ผู้ว่าฯชุมพรยันคราบน้ำมัน ไม่ได้มาจากแท่นขุดเจาะ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 6 เม.ย. 2557 | อ่านแล้ว 2198 ครั้ง

จากกรณีได้มีคราบน้ำมันลอยมาขึ้นที่พื้นที่ชายฝั่งทะเลตั้งแต่จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และชุมพร เป็นแนวยาวหลายอำเภอ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวรวมไปถึงชาวประมงออกมาถามในการรับผิดชอบของจังหวัด

ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อเวลา 09.30 น.วันที่ 6 เมษายน ผู้สื่อข่าวเดินทางไปตรวจสอบตามชายทะเลชุมพรศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ต.หาดทรายรี  ต.ปากน้ำ พร้อมด้วย นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผวจ.ชุมพร นายพีระสักดิ์กล่าวว่า จากการติดตามความคืบหน้าเหตุคราบน้ำมัน ซัดเข้าชายฝั่งทะเลชุมพร ยาวกว่า 4 อำเภอ หนักสุดที่อ.หลังสวน และ อ.ละแม ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตและคำถามตามมาว่า คราบน้ำมันอาจรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย ขณะที่ภาครัฐเชื่อว่ามาจากการลักลอบถ่ายน้ำมันกลางทะเลของเรือประมงขนาดใหญ่ ล่าสุดเจ้าหน้าที่เร่งเก็บกู้คราบน้ำมัน ก่อนจะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวประมง รวมถึงผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรม เนื่องจากบริเวณที่พบคราบน้ำมันอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อ เกรงกระทบต่อการท่องเที่ยวช่วงไฮซีซั่น

ด้านนายสมโชค พันธุรัตน์ แกนนำอนุรักษ์ชายฝั่งและชาวประมงชายฝั่ง อ.ปะทิว จังหวัดชุมพร เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบคราบน้ำมันจำนวนมากลอยมาติดชายหาด ยาวกว่า 4 อำเภอไล่ตั้งแต่อ.เมืองชุมพร ปะทิว สวี ทุ่งตะโก หลังสวน และละแม ลักษณะเป็นก้อนน้ำมันขนาดเล็กจับตัวกับเม็ดทราย ส่วนใหญ่ลอยมากับเศษขยะที่ถูกทิ้งลงทะเล ในจุดน้ำทะเลขึ้นสูงสุด คาดถูกน้ำซัดเข้าฝั่งช่วงกลางคืน ทำให้ชาวบ้านวิตก จะส่งผลต่อสัตว์ทะเลกุ้ง หอย ปู ปลา ทีมข่าวได้ลองสัมผัสกับคราบน้ำมัน พบลักษณะคล้ายน้ำมันดิบ ข้นเหนียวมีกลิ่นฉุน เมื่อถูกความร้อนจากแสงแดดจะละลายลงพื้นทราย อีกส่วนหนึ่งจะถูกน้ำทะเลซัดกลับไป ส่งผลให้น้ำทะเลบางส่วนขุ่น จากการสังเกตพบนักท่องเที่ยวบางราย ที่ลงเล่นน้ำจะมีคราบน้ำมันจาง ๆ ติดตัวขึ้นมาด้วย

ชาวบ้านส่วนหนึ่งที่เป็นกลุ่มต่อต้านการขุดเจาะและสำรวจน้ำมันนอกชายฝั่งทะเลหลังสวน ระบุว่า ตั้งแต่มีการขุดเจาะน้ำมัน จำนวนสัตว์น้ำก็ลดลง อาจเป็นเพราะแรงสั่นสะเทือน หรือการปนเปื้อนในน้ำ จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกหนึ่งผลกระทบที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็คือ การท่องเที่ยวในช่วงไฮซีซั่น ผู้ประกอบการบอกว่า คราบน้ำมันที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อการเล่นน้ำทะเลบางจุด แต่ไม่มากนัก ที่หลายฝ่ายเป็นกังวลก็คือ แนวปะการังที่เป็นจุดขายของทะเลชุมพรจะถูกทำลายด้วยหรือไม่

ทางด้านอาจารย์มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตละแม จ.ชุมพร ได้ส่งทีมสำรวจใต้ท้องทะเลชายฝั่ง อ.ละแม พบคราบน้ำมันที่จับตัวกัน ยังไม่ตกสู่ก้นทะเลแนวปะการังและสัตว์น้ำใต้ทะเลยังไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงสัตว์น้ำตัวเล็ก ๆ อย่างแพลงตอน ที่ลอยตายจำนวนมาก และเมื่อนำตัวอย่างก้อนน้ำมันไปตรวจในห้องทดลอง พบว่ามีลักษณะคล้ายน้ำมันดิบ แต่ยังมีข้อขัดแย้งหลายจุด เช่น กลิ่น และความหนาแน่น ซึ่งไม่ตรงกันซึ่งต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญโดยตรง ตรวจละเอียดอีกครั้ง

ด้านผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัดชุมพร เผยว่า ที่ผ่านมาคราบน้ำมันส่งผลกระทบต่อการเล่นน้ำทะเลของนักท่องเที่ยวบ้าง ซึ่งโรงแรมต้องทำความเข้าใจเป็นราย ๆ ไป แต่โดยภาพรวมไม่กระทบต่อยอดจอง และการเข้าพักในช่วงไฮซีซั่นนี้

ล่าสุดผวจ.ชุมพร นำผู้สื่อข่าวลงพื้นที่หาดทรายรี ใกล้กับศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์และพื้นที่หลายแห่ง แหล่งท่องเที่ยวสำคัญจังหวัด พบคราบน้ำมันติดอยู่ตามชายฝั่งบ้าง แต่ไม่มากนัก น้ำทะเลยังใสเป็นปกติ พร้อมระบุเหตุที่เกิดขึ้น น่าจะมาจากการลักลอบถ่ายน้ำมันกลางทะเลของเรือประมงขนาดใหญ่ในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช และถูกกระแสน้ำพัดมายังหาดต่าง ๆ ของจังหวัดชุมพร ซึ่งได้สั่งให้ทุกอำเภอสำรวจและรายงานความเสียหาย และฟื้นฟูเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมประสานตำรวจติดตามเจ้าของเรือที่ก่อเหตุแล้ว

ส่วนกรณีที่ชาวบ้านและชาวประมงในเขตอำเภอหลังสวน เชื่อว่าคราบน้ำมันมาจากแท่นขุดเจาะน้ำมันของ บริษัท ปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) นั้น ล่าสุด ปตท.สผ.ได้ชี้แจงเป็นลายลักษณ์อักษรมาแล้วว่า การขุดเจาะไม่พบน้ำมัน และกำลังปิดโครงการดังกล่าวแล้ว ล่าสุดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ลงพื้นที่ตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว รวมถึงปตท.สผ.ได้เชิญชาวบ้านและภาครัฐ อ.หลังสวน ไปพิสูจน์แท่นขุดเจาะน้ำมันกลางอ่าวไทย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า ไม่ได้เป็นต้นเหตุคราบน้ำมันรั่ว ขณะที่มีการเร่งเก็บกู้คราบน้ำมันออกจากชายฝั่งหมดแล้ว อย่างไรก็ตามต้องรอผลชี้ชัดจากนักวิชาการหลังนำคราบน้ำมันไปตรวจพิสูจน์อีกครั้ง เพื่อความกระจ่างต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: