‘กรีนพีซ’จี้สินค้า‘P&G’เลิกใช้น้ำมันปาล์ม ระบุทำลายป่าอินโดฯแหล่ง‘เสือ-อุรังอุตัง’

ทีมข่าว ศูนย์ข่าว TCIJ 6 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 8327 ครั้ง

กรีนพีซสากลเปิดเผยว่า บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล หรือ บริษัท พีแอนด์จี ผู้ผลิตแบรนด์ ‘เฮดแอนด์โชว์เดอร์’ ใช้น้ำมันปาล์มจากบริษัทผู้ผลิตหลายแห่ง ที่เป็นตัวการทำลายล้างถิ่นอาศัยของอุรังอุตังในประเทศอินโดนีเซีย และยังทำให้ผู้บริโภคกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำลายป่าทั่วประเทศโดยไม่ตั้งใจ ข้อมูลดังกล่าวได้มาจากการสืบค้นหลักฐานนานร่วมปี ที่พบว่า สายการผลิตของบริษัทผลิตภัณฑ์ เพื่อการดูแลตนเอง มีส่วนก่อให้เกิดไฟป่า และการทำลายล้างถิ่นอาศัยของเสือสุมาตรา ให้เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งน้ำมันปาล์มเป็นส่วนประกอบทั่วไป ในผลิตภัณฑ์ซักล้าง แชมพู เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์เพื่อการดูแลตนเองอีกหลายชนิด ของบริษัทพีแอนด์จี

            “ผู้ผลิตเฮดแอนด์โชว์เดอร์ ต้องหยุดนำวัตถุดิบจากการทำลายป่าฝนเขตร้อน มาใส่ในผลิตภัณฑ์อาบน้ำของเรา เฮดแอนด์โชว์เดอร์ต้องแก้ไขในสิ่งที่ผิดพลาดเหล่านี้ และยืนยันกับผู้บริโภคว่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนั้นเป็นมิตรต่อผืนป่า พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิลควรจะต้องมีมาตรการตามอย่างบริษัทอื่น ๆ ที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นหลักเช่น ยูนิลิเวอร์ เนสท์เล่ และลอรีอัล ซึ่งล้วนให้สัญญาที่ทำให้สายการผลิตไม่ข้องเกี่ยวกับการทำลายป่า” บุสตาร์ ไมทาร์ หัวหน้าฝ่ายรณรงค์ด้านป่าไม้ประเทศอินโดนีเซีย กรีนพีซสากล กล่าว

กรีนพีซพบว่า ป่าที่เป็นถิ่นอาศัยของอุรังอุตังที่ถูกแผ้วถางนั้น มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับสายการผลิตของบริษัท พีแอนด์จี ผืนดินถูกใช้เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีบริษัท บีดับเบิลยู แพลนเทชั่น กรุ๊ป เป็นเจ้าของ บริษัทนี้เกี่ยวเนื่องกับพีแอนด์จี ในฐานะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตาย และการฝังซากอุรังอุตัง ในพื้นที่ถัดจากอุทยานแห่งชาติตันจุงปูติง ด้วย

นอกจากนี้ กรีนพีซยังบันทึกไว้ได้ว่า มีการแผ้วถางป่าอย่างต่อเนื่องในพื้นที่สัมปทานของผู้ผลิตทั้งสองบริษัทที่รู้กันทั่วว่า เกี่ยวโยงโดยตรงกับบริษัทพีแอนด์จี

            “เราได้เผชิญหน้ากับพีแอนด์จีมาตลอดแปดเดือนที่ผ่านมา โดยการเปิดโปงต่อผู้บริโภคถึงความเชื่อมโยงการทำลายป่าของบริษัทฯ ในขณะที่บริษัทฯ กลับใช้วิธีสร้างภาพด้านสิ่งแวดล้อม ที่บิดเบือนจากความจริง แทนการปรับปรุงพัฒนาตนเอง พีแอนด์จีควรที่จะให้คำมั่นสัญญา ที่จะปกป้องป่า และหยุดทำให้ผู้บริโภคต้องเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้เสือสุมาตราต้องสูญพันธุ์” อารีบา ฮามิด เจ้าหน้าที่รณรงค์ด้านป่าไม้กรีนพีซสากล กล่าว

บริษัทหลายแห่งที่ไม่มีนโยบายยุติการทำลายป่า เพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิต ล้วนแล้วแต่ผิดกฎหมาย ในหลายพื้นที่ที่มีความล่อแหลมสูงเช่น ที่จังหวัดเรียว บนเกาะสุมาตรา ตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในกรณีนี้คือ บริษัท พีที โรกัน อาดี รายา ได้สัมปทานผืนป่าที่เป็นถิ่นอาศัยของเสือ และถ่านหินใต้ผืนป่า มีการแผ้วถางป่าในบริเวณกว้าง และเกิดไฟป่าที่ไร้การควบคุม เมื่อปีที่ผ่านมา เดือนมิถุนายน พ.ศ.2556 มีการบันทึกว่า มีไฟป่าเกิดขึ้นมากกว่า 150 จุด ในบริเวณที่ดินสัมปทานของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มเหล่านี้ นอกจากนี้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มที่ป้อนให้พีแอนด์จีหลายแห่ง ได้ขนส่งน้ำมันปาล์มจากดูไม ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่ของจังหวัดเรียว

            “กรีนพีซเชื่อว่าอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน สามารถเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย อย่างไม่ก่อผลกระทบ ขณะนี้มีบริษัทผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม ที่มีแนวคิดก้าวหน้าในกลุ่ม ออยล์ อินโนเวชั่น กรุ๊ป และบริษัทผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ อย่างการ์และวิลมาร์ ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เป็นธุรกิจผลิตน้ำมันปาล์มที่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงไม่มีข้อแก้ตัวสำหรับบริษัทอย่าง พีแอนด์จี เรคคิทท์ เบนค์คีเซอร์ และคอลเกต ปาล์มโอลีฟ ที่จะชะลอปฏิบัติการทำลายป่า” บุสตาร์ ไมทาร์ กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: