ศาลอาญาชี้นปช.รายที่ 17 ตายเพราะถูกกระสุนทหาร

5 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1903 ครั้ง

ศาลอาญาระบุ เกรียงไกร คำน้อย เสียชีวิตจากกระสุนปืนที่มีวิถียิงมาจากฝั่งทหาร ถือเป็นศพรายที่ 17 จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมของ นปช. เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ข่าวสดออนไลน์รายงานว่า วานนี้ (4 กรกฎาคม 2557) ที่ห้องพิจารณาคดี 711 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ อช.8/2556 ที่พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 10 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพ นายเกรียงไกร คำน้อย อายุ 23 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ จังหวัดร้อยเอ็ด อาชีพขับรถตุ๊กตุ๊ก ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตเป็นศพแรกในเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วรับฟังโดยสรุปได้ว่า เมื่อวันที่ 10  มีนาคม  ต่อเนื่องถึงวันที่ 19 พฤษภาคม  2553 กลุ่มนปช. ชุมนุมที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ตามแนวถนนราชดำเนิน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ต่อมาวันที่ 7 เมษายน 2553 รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยมอบหมายให้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็น ผอ.ศอฉ.

วันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 13.30 น. ศอฉ. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการขอคืนพื้นที่และพื้นผิวการจราจรบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศและบริเวณใกล้เคียง โดยกองพันทหาราบที่ 1 กรมทหาราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31พัน1รอ.) ประมาณ 300 นาย โดยมีอาวุธประจำกายคือโล่ห์ ปืนลูกซองยาว บรรจุกระสุนยาง ปืนเอ็ม 16 ปืนทาโวร์ ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง ผลักดันผู้ชุมนุมไปตามถนนราชดำเนินนอกจากแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการไปยังสะพานมัฆวานรังสรรค์ แต่ผู้ชุมนุมไม่พอใจได้ขว้างปาขวดน้ำ สิ่งของ และเหล็ก ใส่เจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ทหารจึงใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้ผู้ชุมนุม

ต่อมาเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงถูกนายเกรียงไกรที่ยืนอยู่บนทางเท้าข้างกำแพงกระทรวงศึกษาธิการที่หน้าอกและลำตัวจนได้รับบาดเจ็บ เจ้าหน้าที่กู้ภัยจึงนำตัวนายเกรียงไกร ส่งร.พ.วชิรพยาบาล ต่อมานายเกรียงไกรได้เสียชีวิตลงเนื่องจากเสียเลือดมาก ในวันที่ 11 เมษายน 2553  เนื่องจากหลอดเลือดใหญ่บริเวณอุ้งเชิงกรานฉีกขาดจากกระสุนความเร็วสูงที่ยิงมาจากทางเจ้าหน้าที่ทหาร

จากการสอบสวนพยานที่ร่วมชุมนุมกับผู้ตายยืนยันว่า ผู้ตายถูกยิงจากกระสุนปืนที่มาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารขณะที่ช่างภาพสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสที่รายงานข่าวบริเวณสถานที่ชุมนุมให้การว่า มีการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับผู้ชุมนุม โดยเห็นเจ้าหน้าที่ทหารบางคนใช้อาวุธปืนยิงใส่ผู้ชุมนุมในลักษณะแนวราบกับพื้น

ด้านแพทย์ที่ชันสูตรศพผู้ตายให้การว่า จากการผ่าศพผู้ตายพบว่าผู้ตายถูกยิงที่หน้าอกด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง แนววิถีกระสุนที่ยิงนายเกรียงไกรมาจากทางเจ้าหน้าที่ทหาร แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ใดใช้อาวุธปืนร้ายแรงยิงนายเกรียงไกร แต่การขอคืนพื้นที่อยู่ในเวลากลางวัน และพยานทุกคนในที่เกิดเหตุยืนยันว่า กระสุนที่ยิงผู้ตายมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหาร ซึ่งจากหลักฐานคลิปวีดีโอในวันเกิดเหตุ เห็นเจ้าหน้าที่ทหารใช้อาวุธปืนเล็งและยิงไปทางแนวราบข้างกำแพงรั้ว กระทรวงศึกษาธิการ ไปยังจุดที่นายเกรียงไกรยืนอยู่บนทางเท้า ตรงกันที่พยานเห็นเหตุการณ์ 

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอาวุธปืนยืนยันว่า อาวุธปืนที่เจ้าหน้าที่ทหารใช้ในวันเกิดเหตุเป็นอาวุธปืนทาร์โวที่มีใช้เฉพาะในกองทัพ สอดคล้องกับบาดแผลผู้ตายที่ถูกยิงด้วยกระสุนความเร็วสูงตามรายงานการตรวจ โดยทางเจ้าหน้าที่ทหารให้การว่ามีแต่การยิงปืนขึ้นฟ้าและไม่มีการใช้กระสุนปืนจริง แต่จากบาดแผลที่ผู้ตายถูกยิงที่หน้าอกและสะโพกซ้าย และเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุพบว่า มีผู้ชุมนุมถูกยิงได้รับบาดเจ็บอีกหลายคน 

นอกจากนั้น จากการตรวจที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนปืน วิถีทางเข้าจากทางแยกถนนมิสกวัน วิถีทางของกระสุนปืนเข้าไปที่ถังน้ำสแตนเลสที่ผู้ตายหลบอยู่ มีทิศทางจากที่ทหารเคลื่อนกำลังพลเข้ามา และพบรอยกระสุนปืนบริเวณอาคารใกล้ที่เกิดเหตุ จากหลักฐานแสดงว่าเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้กระสุนจริงในการขอคืนพื้นที่ด้วย เมื่อไม่ปรากฎว่ามีกองกำลังอื่นๆ ในที่เกิดเหตุ และวิถีกระสุนมาจากฝั่งทหารที่ใช้กำลังเข้ามาขอคืนพื้นที่ตามคำสั่ง ศอฉ.

ศาลจึงมีคำสั่งว่า นายเกรียงไกรเสียชีวิตที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553  ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตเนื่องจากเสียเลือดมากจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง ซึ่งมีวิถีกระสุนมาจากเจ้าหน้าที่ทหารในการปฎิบัติหน้าที่ขอคืนพื้นที่จากทางด้านแยกสวนมิสกวัน ผ่านหน้ากระทรวงศึกษาธิการมายังสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตามคำสั่งของ ศอฉ. โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำ

กรณีนายเกรียงไกร คำน้อย ถือเป็นศพที่ 17 ที่ศาลมีคำสั่งว่าถูกยิงด้วยกระสุนปืนฝั่งเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ. ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: