1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช. ปัจจุบันอายุ 60 ปี เป็นนายทหารในสายบูรพาพยัคฆ์ นักเรียนเก่าโรงเรียนวัดนวลนรดิศ อดีตนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 และ จปร.รุ่น23 เคยร่วมคณะรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ครั้งนั้นได้รับตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย พล.อ.ประยุทธ์ยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินทางการเมืองหลายครั้งไม่ว่าจะเป็นในปี 2551 2552 และ 2553
เมื่อถึงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พล.อ.ประยุทธ์ถูกมองว่าเปลี่ยนไปและเข้ากันได้ดีกับนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จนกระทั่งเกิดวิกฤตการเมืองช่วงปลายปี 2556 สุดท้ายบิ๊กตู่ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองเพื่อแก้ไขปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ต่อมาวันที่ 21 ส.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เเละรมว.กลาโหม
บิ๊กป้อมพี่ใหญ่สายบูรพาพยัคฆ์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. ปัจจุบันอายุ 69 ปี ศิษย์เก่าเซนต์คาเบรียล เตรียมทหารรุ่นที่ 6 และ จปร.รุ่น17 เคยดำรงตำแหน่ง ในสายของทหารเสือราชินี (ร.21รอ.) มาตั้งแต่ต้น จากนั้นย้ายไปอยู่หลายหน่วยงานในกองทัพภาคที่1 ก่อนเป็นแม่ทัพภาคที่1 ผู้ช่วย ผบ.ทบ.และ ผบ.ทบ. ระหว่างปี 2547 - 2548 มีความสนิทสนมกับพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ.
พล.อ.ประวิตร เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างไรพล.อ.ประวิตร เคยมีกระแสข่าวว่าจะได้เป็น รมว.กลาโหมตั้งแต่ยุครัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และช่วงที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี
อีกทั้งยังถูกมองว่ามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับทุกกลุ่ม จนทำให้ได้รับความเกรงใจและความเคารพจากทหารและนักการเมืองหลายๆคน ส่วนการยึดอำนาจครั้งนี้ พล.อ.ประวิตรถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ที่ร่วมก่อการด้วยแม้ไม่ได้อยู่ในแวดวงราชการแล้วก็ตาม
ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า บิ๊กป้อมปฏิเสธที่จะรับตำแหน่งใน ครม.ประยุทธ์ แต่ก็เป็นรับรู้กันดีว่า พล.อ.ประวิตร มีบทบาทสำคัญมากในการขับเคลื่อนภารกิจของ คสช.
3. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ
หนึ่งในที่ปรึกษา คสช. และถูกคาดหมายมาแต่แรกว่าจะได้รับผิดชอบงานด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลนี้ เคยป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ถัดมาได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และพลเอกสุจินดา คราประยูร รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งวุฒิสมาชิก ช่วง พ.ศ. 2535-2536
ต่อมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. พ.ศ. 2549 คุณชายอุ๋ยได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ต่อมาไม่นานได้ยื่นใบลาออก โดยให้เหตุผลว่าเกิดจากความไม่พอใจในการนำคนจากรัฐบาลที่แล้ว (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) มาทำงาน และการดำเนินงานของรัฐมนตรีบางคนที่เอื้อประโยชน์ให้สื่อบางรายเป็นการเฉพาะ
ช่วงตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ม.ร.ว. ปรีดิยาธร มีชื่อว่าจะได้ร่วมรัฐบาลแต่สุดท้ายหลุดวง ต่อมาคุณชายได้ออกมาวิพากษ์นโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นเป็นระยะๆ
4. นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม
ปัจจุบันอายุ 70 ปี จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ (มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน) ได้รับปริญญาตรีเคมี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยลอนดอน และปริญญาเอก สาขาอินทรีย์เคมีจากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด
เขาเคยทำงานเป็นอาจารย์ที่ภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รวมถึงเป็นนักวิจัยอาวุโสที่ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และที่ปรึกษาอาวุโสของผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น สาขาชีวเคมี เมื่อปี พ.ศ. 2527
เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และได้รับการยกย่องเป็นนักวิทยาศาสตร์อาวุโส จากสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (2554)
5.พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ
ปัจจุบันดำรงผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นรองหัวหน้า คสช.ควบคู่กัน เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับพล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เติบโตในราชการมาจากกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) และหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ จังหวัดลพบุรี เคยเป็นผู้บังคับบัญชาคนแรกของ หน่วยปฏิบัติการเฉพาะกิจ 90 (ฉก.90)
พล.อ.ธนะศักดิ์ ได้เข้ามาดูแลงานด้านต่างประเทศ และประสานงานกับต่างประเทศโดยเฉพาะทูตทหาร และประเทศในภูมิภาคได้เป็นอย่างดี ทำให้ไม่มีแรงกดดันจากต่างชาติมากนัก
6. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย
หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายชั้นต้นของเมืองไทย จบกฎหมายจากรั้วแม่โดม เคยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ต่อมาได้ย้ายมาประจำที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2529 และยังเคยเป็นเลขาธิการ ครม. ในปี 2536 -2545
งานด้านการเมืองนั้นเคยเป็นรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร ต่อมาเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถัดมาหลังการรัฐประหารปี 2549 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ชายผู้นี้สามารถทำงานให้ผู้มีอำนาจได้เป็นอย่างดี จนถูกสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งฉายาให้ว่าเนติบริกร และการยึดอำนาจครั้งล่าสุดได้มาร่วมงานกับ คสช. ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายกฎหมาย โดยมีบทบาทในการร่วมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และร่างประกาศ และ คำสั่ง คสช. ต่างๆ
7.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม
ผบ.ทอ.และรองหัวหน้า คสช. เตรียมทหารรุ่น13และโรงเรียนนายเรืออากาศรุ่นที่20 อดีตทูตทหารหลายประเทศ รวมทั้งยังเคยเป็นเสนาธิการทหารอากาศ,ผู้ช่วยผบ.ทอ.ก่อนจะเข้าวินดำรงตำแหน่งผบ.ทอ. มีบทบาทด้านการดำเนินงานเศรษฐกิจของ คสช.โดยเป็นกำลังหลักในการคิดและขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจ บิ๊กจินได้รับการยอมรับว่าแม้จะเป็นทหาร แต่ก็มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ยังสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต จากสถาบันรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในปี พ.ศ. 2556 ด้วย และเป็น ดร.ประจิน ด้วย
8.พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เคยเป็น ผบ.ตร. ในช่วงก่อนการยึดอำนาจครั้งนี้ เมื่อเกิดการรัฐประหารก็ได้ดำรงตำแหน่งรองหัวหน้า คสช. แต่ไม่นานนักก็มีคำสั่ง คสช.ให้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีเสียงร่ำลือว่าเพื่อลดแรงกดดันที่อาจจะต้องประสบในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 29, นอกจากนี้ยังจบการศึกษาปริญญาโทด้านพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก หลักสูตรฝ่ายอำนวยการ,วิทยาลัยเสนาธิการทหารรุ่นที่ 33 วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 42 หลักสูตรมินิครุศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหลักสูตรความเป็นเลิศของนักบริหาร มธ. สถาบันวิทยาลัยตลาดทุนรุ่น 5
9. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม
รอง ผบ.ทบ.และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. เป็นอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทในการยึดอำนาจ และมีบทบาทสำคัญในการทำงานระยะที่ 1 ของคสช. โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมต่างๆ บิ๊กต๊อกเป็นนักเรียนเตรียมทหาร รุ่น 15 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ว่าที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ,พล.ท.ปรีชา จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 3
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า พล.อ.ไพบูลย์ นั้นยังมีลุ้นตำแหน่ง ผบ.ทบ. ร่วมกับพล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร แต่ล่าสุดมีความเป็นไปได้ว่า พล.อ.ไพบูลย์จะถูกย้ายไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม
10.นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน
ปัจจุบันอายุ 69 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยเวสเทิร์น ออสเตรเลีย ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์ โดยทำงานเป็นนักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจด้านการเงิน
เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นอกจากนี้ยังเคยเป็นส.ว. ช่วงปี 2535 และเป็นสนช. ปี 2549 และ ปี 2557 อย่างไรก็ตามต่อมาได้ลาออกจาก สนช. เพื่อมารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
11.นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง
ปัจจุบันอายุ 70 ปี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมดี) ในปี พ.ศ. 2510 และปริญญาโทสาขาเดียวกัน ในปี พ.ศ. 2513 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากนั้นได้เข้าศึกษาปริญญาโทด้านการวางแผนและพัฒนา ที่มหาวิทยาลัยวานเดอร์บิวล์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ในชีวิตราชการนั้น เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายสมหมาย ฮุนตระกูล) เมื่อปี พ.ศ. 2524 เคยเป็นรองผู้ว่าการฝ่ายบริหาร การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2525 - พ.ศ. 2528 จากนั้นจึงกลับเข้ารับราชการในกระทรวงการคลัง ในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านเงินกู้ ในปี พ.ศ. 2533 เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในปี พ.ศ. 2537 เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ในปี พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ภายหลังเกษียณ ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารทหารไทย ในระหว่างปี พ.ศ. 2546 - 2549
ด้านการเมืองเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ต้องพ้นจากตำแหน่งตามกฎหมายเมื่อ เนื่องจากศาลอาญา พิพากษาจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากกรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในการสั่งพักงาน นายทัศพงษ์ วิชชุประภา ผู้บริหารบริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด เมื่อปี พ.ศ. 2547
12. นายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยี และสารสนเทศ
อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปี พ.ศ.2551 ยังเคยเป็นประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นอกจากนั้นยังเคยเป็นเป็นประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หลายวาระ ถือว่าเป็นเทคโนแครตชั้นนำของเมืองไทยคนหนึ่งและน่าจะมาช่วงคลี่คลายปัญหาพลังงานของสังคมไทยที่กำลังร้อนแรงให้ลดดีกรีลงไปได้บ้าง
13. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
อดีต ผบ.ทบ. และหนึ่งในทหารสาย "บูรพาพยัคฆ์" เป็นผู้มีบทบาทในการรัฐประหารปี 2549 โดยตอนนั้นบิ๊กป๊อกเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 และมีรองแม่ทัพภาค 1 ที่ชื่อ พล.ต.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นักเรียนเก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ รุ่น308-510 จากนั้นย้ายไปเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10 รุ่นเดียวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังการยึดอำนาจปี2549 บิ๊กป๊อกได้เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(คปค.) และยังเป็นหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ คมช. ต่อมาได้เป็นผบ.ทบ. ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2550
14.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์
ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 12 รุ่นเดียวกับนายกฯคนที่29 เคยเป็นเจ้ากรมการเงินทหารบก อดีตรองปลัดบัญชีทหารบก อดีตผู้ช่วย เสธ.ทบ. ฝ่ายส่งกำลังบำรุง อดีตรอง เสธ.ทบ. ก่อนขยับขึ้นพลเอก ในตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ นอกจากนี้ยังเคยเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5
15. นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รมว.อุตสาหกรรม
สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จาก California State University ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีประสบการณ์การทำงานทั้งในองค์กรภาครัฐและเอกชนอย่างมากมาย
เคยเป็นปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เลขาธิการสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการที่ปรึกษาฯ สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมถึงเคยเป็น สนช. ปี 2549 ด้วย นายจักรมณฑ์ยังได้ขึ้นเวที กปปส. ในวันที่ 1 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมาด้วย
16.นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์
ปัจจุบันอายุ 67 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาตร์จาก North East Missouri State University ปริญญาโท MPA. California State University
เคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และยังเคยเป็นปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯอีกด้วย การรับหน้าที่พญานาค1ในครั้งนี้ถือว่าไม่ผิดความคาดหมาย
17.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข
อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ประธานในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย จบการศึกษาจาก Fellow of the American College of Endocrinology, Fellow in Endocrinology, University of Massachusetts Medical School, U.S.A., อนุมัติบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม์ จากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมหิดลและแพทยสภา อนุมัติบัตรสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวจากแพทยสภา ประกาศนียบัตรชั้นสูงสาขาอายุรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล แพทยศาสตร์บัณฑิตจากคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และวิทยาศาสตร์บัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลภายหลังการยึดอำนาจ น.พ.รัชตะ ได้แต่งตั้งเป็น สนช. และลาออกในที่สุด
ในช่วงวิกฤตการเมืองปี 2556 -2557 น.พ.รัชตะ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย มีแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลยุติการทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ หลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ยุบสภาไปเมื่อเดือน ธ.ค.2556
18.พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อดีตรองผู้บัญชาการทหารบก และอดีตเสนาธิการทหารบก เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับบิ๊กตู่ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 บิ๊กหนุ่ยได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย
พล.อ.ดาว์พงษ์ มีบทบาทในช่วงการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ปี 2553 ซึ่งขณะนั้น โดยมีตำแหน่งเป็นเลขาธิการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และถูกมองว่าเป็นหนึ่งในผู้ร่วมทำแผนปฏิบัติการกระชับพื้นที่
บิ๊กหนุ่ยยังมีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำโครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเป็นผู้วางแผนงานต่าง ๆ ในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบรวมถึงเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ร.ต.อ.ดร.เฉลิม อยู่บำรุง)
เพื่อนสนิทของนายกฯคนนี้ยังเป็นกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ซึ่งมีชื่อของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเป็นประธานกรรมการ ซึ่งในมูลนิธินี้นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์หลายชีวิตได้มาร่วมเป็นกรรมการด้วย
19.นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา
นักเรียนเก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และเตรียมอุดมศึกษา หลายดีกรีในหลากหลักสูตร ปัจจุบันอายุ54ปี ประธานกรรมการบริหารบริษัทโตชิบ้า ไทยแลนด์ จำกัด หลังการยึดอำนาจได้รับการแต่งตั้งเป็นสนช.และลาออกมาไม่กี่วันก่อนที่จะมีการโปรดเกล้าฯ
20.พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน
อายุ 59 ปี เพื่อนร่วมรุ่นบิ๊กตู่ เติบโตในรั้วสีเขียวสายกิจการพลเรือนในตำแหน่งสำคัญ เช่น เจ้ากรมกิจการพลเรือน ผู้ช่วยเสธ.ทบ.ฝ่ายกิจการพลเรือน รองเสนาธิการทบ.และรองปลัดกระทรวงกลาโหม รับเก้าอี้ใหญ่เป็นปลัดกระทรวงกลาโหมหลังจากคสช.ยึดอำนาจ และการเป็นรัฐมนตรีแรงงานครั้งนี้บิ๊กตู่น่าจะวางคนได้เหมาะกับภารกิจ
21.พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รมว.ศึกษาธิการ
เสมา 1 และ ผบ.ทร.คนปัจจุบัน และยังเป็นรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา ปัจจุบันอายุ 60 ปี จบการศึกษาโรงเรียนอำนวยศิลป์ ต่อมาเข้าเตรียมทหารรุ่น13และนักเรียนนายเรือรุ่น20 เติบโตในแวดวงตะหานน้ำมาตลอด หน้าที่เด่นๆคือ เจ้ากรมยุทธการ ทหารเรือ รองเสนาธิการทหารเรือ รองผบ.ทร. และ ผบ.ทรในปี 2555
22.นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม
อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม อายุ 63 ปี จบการศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคว้าปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รับราชการในกระทรวงนี้และผ่านงานอธิบดีกรมศิลปากรมาแล้ว รวมทั้งยังรับรางวัลด้านต่างๆ มากมา
23.นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และยังเป็นประธานบอร์ดการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคตามคำสั่ง คสช. ชายผู้นี้ถือว่าเป็นบุคคลชั้นนำของเมืองไทยในแวดวงไอทีและการศึกษา การที่พล.อ.ประยุทธ์เลือกเข้ามาช่วยงานในตำแหน่ง รมช.ไอซีทีนั้น ถือว่าการได้เทคโนแครตคนหนึ่งของเมืองไทยมาทำงานในภาวะไม่ปกติเช่นนี้ ต้องยกย่องบิ๊กตู่ที่คัดคนมาถูกที่และถูกเวลา แต่ผลสัมฤทธิ์หลังการทำงานนั้นต้องติดตาม
24.นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ
ผอ.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีแบบไม่มีใครคาดคิด รับราชการในหน่วยงานนี้มานานและมีกระแสข่าวว่ามีความคุ้นเคยกับหัวหน้า คสช.มากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงได้รับหน้าที่เสนาบดีในคราวนี้
25.มล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ
จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารคิงส์ ประเทศออสเตรเลีย โดยสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ และปริญญาโททางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จาก Brigham Young University สหรัฐอเมริกา และได้เข้าศึกษาหลักสูตรวิชาประวัติศาสตร์ไทย-ญี่ปุ่น เปรียบเทียบ ณ Sophia University ประเทศญี่ปุ่น
ผ่านการศึกษาหลักสูตรนักปกครองชั้นสูงจากวิทยาลัยมหาดไทย และหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่น 2550
เข้ารับราชการในตำแหน่ง อาจารย์ ของกองทัพบก จากนั้นได้โอนย้ายมารับราชการ สังกัดกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เติบโตตามสายราชการตามลำดับและเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ จนกระทั่งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2555 จึงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และในปี 2557 คสช.ได้แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อีกหน้าที่หนึ่ง รวมทั้งเป็นหนึ่งในทีมตรวจสอบสต๊อกโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วด้วย
26.พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ
รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา คนนี้เพิ่งสละเก้าอี้สนช.จากสภาหินอ่อนเพื่อร่วมครม.ประยุทธ์1 บิ๊กน้อยคนนี้อายุ59ปี รับราชการในกองทัพตั้งแต่ผบ.กองพลทหารราบที่4 รองแม่ทัพภาคที่3 ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายกิจการพลเรือน และรองเสนาธิการทหารบก
27.นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข
นายแพทย์นักวิชาการคนนี้อายุ61ปี รับราชการในกระทรวงนี้มานาน มีบทบาทในคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศและเลขานุการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
28.นายอาคม เติมพิทยาไพศิฐ รมช.คมนาคม
นักเรียนเก่าโรงเรียนอำนวยศิลป์ ปริญญาตรีสาขาเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร Williams College, USA.
เติบโตในสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนได้เป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้หลังการยึดอำนาจ เขาได้รับแต่งตั้งเป็น สนช. และได้ลาออกในที่สุด
29. นายสุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย
มท.2 คนนี้เป็นเพื่อนนักเรียนชมพู-ม่วง สมัยมศ.4 ตอน 25 ปีการศึกษา 2509 คู่กับมท.1 และในห้องนี้ยังมีชื่อพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร รวมอยู่ด้วย สิงห์ดำคนนี้จบการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับราชการกระทรวงคลองหลอดมาจนเกษียณในเก้าอี้รองปลัดกระทรวงมหาดไทยและเคยเป็นผู้ว่าฯ หลายจังหวัด
30. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์
จบการศึกษาปริญญาตรีทางพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโททางบริหารธุรกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยซีราคิว สหรัฐอเมริกา อบรมหลักสูตรนโยบายว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้าที่เจนีวา
รับราชการที่กระทรวงพาณิชย์มาโดยตลอด ไต่เต้าทางอาชีพการงานเป็นลำดับ ตั้งแต่ เศรษฐกรตรี กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เศรษฐกรโท กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ เศรษฐกรเอก กรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ผูแทนประเทศไทยด้านการพาณิชย์หลายวาระ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ของคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครเจนีวาประเทศสวิสเซอร์แลนด์ รองอธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) อธิบดีกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ จบชีวิตราชการบนเก้าอี้รองปลัดกระทรวงพาณิชย์
31.ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ
เกิด 11 พ.ย. พ.ศ. 2489 ที่ปรึกษาโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ (องค์การมหาชน) อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี บุตรของนายเกรียง กีรติกร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เคยได้รับรางวัลพระราชทาน เนื่องในการสอบได้เป็นที่ 1 ของประเทศไทย ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย สายวิทยาศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 ถือว่าเป็นเทคโนแครตด้านการศึกษาคนหนึ่งของเมืองไทยที่น่าจับตาว่าจะช่วยการปฏิรูปการศึกษาให้พลเอกประยุทธ์ได้สมปรารถนาหรือไม่
32.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ
นักเรียนเก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย และคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ (1 ปีเมื่อ 2510-2511/รุ่น 20 ก่อนรับทุนกพ.เรียนต่อสหรัฐฯ) UCLA (ป.ตรีและโท) Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University (ป.โท) และ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ 36/ปรอ.6 หรือ วปรอ.366)รับราชกาที่กระทรวงการต่างประเทศ
อายุงาน 36ปี ทำงานตั้งแต่รัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์จนถึงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถือว่าเป็นนักการทูตชั้นนำของกระทรวงบัวแก้วที่มีคุณภาพคนหนึ่ง การเข้าร่วมรัฐนาวาประยุทธ์1คราวนี้ต้องดูว่าท่านทูตดอนจะอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้แจงนานาประเทศให้เข้าใจและร่วมงานกับประเทศไทยได้ดั่งเดิมหรือไม่
33.พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม
รองบัญชาการทหารบก เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อดีตเสนาธิการทหารบก อดีตแม่ทัพภาคที่ 1 เกิดเมื่อวันที่ 15 ส.ค. พ.ศ. 2498 บิ๊กโด่ง เป็นบุตรของพลเอก เลิศรบ สีตบุตรกับนางประณีต สีตบุตร มีพี่ชาย 1 คน คือพลอากาศเอก ไพศาล สีตบุตร นักเรียนเก่าโรงเรียนเซนต์คาเบรียล ตรียมทหาร รุ่นที่ 14 โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 เป็นน้องรักของบิ๊กตู่ควบคู่กับบิ๊กต๊อก ซึ่งสองคนนี้เป็นแคนดิเดทเบียดเก้าอี้ทบ.1ด้วยกัน ล่าสุดบิ๊กโด่งมีชิ่อเข้าเป็นสนามไชย2 เพื่อมาช่วยงานพล.อ.สุรศักดิ์ด้วย
ที่มา
กรุงเทพธุรกิจ
ขอบคุณรูปภาพจาก http://news.mthai.com/
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ