พล.อ.เอกชัยชี้นโยบายคสช.ทำไฟใต้กระเพื่อม

TCIJ 6 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2164 ครั้ง

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ประเมินงานดับไฟใต้ของ คสช. แนะควรหยุดชั่วคราวก่อน หลังสร้างแรงกระเพื่อมในพื้นที่

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ประเมินภารกิจดับไฟใต้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มุ่งไปที่การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการและงบประมาณ และการเปลี่ยนแปลงตัวข้าราชการในพื้นที่ว่า น่าจะหยุดชั่วคราวก่อน เพราะสิ่งที่ทำไปสร้างแรงกระเพื่อมค่อนข้างมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ สถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มเข้าสู่กระบวนการสันติภาพและมีบรรยากาศดีขึ้นแล้ว คสช. ไม่ควรสร้างแรงกระเพื่อมในพื้นที่มากกว่านี้

พล.อ.เอกชัย อธิบายว่า เหตุผลของการกระเพื่อมข้อหนึ่งคือการที่ คสช. ปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานในพื้นที่ ส่วนข้อ 2 คือ การที่ คสช. เปลี่ยนตัวเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่ง พล.อ.เอกชัย ขยายความว่า ถ้าเปลี่ยนแล้วใช้คนใหม่อาจจะไม่กระเพื่อมแบบนี้ แต่เผอิญเปลี่ยนแล้วได้คนเก่า ซึ่งก็คือนายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการและเลขาธิการ ศอ.บต. ที่เคยดำรงตำแหน่งเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2552 ถึง 11 ตุลาคม 2554 จนเกิดการขึ้นป้ายโจมตีไปทั่ว แต่เมื่อเปลี่ยนแล้วก็ควรหยุดไว้แค่นี้ก่อน เพื่อให้คนใหม่ได้ทำงาน ซึ่ง พล.อ.เอกชัย เห็นว่ากว่าจะปรับฟื้นคืนสภาพได้น่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร

เหตุผลของการกระเพื่อมข้อที่ 3 คือโครงสร้างใหม่ที่จะให้มีเอกภาพโดยให้ทหารเข้าไปดูแลเอง ฉะนั้น ทหารต้องทำให้เห็นว่าเมื่อทหารเข้าไปแล้ว งานพัฒนา งานความมั่นคง งานชุมชนจะดีกว่าเดิม ถ้าทหารทำให้เห็นภาพเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยแก้การกระเพื่อมได้

ผู้สื่ข่าวของเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจยังถามอีกว่า แรงกระเพื่อมที่เกิดขึ้นเป็นเพราะมีคนเสียผลประโยชน์หรือไม่ พล.อ.เอกชัย ตอบว่า เป็นส่วนหนึ่งในเรื่องใหญ่ๆ เพราะการเสียผลประโยชน์ย่อมเกิดอยู่แล้ว เช่น การจัดการน้ำมันเถื่อน ยาเสพติด ของเถื่อน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดการยาเสพติดเป็นสิ่งคนในพื้นที่ชอบ ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่ามีผลตอบรับดี

พล.อ.เอกชัย กล่าวว่า หากต้องการปรับโครงสร้างจริง จะต้องปรับถึงระดับใหญ่ เช่น ปรับโครงสร้างกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ใหม่ โดยตั้งคำถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่นายกรัฐมนตรีต้องนั่งตำแหน่งผู้อำนวยการ กอ.รมน. ซึ่ง พล.อ.เอกชัย เห็นว่าอาจไม่จำเป็น เป็นให้รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อำนวยการก็ได้ และควรจะมีรอง ผอ.กอ.รมน.ทั้ง 4 ส่วน ได้แก่ รองฝ่ายทหาร ฝ่ายตำรวจ ฝ่ายพลเรือน และฝ่ายประชาชน โดยให้แต่ละฝ่ายดูแลรับผิดชอบงานในส่วนนั้น ซึ่งน่าจะช่วยใหทำงานได้ดีกว่าการแยกเป็นหมวดๆ และยังเชื่อในอนาคตการทำงานของ ศอ.บต. ที่ร่วมกับ กอ.รมน. จะดีขึ้น กว่าแต่ก่อนที่การทำงานมีลักษณะแยกส่วนกันบริหาร

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: