หากเอ่ยนามเพลโต ‘รีพับลิก’ (REPUBLIC) งานเขียนที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขา น่าจะเป็นสิ่งที่หนอนหนังสือหรือผู้ที่สนใจปรัชญานึกถึงเป็นอันดับแรกๆ น่าเสียดายว่ารีพับลิกภาคภาษาไทยไม่ได้รับการตีพิมพ์มานานมาก อาจเป็นเพราะสำนักพิมพ์มองไม่เห็นความคุ้มค่าในเชิงธุรกิจ ซ้ำไม่มีใครคิดจะแปลสำนวนใหม่ออกมา
แม้ว่าเมืองไทยจะมีนักวิชาการด้านปรัชญาจำนวนไม่น้อย แต่ไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดดูประหนึ่งว่าไม่มีใครสนใจจะแปลงานปรัชญาคลาสสิกเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ คือความอึดอัดคับข้องที่ผลักดันให้ เวธัส โพธารามิก ที่เฝ้าถามว่า ‘ทำไมไม่มีใครแปล’ มาตั้งแต่วัยเยาว์ลงมือศึกษาภาษากรีกโบราณและแปลรีพับลิกด้วยตนเอง โดยไม่ขอคำปรึกษาใดๆ จากนักวิชาการด้านปรัชญา และเลือกพิมพ์กับโครงการวรรณกรรมไม่จำกัด
(อ่านบทสัมภาษณ์ ‘โครงการวรรณกรรมไม่จำกัด’ ได้ที่ http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=3631)
คำพูดของเวธัสอาจสร้างความรู้สึกหมั่นไส้แก่นักวิชาการปรัชญาและเห็นว่าเขาเป็นคนหนุ่มที่โอหัง ทว่า การแปลรีพับลิกมิใช่เพียงเพื่อระบายความอึดอัดขับค้องใจในอดีต แต่ยังมุ่งหวังและมุ่งหมายท้าทายขนบในแวดวงปรัชญาไทย และบทสนทนาครั้งนี้ เวธัสยังเรียกร้องให้สังคมไทยท้าทายพุทธศาสนา เพื่อถากถางที่ทางให้ปรัชญาได้ลงรากในสังคมไทยเสียที
TCIJ: รู้ตัวว่าชื่นชอบปรัชญาตั้งแต่ตอนไหน
เวธัส: ผมเป็นคนชอบอ่านและสนใจปรัชญาตั้งแต่เด็ก เล่มแรกสุดที่อ่านคือไปเจอหนังสือ Interpretation of Dream ของฟรอยด์ ในห้องสมุดโรงเรียน ม.ปลาย จนกระทั่งเรารู้สึกว่าชอบ จึงศึกษามาเรื่อย บวกกับความเชื่อส่วนตัวว่าความรู้ทั้งหมดต้องเกิดจากตัวเราเอง เราต้องศึกษาด้วยตัวเราเอง
ภาษากรีกโบราณผมศึกษาเอง เดี๋ยวนี้มันมีแหล่งข้อมูลมากมายในอินเตอร์เน็ต แล้วผมก็ค่อยๆ แกะ ทีนี้เวลาที่ศึกษา ผมศึกษาหลายภาษา ผมเชื่อในความรู้ ผมเชื่อว่าความรู้มีคุณค่าในตัวมันเอง สำหรับผม ความรู้ไม่ใช่สิ่งที่เราศึกษาเพื่อนำไปรับใช้เป้าหมายใด แต่เป็นการรู้เพื่อรู้ เมื่อเราคิดอย่างนี้ อะไรที่เราไม่รู้ เราก็ไม่กลัว และจะทำให้เรารู้
TCIJ: มีงานปรัชญาคลาสสิกมากมายในโลก ทำไมเลือกรีพับลิก
เวธัส: มันเป็นความฝังใจตอนเด็กๆ สมัยประถม แม่ผมเรียนประวัติศาสตร์ ผมก็ได้ยินชื่อเพลโต โฮมเมอร์ เชคสเปียร์ ผมก็จะถามพ่อกับแม่ว่าเมื่อไหร่จะมีงานแปลของคนเหล่านี้ออกมา แต่โตขึ้นมาจนยี่สิบห้าแล้วก็ยังไม่มีใครแปล เราก็เริ่มมองย้อนกลับไปว่ามีอะไรที่เราอยากทำ สุดท้ายเราก็เลยคิดว่า เราทำเองดีกว่า
TCIJ: ใช้เวลากับภาษากรีกโบราณนานมั้ยครับกว่าจะแปลรีพับลิกได้
เวธัส: ไม่นานครับ คือเราศึกษามาเรื่อยๆ แล้วเราก็ชอบ ภาษากรีกโบราณเป็นภาษาที่ตายแล้ว ไม่สามารถเรียนไปเพื่อสนทนาได้แล้ว นอกเสียจากเราจะเรียนไปเพื่ออ่านบทกวีของโฮมเมอร์ ซึ่งมีฉันทลักษณ์ของมัน แบบนี้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราจะเรียนเพื่ออ่านให้ออกอย่างเดียว ไม่ยาก และปัจจุบันหนังสือรีพับลิกเองก็มีการแปลหลากหลายสำนวนมาก มีทั้งประเภทที่แปลคำต่อคำโดยไม่สนใจความหมายก็มี มันก็ช่วยเราได้เยอะมาก
TCIJ: กระบวนการทำงานแปลรีพับลิก
เวธัส: ตอนจะเริ่มแปล ผมต้องเปิดดัชนีก่อน คือต้องไปดูก่อนว่าคำคำไหนที่คนเขาเห็นว่ามันสำคัญในรีพับลิก เช่น คำว่า ซูเค่ หรือไซคี หรือจิตวิญญาณ หรือคำว่า โพลิเทอา ระบอบการปกครอง เราจำเป็นต้องเคาะคำชุดหนึ่งออกมาก่อนว่าคำพวกนี้เราจะแปลตามบริบทให้มีความหมายหลากหลายไม่ได้ ความสมบูรณ์ของการแปลงานกรีกโบราณมันขึ้นอยู่กับว่าคุณรักษาคำเอาไว้ได้แค่ไหน เช่น คำว่า เอดอส ที่หมายถึงแบบ ซึ่งใช้ในชีวิตประจำวันด้วย อย่างเราพูดว่ากาแฟมีกี่แบบ หนังสือมีกี่แบบ ดังนั้น เวลาเราแปล เราก็ต้องคิดว่าจะรักษาคำว่า เอดอส แปลว่ารูปแบบทุกคำในตัวเล่มเลยหรือเปล่า หรือเราจะรักษาไว้แค่บางจุดที่มันเฉพาะ ซึ่งสุดท้ายผมตัดสินใจว่าใช้เหมือนกันหมดทั้งเล่ม เพราะบางจุดถ้าเราแปลเอดอสเป็นชนิดหรือช่วงชั้น มันจะฟังเมคเซ้นส์กว่า ตรงกับบริบทมากกว่า แต่ผมอยากรักษาไว้เพื่อแสดงให้คนอ่านเห็นว่า มันเป็นคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้และเพลโตก็ใช้มันอย่างหลากหลายนะ เวลาผมแปลความยุ่งยากของมันคือตรงนี้มากกว่า คือการรักษาความหมายของคำที่เรากำหนดเอาไว้ ซึ่งมีเยอะพอสมควร
TCIJ: คุณหมดเวลากับรีพับลิกไปเท่าไหร่
เวธัส: ผมใช้เวลาสี่เดือน คือผมเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง ผมคิดว่าสี่เดือนเสร็จ แล้วก็เสร็จ เสร็จก่อนวันเกิดอายุยี่สิบหกผมสิบวัน เป็นของขวัญวันเกิดให้ตัวเอง แล้วผมก็ใช้เวลาอีดิทคำให้ตรงกันตั้งแต่เล่มหนึ่งถึงเล่มสิบอีกประมาณสองเดือน
TCIJ: ได้อ่านเทียบเคียงกับสำนวนแปลก่อนหน้านี้บ้างหรือเปล่า
เวธัส: ของอาจารย์ปรีชา ช้างขวัญยืน ไม่ได้อ่าน คือโดยส่วนตัวจะเรียกว่าเป็นความรู้สึกแบบศิลปินนิดๆ ก็คงไม่ใช่มั้ง คือผมกลัวจะติดสำนวนเขา คือมีเพื่อนรุ่นน้องเอามาให้ แต่ผมไม่อ่าน เพราะกลัวติดสำนวน
TCIJ: ส่วนไหนของรีพับลิกที่ยากที่สุด หรือยากทั้งเล่ม
เวธัส: สิ่งที่ยากที่สุด เอาจริงๆ ก็คือตัวอภิปรัชญาของมัน ตัวปรัชญาการเมืองไม่ยาก อ่านแล้วก็เข้าใจ หรือแม้กระทั่งนิทานหลายๆ เรื่องอ่านแล้วก็สนุก คือภาษาของเพลโตเป็นภาษาที่มีความเป็นกวีอยู่ข้างใน บทสนทนาของโสเครตีสมีความพยายามที่จะพูดให้ตลก มีอารมณ์ของนิยายอยู่แล้ว แต่ที่มันยากจริงๆ คืออะไรที่หลุดออกจากบริบท เช่น เพลโตพูดถึงคณิตศาสตร์ อยู่ดีๆ เพลโตก็คำนวณสูตรคำนวณอะไรไม่รู้ออกมาเต็มไปหมด แล้วก็บอกว่าวิถีการเกิดของคนสามารถวัดค่าได้ด้วยตัวเลข ซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีความรู้ทางคณิตศาสตร์กรีกมากพอ มันก็เลยยากที่จะเข้าใจ
TCIJ: แล้วคุณทำยังไง
เวธัส: ก็แปลออกมาตรงตัวครับ แล้วทำเชิงอรรถ เชิงอรรถในเล่มเยอะมาก ผมเห็นหนังสือของจีนนะ เวลาเขาจะแปลหนังสือ เขาจะมีสมมติฐานเบื้องต้นว่าผู้อ่านไม่รู้อะไรเลย ดังนั้น ผู้แปลจึงมีความรับผิดชอบว่าจะทำอย่างไรให้คนอ่านที่มีความรู้จากศูนย์อ่านแล้วเข้าใจ ผู้อ่านทุกคนจะต้องไม่ใช่นักวิชาการ ไม่ใช่นักปรัชญา แต่จะต้องเป็นคนอยากอ่านและไม่มีความรู้ทางปรัชญา พอเขาอ่านแล้วรู้สึกว่าตรงนี้ยากไป ทำเชิงอรรถหน่อยสิ เราก็จะทำ แต่บางอันก็ยากจนท้อก็มีนะ อย่างตรรกะบางอย่างที่เราคิดไม่ออก
TCIJ: เจอแบบนี้ ต้องปรึกษาใครหรือเปล่า
เวธัส: ไม่มี ผมโลกส่วนตัวเยอะไง ไม่ต้องปรึกษา วันนั้นโชคดี นอนหลับไปแล้วฝันถึงเพลโต เชื่อมั้ย เพลโตก็อธิบายว่ามันคืออย่างนี้ๆๆ เราตื่นขึ้นมาก็เออ จริง เราก็รีบไปเขียน แต่มีหลายๆ จุดที่ผมก็รู้ตัวว่า การแปลแบบนี้นักวิชาการไทยไม่ชอบ
TCIJ: เพราะ
เวธัส: เพราะมันขัดกับปรัชญาบางอย่าง คือปรัชญาไทยมันมีรากฐานอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ผมขัดใจกับปรัชญาไทยมากที่สุดคือมันเต็มไปด้วยภาษาที่คนไม่เข้าใจ จริงๆ แล้วผมมองว่าปรัชญาคือการเข้าใจธรรมชาติ เอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมานิยามใหม่ เช่น การเป็น เวลาเราพูดว่า เป็น มันหมายถึงอะไร เราพูดกันอยู่แล้ว แต่ในทางปรัชญาหมายถึงอะไร แต่ว่าปรัชญาไทยกลับเป็นการเอาคำง่ายๆ มานิยามใหม่ให้มันยาก ซึ่งทำให้เราฟังทีแรกแปลว่าอะไรก็ไม่รู้ไปเลย
โดยอุดมการณ์ใหญ่ๆ ของผม ต้องการสร้างฐานขึ้นมาใหม่ ในรีพับลิกจะมีคำเดียวที่เข้าใจยาก เพราะผมยืมมาจาก ส.ศิวรักษ์ ก็คือคำว่า สิทธิธรรม มันหมายถึงเป็นจริยธรรมอย่างหนึ่งที่คุณจะต้องอุทิศตัวเองให้แก่เทพเจ้า มันเป็นหน้าที่ในฐานะพลเมืองที่คุณจะต้องเข้าร่วมพิธีกรรมของชุมชน ภาษากรีกคือโฮสิออส ส่วนคำอื่นๆ ผมพยายามทำให้มันง่ายที่สุด แล้วก็เอามานิยามใหม่ แล้วก็บอกว่าเพลโตใช้คำนี้นะ เช่นคำว่าความเข้าใจ สิ่งที่เพลโตสร้างคุณูปการให้แก่โลกคือการนำเอาคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันมาถามว่า มันแปลว่าอะไร เวลาเราพูดถึงความเข้าใจ มันหมายถึงอะไร ต่างกับการคิดมั้ย การเป็นคืออะไร มันคือการตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้ และเมื่อตั้งคำถามมันจะเริ่มเห็นว่า เออ ชีวิตที่เราใช้อยู่ มันวางอยู่บนความคลุมเครือเต็มไปหมด
TCIJ: คุณบอกเองว่ามันค่อนข้างขัดแย้งกับขนบปรัชญาของไทย แล้วคุณคิดว่าจะเกิดอะไรตามมา เช่น อาจมีนักวิชาการปรัชญาออกมาบอกว่าคุณแปลตรงนี้ผิด
เวธัส: มันก็เป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ ที่อยู่ดีๆ ก็มีคนมาบอก มาสร้างข้อถกเถียง เพราะเมื่อใดที่คุณชี้ว่าสิ่งนี้ผิด คุณก็ต้องให้เหตุผลว่าผิดเพราะอะไร ซึ่งนั่นทำให้เกิดการกระบวนการเรียนรู้ ถกเถียง
ผมถามคำถามนี้มาตลอดนะว่าเมื่อไหร่จะมีคนแปล ผมจึงเลือกที่จะแปลมันออกมาเอง ตอนที่ผมเริ่มแปล รุ่นน้องที่เรียนรัฐศาสตร์คนหนึ่งบอกผมว่า พี่รู้มั้ย พี่แปลหนังสือเล่มนี้มันกระทบคนหลายคนมาก เขาบอกว่าผมต้องมีความรับผิดชอบ บลาๆๆ ทำไมพี่ไม่ติดต่อนักวิชาการคนนี้ล่ะครับ บลาๆๆ ผมรู้สึกว่าในสำนึกของเด็กกลุ่มนี้ คนที่จะแปลงานแบบนี้ต้องเก่ง ต้องมีความเป็นเลิศ กล่าวคือสุดท้ายแล้วคาดหวังพระเอกขี่ม้าขาวหรือเปล่า คาดหวังว่าวันหนึ่งจะมีพระเอกขี่ม้าขาวมาแปล แล้วฉบับนี้จะใช้ได้เป็นสากล เป็นสิบยี่สิบปีใช่หรือเปล่า ถ้าผมแปลผิด คุณก็แปลเล่มใหม่ออกมาสิ สำนวนใหม่แปลออกมา แข่งกัน แล้วมันก็จะโต ผมว่าเราต้องการตรงนั้นมากกว่า ถ้าเรามัวแต่รอพระเอกขี่ม้าขาวก็เท่ากับเราไปมอบสิทธิอำนาจให้เขาฟรีๆ
นั่นเป็นสิ่งที่ผมคาดหวัง แต่ผมก็ยอมรับกับความล้มเหลวและความเสี่ยง เพราะการที่เราจะคาดหวังอะไรสักอย่างเราก็ต้องยอมรับว่ามันจะล้มได้ แต่ถามว่าคาดหวังมั้ย มันก็เป็นความฝัน บางจุดผมจงใจแปลให้เถียงได้ ผมก็รู้ว่าคำบางคำที่แปลออกไป เดี๋ยวก็มีคนมาด่าผม แต่มันก็ดีไม่ใช่เหรอ ถ้าเขาด่าผม เขาก็ต้องมีเหตุผลสนับสนุนว่าทำไมผมจึงแปลผิด ผมอยากให้เป็นอย่างนั้น แต่ผมไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า
TCIJ: ในแวดวงการแปล ถกเถียงกันว่า ควรจะรักษาความหมายของตัวบทไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้หรือควรแปลในฐานะของคนแปล...
เวธัส: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันได้ไม่จบสิ้น อันดับแรกเลย เราต้องเข้าใจว่าความถูกต้องของการแปลมันเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม เหมือนนิทานเวตาลสมัยก่อนที่ น.ม.ส. แปลไว้ เขาก็เอาตัวเองใส่เข้าไปเยอะมาก แต่ถึงอย่างนั้น ในยุคสมัยนั้นก็ใช้ได้ ดังนั้น ความถูกต้องของการแปลมันเปลี่ยนไปตามบริบทของประวัติศาสตร์หรือเปล่า นี่คือข้อแรก
ข้อต่อมา การแปลคุณไม่มีทางรู้ได้หรอกว่า สิ่งที่ผู้เขียนต้องการถ่ายทอดจริงๆ คืออะไร คุณต้องตีความ ถ้าผมแปลอย่างนี้ แล้วคุณเห็นว่าไม่ถูกและเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกกว่า คุณก็แปลออกมา กระบวนการอย่างนี้หรือเปล่าที่จะทำให้การแปลเติบโต ผมคิดว่าปัจจุบันบ้านเมืองเราคาดหวังว่าจะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาแปลให้มันถูกสำนวนเดียว คุณไม่ใช่เพลโต คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าอันไหนถูกจริงหรือไม่จริง แม้กระทั่งสำนวนภาษาอังกฤษเองก็มีหลายแบบ มีการตีความเต็มไปหมด
TCIJ: คุณแปลรีพับลิกโดยไม่ปรึกษานักวิชาการด้านปรัชญาเลย
เวธัส: โดยธรรมชาติแล้วผมไม่ใช่นักวิชาการและผมค่อนข้างจะมีอีโก้สูง ผมรู้ตัว ผมไม่ได้บอกว่าเขาไม่ดี ไม่เก่ง แต่ผมอีโก้สูงไง และผมก็มีอุดมการณ์ของผมว่า ผมแปลให้คนที่ไม่มีความรู้ปรัชญาอ่านก่อน ผมคิดว่าตรงนี้สำคัญกว่า เพราะในความคิดผม นักวิชาการกับเด็กรัฐศาสตร์อ่านภาษาอังกฤษออกอยู่แล้ว แล้วก็มีอยู่กระจุกเดียวในประเทศไทย ในความเห็นผม ทำไมเราไม่วางกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนอีกห้าสิบล้านคนที่ไม่สนใจ คนที่คิดว่าปรัชญามันยาก คนที่อ่านแล้วไม่เข้าใจ
TCIJ: คุณชื่นชอบปรัชญาจนต้องลงมือแปลรีพับลิกด้วยตนเอง อะไรคือเสน่ห์ของปรัชญาที่ทำให้หลงใหลปรัชญา
เวธัส: สำหรับผม ปรัชญาคือวิชาที่ทำให้คุณนิยามสิ่งที่คุณเห็นใหม่อีกรอบ เหมือนเราเดินออกจากบ้านทุกวัน แต่วันดีคืนดีเราได้อ่านหนังสือเล่มหนึ่ง แล้วมันทำให้เราเห็นอะไรใหม่หมดตอนเดินออกจากบ้าน ทำให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็นระหว่างทาง ตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเห็นความเป็นจริงที่ซ้อนอยู่ในความจริง ผมว่าเสน่ห์ของปรัชญาคือตรงนี้ ตรงที่มันพยายามจะนิยามความเป็นจริงของโลกมนุษย์
ผมไม่คิดว่าปรัชญาเป็นวิชาที่ต้องปีนบันไดอ่าน แต่คิดว่าฐานทางปรัชญาของบ้านเราทำให้ต้องปีนบันได้อ่าน เพราะว่าส่วนหนึ่งของปรัชญาบ้านเราเข้ามาผ่านทางพระ ไม่รู้จะเกี่ยวกันมั้ยนะ แต่ภาษาที่ใช้กับปรัชญาในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นภาษาที่คิดค้นขึ้นใหม่ โดยที่บางคำจับเค้าเดิมไม่ได้ คุณต้องรู้บาลี สันสกฤตซะหน่อย ถึงจะจับเค้าได้ มันจึงทำให้ภาพลักษณ์ของปรัชญาบ้านเราเป็นอะไรที่ดูแล้วเหนือล้ำจากโลกปัจจุบันมาก ผมคิดอย่างนั้นนะ
เอาอย่างนี้ดีกว่า สมมติว่าคุณรู้จักภาษาอังกฤษดีมาก แต่คุณไม่เคยเรียนปรัชญามาก่อน ทันทีที่คุณได้ยินคำว่า Being คุณนึกถึงอะไร คือมันมีคำศัพท์ชุดนี้อยู่แล้วในชีวิตประจำวัน พอได้ยินคำนี้ แน่นอนว่ามันจะต้องเชื่อมโยงกับสิ่งที่คุณคิดและสิ่งที่คุณใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ชุดนี้เมืองไทยไม่มี ถ้าเราแปลคำว่า Being เป็นคำที่เหนือล้ำไปเลย เช่น มีคนแปลว่า สัต มันก็หลุดออกไปแล้ว ประสบการณ์ที่คนรู้ภาษาอังกฤษจะลิงค์กับชีวิตประจำวันได้กับคนไทยที่อ่านคำนี้ มันคนละอย่างกันแล้ว มันทำให้ความรู้สึกในภาพรวมต่อปรัชญามันต่างกัน
TCIJ: แต่ศาสตร์อื่นไม่สามารถพาเราไปหาความจริงได้เหรอครับ
เวธัส: อาจเพราะผมชอบปรัชญาด้วยมั้ง ผมก็เลยเข้าข้างปรัชญา คือยังคิดว่า...พูดยังไงดี ในยุคสมัยก่อนทุกวิชามันเป็นปรัชญาหมด เพราะโดยพื้นฐานแล้วปรัชญาหรือ Philosophy มันคือความรักในปัญญา ฉะนั้น ในยุคแรกสุดไม่ว่าจะอะไรก็เป็นปรัชญา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็เป็นปรัชญา การแบ่งวิชาเพิ่งจะมาทำอย่างจริงๆ จังๆ เอาอย่างนี้ดีกว่า มันเริ่มจะมาแบ่งอย่างเป็นระบบครั้งแรกสมัยอริสโตเติ้ล คุณูปการของอริสโตเติ้ลคือการพยายามแบ่งวิชาต่างๆ ออกเป็นชุดๆ
จะบอกว่าปรัชญามันตอบความจริงคนละชุดกัน มันก็ไม่เชิง เพราะปรัชญาเป็นฐานมากกว่า มันเป็นฐานของทุกๆ วิชาที่พยายามค้นหาว่า วิชานั้นๆ มันมีฐานคิดอย่างไรและทำงานอย่างไร เหมือนกับเราพูดถึงเศรษฐศาสตร์ วิชาเศรษฐศาสตร์กับปรัชญาของเศรษฐศาสตร์ก็เป็นคนละอย่างกัน ถ้าเราพูดถึงปรัชญาของเศรษฐศาสตร์ เราก็จะพูดถึงว่าเศรษฐศาสตร์มีกระบวนการคิดอย่างไร มันเชื่อว่าอะไรคือความจริง มีวิธีค้นหาคำตอบอย่างไร และท้ายที่สุดแล้ว ทำไมเศรษฐศาสตร์จึงเป็นเศรษฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์คืออะไร
TCIJ: ถ้าอย่างนั้นอะไรทำให้ปรัชญาไม่สามารถลงหลักปักฐานในเมืองไทย หรือจริงๆ แล้วความต้องการให้มันลงหลักปักฐานเป็นความทะเยอทะยานที่ยังไม่จำเป็น
เวธัส: คือปรัชญาเข้ามาในเมืองไทยผ่านพระ ดังนั้น การอ่านปรัชญาไม่ว่ายุคสมัยไหนจึงเป็นการอ่านโดยมีตัวเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา ถามว่าทำไมจึงลงหลักปักฐานไม่ได้ ก็เป็นเพราะมันอ่านภายใต้การอ่านพุทธศาสนา ทีนี้ ด้วยความที่เป็นนักบวช ศรัทธาก็เป็นสิ่งสำคัญกว่า ท้ายที่สุดแล้ว ปรัชญาจะถูกยกออกไปในฐานะศาสตร์ที่ใช้งานไม่ได้จริง และบอกว่าพุทธศาสนาใช้ได้จริงมากกว่า ผมคิดว่าตรงนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปรัชญาลงรากในเมืองไทยไม่ได้
อีกอย่าง หนังสือปรัชญาในเมืองไทยที่คนไทยเขียน ไม่ได้เขียนในเซ้นส์ของปรัชญา แต่เขียนในเซ้นส์ของพุทธศาสนาว่า คุณต้องมีศรัทธาบางอย่างในตัวนะ กล่าวคือหนังสือปรัชญาที่คนไทยเขียนไม่ได้เขียนในลักษณะที่มีตรรกะเป็นฐาน เชื่อมโยงกัน และโน้มน้าวคนอ่านให้เชื่อแบบนั้น ที่สุดแล้ว พอถึงจุดหนึ่งจะเป็นการเขียนหนังสือปรัชญาเหมือนเขียนหนังสือพุทธ คือเป็นการอ้างว่าสุดท้ายแล้ว เพลโตก็พูดแบบนี้เอง เหมือนกับที่พระพุทธองค์ก็พูดแบบนี้ แต่ไม่มีใครคิดว่า โครงสร้างความคิดทั้งหมดของเพลโตหน้าตาอย่างไร สิ่งที่เพลโตพูดไม่ได้ถูก แต่ด้วยความที่โครงสร้างความคิดของเพลโตเป็นแบบนี้ เขาจึงคิดแบบนี้ ไม่ค่อยมีใครเขียนแบบนี้ไงครับ เขียนแบบปรัชญา แต่เป็นการเขียนแบบศาสนามาก อันนี้เป็นข้อหนึ่ง
ส่วนอีกข้อหนึ่งที่เป็นความเห็นส่วนตัว ก็อย่างที่บอก ภาษาที่เขาใช้ คือไม่ถึงกับไม่มีฐานเสียทีเดียวนะครับ บางเว็บไซต์อย่างเป็นสารานุกรมปรัชญาเมืองไทย เวลาอ่านผมมีความรู้สึกอย่างหนึ่งคือคำทุกคำที่ใช้เป็นคำที่ลิงค์กับชีวิตประจำวันได้ค่อนข้างยาก เอาอย่างนี้นะ ตัวอย่างของคนที่ศึกษาเพลโตในปัจจุบัน เขาจะตั้งคำถามว่าทำไมปรัชญาของเพลโตจึงยังใช้ได้อยู่ในชีวิตประจำวัน มันเป็นคำถามทำนองนี้สำหรับคนที่บ้าคลั่งเพลโต คือทำยังไงให้เพลโตยังไม่ตาย ทำยังไงให้ปรัชญาของเพลโตสะท้อนในชีวิตประจำวันได้ทุกอย่าง...หรือเปล่า มีบางคนเสนอว่า เรื่องแบบในอุดมคติของเพลโตจำเป็นต้องมีในปรัชญาทุกๆ แขนง เพราะถ้าไม่มี ความคิดมันทำงานไม่ได้ คุณจำเป็นต้องมีแบบ แบบที่คุณกับผมมีร่วมกัน แล้วมาเชื่อมกัน อย่างน้อยคนในสังคมต้องมีแบบของอุดมคตินี้เชื่อมกัน คนจึงจะสื่อสารกันได้ นี่คือคำอธิบายหนึ่งที่บอกว่าจะเอาเพลโตมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร และคุณมองเห็นอะไร แต่ในเมืองไทยไม่มีอย่างนั้น อ่านแล้วมองไม่เห็น
TCIJ: เข้าใจว่ามีนักวิชาการไทยและพระจำนวนหนึ่งที่พยายามอธิบายพุทธศาสนาอย่างเป็นโครงสร้างทางความคิด
เวธัส: คืออย่างนี้ ขอพูดถึงปรัชญาตะวันตกแป๊บหนึ่งก่อน ขณะที่ปรัชญาตะวันตกบ้านเราไม่สามารถเชื่อมกับอะไรได้เลย ถูกต้องมั้ย ขณะเดียวกัน บ้านเรามีความโน้มเอียงไปทางพุทธ นี่ผมกำลังพูดถึงในเซ้นส์ของปรัชญานะ แต่ปรัชญาทางพุทธผมอาจจะไม่รู้มาก แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเขายอมให้เถียงได้มากน้อยแค่ไหนว่าคุณเถียงพระพุทธเจ้าได้หรือเปล่า หรือพระพุทธเจ้าต้องถูกต้องตลอดกาลหรือเปล่า หรือคุณเคยตั้งคำถามมั้ยว่าอะไรที่ทำให้สิ่งที่พระพุทธเจ้าพูด มันไม่เมคเซ้นส์บ้าง มันเหมือนกับเรายังติดอยู่กับ Authority มากไป พูดรวมๆ คงเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าถามถึงปรัชญาพุทธ ผมก็ไม่ได้รู้มากขนาดนั้น
TCIJ: จำเป็นหรือยังที่ปรัชญาไทยต้องต่อสู้ คัดง้าง กับศรัทธาในพุทธศาสนา
เวธัส: ถ้าถามผม ผมว่าจำเป็นตั้งนานแล้ว ไม่ต้องถึงขั้นต่อสู้ครับ เอาแค่ตระหนักให้ได้ก่อนว่านี่คือศรัทธานะ วันก่อนผมยังนั่งเถียงเรื่องนี้อยู่เลย เถียงกับคนที่พุทธจ๋า ทุกอย่างต้องพุทธ ทุกอย่างก็อ้างพุทธองค์ มันเป็นเรื่องน่าตลกที่คนเหล่านี้อ้างชื่อศาสดาของตนขึ้นมาลอยๆ มาก แต่ไม่ยอมให้ใครวิจารณ์ ทันทีที่ใครสวนไป โดนด่ากลับ
ไม่ต้องถึงขั้นต่อสู้ แต่ถึงขั้นตั้งคำถามให้ได้ก่อนว่า สิ่งที่พระพุทธองค์พูด ถ้ามันจะผิด มันผิดตรงไหนและผิดอย่างไร แต่เท่าที่ผมเห็นนะ ผมมีความรู้สึกว่า คนที่ศึกษาพุทธศาสนาจะสันนิษฐานไว้ก่อนว่าสิ่งที่พระพุทธองค์พูดต้องถูกต้อง แล้วเขาก็ไม่ได้ตั้งคำถาม สุดท้ายก็เอาสิ่งที่พระพุทธองค์พูดมาประยุกต์ใช้ ถูกมั้ย ถ้าทำแบบนี้ความรู้มันก็ตันไงครับ เพราะคุณจะมีความจริงชุดหนึ่ง แล้วคุณเอาออกมาใช้เรื่อยๆ มันก็ไม่โต นอกเสียจากคุณจะคิดได้ว่า มันสมควรที่จะมีความคิดอีกชุดหนึ่งที่ถกเถียงกับความคิดชุดนี้ได้ และคุณยอมรับมัน
TCIJ: ถ้าเราต้องการให้ปรัชญาลงหลักปักฐานในเมือง โดยส่วนตัวคุณคิดว่าต้องทำอย่างไร
เวธัส: ผมพูดถึงปรัชญาตะวันตกนะ ควรจะทำให้มันเชื่อมกับชีวิตประจำวันให้ได้ก่อน แล้วเราก็ควรจะเลิกอ้างว่า ใครพูดว่า แต่ควรรู้ว่าเขามีข้อผิดพลาดอย่างไร และถ้าเราจะต่อยอดจากตรงนั้นเราควรจะทำอย่างไร
ผมคิดว่าปรัชญาตะวันตกในไทยทุกวันนี้เหมือนอยู่ในยุคเรเนสซองต์ (ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ) คือทุกคนอ้างสำนักปรัชญากรีกกันหมด อ้างเพลโตพูดว่า อ้างอริสโตเติลพูดว่า ราวกับมันช่างสวยงามเหลือเกินที่เราได้อ้าง เรายังไปไม่ถึงยุคที่เราสามารถบอกว่าจะทำยังไงจึงจะต่อยอดจากคนเหล่านี้ได้ ทำยังไงเราจะต่อยอดจากค้านท์ได้ จะต่อยอดจากฟูโกต์ที่เราอ้างกันทุกวันได้
TCIJ: ตั้งใจจะแปลงานคลาสสิกชิ้นไหนเป็นชิ้นต่อไป
เวธัส: ตอนนี้แปลอีเลียดของโฮเมอร์ แต่ความฝันจริงๆ คืออยากแปลงานของเพลโตให้ครบทุกเล่ม ซึ่งมีอยู่เกือบ 30 เล่ม เพราะเราอยากจะสร้างฐาน เวลาผมแปลงานพวกนี้ ผมก็คิดแบบตลกๆ นะว่า ผมอยากแปลให้ลูกอ่านในอนาคต
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ