เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าว TCIJ รายงานว่า เว็บไซต์มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) http://hrdfoundation.org เปิดเผยว่า ตามที่มูลนิธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ด.ญ.แอร์ ชาวกะเหรี่ยง ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกนายจ้างทารุณกรรมและใช้แรงงานเยี่ยงทาสนั้น ความคืบหน้าเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เวลาประมาณ 14.00 น. ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกำแพงเพชรได้อ่านคำพิพากษาในคดีที่นางโม วาเตง ผู้แทนโดยชอบธรรมของด.ญ.แอร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนที แตงอ่อน และน.ส.รัตนากร ปิยะวรธรรม นายจ้าง เป็นคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการทำร้ายร่างกายเด็กหญิงแอร์ ขณะที่ทำงานรับใช้ในบ้านของนายจ้างทั้งสอง
โดยศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้
ส่วนที่ 1.ค่าเสียหายที่สามารถคำนวนเป็นจำนวนเงินได้ ตามมาตรา 444 ประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์
เป็นค่าชดใช้อันต้องสูญเสียไปและค่าเสียหายเพื่อการที่เสียความสามารถประกอบการงานสิ้งเชิงตามแต่บางส่วนทั้งในเวลาปัจจุบันและในอนาคตโดยศาลพิจารณาเเล้วจะกำหนดให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งความร้ายแรงตามกรณี ประกอบด้วย
1.ค่ารักษาพยาบาล จำนวน 303,233 บาท ตามรายละเอียดใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลรามาธิบดี
2.ค่ารักษาพยาบาลในอนาคต 800,000 บาท
3.ค่าเสียหายที่จะต้องสูญเสียความสามารถในการประกอบอาชีพไม่น้อยกว่า 50 ปี เป็นเงิน 1,000,000 บาท
ส่วนที่ 2. ค่าเสียหายที่ไม่อาจคิดคำนวนเป็นจำนวนเงินได้ ตามมาตรา 446ประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์
คือ ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสูญเสียสมรรถภาพในการเจริญพันธุ์ และ ค่าเสียหายจากความสวยงามของเด็กหญิงแอร์ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามกฎหมาย มิจำต้องคำนึงว่าโจทก์จะได้ประกอบอาชีพหรือไม่ ประกอบด้วย
1.ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย 600,000 บาท
2.ค่าเสียสูญเสียสมรรถภาพในการเจริญพันธุ์ 700,000 บาท
3.ค่าเสียหายจากความสวยงามของโจทก์ 700,000 บาท
ทั้งนี้ ศาลยังสั่งให้จำเลยจ่ายค่ายานพาหนะสำหรับโจทก์ ในการเดินทางไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นเงิน 500,000 บาท รวมค่าเสียหายที่ศาลสั่งให้จำเลยทั้งสองชำระแก่โจทก์ทั้งสิ้น 4,603,233 บาท
อย่างไรก็ตามการที่ครอบครัวของด.ญ.แอร์ จะได้รับเงินค่าเสียหายจริงๆ มากน้อยเพียงใด ยังต้องผ่านกระบวนการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองอีกขั้นตอนหนึ่ง จึงจะสามารถนำเงินมาชำระเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่ศาลพิพากษาได้
โดยต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการเรียกร้องสิทธิเกิดขึ้นเมื่อปี 2552 ขณะนั้นด.ญ.แอร์อายุประมาณ 7 ขวบ ได้หายออกไปจากบ้านพักที่ด.ญ.แอร์เคยอยู่ร่วมกับบิดามารดาซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติชาวพม่า ซึ่งเป็นบ้านพักที่อยู่ในไร่อ้อยของนายจ้าง ที่จ.กำแพงเพชร ทางบิดาเเละมารดาได้พยายามตามหาตัวด.ญ.แอร์เเต่ไม่พบ
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2556 มีการประสานงานจากเจ้าหน้าที่ของบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชร และหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่รวมทั้งการให้ข้อมูลจากพลเมืองดีท่านหนึ่ง ทำให้พบตัวด.ญ.แอร์ ซึ่งถูกนายจ้างคนเดิมของบิดามารดาลักพาตัวจากบ้านพัก ที่อยู่ในไร่อ้อยของนายจ้างคนใหม่ของบิดามารดา และบังคับให้ทำงานเป็นเด็กรับใช้ในบ้านของนายจ้าง คือ นายนที แตงอ่อน และน.ส.รัตนากร ปิยะวรธรรม โดยในช่วงที่ทำงานอยู่กับนายจ้างทั้งสองนั้น ด.ญ.แอร์ได้ถูกนายจ้างร่วมกันทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัสเเละมีบาดแผลส่วนหนึ่งที่เกิดจากนายจ้างใช้น้ำเดือดราดลงไปที่บริเวณร่างกายจนทำให้มีพังผืดยึดติดกับลำตัวไม่สามารถกางแขนและงอแขนได้ เเเละหลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จากบ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดกำแพงเพชรได้นำตัวเด็กหญิงแอร์เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดี กรุงเทพมหานคร
รายละเอียดเพิ่มเติมกรณีนางโม วาเตง ผู้เเทนโดยชอบธรรมของด.ญ.แอร์ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนที แตงอ่อนเเละนางสาวรัตนากร ปิยะวรธรรม เป็นจำเลยในคดีแพ่งต่อศาลจังหวัดกำแพงเพชร ปรากฏตามลิงค์
http://hrdfoundation.org/?p=805 และ http://hrdfoundation.org/?p=805&lang=en
ปัจจุบันนายจ้างทั้งสองซึ่งตกเป็นจำเลยในคดีนี้ ยังเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา ที่พนักงานสอบสวนตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดในฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยการทรมาน หรือการกระทำทารุณ โหดร้าย, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังได้รับอันตรายสาหัส, หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นและให้ผู้อื่นนั้นกระทำการใดๆ ให้แก่ผู้กระทำหรือบุคคลอื่น, ร่วมกันเอาคนลงเป็นทาสหรือมีฐานะคล้ายทาส, ร่วมกันพามาจากที่ใด หรือหน่วงเหนี่ยวกักขังเด็กอายุ ไม่เกิน 15 ปี จนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสเเละร่วมกันพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี และร่วมกันค้ามนุษย์ ซึ่งปัจจุบันนายจ้างทั้งสองได้หลบหนีระหว่างการประกันตัวในชั้นสอบสวน
น.ส.ณัฐรัตน์ อรุณมหารัตน์ ผู้ประสานงานโครงการต่อต้านการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา กล่าวว่า คำพิพากษาดังกล่าวนี้เเสดงให้เห็นถึงการรองรับสิทธิในทางแพ่งของผู้เสียหายในความผิดอาญา ซึ่งเป็นสิทธิอันเกิดจากการถูกละเมิดสิทธิในชีวิตร่างกายเเละเสรีภาพของด.ญ.แอร์ เเละนอกจากจะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเเล้วความผิดดังกล่าวยังเป็นมูลฐานของการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ ซึ่งด.ญ.แอร์ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยการถูกบังคับใช้แรงงานเเละการเอาคนลงเป็นทาส เเละเเม้ด.ญ.แอร์จะมีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนตามพระราชบัญญัติป้องกันเเละปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 แล้วก็ไม่เป็นการตัดสิทธิที่ด.ญ.แอร์จะได้รับชดเชยในลักษณะค่าเสียหายในคดีแพ่งแต่อย่างใด
ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ