สนช.ผ่านร่างเอ็มโอยู ไทย-จีน พัฒนาเส้นทางรถไฟร่างคู่ 2 เส้นทาง

5 ธ.ค. 2557 | อ่านแล้ว 1792 ครั้ง

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่ประชุมให้ความ เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งเสนอโดยคณะรัฐมนตรี โดยมีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้ชี้แจงต่อสนช. ซึ่งภายหลังมีการอธิปราย สนช.ได้ลงมติให้ความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 187 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทยที่ขอให้สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบนั้นมี 2 เส้นทางคือ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย -โคราช - แก่งคอย - มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย - กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร

การดำเนินการโครงการดังกล่าวจะมีการใช้พื้นที่ ใช้ทรัพยากร ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง กระทบเศรษฐกิจ ซึ่งเข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 23 ที่ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากสนช. รัฐบาลจึงเสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสนช.เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนที่ทั้ง 2 ประเทศจะลงนามในเร็วๆ นี้ ทั้งนี้ร่างบันทึกความเข้าใจฯดังกล่าวถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะใช้ความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ ส่วนฝ่ายไทยจะให้จีนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการเตรียมโครงการ รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและพยายามให้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2559 ในการประเมินมูลค่าโครงการให้เป็นการหารือระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งให้องค์กรที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของทั้ง 2 ฝ่ายเป็นผู้ประเมินและทั้ง 2 ฝ่ายจะพิจารณาอย่างรอบคอบเกี่ยวกับรูปแบบความร่วมมือของโครงการ

รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมกันขึ้นใหม่ชุดหนึ่งเพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามข้อบันทึกความเข้าใจสำหรับไทยนั้นให้รมว.คมนาคมเป็นประธานร่วม ส่วนจีนให้ผู้อำนวยการ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development andReform Council) เป็นประธานร่วม

การดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจนี้ให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่ใช้อยู่ในประเทศคู่ภาคี ในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึกขัดหรือแย้งกับบันทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนาม และมีผลบังคับใช้ 5 ปี

พล.อ.อ.ประจิน ชี้แจงด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการเดินรถไฟมาช้านาน ทั้งเรื่องอายุของรถ ราง และระบบการเดินรถ ที่ทำให้มีความเร็วเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางใช้เวลามากเกินไป

 

ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องการขนส่งระบบราง ทั้งเรื่องระบบการบริการ ความปลอดภัย และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โครงการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการเชื่อมจีนกับอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน ขอยืนยันว่าจะไม่มีการมอบสิทธิประโยชน์เรื่องที่ดินสองข้างทางรถไฟให้กับประเทศจีนเราจะดูแลโครงการนี้ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต

เมื่อผ่านการเห็นชอบจากสนช.แล้วเชื่อว่าจะมีการลงนามของทั้ง 2 ฝ่ายในเร็วๆ นี้ จากนั้นจะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อเป็นคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ เชื่อว่าภายในเดือนม.ค.-ก.พ. 2558 จะสามารถลงพื้นที่สำรวจรวมถึงพิจารณาเงื่อนไขต่างๆ ได้ ส่วนจะใช้การร่วมลงทุนตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

ทั้งนี้เอ็มโอยูระหว่างไทย-จีนในโครงการความร่วมมือพัฒนาทางรถไฟ มีขึ้นในช่วงที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อวันที่ 9 พ.ย.ที่ผ่ามา โดยมีการหารือทวิภาคีเต็มคณะระหว่างรัฐบาลไทย-จีน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: