บทวิเคราะห์:'ระบอบประยุทธ์': วิวัฒนาการของตัวแบบ

กานต์ ยืนยง 5 ก.ย. 2557 | อ่านแล้ว 6899 ครั้ง

ข้อสังเกตนี้มองผ่านรัฐบาลประชาธิปไตยครึ่งใบของ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไปจนถึงรัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ซึ่งข้อสังเกตนี้เป็นทิศทางเดียวกับข้อเสนอของ แอนซิล แรมซีย์ ที่มองว่าแม้การเมืองไทยจะเป็น “ประชาธิปไตยแบบจำกัด” (restricted democracy) แต่ก็คลี่คลายพ้นจากการเมืองที่มีตัวแบบอำมาตยาธิปไตยและเทคโนแครต (ซึ่งเคยอธิบายได้ดีในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์) เข้าสู่การเมืองแบบกระฎุมพี (bourgeois polity)

การก่อตัวของสมาคมธุรกิจที่เป็นที่นิยมในหมู่คนจีนนั้น เริ่มมาก่อนสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ยังมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางด้านนโยบายเศรษฐกิจอยู่น้อย แต่ภายหลังปี 2523 เป็นต้นมา สมาคมธุรกิจเหล่านี้ก็เริ่มมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น และอิทธิพลของสมาคมธุรกิจเหล่านี้ก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

หากวิเคราะห์ดูความสัมพันธ์เครือข่ายใน คสช. เราจะเห็นว่า คสช. มีแกนกลางของเครือข่ายอยู่ที่ นายทหารกลุ่ม “ทหารเสือราชินี” หรือกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ร.21 รอ.) โดยเฉพาะแผงอำนาจ “สามปอ” (พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือบิ๊กป๊อก และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จากเครือข่ายที่เชื่อมอยู่กับนายพลทั้งสามนี้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่าย มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด) และเครือข่ายหลักสูตรร่วมผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและภาคเอกชน อย่างเครือข่ายนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.-ปรอ.) ทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงระหว่าง รายชื่อของสมาชิกสภานิติบัญญัติ (สนช.) และรายชื่อของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ได้ชัดเจนขึ้น

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ขอบคุณภาพจาก http://www.tnnthailand.com/stocks/media/00b8e0.jpg)

อย่างไรก็ดี แม้เหล่าบรรดานายพลซึ่งเป็นแกนกลางของขั้วอำนาจในกองทัพจะเข้ามากุมตำแหน่งทั้งใน สนช. และคณะรัฐมนตรี ในสัดส่วนที่มากกว่าการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามในการกระชับอำนาจและการไม่ไว้ใจให้รัฐบาลพลเรือนบริหารประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ แต่จะด้วยความรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ดูเหมือนคสช.จะเห็นว่าการใช้อำนาจบังคับ (coercion) เพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำการปกครองประเทศได้อย่างราบรื่น แม้ในระยะเริ่มแรกผู้อยู่ใต้ปกครองจะยอมเออออกับการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไปก่อนก็ตาม ผู้ปกครองจำเป็นจะต้องใช้อำนาจที่เกิดจากการยินยอมของประชาชนด้วย (consent) การกำหนดให้มีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. จึงเท่ากับเป็นกลไกเพื่อสร้างความชอบธรรมให้มีการยอมรับของประชาชนว่า คณะรัฐประหารมิได้ใช้อำนาจในการบังคับเพียงอย่างเดียว กติกาในการได้มาของสมาชิก สปช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นก็นับว่าน่าสนใจ โดยการที่ คสช. ได้แต่งตั้งให้มีคณะกรรมการเพื่อกลั่นกรองผู้สมัคร สปช. ในด้านต่าง ๆ กัน 11 ด้าน ก่อนจะส่งรายชื่อผู้สมัคร สมาชิก สปช. นั้นให้ คสช. ได้ทำการคัดเลือกอีกชั้นหนึ่ง ปัจจุบันมีผู้สมัคร สมาชิก สปช. แล้วจำนวนกว่า 4,700 คน ผู้สมัครเหล่านี้จำเป็นจะต้องได้รับการเสนอชื่อจาก องค์กรไม่แสวงหากำไร อาทิ สมาคม มูลนิธิ พรรคการเมือง หรือแม้แต่ส่วนงานราชการต่าง ๆ ซึ่งหากพิจารณาว่าองค์กรเหล่านี้สามารถเสนอชื่อได้ไม่เกินองค์กรละสองชื่อ ก็เท่ากับว่ามีองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรเข้าร่วมเสนอชื่อมากกว่า 2,300 แห่งขึ้นไป

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา หรือบิ๊กป๊อก (ขอบคุณภาพจาก http://www.chaoprayanews.com/)

องค์กรเหล่านี้รวมถึงผู้ถูกเสนอชื่อหลายราย ต่างก็เคยเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ในการขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์มากบ้างน้อยบ้างมาก่อน ภาพทั้งหมดนี้จึงเท่ากับเผยให้เห็นว่าเส้นสาย เครือข่ายอำนาจ และกลุ่มพลังที่กำลังกุมอำนาจอยู่ในปัจจุบันมีลักษณะเป็นเช่นไร

แม้โดยผิวเผิน ดูเหมือนว่าคนเหล่านี้ไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วย “บริบท” บังคับ คนเหล่านี้ก็ต้องให้เหตุผลความชอบธรรมของการทำรัฐประหารว่า ทำไปเพื่อ “ประชาธิปไตย” อยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็น “ปกป้องประชาธิปไตย” บ้าง, ทำไปเพื่อ “แก้ไขระบอบประชาธิปไตยที่บกพร่อง” บ้าง หรือมีแม้กระทั่ง “รัฐประหารเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องทำให้ดีที่สุด” บ้าง คนที่สนับสนุนการทำรัฐประหารและเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่า “ประชาธิปไตย” ไม่เหมาะสมกับเมืองไทย และบางเสียงถึงกับบอกว่าไม่ควรใช้ระบอบประชาธิปไตยในการปกครองเลย ก็คงมี แต่ก็มิได้มีอิทธิพลอย่างสำคัญในกลุ่มผู้นำคณะรัฐประหารมากนัก พูดโดยสรุป คนเหล่านี้ก็เชื่อเหมือนกับผู้ไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารว่า ในที่สุดแล้วเมืองไทยก็คงหลีกเลี่ยงการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยไปไม่พ้น การตอบโต้หรือต่อสู้กันของทั้งสองฝ่ายจึงต้องอ้างอิงในสิ่งที่เหมือนกันคือวาทกรรม “ประชาธิปไตย” ข้อที่ต่างกันอยู่คือ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารและมีผลประโยชน์โดยธรรมชาติที่ต้องอิงอยู่กับเส้นสายและเครือข่ายอำนาจเหล่านี้ (ซึ่งโดยส่วนใหญ่แนบชิดอยู่กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรและเครือข่ายระบอบราชการไทย) ผูกพันอยู่กับฐานเสียงของคนชั้นกลางโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองใหญ่ มีจำนวนน้อยกว่า ฐานเสียงของคนชั้นกลางระดับล่างหรือคนรากหญ้าซึ่งมักเป็นคนต่างจังหวัดโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ทำให้พวกเขาไม่มั่นใจว่าหากปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยกติกาตามปรกติ พวกเขาจะสามารถกำชัยชนะเอาไว้ได้ (พูดอย่างเป็นธรรม ก็ต้องบอกว่าพวกเขาเคยพยายามทดลองปล่อยให้มีการเลือกตั้งทั่วไปมาสองครั้งแล้ว และก็แพ้ไปอย่างราบคาบทั้งสองครั้ง) นี่จึงเป็นสาเหตุที่ว่าแม้พวกเขาจะเห็นด้วยกับประชาธิปไตย แต่ก็จำยอมให้การสนับสนุนการทำรัฐประหารที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และหวังว่าพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการร่างกติกาใหม่เพื่อคงฐานอำนาจและความได้เปรียบที่เคยมีเอาไว้ได้

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขอบคุณภาพจาก http://www.thairath.co.th/)

เมื่อพูดถึงเรื่องกำลังที่น้อยกว่าของฝ่ายหนุนรัฐประหาร และการทำใจยอมรับการทำรัฐประหารนี้ ทำให้ผมนึกถึงเอกสารในชุด British Documents on Foreign Affairs: Report and Paper from Foreign Office Confidential Print ของรัฐบาลอังกฤษซึ่งวิเคราะห์เหตุการณ์เมื่อคราวการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เอกสารนี้มีการตีพิมพ์แจกจ่ายเฉพาะรัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต่อมาได้เปิดให้เผยแพร่เป็นการทั่วไปเมื่อปี 2526 ในเอกสารดังกล่าว อังกฤษแบ่งกลุ่มในคณะราษฎรเป็นสองกลุ่มคือ Moderate กับกลุ่ม Extremist/radical/red/idealist กลุ่มหลังมี ปรีดี เป็นหัวหน้ากลุ่ม และมองพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นกลาง ไม่เป็นศัตรูกลับกลุ่มใดอย่างชัดแจ้ง ในขณะที่มีเป้าประสงค์ทางการเมืองในการรักษาพระราชอำนาจและผลักดันทิศทางประเทศ ไปในทางที่พระองค์ต้องการ ซึ่งไม่ตรงกับทิศทางคณะราษฎร บทบาทของพระองค์จึงมักเป็นการเคลื่อนไหวหลังฉาก อาทิ สนับสนุนให้บางคนลงเลือกตั้ง หรือตำหนิฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ไม่มีประสิทธิภาพและอ่อนข้อให้กับคณะราษฎรปีกซ้าย การดำเนินการเหล่านี้เป็นไปภายใต้รัฐธรรมนูญและรัฐสภา ซึ่งเป็นระบอบการเมืองใหม่

ต่อมาเมื่อเกิดกบฏบวรเดช และมีการทำสงครามจิตวิทยาเพื่ออ้างความชอบธรรมของตนผ่านใบปลิวและการประกาศข่าวต่าง ๆ อย่างกว้างขวางแล้ว การที่ทั้งสองฝ่ายพยายาม “ช่วงชิง” พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มาอยู่ข้างตน ก็เป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งด้วย หากแต่การตัดสินใจในขณะนั้นของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ได้ตัดสินใจวางพระองค์เป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด (แม้ว่าตามข้อสังเกตในรายงานของรัฐบาลอังกฤษจะมองว่าพระองค์ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคณะราษฎรโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวทางของคณะราษฎรปีกซ้าย) การวางพระองค์เป็นกลางของพระบาท สมเด็จพระปกเกล้าฯ นี้ ยังถูกระบุเอาไว้ในบันทึกของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีอีกด้วย

            “...วันหนึ่งขณะที่อยู่หัวหิน ท่านวิบูลย์ (หม่อมเจ้าวิบูลย์สวัสดิ์วงศ์) ซึ่งเป็นราชเลขานุการในพระองค์ได้เข้ามากราบบังคมทูลขอให้เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่บางปะอิน...ในหลวงทรงรับสั่งว่าไปทำไมกันบางประอิน ไปให้บวรเดชจับหรือ ไม่ไป อยู่นี่แหละ แล้วก็เรียกหลวงศรสุรการฯ ให้ไปบอกว่า ไม่ยอมเข้ากับใครทั้งสองข้าง ไม่ว่าข้างไหน จะเป็นกลางอยู่เฉย ๆ ต่อมาทรงทราบข่าวว่าหลวงพิบูลสงครามฯ จะส่งรถไฟมาเชิญเสด็จกลับก็รับสั่งว่ายังไม่กลับ แต่ก็ทรงตัดสินพระทัยเสด็จพระราชดำเนินสงขลา...”

กล่าวได้ว่า การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่สงขลา เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กบฏบวรเดชเสียน้ำหนักในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อสู้กับคณะราษฎรในการแย่งชิงอำนาจและนำไปสู่การสถาปนาอำนาจที่มั่นคงขึ้นของคณะราษฎรปีกขวาในเวลาต่อมา

เมื่อเทียบเคียงเหตุการณ์ในปัจจุบันเข้ากับเหตุการณ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯแล้ว ผมเริ่มเกิดความสงสัย ว่า คำอธิบายในบทความ “Network Monarchy and legitimacy crises in Thailand” ของ ดันแคน แม็คคาร์โก ดูจะเริ่มอธิบาย “พลวัตใหม่” ของการเมืองไทยไม่ได้ แม็คคาร์โกอธิบายการเคลื่อนไหวของเครือข่ายราชสำนักดูประหนึ่งว่าจะเป็น อันหนึ่งอันเดียวกัน และในเครือข่ายนี้นั้นมีศูนย์กลางที่เปิดเผยคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี แต่หากเราพิจารณาดูเคเบิ้ลของสถานทูตสหรัฐอเมริกาหมายเลข 09BANGKOK2967 เราจะเห็นว่ามีกลุ่มหรือเครือข่ายในราชสำนัก อย่างน้อย 5 กลุ่ม และจากการประเมินของ ทูต เอริก จี จอห์น ซึ่งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำกรุงเทพฯ ในขณะนั้นมองว่าเครือข่ายองคมนตรีซึ่งนำโดย พล.อ.เปรม ดูจะมีอิทธิพลน้อยกว่าที่ภาพจากภายนอกเข้าใจมาก นอกจากนี้ในเคเบิ้ลฉบับอื่นของ สถานทูตสหรัฐฯ ก็ได้ระบุว่าการเมืองในราชสำนัก มีการใช้การ “อ้างบารมี” เพื่อผลักดันวาระของตนเองในทางการเมืองอยู่ บ่อยครั้ง จากประสบการณ์ที่ผมได้รับโดยตรง ก็พบว่ามีการ “อ้างบารมี” อยู่บ่อยครั้ง ทำให้เราไม่ทราบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็น“วาระ” ทางการเมืองของใครกันแน่ ผมขอหมายเหตุในตอนนี้เอาไว้ว่าด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายทำให้เราไม่สามารถอภิปรายเนื้อหาในเรื่องนี้ได้อย่างเปิดกว้างและมีการตรวจสอบข้อมูลในที่สาธารณะได้อย่างเพียงพอ

แต่อย่างไรก็ตาม เราคงพอจะเห็น “พลวัต” ของเครือข่ายชนชั้นนำในการเมืองไทย ว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรจากสมัย พ.ศ. 2523 ซึ่งชัยอนันต์ สมุทวณิช ระบุว่าเป็นหลักหมายสำคัญของยุคเริ่มต้นพันธมิตรระหว่างกองทัพและเทคโนแครต ภายใต้การนำของพล.อ.เปรม ซึ่งในยุคนั้นเศรษฐกิจไทยเริ่มเปลี่ยนจากเศรษฐกิจผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า (import-substitution economy) มาเป็นเศรษฐกิจเพื่อการส่งออก (export-led economy) (ดูเพิ่มเติม http:// bit.ly/1ltkMpE ) การเปลี่ยนแปลงนี้เองทำให้ เนื้อที่ใน “รายงานพิเศษ” ของนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งมักจะรายงานการข่าวในแวดวงกองทัพกล่าวเป็นนัย ถึงการแข่งขันอำนาจระหว่าง “มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” และ “มูลนิธิรัฐบุรุษ”

ดังที่ได้ตั้งข้อสังเกตมาแล้วจะเห็นว่า แม้การเมืองไทยจะย้อนยุคกลับไปเป็นตัวแบบ “อำมาตยาธิปไตย” และ “รัฐราชการ” แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ใช่ “อำมาตยาธิปไตย” และ “รัฐราชการ” อย่างที่เคยเป็นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัย พล.อ.เปรม หรือสมัยก่อนหน้า (เราควรจะเรียกว่า “นวอำมาตยาธิปไตย” หรือ “นวรัฐราชการ” ได้หรือไม่ ผมยังไม่ขอสรุปในที่นี้) ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าทั้งแกนนำของเครือข่ายอำนาจทั้งสองก็มีความแตกต่างกัน แต่การใช้อำนาจก็ต่างกันด้วย ดังจะเห็นได้จากคณะรัฐประหารชุดปัจจุบันใช้ “กฎอัยการศึก” และ “ศาลทหาร” ในการบังคับใช้อำนาจ ทั้งที่ในความเป็นจริงพวกเขาเป็นรัฎฐาธิปัตย์ด้วยตนเอง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทั้งสองประการก็ได้ แต่เหตุที่พวกเขาจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทั้งสองก็เพราะ “บริบท” ของโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนไปมาก (โดยเฉพาะการเข้ามามีอิทธิพลของชนชั้นกลางไทย ผ่านสมาคมทางการค้า และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรต่าง ๆ ดังที่เห็นเป็นรูปธรรมในการสมัครเข้ามีตำแหน่งใน สปช.) จากข้อมูลเท่าที่ผมทราบมา ภายในแกนนำของ คสช. ก็มีความสับสน เพราะขาดความชัดเจนทางหลักคิดทางหนึ่ง และเพราะความใหม่ของการทดลองใช้ “นวอำมาตยาธิปไตย” / “นวรัฐราชการ” อีกทางหนึ่ง ว่าควรจะใช้อำนาจโดยอ้างอิงกฎหมาย (คือกฎอัยการศึก) ดี หรือจะอ้างอิงอำนาจของตน (คืออำนาจรัฎฐาธิปัตย์) ดีกว่ากัน นอกจากนี้ยังไม่ต้องพูดถึงการเปลี่ยนกลับไปกลับมาของการใช้คำสั่งของ คสช. ไปจนถึงการพยายามอะลุ่มอล่วยของ คสช. ต่อการการเคลื่อนไหวประท้วงเรื่องการปฏิรูปพลังงานของกลุ่ม “ขาหุ้นปฏิรูปพลังงาน” อีกด้วย ปรากฎการณ์เหล่านี้ก็เป็นข้อพิสูจน์ในทางความเป็นจริงที่ว่าอำนาจนั้นมีการถูกแบ่งออกไปจาก คสช. โดยพฤตินัยอยู่แล้ว

กล่าวได้ว่า การพยายามทดสอบตัวแบบการปกครองของรัฐไทย เพื่อพยายามรับเข้าและกีดกัน แนวคิดและอัตลักษณ์ใหม่ ๆ ของรัฐไทยที่ผูกอยู่กับชนชั้นผู้แปลกหน้า นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นความพยายามที่มีมาตลอดในประวัติศาสตร์ อาทิเช่น การประกาศ “บุญราศี” (Beatification) ของคริตศาสนจักรแก่บุญราศีทั้งเจ็ดของไทย อันได้แก่ นายสีฟอง อ่อนพิทักษ์, ซิสเตอร์พิลา ทิพย์สุข, ซิสเตอร์คำบาง สีฟอง, นางพุดทา ว่องไว, นางสาวบุดสี ว่องไว, นางสาวคำไพ ว่องไว และเด็กหญิงพร ว่องไว ซึ่ง สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ได้ประกาศสดุดีให้ทั้ง 7 คน เป็น “บุญราศีมรณสักขีแห่งสองคอน” (Seven Blessed Martyrs of Songkhon) เมื่อปี 2532 เมื่อสอบทานประวัติและยืนยันได้ว่าบุญราศีทั้งเจ็ดยอมพลีชีพตนเองเพื่อยืนยันความเชื่อในศาสนามากกว่าจะละทิ้งศาสนาในสมัยรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เมื่อทำสงครามกับฝรั่งเศสในกรณีพิพาทอินโดจีน ด้วยความเข้าใจของรัฐไทยในสมัยนั้นว่าศาสนาคริสต์เป็นเครื่องมือของฝรั่งเศสในการรุกรานประเทศไทย เรื่องนี้เมื่อพิจารณาจากมุมมองในปัจจุบันอาจเป็นเรื่องแปลก เพราะในสมัยนี้การนับถือศาสนาคริสต์ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือผิดกฎหมายอะไร

โบสถ์คริสต์นักบุญอันนา อ.หว้านใหญ่ จ.มุกดาหาร สถานที่เก็บอัฐิและหุ่นขี้ผึ้งของบุญราศีทั้ง 7 แห่งวัดสองคอน

ขอบคุณภาพจาก http://www.manager.co.th/

ผมควรจะกล่าวไว้ด้วยว่า ในขณะที่การเมืองไทยกำลังมีปัญหา “การรับเข้าและการกีดกัน” รวมถึงความปวดเศียรเวียรเกล้าทำการทดลองทางการเมืองใหม่ ๆ เพื่อที่จะหาวิธีจัดสรรอำนาจ ให้กับชนชั้นใหม่ผู้แปลกหน้าให้เป็นที่ยอมรับ ในขณะที่ยังสามารถรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำเดิมเอาไว้ได้นั้น การเมืองของตะวันตกก็กำลังเผชิญความท้าทายใหม่ทั้งในปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและปัญหาดั้งเดิมจากอัตลักษณ์ของตน ซึ่งนักวิชาการตะวันตกมองรากเหง้าปัญหานี้ต่างกัน บ้างก็มองว่าเป็นปัญหาจากการผูกขาดอำนาจของชนชั้นนำยอดสุดของปิรามิดทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านการเมืองแบบพรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และบ้างก็มองว่าเป็นการ “เน่าเปื่อย” ของสถาบันทางการเมืองสมัยใหม่ที่ขาดความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ในขณะที่หนังสือ “The Fourth Revolution: The Global Race to Reinvent The State” ของ John Micklethwait และ Adrian Wooldrige กำลังมองว่าตะวันตกกำลังแสวงหาแนวคิดใหม่ ๆ หลังจากที่การเมืองตะวันตกได้ผ่านการปฏิวัติเพื่อการรังสรรค์ระบอบการเมืองมาแล้วสามรอบ คือ การสร้าง “รัฐชาติ” ภายหลังสนธิสัญญาเวสต์ฟาเลีย, การสร้างรัฐบาลที่มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะและการผงาดขึ้นของสิทธิมนุษยชนในช่วงศตวรรษที่ 18-19, และการปฏิวัติครั้งล่าสุดคือการสร้างรัฐสวัสดิการ อนึ่งการสร้างรัฐสวัสดิการนั้นทำให้รัฐมีการ “ขยายขนาดขึ้น” และสิ้นเปลืองงบประมาณในการบำรุงรักษาระบบจนทำให้มีความพยายาม “ปฏิรูป” โดยการลดขนาดของรัฐลงในสมัยมาร์กาแรต แธตเชอร์ และสมัยโรนัลด์ เรแกน แต่ล้มเหลว แม้จะยังไม่มีสูตรสำเร็จว่าการปฏิวัติครั้งใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร แต่หนังสือเล่มนี้ก็พยายามตรวจสอบและสร้างมุมมองใหม่ ๆ ต่อคำถามที่ปัญญาชนตะวันตกเฝ้าถามมาตลอดเวลา คือคำถามที่ว่าในท้ายที่สุดแล้ว “รัฐนั้นมีเพื่ออะไร”

และคำถามนี้คงมีความสำคัญต่อความเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยในอนาคตข้างหน้าด้วยเช่นกัน.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: