าการจราจลนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างลับ ๆ จากรัสเซีย จนทำให้อเมริกาและบรรดาประเทศยูโรต้องใช้มาตรการคว่ำบาตรในการแทรกแซงของรัสเซีย มาตรการคว่ำบาตรนี้มีลักษณะเจาะจงไปยังบรรดาผู้นำและชนชั้นนำทางธุรกิจที่อยู่รายล้อมปูติน และเป็นผู้สนับสนุนแผนการผนวกไครเมีย นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังแสดงสัญญาณยืนอยู่ข้างไครเมียโดยการให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวกรองกับยูเครน และถึงกับส่งผู้อำนวยการซีไอเอมาเยือนยูเครนด้วย รัสเซียเห็นเช่นนั้นก็ใช้เป็นข้ออ้างทันทีว่า หน่วยราชการลับของสหรัฐฯ นั่นเองที่อยู่เบื้องหลังการโค่นอดีตประธานาธิบดียูเครน และอยู่เบื้องหลังการปฏิวัติสีในหลายประเทศที่เคยเป็นอดีตประเทศบริวารของรัสเซีย และว่ารัสเซียไม่เกรงกลัวการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรนาโต และพร้อมจะตอบโต้กลับคืนให้ชาติเหล่านั้นเจ็บปวดกว่าที่ทำกับตนด้วย
ขอบคุณภาพจาก http://www.matichon.co.th/online/2014/03/13941101381394111873l.jpg
ในอีกซีกหนึ่งของโลก จีนก็ไม่ปิดบังการแสดงสิทธิของตนในพื้นที่ที่เป็นจุดเสี่ยงต่อการขัดแย้ง ทั้งในพื้นที่ทะเลด้านตะวันออก และบริเวณทะเลจีนใต้ ความขัดแย้งนี้นำไปสู่การพิพาทกับญี่ปุ่นในทะเลด้านตะวันออก และหลายประเทศในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวียดนาม และ ฟิลิปปินส์ ในอาณาบริเวณเขตทะเลจีนตอนใต้ แน่นอนว่าสหรัฐฯ ได้แสดงให้เห็นว่าพร้อมอยู่เคียงข้างกับชาติพันธมิตรเหล่านี้ในการ "รักษาความมั่นคง" ในเขตเอเชียแปซิฟิก
อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ สถานการณ์โลกพลิกย้อนกลับ จากที่เคยเชื่อกันว่า หลังสหภาพโซเวียตล่มสลาย และจีนละทิ้งนโยบายเศรษฐกิจรวมศูนย์แบบคอมมิวนิสต์ แล้วหันเข้าหานโยบายเศรษฐกิจแบบการตลาด นอกจากนั้นทั้งคู่ก็ผนวกตัวเองเข้ากับระบบเศรษฐกิจโลก ปิดฉากยุคสงครามเย็นแล้วก้าวเข้าสู่ยุคสงครามต่อต้านการก่อการร้ายแทน ฉากใหญ่ความขัดแย้งโลกไปอยู่ในบริเวณตะวันออกกลางเป็นเวลาหลายสิบปี ตัวแสดงแทนที่ไม่ใช่รัฐอย่างองค์กรอัลกออิดะห์กลายเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา สถานการณ์เช่นนี้ดูเหมือนว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกจะเห็นด้วยกับระเบียบโลกที่นำโดยสหรัฐอเมริกาผ่านองค์กรระหว่างประเทศอย่างสหประชาชาติ กลไกเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทุกพื้นที่ในโลกผ่านระบบโลกาภิวัฒน์กลายเป็นกลไกหลักที่บงการความเปลี่ยนแปลงในโลกแทนที่ความขัดแย้งเชิงอุดมการณ์อย่างในสมัยสงครามเย็น
ขอบคุณภาพจาก http://static.cdn.thairath.co.th/media/content/2014/03/20/411258/hr1667/630.jpg
เมื่อเป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการทำให้เกิดความขัดแย้งใหญ่ขึ้นมาอีก ความขัดแย้งระหว่างประเทศควรกระทำผ่านกลไกอย่างองค์กรสหประชาชาติได้ ภารกิจของผู้นำโลกควรจะเป็นการขจัดปัญหาการก่อการร้ายที่ส่งผลต่อระเบียบโลก หรือถึงที่สุดคือส่งผลต่อกลไกการค้าและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เพื่อทำให้กลไกเหล่านี้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและคล่องตัวมากที่สุด การที่ประเทศอย่างจีนถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะยังบริหารประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่ในไม่ช้าก็จะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นประเทศที่ใช้ระบบเสรีประชาธิปไตย และมีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน เหมือนประเทศตะวันตกทั้งหลายมิใช่หรือ
นั่นเป็นสมมติฐานในข้อเสนอ ของฟรานซิส ฟูกูยาม่า ที่เชื่อว่า วิภาษวิธีในประวัติศาสตร์ ซึ่งในที่สุดจะนำไปสู่ผลสรุปที่ทำให้มนุษย์ต้องเคารพศักดิ์ศรี (dignity) ซึ่งกันและกัน จะนำไปสู่การก่อรูปของรัฐบาลที่ต้องเคารพหลักการดังกล่าว และรัฐบาลที่เป็นวิวัฒนาการสูงสุดก็คือรัฐบาลที่ใช้ระบอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย รัฐบาลเช่นนี้พลเมืองในรัฐทุกผู้ จะมีความเท่าเทียมกัน และมีศักดิ์ศรีที่ไม่ต่างไปกว่ากัน นี่เป็นผลจากการที่มนุษยชาติสลัดตนเองจากความเชื่อที่ไม่ใช้เหตุผล เปลี่ยนผ่านไปยังยุคภูมิธรรม และสร้างรัฐสมัยใหม่ขึ้นมา
ทว่า แซมมูเอล ฮันติงตัน มองว่าด้วยอิทธิพลของ "อัตลักษณ์" ในแต่ละชนชาติ ซึ่งมีความแตกต่างไปจาก "อัตลักษณ์" สมัยใหม่ของตะวันตกที่ผุดบังเกิดขึ้นจากวิภาษวิธีดังที่ฟูกูยาม่าได้ชี้เอาไว้ จะทำให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกมีการจัดกลุ่มตามอัตลักษณ์ต่าง ๆ ตามวัฒนธรรมของตนเอง และในที่สุดจะนำไปสู่การปะทะสังสรรค์ของแต่ละป้อมค่ายที่ต่างวัฒนธรรมกัน
ขอบคุณภาพจาก http://jto.s3.amazonaws.com/wp-content/uploads/2013/03/nn20130329n1a.jpg
ประเทศที่มีอัตลักษณ์ของตนต่างจาก อัตลักษณ์สมัยใหม่แบบตะวันตก ดูภายนอกจากมีระบอบการปกครองที่ดูไม่ต่างจากประเทศตะวันตก แต่จะมีรายละเอียดภายในที่ต่างออกไป เป้าหมายสูงสุดของประเทศเหล่านั้นมิใช่การธำรงไว้ซึ่งหลักการ การเคารพสิทธิ ศักดิ์ศรี ของพลเมืองที่เท่าเทียมกัน ตามวิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์ที่ฟูกูยาม่าได้ชี้เอาไว้ หากแต่เป็นการธำรงรักษาเอาไว้ซึ่ง อัตลักษณ์ประจำชาติของตน ซึ่งเชื่อมโยงกับ อารยธรรม และผลประโยชน์ของชนชั้นนำในประเทศนั้น ๆ หากจะดูว่าอัตลักษณ์อยู่ที่ใด ก็ให้พิจารณาดูว่าสิ่งที่เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่สามารถแตะต้องและไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ของประเทศนั้นอยู่ที่ใด
ผมมองว่าเรื่องนี้ ไม่เพียงสามารถอธิบายความ การเปลี่ยนแปลงในระดับนานาชาติในการหวนคืนกลับสู่สถานการณ์ก่อนสมัยใหม่ดังที่ฟูกูยาม่าพยายามชี้ไว้ แต่เรื่องนี้กลับปรากฎขึ้นเป็นพลวัตภายในของแต่ละประเทศด้วยเช่นกัน กล่าวคือด้วยการกระจายตัวของ ความรู้ และ ข้อมูลข่าวสาร นั่นเอง ที่จะทำให้ในแต่ละประเทศต้องเผชิญภาวะต่อสู้ดิ้นรน ระหว่างการรักษาอัตลักษณ์ของตนเอง และการเปลี่ยนผ่านไปยังสมัยใหม่เอาไว้
ขอบคุณภาพจาก http://www.digitaltrends.com/wp-content/uploads/2013/03/namie-1.jpg
ประเทศอย่างญี่ปุ่น ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเปลี่ยนผ่านไปสู่ "กึ่งหนึ่ง" ของยุคสมัยใหม่ด้วยการปฏิวัติเมย์จิ เมื่อครั้นแพ้สงครามโลก สหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศผู้ยึดครองได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบอย่าง วิลเลี่ยม เคนเนธ บั๊นซ์ เป็นผู้นำในการแยกลัทธิชินโต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นตอแห่งความคิดแบบนิยมระบอบทหารและการคลั่งชาติ ออกจากรัฐ แต่ในปัจจุบันญี่ปุ่นเมื่อผ่านเหตุการณ์ "สามหายนะ" คือ พิบัติภัยแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์สึนามิ และภัยนิวเคลียร์ที่ฟูกูชิม่า ประกอบกับการผงาดขึ้นของจีนและการแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวต่อความขัดแย้งอย่างบริเวณพิพาทหมู่เกาะ เซ็นโกกุ/เตียวหยู ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มหวนคืนสู่ความรู้สึกชาตินิยมขึ้นมาอย่างช้า ๆ
หนังสือของ นาโอกิ ฮยากูเตะ ที่ชื่อ "ซีโร่ชั่วนิจนิรันดร์" ซึ่งพูดถึงเหตุการณ์ที่กองทัพญี่ปุ่นใช้ฝูงบินซีโร่กระทำอัตวินิบาตกรรมเพื่อจมเรือของฝ่ายพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สอง ขายดีเป็นปรากฎการณ์ และเมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และออกฉายในชื่อเดียวกันเมื่อ เดือนธันวาคม ปีกลาย ก็ทำเงินได้ถึง 8 พันล้านเยน นอกจากนี้ก็ยังมีการฟื้นฟูอิทธิพลของสมาคมนิกายชินโต ที่เชื่อมโยงกับนักการเมืองในพรรคแอลดีพี จนกระทั่งส่งผลต่อทิศทางของพรรคแอลดีพีและนายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ที่แสดงสัญญาณความเป็นชาตินิยมออกมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการพาเหรดเคารพศาลเจ้ายาสุกุหนิซึ่งฝังศพอาชญากรสงครามระดับเกรดเอ ในสงครามโลกครั้งที่สอง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นให้สามารถใช้กำลังทหารในกรณีพิพาทนอกประเทศได้ นอกจากนี้ นาโอกิ ยังออกมาปฏิเสธเรื่องเหตุสังหารหมู่นานกิง โดยบอกว่าเป็นเรื่องจัดฉากของชาติตะวันตกอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ ผมมองความขัดแย้งในประเทศไทยที่ดำรงมาตั้งแต่ช่วงก่อนรัฐประหารในปี 2549 และดูทีท่าว่าจะไม่สิ้นสุดไปอย่างง่าย ๆ นั้น ว่าอันที่จริงแล้วเป็นการต่อสู้ดิ้นรนระหว่าง ค่านิยมของความเป็นสมัยใหม่ที่เกิดจากวิภาษวิธีแบบสมัยใหม่ตามข้อเสนอของฟูกูยาม่า และการพยายามรักษาค่านิยมที่เป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทยตามข้อเสนอของฮันติงตัน
ข้อเสนอปฏิรูปที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะมาจาก กปปส. หรือมาจาก เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จึงเป็นเพียงอาภรณ์อำพราง ต่อวาระที่แท้จริงที่ต้องการรักษาอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เพื่อให้พ้นจากสิ่งที่ฝ่ายชนชั้นนำเชื่อว่าถูกคุกคามซึ่งครั้งหนึ่งพวกเขาเคยพยายามต่อสู้เพื่อรักษาอัตลักษณ์ดังกล่าวได้ประสบความสำเร็จมาแล้วในสมัยสงครามเย็น
ขอบคุณภาพจาก http://board.postjung.com/data/684/684065-topic-ix-0.jpg
เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ที่ต้องการเสนอทางออกจากความขัดแย้ง แม้ว่าในด้านหนึ่งจะถูกโจมตีจากฝ่ายสนับสนุน กปปส. เพราะเป็นข้อเสนอที่เบาเกินไป ประนีประนอมเกินไป ต่อความเป็นความตายที่อาจทำให้อัตลักษณ์เดิมของความเป็นไทยสูญสลายไป แต่ในอีกด้านข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ก็เสนอบนพื้นฐานจากค่านิยมที่มีมุมมองผ่านสายตาแบบความเป็นไทย ค่านิยมดังกล่าวย่อมไม่เชื่อถือศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และฝากความหวังการปฏิรูปประเทศ ต่อตัวแทนชนชั้นนำจำนวนน้อย โดยไม่ผ่านความเห็นของประชาชน
ข้อเสนอของตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าประเทศไทย ตามกรอบของคุณอภิสิทธิ์ที่วาดหวังจะให้ทำควบคู่ไปกับข้อเสนอการปฏิรูปของ กปปส นั้น จึงย่อมถูกโจมตีจาก กปปส และในขณะเดียวกันก็น่าสงสัยว่าเครือข่ายเดินหน้าประเทศไทย ที่อ้างว่ามีองค์กรสนับสนุน 70 องค์กรนั้น เป็นตัวแทนของพลเมืองชาวไทยมากน้อยเพียงใด (ความจริงก็ดูได้จาก หน้าเว็บเพจ หรือเฟสบุ๊คของ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปว่ามีคนสนับสนุนมากน้อยเพียงใด) เพียงแต่ว่าภาพลักษณ์ของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปนั้น ดูมีความเป็นกลางและดูเหมือนว่าไม่ได้อยู่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด จึงน่าจะเป็น "คนกลาง" ที่ทำการปฏิรูปได้
อันที่จริง ควบคู่ไปกับการต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ระหว่างคุณค่าทั้งสองแบบ ทั้งสองฟากฝ่ายต่างก็เสนอแผนที่การเปลี่ยนแปลงประเทศตามแนวทางของตนเองอยู่แล้ว (ทั้งโดยผ่านนโยบายจากพรรคการเมืองก็ดี หรือจากข้อเสนอของกปปส. ก็ดี) จะเรียกว่าการปฏิรูปหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่ประการใด และก็มีประชาชนที่สนับสนุนวาระการเปลี่ยนแปลงของประเทศต่อทั้งสองฝ่ายเป็นจำนวนมาก (ที่แน่ ๆ มากกว่าข้อเสนอปฏิรูปของเครือข่ายเดินหน้าประเทศไทยอย่างเทียบไม่ติด) เพียงแต่ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าข้อเสนอของฝ่ายตรงข้าม ใช้ไม่ได้ ไม่มีเหตุผล และจะทำลายอนาคตของประเทศในระยะยาว
โดยไม่ต้องไปเปิดรายละเอียดว่า ข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์จะถูกต้องตามกรอบรัฐธรรมนูญหรือไม่ (อาทิเช่น การเสนอให้มีการลาออกของนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรักษาการ ก็ดี หรือการแต่งตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ดี) ผมเชื่อว่าข้อเสนอของคุณอภิสิทธิ์ จะถูกปฏิเสธจากแกนนำของทั้งสองฝ่าย
นอกเสียจากว่า คุณอภิสิทธิ์และทีมงานที่อยู่เบื้องหลังคุณอภิสิทธิ์จะสามารถสังเคราะห์ข้อเสนอจากทั้งสองฝ่าย ให้เป็นที่ยอมรับจากทั้งคู่ได้ และรวมเอาคนจากทั้งสองฝ่ายเข้ามาอยู่ในวาระการปฏิรูปได้ โดยที่จำเป็นจะต้องคำนึงถึงความจริงว่าประชาชนทั้งสองฝ่ายไม่ได้ให้ความสนใจวาระของเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเท่าใดนัก
แต่จากข้อวิเคราะห์ข้างต้นตามทฤษฎีที่ผมได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น นี่ไม่ใช่เพียงข้อขัดแย้งเชิงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับ คุณค่า ความเป็นตัวตน และกรอบมุมมองต่อโลก ของต่างฝ่ายที่มีที่มาจากคนละขั้ว จึงย่อมไม่ง่ายที่จะสังเคราะห์ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความพอใจขึ้นมาได้
ขอบคุณภาพแรก
http://www.oknation.net/blog/home/user_data/file_data/201212/16/56843c9e5.jpg
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ