นายทุนใหญ่ครองที่ดิน10%ของเมืองไทย เก็งกำไร-ทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์48ล้านไร่

ชุลีพร บุตรโคตร TCIJ 6 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 6839 ครั้ง

ข่าวการครอบครองที่ดินของนักธุรกิจ หรือภาคธุรกิจระดับแถวหน้าของไทย ที่ปรากฎอยู่ตามสื่อต่าง ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ที่ดินในประเทศไทยกำลังกระจุกตัวอยู่กับคนในระดับเศรษฐีเพียงไม่กี่คน สร้างความประหลาดใจให้กับคนไทยอยู่ไม่น้อย เพราะถึงแม้จะเป็นที่รับรู้กันอยู่ว่าที่ดินในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่มักอยู่ในมือของนายทุน แต่ก็ไม่คิดว่าจะเป็นนายทุนเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น

นายทุนใหญ่ครองที่ดิน 10% ของเมืองไทย

จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันที่ดินแห่งประเทศไทย ระบุข้อมูลเกี่ยวกับการครอบครองที่ดินของภาคต่างๆ ในประเทศว่า จากพื้นที่ประเทศไทยที่มีอยู่ทั้งหมด 321 ล้านไร่ แบ่งเป็นที่ดินของรัฐ 183 ล้านไร่ คิดเป็นสัดส่วน 57.26 เปอร์เซนต์ ของเนื้อที่ทั้งหมด ส่วนที่เหลือ 138 ล้านไร่ เป็นที่ดินของเอกชน คิดเป็นสัดส่วน 42.74 เปอร์เซนต์ ที่ผ่านมากรมที่ดินออกเอกสารสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, น.ส.3 ก, น.ส.3, ใบจอง) ไปแล้วทั้งสิ้น 31.4 ล้านโฉนด คิดเป็นเนื้อที่ 127 ล้านไร่ โดยเอกสารสิทธินั้นกว่า 90 เปอร์เซนต์ กระจุกตัวอยู่กับกลุ่มบุคคลและนิติบุคคล 50 ราย ในสัดส่วน 10 เปอร์เซนต์ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งที่ดินเหล่านี้ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้โดยไม่ทำประโยชน์ มีมากถึง 48 ล้านไร่ ทำให้เกิดการสูญเปล่าทางเศรษฐกิจขั้นต่ำ 127,384.03 ล้านบาท เพราะที่ดินเป็นที่ดินที่ถูกกว้านซื้อเพื่อเก็งกำไร โดยไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์จริง

ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงข้าราชการระดับสูงที่ไม่ปรากฎข้อมูลต่อสาธารณะ แต่ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่า มีแนวโน้มไปในลักษณะเดียวกัน ซึ่งตรงกันข้ามกับการถือครองที่ดินของเกษตรกร หรือคนยากจนในพื้นที่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่ต้องใช้ที่ดินเป็นฐานทรัพยากรสำคัญในการผลิตเพื่อดำรงชีพ โดยข้อมูลจากการสำรวจพบว่า ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองไม่น้อยกว่า 811,892 ครอบครัว และในส่วนที่ต้องเช่าที่ดินทำกินมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครอบครัว รวมทั้งข้อมูลการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อยจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น การถูกไล่รื้อ ฟ้องร้องจากเจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะประเด็นความเหลื่อมล้ำทางที่ดิน ที่เป็นกรณีพิพาทที่ดินระหว่างรัฐและเอกชนกับประชาชนที่ยากจน จนเป็นเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ความไม่เป็นธรรมจากกลไกของรัฐและกระบวนการยุติธรรม ทำให้ส่วนใหญ่ต้องแพ้คดี นำมาซึ่งความสูญเสียที่ดินอยู่อาศัยทำกิน เป็นหนี้สิน ครอบครัวแตกแยก ชุมชนล่มสลายในที่สุด

งานวิจัยชี้คนจนสูญเสียที่ดินให้นายทุน เพราะกระบวนการยุติธรรมไม่เป็นธรรม

จากงานวิจัยเรื่องที่ดิน แนวทางการนำไปใช้แก้ปัญหา โดยคณะวิจัยประกอบด้วย ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ และผศ.ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ ศึกษาวิจัยกระบวนการเรียนรู้สู่การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมคดีที่ดิน จากกรณีศึกษาคดีที่ดิน 5 กรณี ได้แก่ ชุมชนเวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ชุมชนหนองกินเพล จ.อุบลราชธานี ชุมชนทุ่งพระ จ.ชัยภูมิ ชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต และชุมชนทับยาง จ.พังงา ระบุชัดเจนว่า การสูญเสียที่ดินของประชาชนยากจน ส่วนหนึ่งมาจากความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมทางศาล เมื่อเกิดการฟ้องร้องระหว่างชาวบ้านกับนายทุนเอกชน รวมไปถึงฝ่ายปกครองอย่างนักการเมืองนั่นเอง

ม.ร.ว.อคินกล่าวว่า ขณะนี้พบว่าที่ดินในประเทศไทยถูกทิ้งร้างถึง 48 ล้านไร่ จึงควรเร่งปฏิรูป เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการครอบครองที่ดินที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยจากการศึกษาในพื้นที่ศึกษาทำให้ได้ผลงานวิจัยที่พบว่า หลายครั้งเกิดข้อพิพาทขัดแย้งที่ดินชาวบ้าน จนต้องขึ้นสู่กระบวนยุติธรรม กลับกลายเป็นว่าส่วนใหญ่ชาวบ้านจะเป็นผู้แพ้คดี เพราะศาลเลือกพิจารณาตามหลักฐานของภาครัฐด้วยการใช้ระบบกล่าวหา ไม่ใช่ระบบไต่สวน ซึ่งเป็นระบบที่มีมานานมากแล้ว ในขณะที่ต่างประเทศทั่วโลกเลือกใช้ระบบไต่สวนมากกว่า ทำให้เกิดเป็นปัญหาที่น่าเศร้าใจ ส่วนประเด็นต่อมาที่พบคือ ทำให้ชาวบ้านแพ้คดีที่ดิน เป็นเพราะผู้ที่ต่อสู้ด้วย เป็นนักการเมืองที่มีโอกาสในการเป็นเจ้าของที่ดิน ก่อนที่จะมาฟ้องร้องชาวบ้าน

             “อีกปัญหาที่สังคมไม่อาจขจัดได้ คือ ปัญหาออกเอกสารสิทธิ์และการเพิกถอน อย่างกรณีการออกเอกสารโดยมิชอบ เมื่อพิสูจน์ได้ว่า ออกโดยมิชอบต้องการให้รัฐเพิกถอน ก็ไม่เคยมีใครกล้าทำ แม้แต่กรมที่ดินที่เป็นผู้ออกเอกสารสิทธิ์ด้วยตนเอง เกิดจากความผิดพลาดของตนเองแต่ก็ไม่แก้ไข ประชาชนกลายเป็นคนรับบาป ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรมีคณะกรรมการทำงานด้านการเพิกถอนโฉนดโดยตรง ไม่ใช่โอนอำนาจให้อธิบดีกรมที่ดินเพียงลำพัง นอกจากนี้ประเทศไทยยังอ่อนด้อยเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนอย่างมาก เช่น รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในสิทธิชุมชนที่จะปกป้อง ที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟู จารีต ประเพณีและวัฒนธรรมชุมชน แต่ไม่มีผลใด ๆ เลย แม้แต่ศาลที่มีอำนาจว่าความเรื่องกระบวนการยุติธรรมก็กลับไม่เคยเอารัฐธรรมนูญนี้มาใช้ เพราะศาลไม่เข้าใจคำว่าชุมชนในทางกฎหมาย แต่ความหมายสังคมชัดเจน เป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศควรใช้” ม.ร.ว.อคินกล่าว

ขอบคุณภาพจากประชาชาติธุรกิจ

พบนักการเมืองและลูกหลานโกงที่ดินชาวบ้าน

นอกจากนี้งานวิจัยได้หยิบยกกรณีศึกษาคดีที่ดิน เช่น การออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของราษฎร ในพื้นที่ชุมชนหนองกินเพลใน จ.อุบลราชธานี ที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อน โดยมีผู้สมัครส.ส. คนหนึ่งมาหาเสียงบอกกับชาวบ้านว่า จะช่วยให้ได้โฉนดที่ดิน ขอให้มาลงชื่อมอบอำนาจให้ แล้วประกาศรับซื้อที่ดินไปด้วย แต่จ่ายเงินเป็นเช็คที่รับเงินไม่ได้ ต่อมานำเอกสารมอบอำนาจและสัญญาซื้อขายที่ดินไปออกโฉนดในชื่อตนเองนับหมื่นไร่ และนำเอกสารที่ดินไปฟอกผ่านสถาบันการเงิน และแบ่งที่ขายบ้าง นำไปจำนองบ้าง ภายหลังลูกชาย ส.ส.และคนที่ซื้อที่ดินไป ได้ยื่นฟ้องชาวบ้านฐานบุกรุก ชาวบ้านส่วนใหญ่แพ้คดี บางรายถูกตัดสินจำคุก

กรณีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินและฟ้องขับไล่ชาวเลออกจากพื้นที่อาศัยทำกิน ในพื้นที่ชุมชนบริเวณหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต แต่ถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดิน ชาวเลเหล่านี้ได้อยู่อาศัยร่วมกันเป็นชุมชนที่ชายหาดแห่งนี้มานานกว่าร้อยปี มีหลักฐานเป็นบ่อน้ำโบราณและสุสาน ประมาณปีพ.ศ.2497 คนภายนอกได้ทยอยกันเข้ามาตั้งถิ่นฐานและได้รับการแต่งตั้งในเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพราะชาวเลอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ ผู้ใหญ่บ้านและบริวารแจ้งสำรวจออกหนังสือสำคัญที่ดิน ส.ค.1, น.ส.3 และโฉนด แล้วแบ่งที่ดินให้ลูกหลานบริวาร แล้วขายเปลี่ยนมือกันหลายครั้ง ราคาที่ดินเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมากเพราะการท่องเที่ยว ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของโฉนดจึงฟ้องขับไล่ชาวเล ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ออกจากพื้นที่

หรือกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินหลังสัมปทานเหมืองแร่ทับที่ราษฎรและชุมชน เกิดขึ้นที่ชุมชนทับยาง จ.พังงา ซึ่งเคยเป็นที่ดินสัมปทานเหมืองแร่ดีบุกมาก่อน เมื่อสัมปทานหมดอายุลง นายทุนได้ออกโฉนดที่ดินบริเวณนั้นเป็นของตนเอง ได้เก็บค่าเช่าจากผู้อยู่อาศัยบางส่วน และฟ้องขับไล่บางส่วน คดีนั้นมีปัญหาเรื่องทนายเรียกเงินจากจำเลยเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ได้ช่วยให้คำแนะนำที่เหมาะสม ทำให้คดีความแพ้ทั้งหมู่บ้าน เพราะขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ทุกกรณีผู้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินเหล่านั้นถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินและเรียกค่าเสียหาย สร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นธรรมในสิทธิทำกินบนที่ดินที่เคยอยู่อาศัยของชาวบ้านทั้งสิ้น

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์

สาเหตุปัญหามาจากความไม่เป็นธรรมของกลุ่มมีอำนาจที่สูงกว่า

ทั้งนี้จากเอกสารงานวิจัยชิ้นดังกล่าวระบุว่า จากการศึกษาวิจัยข้อมูลทั้งหมด ค้นพบสาเหตุปัญหาของความไม่เป็นธรรมในเรื่องที่ดินของประชาชนใน 5 ด้านด้วยกัน ประกอบด้วย

1.ด้านข้อมูลและพยานหลักฐาน พบความไม่เป็นธรรมคือ เอกชนเข้าถึงข้อมูลที่ดินปกปิดของราชการ ทำให้เอกชนที่ทราบที่ดินทำเลทองที่อยู่ในแผนพัฒนาของรัฐ เข้าไปจัดการให้ราษฎรที่ถือครองที่ดิน ออกไปจากที่ดินด้วยวิธีการที่ไม่สุจริต และไม่เป็นธรรมกับราษฎร, ราษฎรไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลหลักฐานของทางราชการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของการออกเอกสารที่ดิน ที่สันนิษฐานว่ามิชอบด้วยกฎหมาย, การปลอมแปลงเอกสารหรือสร้างหลักฐานเท็จ เช่น การปลอมแปลงชื่อ การปลอมแปลงหลักฐาน การทำแนวเขตที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เพื่อให้เป็นเอกสารสิทธิ์ที่ดินตามกฎหมาย และนำไปใช้เป็นหลักฐานฟ้องศาล และศาลมักเชื่อหลักฐานของหน่วยงานราชการ และการฟอกที่ดินผ่านธนาคารพาณิชย์และหน่วยงานของรัฐ

2.ด้านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ พบความไม่เป็นธรรมในประเด็น เจ้าหน้าที่รัฐประพฤติมิชอบ, เจ้าหน้าที่รัฐจำกัดการทำมาหากินและการพัฒนาด้านต่าง ๆ ของชุมชนและราษฎรผู้ต้องคดี, หน่วยงานของรัฐคู่คดีไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาทางนโยบาย และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกับราษฎรคู่พิพาทด้วยความรุนแรง

3.ด้านการฟ้องคดีและการพิจารณาคดี พบความไม่เป็นธรรมในประเด็น การฟ้องคดีต่อราษฎรโดยขาดพยานหลักฐานที่เพียงพอ, ฟ้องคดีจำนวนมากเป็นการเพิ่มภาระคดีให้ราษฎร, การบังคับคดีขับไล่ราษฎรผู้ครอบครองที่ดินให้ออกจากพื้นที่ขณะกระบวนการยุติธรรมยังไม่สิ้นสุด และวิธีการลงโทษที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อครอบครัวราษฎร

4.ด้านการต่อสู้คดี พบความไม่เป็นธรรมในประเด็น คดียืดเยื้อราษฎรไม่มีทุนทรัพย์ และเวลามาต่อสู้คดี, ราษฎรมีข้อจำกัดทางภาษาที่ใช้สื่อสารในกระบวนการยุติธรรม, ขาดผู้ให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายแก่ราษฎร และผู้มีอาชีพให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามความรู้ความสามารถความเอาใจใส่และความไม่สุจริตกับราษฎร

5.ด้านการเยียวยาผู้บริสุทธิ์ พบความไม่เป็นธรรมในประเด็นขาดการเยียวยาราษฎรที่ถูกจำคุกโดยศาลตัดสินไม่มีความผิดตามคำฟ้อง

ขอบคุณภาพ http://www.sarakadee.com/feature/2010/05/images/chanort01.jpg

คนจนถูกกระทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิของรัฐ

ขณะที่ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวว่า นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการเปิดให้ครอบครองที่ดินผ่านหลักฐานทางราชการ และประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในชุมชนซึ่งมีปัญหาที่ดิน 5 กรณีศึกษา นั้นรับรู้เรื่องความไม่เป็นธรรมหลายอย่าง อาจกล่าวได้ว่าเรื่องความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยพบว่า ความไม่ยุติธรรมกรณีที่ดินที่มีมากที่สุดในประเทศไทยคือ เน้นการเปิดช่องให้ลงทุน คนมีเงิน และอำนาจรัฐในการปกครองที่ดิน ส่วนคนจนกลายเป็นคนถูกกระทำเข้าไม่ถึงสิทธิของรัฐ เช่น ทำกินในที่ดินป่าสงวน ซึ่งในเชิงหลักฐานและความไม่มั่นคงทางข้อมูลข่าวสาร เรื่องการจัดเก็บหลักฐานทางที่ดินนั้นพบว่า หลายพื้นที่องค์กรรัฐไม่มีการบันทึกข้อมูลข่าวสารและหลักฐานที่ดีพอ เช่น บางกรณีเกิดข้อพิพาทเรื่องที่ดินนั้น พบว่าชาวบ้านรู้ตัวว่าตนเองถูกรุกราน จึงแจ้งความต่อผู้นำชุมชน แต่เมื่อเปลี่ยนผู้นำ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนการปกครอง หลักฐานที่เคยยื่นฟ้องหาย รัฐมักใช้อำนาจเพื่อยึดเป็นที่ดินของรัฐทันที เพราะกระบวนการพิสูจน์หลักฐานการถือครองหาไม่พบ โดยไม่สนใจว่าราษฎรยังขาดแคลนการทำกินที่อยู่อาศัย

รัฐประกาศเขตป่าสงวนทับที่ดินทำกิน เอกชนออกเอกสารสิทธิมิชอบ

         “ปี 2554 ที่เริ่มทำวิจัย น่าตกใจมากเมื่อพบว่า ที่ดิน 100 เปอร์เซนต์ มีที่ดินป่า 50 เปอร์เซนต์ ที่ดินสำหรับราษฎรมี 50 เปอร์เซนต์ แต่ปรากฎว่าที่พอจะสืบหลักฐานเพื่อทำการวิจัยเพิ่มพบว่า ที่ดินป่ามีประชาชนอาศัยอยู่แล้ว แต่กลับประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ แล้วไล่คนออกภายหลัง เกิดขึ้นเมื่อสมัย 60 ปีที่แล้วยังไง ปัจจุบันก็ยังเป็นอย่างนั้น นี่เฉพาะกรณีรัฐ ส่วนกรณีเอกชน ลูกไม้เดิมคือออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ เกิดจากหน่วยงานที่มีสิทธิในการออกเอกสารสิทธิ์ มักเปิดเผยข้อมูลให้เอกชนที่ต้องการลงทุน เช่น หลายรายลองมองหาที่ดินสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยไม่มีเอกสารสิทธิ พอเลิกสัมปทานแทนที่จะคืนที่ดินกลับพยายามทุจริตแปลงเอกสารเพื่อครอบครองที่ดินต่อไป ส่วนราษฎรที่ไม่มีที่ดินทำกินบางรัฐบาลก็ออกใบจองให้ราษฎร ออกแค่กระดาษ ในแผนที่ไม่มีอยู่จริง ครั้นราษฎรไม่พบที่ดินตามใบจอง ชาวบ้านร้องเรียน เรื่องการตรวจสอบพบการออกเอกสารที่ไม่ตรงกัน แต่เมื่อการเมืองเปลี่ยน เจ้าหน้าที่เปลี่ยน รัฐบาลใหม่ ก็ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อร้องเรียนซ้ำ ๆ โดยไม่มีบทสรุป เช่น กรณีหาดราไวย์ภูเก็ต กี่ปีมาแล้วรายงานการทำงานก็ยังไม่ชัดเจน” ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าว

ดร.เพิ่มศักดิ์กล่าวต่อว่า ตัวอย่างที่สะท้อนการถือครองที่ดินที่ไม่มีความเป็นธรรม จากความร่วมมือของรัฐและเอกชนคือ เมื่อทำเลที่ดินมีความสำคัญเชิงธุรกิจ เชิงท่องเที่ยว เช่น กรณีหนองกินเพล พบว่าก่อนกระแสสามเหลี่ยมอินโดจีนเริ่มมีขึ้น ไม่มีใครสนใจว่าที่ดินจะเกิดประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่เมื่อมีกระแสท่องเที่ยวเข้ามา ที่ดินริมน้ำซึ่งติดถนนใหญ่กลายเป็นแผ่นดินทองของนายทุน อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่หลายแห่งทราบว่า กระบวนการแย่งชิงที่ดินเกิดจากหลายกรณี ได้แก่ นักการเมืองและอิทธิพลใช้อำนาจบารมีสร้างความไว้ใจ ปล่อยเงินกู้ อ้างการช่วยเหลือแล้วแปลงเอกสารเพื่อครอบครอง มีการออกโฉนด เอกสารสิทธิ์นั้นมีความซับซ้อน

เสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่ดินต้องเป็นธรรมจริง

ทั้งนี้คณะวิจัยเห็นว่า แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต้องเร่งดำเนินการ คือ ควรมีการดูแลราษฎรที่เดือดร้อนจากการถูกบังคับคดีให้ออกจากที่ดิน ให้มีที่อาศัยทำกินเพื่อดูแลครอบครัวและไม่เป็นภาระแก่สังคม และข้อเสนอด้านความเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน ช่วยให้ราษฎรมีโอกาสต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมด้วยการให้คำปรึกษาแนะนำด้านกฎหมายและอื่นๆที่จำเป็น สำหรับข้อเสนอแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง เสนอให้ปรับปรุงแก้ไขการบริหารจัดการด้านข้อมูลและพยานหลักฐาน ด้านการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ด้านการฟ้องคดีและการพิจารณาคดี ด้านการต่อสู้คดี ด้านการเยียวยาผู้บริสุทธิ์

นอกจากนี้ยังเสนอให้ทบทวนกฎหมายเฉพาะด้านที่ดินและป่าไม้ให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ตลอดจนทบทวนนโยบายสำคัญที่ไม่เป็นธรรมแก่ราษฎร อาทิ การอนุญาตให้เช่าที่ดินในเขตป่า ด้านการจัดสรรที่ดิน และการปฏิรูปหน่วยงาน/องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมคดีที่ดิน ในส่วนกระบวนการยุติธรรมเสนอให้ทบทวนการพิจารณากลั่นกรองคดีก่อนนำขึ้นสู่ศาล ทบทวนวิธีการไต่สวน และการเดินเผชิญสืบ เพื่อให้สามารถเข้าถึงพยานหลักฐานด้วยความเป็นจริง ส่วนการบังคับคดีควรพิจารณาถึงผลกระทบรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นกับราษฎรที่ถูกบังคับคดีด้วย

อ่านจับตา: สถิติคดีความเกี่ยวกับที่ดิน http://tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=4697

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: