เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนการติดตามกระบวนการจัดทำ และพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ภาคอีสานขึ้น โดยคณะกรรมการประสานงานองค์กรเอกชนพัฒนาชนบท ภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และวิทยาลัยการเมืองการปกครองมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มีผู้เข้าร่วมกว่า 40 คน จากเครือข่ายนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการของรัฐ และเอกชน ในภาคอีสาน เข้าร่วม อาทิ นักวิชาการคณะวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน สภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงงานยางพารา ฯลฯ
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สำหรับกระบวนการตัดสินใจของรัฐบาลในโครงการขนาดใหญ่ จะต้องมีการจัดทำรายงานอีไอเอ หรืออีเอชไอเอ ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ก่อนจะพิจารณาอนุมัติโครงการ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมานักการเมืองที่มาเป็นรัฐบาลมักจะอนุมัติโครงการก่อนแล้วค่อยทำรายงานฯ เพื่อเป็นตรายางให้กับโครงการ ดังกรณีเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
นอกจากนี้ก็มีกลุ่มนักวิชาการที่อาศัยสถาบันการศึกษาและบริษัทที่ปรึกษาที่ผูกขาดธุรกิจรับจ้างทำรายงานฯ จากเจ้าของโครงการ โดยอ้างความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสร้างความชอบธรรม ทำรายงานที่เป็นเท็จ และเอื้อประโยชน์ให้กับโครงการ
“ผมเสนอว่าต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการพิจารณารายงานฯ ทั้งคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้เป็นองค์กรอิสระที่ปลอดจากอิทธิพลของนักการเมืองและนายทุน” ดร.ไชยณรงค์กล่าว
ดร.ไชยณรงค์กล่าวต่อว่า ความรู้ท้องถิ่นด้านสิ่งแวดล้อมเชิงวัฒนธรรม และสิทธิชุมชนของชาวบ้านจะต้องถูกยอมรับอย่างเทียบเท่ากับความรู้แบบวิทยาศาสตร์ของนักวิชาการที่รับจ้างทำรายงานฯ โดยเจ้าของโครงการจะต้องจัดเงินทุนให้ชาวบ้านและนักวิชาการอิสระที่ชาวบ้านเลือกทำรายงาน แล้วนำรายงานเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการพิจาณาของหน่วยงาน องค์กรอิสระทางสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน
ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานโครงการนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเนื้อหาที่มากกว่าการทำอีไอเอ แต่ขบวนการชาวบ้านก็ยังเคลื่อนไหวไม่ยอมรับการทำอีเอชไอเอ ตั้งแต่กระบวนการเริ่มแรกก็คือเวทีกำหนดกรอบเบื้องต้น (พับลิคสโคปปิ้ง) โดยเฉพาะกิจการเหมืองแร่ ที่เห็นได้ชัดก็คือ เหมืองทองคำ จ.เลย และเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรฯ เนื่องจากก่อนทำรายงานอีเอชไอเอ กพร. (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และเจ้าของโครงการ จะต้องทำการรังวัดขึ้นรูปแผนที่และไต่สวน คำขอประกอบประทานบัตร แต่ปรากฏว่าข้อมูลในใบไต่สวนเป็นข้อมูลเท็จ ที่ไม่ตรงกับสภาพข้อเท็จจริงในพื้นที่ ก็คือว่าการรังวัดปักหมุดทับที่ทำกินชาวบ้าน ทับทางน้ำ ทางสาธารณะที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน ทับซ้อนพื้นที่ป่า ทับซ้อนที่ดิน สปก.แต่ในใบไต่สวนบอกว่าไม่มี อย่างนี้เป็นต้น
นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์
“มีการทำข้อมูลก่อนถึงขั้นตอนพับลิค สโคปปิ้ง คือกำหนดขอบเขตการศึกษาผลกระทบที่จะประเมิน ซึ่งเป็นข้อมูลเท็จแล้วนำมาประกอบในกระบวนการจัดทำรายงานอีเอชไอเอ มันเลยทำให้ชาวบ้านไม่ยอมรับเครื่องมือใหม่นี้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกสุด” นายเลิศศักดิ์กล่าว
ขณะที่น.ส.สดใส สร่างโศรก กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า การทำโรงไฟฟ้าชีมวล ขนาดไม่เกิน 10 เมกกะวัตตต์ ตามกฎหมายไม่ต้องทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ ซึ่งพบว่าขณะนี้กำลังมีการเสนอขายไฟฟ้าให้กับรัฐบาล และจะดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในชุมชน จำนวน 1,000 กว่าโรง ทั่วประเทศ ในขณะที่คนในชุมชนไม่ได้รับข้อมูลโครงการ
“ชาวบ้านที่ จ.อุบลราชธานี ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ว่ากระบวนการออกใบอนุญาตให้กับเจ้าของโรงไฟฟ้าชีวมวลมิชอบ โดยไม่มีการให้ข้อมูลชาวบ้าน และไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชน ซึ่งศาลก็ให้ความคุ้มครองว่า ชาวบ้านมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร เมื่อไม่มีการทำอีไอเอ ก็ให้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเข้ามาใช้” น.ส.สดใสกล่าว
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ