‘ณรงค์’จี้ปรับใหญ่ครู-ร.ร.-ระบบบริหาร ศธ.เปิดบ้านอ้อนบิ๊กคสช.ของบ7แสนล้าน

6 มิ.ย. 2557 | อ่านแล้ว 1197 ครั้ง

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา คสช.ได้ประกาศเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ในทันที โดยกำหนดให้มีกลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน ที่ขึ้นตรงกับหัวหน้าคสช. โดยมอบหมายให้รองหัวหน้าคสช. ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกำกับการบริหารงานด้านนโยบายโดยเฉพาะ พร้อมกันนี้ให้ปลัดกระทรวง ปฏิบัติภารกิจแทนรัฐมนตรี ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงที่กำกับดูแลหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ

ก่อนที่หัวหน้าฝ่ายและทีมงานจะเดินทางไปกระทรวงในสังกัดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อรับฟังโครงสร้างการทำงาน นโยบายเร่งด่วนที่เกินขอบเขตอำนาจของปลัดกระทรวงจะพิจารณาได้ นโยบายที่กระทรวงหรือหน่วยงานดำเนินการไปแล้ว ตลอดจนนโยบายที่กระทรวงหรือหน่วยงานต่าง ๆ ต้องการให้หัวหน้าฝ่ายพิจารณาอนุมัติ

จึงเท่ากับว่างานบริหารราชการแผ่นดินต่อจากนี้ และอย่างน้อยก็จนกว่าจะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี จะเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของทหารที่จะอนุมัติโครงการต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศ และระดับกระทรวง จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อนายพลทั้งหลายต้องถอดหมวกทหาร มาสวมสูทผูกไทพิจารณานโยบายที่อาจไม่ช่ำชองเท่ากับการปกป้องประเทศซึ่งเป็นงานถนัดโดยตรง นายพลเหล่านี้จะทำได้ดีขนาดไหน

เปิดห้องประชุมศธ.-บิ๊กคสช.บี้กระทรวงขุมทรัพย์เร่งพัฒนาใหญ่ 3 ด้าน

กระทรวงหนึ่งที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องด้วยเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณสูงที่สุดในทุกปี และโครงสร้างของกระทรวงยังวางฐานให้มีข้าราชการระดับซี 11 ที่มีอำนาจอนุมัติ กำหนดนโยบายในองค์กรของตนเอง ไปจนถึงเสนอของบประมาณเพื่อดำเนินการตามนโยบายขององค์กรตนเอง ถึง 5 คน ก็คือกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะ ณ เวลานี้หากไม่นับ ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และตัดตำแหน่งเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ที่ว่างอยู่ เนื่องจากเลขาธิการถูกปลดออกจากราชการเซ่นพิษครุภัณฑ์อาชีวศึกษาแล้วนั้น

กระทรวงแห่งนี้ก็ยังมีข้าราชการระดับซี 11 ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอยู่อีก 3 องค์กร ประกอบด้วย เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ดังนั้นจึงไม่ใช่งานง่าย สำหรับพล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ที่จะตัดสินใจระงับหรืออนุมัติโครงการใด ๆ

อย่างไรก็ดี ในการพบปะพูดคุยกันครั้งแรกนั้น พล.ร.อ.ณรงค์ได้แสดงให้เห็นว่า ไม่ได้มีดีแค่การทหาร แต่เรียนรู้ว่ากระทรวงที่เปรียบเสมือนแหล่งขุมทองของนักการเมืองแห่งนี้ มีจุดอ่อนที่จำเป็นจะต้องเร่งแก้ไขปัญหาไปพร้อมกับการแก้ไขปัญหาของประเทศ จึงมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งดำเนินการใน 3 เรื่อง คือปฏิรูปครู ปฏิรูปห้องเรียน และปฏิรูปการบริหารการศึกษา โดยจะต้องปรับระบบให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาคทางการศึกษา เสริมสร้างให้อนาคตของชาติคิดวิเคราะห์เป็น มีความรู้ความสามารถด้านภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ รวมถึงจะต้องสร้างวินัย ปลุกจิตสำนึกความรับผิดชอบให้เด็กและเยาวชน

เร่งสางปัญหาด่วน กองทุนกู้ยืมฯ-ซ่อมแซมอาคารแผ่นดินไหว

พร้อมกันนี้ยังเร่งสะสางปัญหากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งคสช.จะจัดสรรงบประมาณ 3,610 ล้านบาท ให้กยศ. ปล่อยให้ผู้กู้รายใหม่ จำนวน 204,000 ราย ได้กู้ยืมเรียน แต่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องสร้างความตระหนักและสร้างเงื่อนไขการคืนเงินที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการเตรียมพิจารณาจัดสรรงบประมาณจำนวน 298 ล้านบาท เพื่อก่อสร้าง ซ่อมแซม อาคารเรียนจากที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

เมื่อต้องสวมสูทผูกไทมาเยือนกระทรวงศึกษาธิการเป็นครั้งแรก ผบ.ทร.ก็แสดงวิสัยทัศน์ที่อาจตีความไปถึงทิศทางการศึกษาไทยต่อจากนี้่ ด้วยการแสดงความเห็นในบางประเด็นหลังจากเปิดโอกาสให้แต่ละองค์กรได้นำเสนอโครงสร้างการทำงาน ตลอดจนนโยบายต่าง ๆ ทั้งที่ดำเนินการอยู่แล้ว หรือต้องการเสนอให้อนุมัติเพื่อดำเนินการ

บิ๊กศธ.ชงของบปี 2558 กว่า 7 แสนล้าน

ไล่เรียงตั้งแต่สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ได้เสนอโครงสร้างขององค์กรที่นอกจากทำหน้าที่เปรียบเสมือนแม่บ้านของกระทรวงแล้ว ยังนำเสนอการขอตั้งงบประมาณรายจ่ายปี 2558 ในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ วงเงินรวม 703,276,496,800 บาท ให้หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยารับทราบ แบ่งเป็น

  • สป.ศธ. จำนวน 71,886,654,300 บาท คิดเป็น  10 เปอร์เซนต์ ของวงเงิน
  • สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จำนวน 358,600,000 บาท คิดเป็น  1 เปอร์เซนต์ ของวงเงิน
  • สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 387,408,780,059 บาท คิดเป็น 55 เปอร์เซนต์ ของวงเงิน
  • สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จำนวน 36,852,974,000 บาท คิดเป็น 6 เปอร์เซนต์ ของวงเงิน
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)  จำนวน 198,483,177,500 บาท คิดเป็น 28 เปอร์เซนต์ ของวงเงิน

เสนอครม.ตั้งผู้บริหารระดับสูง-ปรับโครงสร้างให้คล่องตัว

นอกจากนี้ยังนำเสนอในเรื่องที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ประกอบด้วย

1.การแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูง

2.การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ทุนการศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน รุ่นที่ 5 ปีพ.ศ.2558

3.การเปลี่ยนแปลงรายการและสถานที่ก่อสร้างอาคารสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ

4.การปรับค่าใช้จ่ายรายหัวระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของกศน.สำหรับกลุ่มเป้าหมายผู้เรียนปกติและผู้พิการ

5.งบประมาณค่าจัดการเรียนการสอนค้างจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2556 วงเงิน 562,585,700 บาท เพื่อจ่ายเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล นักเรียน โรงเรียนเอกชนในส่วนของเงินสมบทเป็นเงินเดือนครู

6.เงินอุดหนุนพัฒนาคุณภาพการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งครูโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จำนวน 12,452 คน ยังไม่ได้รับเงินอุดหนุนในปีงบประมาณ 2557 อยู่ 8 เดือน เดือนละ 2,500 บาทต่อคน เป็นวงเงินรวม 224,136,000 บาท

7.เงินอุดหนุนพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

8.งบประมาณช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูโรงเรียนเอกชน จำนวน 262 โรง ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยเมื่อปีพ.ศ.2554

9.การปรับโครงสร้างการบริหาร และทบทวน ปรับปรุง แก้ไขกฎระเบียบให้ยืดหยุ่นคล่องตัว

ทั้งนี้เมื่อรายงานจบ พล.ร.อ.ณรงค์ได้แสดงความเห็นเพียงเรื่องเดียว คือ เสนอให้สป.ศธ. ตั้งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดชายแดนใต้ (ศธ.จชต.) เพื่อให้การบริหารการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ ครอบคลุมตั้งแต่ส่วนกลางลงไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันแต่ละองค์กรที่มีสถานศึกษาในสังกัดอยู่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ก็ตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบโดยเฉพาะอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีใครแจ้งให้หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยาทราบเท่านั้น

ในส่วนของสกศ. ที่มี ดร.รัตนา ศรีเหรัญ รองเลขาธิการสกศ. รักษาราชการแทนเลขาธิการสกศ. ได้นำเสนอวิสัยทัศน์ และพันธกิจขององค์กร อาทิ การจัดทำและพัฒนาแผนการศึกษาแห่งชาติ พัฒนานโยบาย แผน มาตรฐานการศึกษา หรือกฎหมายการศึกษาของชาติ เป็นต้น ตลอดจนการใช้จ่ายงบประมาณปี 2557 และประมาณการงบประมาณปี 2558 พร้อมแผนการดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 ประกอบด้วย

1.การจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์ วิจัย และติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาของชาติ

2.การจัดทำแผนบูรณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การศึกษา

3.การจัดทำแผนพัฒนาการปรับระบบการศึกษาของอาเซียน

4.โครงการพระราชกรณียกิจด้านการศึกษาเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทั้งนี้เมื่อบรรยายจบ รองหัวหน้าคสช. ไม่ได้แสดงความคิดเห็นใดๆ

จากนั้นเป็นคิวของสพฐ. ที่นำเสนอโครงสร้างการทำงาน อาทิ มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 183 เขต และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) อีก 42 เขต เพื่อกำกับดูแลสถานศึกษาของสพฐ. ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 31,116 แห่ง ซึ่งมีนักเรียนอยู่ทั้งสิ้น 7,534,397 คน มีข้าราชการครู 412,018 คน ข้าราชการพลเรือน 969 คน และบุคลากรทางการศึกษา 10,504 คน

พร้อมกันนี้นำเสนอภารกิจที่ต้องเร่งรัดดำเนินงานในปีงบประมาณ 2557 โดยเฉพาะการยกระดับคุณภาพของผู้เรียน พร้อมทั้งจัดทำกราฟคะแนนการทดสอบทั้งภายในประเทศ และระดับนานาชาติ ตลอดจนแนวทางการจัดสอบด้วยข้อสอบมาตรฐานกลาง แบ่งเป็น 5 ระดับ

ระดับประถมศึกษาปีที่ 2 สอบวิชาภาษาไทย

ระดับประถมศึกษาปีที่ 4-5 สอบวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-2 สอบวิชาวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และสังคม

โดยในส่วนของระดับประถมศึกษาปีที่ 1 ไม่ต้องจัดสอบเพราะยังถือว่าเด็กไป ขณะที่ระดับประถมศึกษาปีที่ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องเข้ารับการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) อยู่แล้ว

นอกจากนี้ยังเสนอโครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์แท็บเล็ต โดยชี้แจงว่า แท็บเล็ตปีงบประมาณ 2556 ใช้งบประมาณดำเนินการรวมทั้งสิ้น 4,611,248,480 บาท แบ่งการจัดซื้อจัดเป็น 4 โซน โดยขณะนี้ยังเหลือโซน 4 ที่อยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อวงเงิน 1,176,435,800 บาท ส่วนโซน 1 งบประมาณ 1,172,605,600 บาท โซน 2 งบประมาณ 1,016,292,640 บาท และโซน 3 งบประมาณ 1,245,914,360 บาท ดำเนินการจัดซื้อแล้ว ขณะที่แท็บเล็ตปีงบประมาณ 2557 ใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 3,863,701,000 บาท

สพฐ.ยังได้เสนอขอเพิ่มค่าจัดการเรียนการสอนปัจจัยพื้นฐาน สำหรับนักเรียนยากจนและนักเรียนปกติ จากเดิมสพฐ. จัดได้เพียง 40 เปอร์เซนต์ สำหรับนักเรียนยากจนในระดับประถมศึกษาประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา และ 30 เปอร์เซนต์ ของนักเรียนยากจนในระดับมัธยมศึกษาประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปีการศึกษา เป็น 100 เปอร์เซนต์ ทั้ง 2 ระดับ เพื่อลดปัญหาลาออกกลางคัน และเพิ่มโอกาสให้นักเรียนยากจนได้มีโอกาสศึกษาจนจบการศึกษาภาคบังคับ

ขอบคุณภาพจาก http://www.ngwk.ac.th/

ขยายโอกาสใช้กว่า 3.4 แสนล้าน-หนุนจัดการศึกษาพื้นฐานกว่า 4 หมื่นล.

นอกจากนี้ ดร.รัตนายังอธิบายแผนการใช้งบประมาณปี 2558 ที่เสนอขอเป็นวงเงิน 387,408,780,059 บาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2557 จำนวน 80,197,493,559 บาท เพื่อใช้ดำเนินการตามแผนงาน ดังนี้

1.รองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน 1,462,859,500 บาท

2.แก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ 3,691,943,910 บาท

3.ขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา 340,421,229,349 บาท

4.สนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 41,453,091,700 บาท

5.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 379,655,600 บาท

คสช.ไม่เห็นด้วยที่สพฐ.ขอดึงงบอาหารกลางวัน-งบนมกลับ

นอกจากนี้ยังเสนอขอให้คสช. ปรับงบประมาณอาหารกลางวัน รวมถึงงบประมาณนมโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลับมาอยู่ในการดูแลของสพฐ. อีกด้วย

ทั้งนี้เมื่อบรรยายจบพล.ร.อ.ณรงค์ ได้แสดงความเห็นว่าสพฐ. ถือเป็นองค์กรต้นทางของการศึกษาที่สำคัญมากๆ ฉะนั้นผลการประเมินคุณภาพของนักเรียนที่ผ่านมาจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง และจำเป็นต้องเร่งแก้ไขดีกว่าที่เป็นอยู่

พร้อมกันนี้ยังกล่าวถึงโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ว่าคงต้องกลับมาพิจารณาทบทวนทั้งหมดอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ตโซน 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ปีการศึกษา 2556 ที่คาดจะเริ่มการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชั่น) ได้ภายในช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ และการจัดซื้อแท็บเล็ตในปีการศึกษา 2557 ซึ่งในวันที่ 3 มิถุนายน จะประชุมระดับเจ้าหน้าที่ เพื่อทำเป็นข้อสรุปประกอบการพิจารณาอีกครั้ง

ส่วนประเด็นงบประมาณอาหารกลางวัน และงบประมาณนมโรงเรียนนั้น พล.ร.อ.ณรงค์แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนกับข้อเสนอนี้ เนื่องจากงบประมาณก้อนนี้เป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ จึงควรอยู่กับชาวบ้านจึงจะดีที่สุด

เมื่อพล.ร.อ.ณรงค์กล่าวจบจึงเปิดโอกาสให้ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) รายงานต่อ โดยสอศ.ได้รายงานสถานการณ์การจัดการศึกษาสายอาชีพในปัจจุบัน ที่ยังมีจำนวนนักเรียนน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้ง ๆ ที่ตลาดแรงงานมีความต้องการสูงมาก พร้อมกันนี้ยังนำเสนอว่าสอศ. ตั้งเป้าจะขยายความร่วมมือจัดการเรียนการสอนร่วมกับสถานศึกษาผ่านระบบทวิภาคีให้มาขึ้น จากปัจจุบันที่มีสถานประกอบการเข้าร่วมจัดการเรียนการสอนในระบบดังกล่าวอยู่ 7,826 แห่ง มีผู้เรียนอาชีวศึกษาสาขาต่างๆ เข้าร่วมแล้วจำนวน 19,704 คน

ขอบคุณภาพจาก http://www.elearneasy.com/img_news_edu/7854_20110105p1.jpg

อาชีวะระบุยังขาดครูอีกกว่าหมื่นคน

นอกจากนี้ยังรายงานสภาพปัญหาการจัดการศึกษาอาชีวศึกษาที่ยังขาดแคลนครูอยู่ประมาณ 1 หมื่นกว่าอัตรา ซึ่งที่ผ่านมาสอศ. ต้องใช้งบประมาณในส่วนอื่นมาจ้างสอนแทน และเสนอแนวทางแก้ไขและป้องกันการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาอาชีวศึกษา

ทั้งนี้สอศ. ยังได้เสนอโครงการอาชีวศึกษาอาสาพัฒนา ซึ่งเป็นโครงการใหม่ที่เตรียมดำเนินการในปีงบประมาณ 2558 โดยใช้หมู่บ้านเป็นห้องปฏิบัติการให้เด็กอาชีวะระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ไปสร้างบ้านให้ชาวบ้านที่มีฐานะยากจนที่สุดในจังหวัด

โดยเบื้องต้นวางแผนไว้ว่า จะให้สร้างบ้านจังหวัดละประมาณ 1-2 หลังตามแต่สภาพ โดยกำหนดงบประมาณก่อสร้างหลังละประมาณ 1,000,000 บาทต่อหลัง เริ่มตั้งแต่ลงพื้นที่สำรวจ ออกแบบบ้านให้เหมาะสม และลงมือสร้างโดยนักเรียนนักศึกษาสาขาช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษามีประสบการณ์จากวิชาชีพที่เรียนจริงและกำหนดให้เป็นรายวิชาที่ได้คะแนน

ทั้งนี้เมื่อบรรยายจบพล.ร.อ.ณรงค์ได้แสดงความเห็นในหลายประเด็น ประเด็นแรกต้องการให้สอศ. ทบทวนวิธีการเสริมสร้างค่านิยมในการเรียนต่อสายอาชีพ ซึ่งเป็นความต้องการของประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเด็กที่เรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 ยังตัดสินใจหันมาเรียนสายอาชีพน้อยมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาชีวศึกษาระดับปริญญาตรียังเปิดอยู่น้อย จึงไม่ให้ความนิยมจากผู้เรียน ดังนั้นสอศ.ต้องหามาตรการจูงใจให้คนที่ไม่มีปัญหา สมัครใจมาเรียนให้มากขึ้น พร้อมกันนี้ยังเสนอแนะว่าวิธีหนึ่งที่ควรดำเนินการคือเร่งสร้างทัศนคติให้ผู้เรียนเกิดความภูมิใจในสายอาชีพ และสร้างรูปธรรมให้เห็นว่าการเรียนสายอาชีพจะได้รับการยอมรับจากสังคม ได้รับเงินเดือนตามสมรรถภาพที่ค่อนข้างสูง

ขอบคุณภาพจาก http://1.bp.blogspot.com

เร่งแก้ปัญหานักเรียนวิวาท-ขาดครู

ในส่วนของทวิภาคีนั้น พล.ร.อ.ณรงค์เห็นด้วยและต้องการให้ขยายความร่วมมือกับสถานประกอบการให้มากขึ้น เพราะการเรียนการสอนระบบทวิภาคีสามารถจูงใจให้เด็กเลือกเรียนสายอาชีพได้ เนื่องจากการันตีการมีงานทำและยังมีรายได้ระหว่างเรียน สำหรับประเด็นการขอกรอบอัตรากำลังครูอาชีวศึกษานั้น พล.ร.อ.ณรงค์รับทราบและรับปากว่าจะกลับไปดูให้ ส่วนโครงการอาชีวศึกษาอาสาพัฒนารองหัวหน้าคสช. เห็นด้วยกับโครงการนี้เพราะเป็นโครงการที่ดีสามารถสร้างจิตอาสาให้กับผู้เรียน และทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าได้สร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้เป็นอย่างดี จึงอยากให้เริ่มนำร่องไปสร้างบ้านให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่ประสบเหตุแผ่นดินไหวในปีนี้ก่อนเลย

นอกจากนี้พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา ยังแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขและป้องกันการทะเลาะวิวาทของสอศ. โดยเสนอให้นำแนวทางการแก้ไขปัญหาขององคมนตรีที่ดำเนินการอยู่ ประกอบด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งดูแลพื้นที่หนองจอก มีนบุรี พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ดูแลพื้นที่ดอนเมือง และพล.ร.อ.ชุมพล ปัจจุสานนท์ ดูแลพื้นที่สมุทรปราการ มาปรับใช้เพราะมีแนวทางการทำงานที่เป็นรูปธรรมอยู่แล้ว

สกอ.ของบอีก 1.4 แสนล้าน อ้างพัฒนาหวังขยับติด 100 อันดับโลก

ปิดท้ายที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้เสนอสภาพปัญหาอุดมศึกษาของประเทศ และคุณภาพมหาวิทยาลัยของประเทศ ซึ่งสรุปได้ว่าไม่ติดใน 100 อันดับแรกของโลก แต่ถ้าจำเพาะเจาะจงไปที่คุณภาพรายคณะ สาขาวิชา จะติดลำดับ 100 ต้นๆ ของโลก เช่น สาขาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ และสาขาเภสัชศาสตร์ เป็นต้น

ดังนั้นสกอ. จึงเสนอว่าถ้าจะยกระดับคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทย จะต้องเน้นให้เกิดโครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติขึ้นในประเทศไทย เพื่อชูศักยภาพที่โดดเด่นแตกต่างกันของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ  โดยเสนอแผนงานสำคัญที่ขอรับการสนับสนุนจากคสช. ในปีงบประมาณ 2558 เพิ่มเติมอีกประมาณ 140,000,000,000 บาท จากที่ขอรับเพื่อดำเนินการปกติตามที่เสนอขอรับในปีงบประมาณ 2558 จำนวน 198,483,177,500 บาท แบ่งเป็น 3 โครงการ ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในอุดมศึกษาเพื่อรับรองการเปลี่ยนแปลงบริบทโลก กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี วงเงิน 47,762,000,000 บาท

2.โครงการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษากลุ่มใหม่ให้ได้มาตรฐานการอุดมศึกษา และเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี วงเงิน 68,000,000,000 บาท

และ3.โครงการมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยโลก กำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี วงเงิน 25,000,000,000 บาท  รวมงบประมาณ 140,762,000,000 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อบรรยายจบพล.ร.อ.ณรงค์ ไม่ได้แสดงทัศนคติว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยแต่อย่างใด

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: