‘จาตุรนต์’วิพากษ์การศึกษาไทยมีปัญหาทั้งระบบ ปฏิรูปต้องเป็นประชาธิปไตย-เพิ่มบทบาทภาคสังคม

ทีมข่าว TCIJ 6 ต.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3797 ครั้ง

ข่าวความตกต่ำด้านการศึกษาของไทย ที่รั้งท้ายประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนและในโลก นำมาซึ่งกระแสวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาและการเพ่งเล็งการปฏิรูปการศึกษารอบใหม่ในห้วงเวลานี้  เช่นเดียวกับวิกฤตการณ์ใหญ่ๆในประเทศไทยทุกครั้งที่ผ่านมา ที่นำมาซึ่งเสียงเรียกร้องการปฎิรูปที่มีโจทย์สำคัญอันดับต้นคือ "การศึกษา” ด้วยความเชื่อว่า การศึกษาคือรากฐานหลักของการสร้างคุณภาพประชากร และจะทำให้ประชาชนไทยมีวุฒิภาวะทางการเมือง นำไปสู่คุณภาพทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมฯ

จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ 2 สมัย ปฏิเสธมายาคติข้างต้น แต่ไม่ได้ปฏิเสธว่าการศึกษาที่มีคุณภาพจำเป็นต่อการพัฒนาสังคม คงไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการปฏิรูปการศึกษา ทว่า การปฏิรูปการศึกษาในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กลับไม่ได้นำพาสังคมออกจากวังวน คำถามที่ต้องช่วยกันตอบคือเราจะปฏิรูปอะไรและอย่างไร การให้นักเรียนท่องค่านิยม 12 ประการและพาสปอร์ตความดีคือคำตอบหรือไม่

จาตุรนต์ยืนยันว่า สิ่งที่เรียกว่าการปฏิรูปที่ผ่านมา ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา แต่เป็นแค่การปรับโครงสร้างองค์กร ส่วนการปฏิรูปรอบนี้ต้องทำอะไรบ้าง เขามีความคิดเห็นที่น่าสนใจในสถานะคนวงนอกที่เคยอยู่วงใน

ประเทศไทยไม่เคยมีการปฏิรูปการศึกษา

       “สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2542 เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรหรือกระทรวง  ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษา ในความหมายว่าไม่ใช่การปฏิรูปการเรียนรู้ หลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัย สร้างคนที่มีคุณภาพให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ทันโลก แต่เป็นการปรับองค์กรคือตัวกระทรวง พอประมาณปี 2545-2546 ก็เกิดเป็นกระทรวงศึกษาธิการที่รวมทุกหน่วยงานด้านการ ศึกษามาอยู่ในกระทรวง มีระดับ 11 ห้าคน ทุกคนขึ้นตรงต่อรัฐมนตรี ใน 5 องค์กรนั้นก็ลดขนาด ลดบทบาทของบางองค์กรที่ควรจะมีบทบาทมากๆ ลงไป ซึ่งก็ต้องค่อยๆ มาปรับ มาจัดองค์กรกันใหม่มาเรื่อยๆ”

องค์กรที่เทอะทะ ระบบบริหารที่ลดทอนประสิทธิภาพ ซ้ำยังลดบทบาทหน่วยงานสำคัญ เช่น กรมวิชาการลงไปเป็นผลกระทบใหญ่หลวงจากการปรับโครงสร้างองค์กรที่ว่านี้ การรวบหน่วยงานต่างๆ เหลือ 5 แท่ง ขึ้นตรงต่อรัฐมนตรีโดยตรง เจตนาเบื้องต้นเพื่อต้องการให้แต่ละหน่วยงานทำงานเชื่อมประสานกัน ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามเจตนา

ตรงกันข้าม กลับต้องใช้เวลาอยู่นานเพื่อเยียวยาผลกระทบ ซึ่งทำให้ข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาหลายส่วนเคว้งคว้าง ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีที่อยู่ที่ยืน องค์กรที่ถูกลดบทบาทลงต่อมาก็ทำให้งานด้านนั้นอ่อนลงไป หลายองค์กรต้องพยายามดิ้นรนให้มีสถานะบทบาทมากขึ้น บุคลากรส่วนใหญ่จึงไม่ได้ทำเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็คือการปฏิรูปการศึกษา ผนวกกับผู้บริหารไม่มีความต่อเนื่อง สิบกว่าปีที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโดยเฉลี่ยแล้วปีหนึ่งมากกว่าหนึ่งคน

       “เรียกว่าเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจที่มีต่อการศึกษา เป็นการให้ความสำคัญไม่ถูกจุด น่าจะเป็นคำที่สั้นๆ ตรงประเด็น”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพอจะกล่าวได้ว่าสามารถเยียวยาผลกระทบได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีปัญหาที่แก้ไม่จบหรือยังไม่ได้แก้ และจำเป็นต้องมีการสรุปบทเรียนในระยะหลังเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร

ภาคสังคมไม่มีบทบาท

ถ้าเช่นนั้น ปัญหาใหญ่สุดของการศึกษาไทยก็คือการผูกติดกับระบบราชการ เพราะไปเน้นที่การปฏิรูปตัวกระทรวง จนทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่สามารถผ่าทางตันตรงนี้ได้ ใช่หรือไม่

จาตุรนต์ ตอบว่า ก็มีส่วนถูกอยู่มาก เขาอธิบายเพิ่มเติมว่าการศึกษาในประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จจะดูแลโดยรัฐ การศึกษาไม่ว่าที่ไหนในโลกหลีกเลี่ยงบทบาทของรัฐไม่ได้ มิฉะนั้นการศึกษาจะอยู่ในสภาพที่เรียกว่า Under Supply ในหลายประเทศสัดส่วนที่รัฐเข้าไปดูแลการศึกษามากกว่าของประเทศไทยด้วยซ้ำ ขณะที่การศึกษาของไทยดูแลโดยเอกชนมากกว่า

ส่วนการที่บอกว่าเพราะคิดแบบราชการมาก ราชการคิดกันเอง อย่างปฏิรูปการศึกษาในช่วงปี 2542 เป็นต้นมา ความจริงหลักๆ มาจากนักการศึกษาของประเทศเป็นผู้กำหนด โดยองคาพยพส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่ความเป็นราชการ แต่อยู่ที่สังคมหรือประชาชนมีบทบาทการจัดการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของสังคมหรือประเทศชาติได้น้อย ซึ่งเห็นได้ชัดเจนมากในระดับอุดมศึกษา จาตุรนต์ยกตัวอย่างว่า ระบบต้องเปิดให้ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถกำหนดการจัดการศึกษาในระดับเขตพื้นที่และระดับโรงเรียนให้เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องวางระบบให้องค์กรส่วนกลางสามารถประเมินและรายงานผลต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน

หรือในระดับอาชีวศึกษาจะต้องสร้างความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาและวิทยาลัยต่าง ๆ กับภาคเอกชนที่เป็นภาคการผลิตหรือภาคประชาสังคม ซึ่งต้องการใช้คนที่ผลิตจากระดับอาชีวะตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง หมายถึงต้องเชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับสูงจนถึงระดับพื้นที่

        “ในหลายประเทศที่จัดการศึกษาระดับอาชีวะได้ดีและตอบสนองความต้องการของประเทศได้ เราจะเห็นบทบาทของภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ร่วมกำหนดทิศทางการจัดการศึกษา กำหนดความต้องการ บอกว่าอยากให้มีหลักสูตรอะไร ผลิตคนแบบไหน เราไม่มีประเพณีแบบนี้ การวางทิศทางอุตสาหกรรมของประเทศก็ไม่ได้มีประเพณีแบบนี้ การศึกษาจึงทำไปตามความสะดวกเท่าที่จะทำได้ ทำให้วันนี้เราขาดแคลนแรงงานฝีมืออย่างรุนแรง”

มหาวิทยาลัยไร้แรงกดดันให้แข่งขันคุณภาพ

        “ระดับอุดมศึกษายิ่งหนักเลย สกอ. (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา) ก็ไม่มีบทบาทต่อการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัยมากนัก มหาวิทยาลัยของรัฐในประเทศไทยมี พ.ร.บ. ของตัวเองเกือบทั้งหมด การบริหาร การตัดสินใจอยู่ที่ผู้บริหารและสภามหาวิทยาลัย ซึ่งมักจะไปด้วยกัน เรียกว่าผลัดกันเกาหลัง ระบบงบประมาณของประเทศก็ไม่ได้ไปดูแลเรื่องการผลิตคนให้มีคุณภาพหรือผลิตคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศสักเท่าไหร่ การประสานในการทำงบประมาณเป็นการประสานโดยตรงระหว่างมหาวิทยาลัยที่เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการของบประมาณกับสำนักงบประมาณ แล้วก็ไม่มีการดูภาพรวม ไม่มีการดูแลในเรื่องทิศทางการจัดการศึกษา”

ฟากสังคมเองก็ไม่มีส่วนมากนักต่อการจัดการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ บวกกับสภาพที่คนต้องการเรียนมีมาก มหาวิทยาลัยจึงไม่จำเป็นต้องแข่งขันกันในด้านคุณภาพ ขณะเดียวกันก็ไม่มีระบบการประเมินสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เป็นระบบ มีประสิทธิภาพ และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย มหาวิทยาลัยต่าง ๆ จึงไม่รู้ว่าตนเองว่ามีสภาพเช่นไร การประเมินจากต่างประเทศก็ทำไม่ได้ เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยร้อยละ 90 ไม่ติดอันดับการประเมิน

จาตุรนต์ย้ำว่า นี่เป็นเหตุผลหลักที่ต้องมีการวางระบบ เพื่อเปิดพื้นที่ให้สังคมมีส่วนร่วม และสร้างแรงกดดันต่อมหาวิทยาลัย สร้างการประเมินที่ดีเพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของหลักสูตร จุดแข็ง-จุดอ่อนของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ระบบงบประมาณต้องเชื่อมโยงกับการผลิตคนที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของประเทศ

        “เราเคยมีความคิดจะทำกองทุนกู้ยืมที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต เพื่อจะใช้เครื่องมือนี้มากำหนดและสนับสนุนการเรียนการสอนในสาขาที่ประเทศต้องการและดูคุณภาพประกอบ แต่ต้องล้มไปหลังการยึดอำนาจคราวก่อน คนที่มาทำก็ไม่ให้ความสนใจ ช่วงหลังคนที่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องนี้ก็กระจัดกระจายกันไปหมดแล้ว”

กระจายอำนาจไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

เป็นเพราะวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นการรวมศูนย์รวบอำนาจ จึงสะท้อนออกมาในการศึกษาทั้งระบบใช่หรือไม่

จาตุรนต์กล่าวยอมรับว่า การกระจายอำนาจเป็นสิ่งที่ต้องทำ โดยเฉพาะในระดับเขตพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ เนื่องจากการกระจายอำนาจโดยไม่มีทิศทางหรือขาดทิศทางก็เป็นปัญหาใหญ่ ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่การกระจายอำนาจ เช่น การยกเลิกการสอบวัดผลกลางเมื่อประมาณปี 2520 แล้วกระจายการจัดการวัดผลไปให้ทางโรงเรียนและครู ซึ่งในความเห็นของเขาถือเป็นความผิดพลาดและส่งผลความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อระบบการศึกษาของประเทศ

         “ไม่ใช่กระจายให้ต่างคนต่างวัดผลแล้วดี บางเรื่องต้องมีการจัดการจากส่วนกลาง หลักสูตรไม่ใช่เรื่องของการกระจายทำหลักสูตร และการทำหลักสูตรที่มีปัญหามากก็คือในช่วงปี 2540 กว่าๆ มานี้ อยู่ที่ความคิดของนักการศึกษาที่เผยแพร่กันไปว่า โรงเรียนทุกแห่งและครูทุกคนต้องทำหลักสูตรเป็นและมีหน้าที่ทำหลักสูตร ตรงนี้เป็นความคิดที่ผิดและส่งผลเสียต่อการศึกษาของประเทศอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดการลอกหลักสูตรกันเมื่อสักสิบปีที่แล้ว เพราะครูทุกคนไม่จำเป็นต้องทำหลักสูตรเป็นและไม่มีทางจะทำหลักสูตรเป็น เนื่องจากไม่ได้เรียนการทำหลักสูตรมา”

จาตุรนต์ อธิบายว่า ถ้าเป็นหลักสูตรท้องถิ่นก็ควรโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่หลักสูตรกลางเป็นเรื่องที่แต่ละประเทศต้องรวบรวมผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการทำหลักสูตร ซึ่งต้องมีความรู้วิชานั้นจริงๆ รู้ว่าวิชาแต่ละวิชาควรสอนอะไร อย่างไร เด็กระดับไหนควรจะรู้อะไร เท่าใด ครูสอนแล้วได้ผลอย่างไร สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ต้องมีองค์กรที่ทำการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศไทยไม่มี แต่มักใช้วิธีระดมคนมาตั้งเป็นคณะกรรมการเพื่อออกแบบหลักสูตรมากกว่าที่จะอิงกับข้อมูลความรู้

       “ถ้าเราดูหลักสูตรวิทยาศาสตร์ของบางประเทศ เปิดมาแต่ละหน้าจะพบว่า ชั้นนี้ วิชานี้ ต้องเรียนอะไร แล้วเราจะเห็นเชิงอรรถว่า ตรงนี้อ้างมาจากผลการศึกษาของสถาบันนั้นสถาบันนี้ จึงมาบอกว่าต้องเรียนอย่างนี้ๆ ของเราระดมคนมาดีกว่าไม่ระดม แต่ว่าระยะยาวทำอย่างนี้ไม่ได้ ยังไม่ทันเข้าใจอะไรกันมากก็ปล่อยไปให้แต่ละโรงเรียน ครูแต่ละคนไปคิด มันก็หลากหลายจนสะเปะสะปะ ที่สำคัญคือไม่มีการประเมินที่ดีพอว่าใช้ไปแล้วเป็นยังไง”

เรียนรู้วิธีเรียนรู้

นอกจากนี้ ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตยังเป็นแหล่งสะสมข้อมูลจำนวนมหาศาล มนุษย์สามารถเข้าถึงความรู้ได้ไม่จำกัด การพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนจะต้องออกแบบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้ว่าควรจะเรียนรู้อะไรผ่านเครื่องมือที่อยู่มากมาย

        “นี่คือหลักสูตร ไม่ใช่บอกว่าให้เครื่องมือคือโทรศัพท์มือถือคนละเครื่องกับไวไฟ แล้วใครอยากเรียนอะไรก็เรียน มันต้องเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ที่รู้ต้องช่วยคิด ช่วยศึกษาว่า เมื่อโลกเป็นอย่างนี้ เราจะสร้างและพัฒนาเด็กของเราอย่างไร เขาควรจะเรียนรู้อะไร ไม่ได้หมายความว่าเอาใครสักคนมาคิด แล้วบอกคนทั้งประเทศ แต่ต้องเกิดการรวบรวมองค์ความรู้โดยผู้รู้และมีความคิดที่หลากหลายมาแลกเปลี่ยนกันว่าควรรู้อะไร”

ที่สำคัญมากคือผู้เรียนควรจะได้เรียนรู้วิธีเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ทั้งระหว่างที่อยู่ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน เพราะหลักสูตรเป็นเพียงการกำหนดให้รู้แต่เนื้อหา โดยไม่สอนวิธีคิด วิธีวิเคราะห์ วิธีทำงานร่วมกับผู้อื่น วิธีทำวิจัย วิธีโต้แย้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ดังนั้น เมื่อกำหนดแล้วก็ต้องส่งเสริมให้ครูพัฒนาการเรียนการสอนพร้อมกันไป หลักสูตรและการเรียนการสอนจึงต้องเกี่ยวกันโดยตรง

ครู-มีปัญหาทั้งระบบ

ด้านครูและบุคลากรทางการศึกษา จาตุรนต์เห็นว่ามีปัญหาตั้งแต่ระบบผลิต ระบบคัดเลือกรับเข้าเป็นครู และระบบในการพัฒนา โดยเริ่มจากการอธิบายปัญหาในระบบผลิตว่า เมื่อเร็วๆ นี้ปรากฏข่าวว่ามีครูเกษียณอายุปีละ 2 หมื่นคน โดยใน ช่วงสิบปีข้างหน้าจะมีครูเกษียณรวมประมาณ 2 แสนคน ผลที่ตามมาคือในช่วงหลายปีมานี้เกิดการเร่งผลิตครูปีละประมาณ 5 หมื่นคน เท่ากับผลิตครูเกินความต้องการถึง 3 หมื่นคน แทนที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดผลิตครูให้น้อยลง แต่เน้นด้านคุณภาพมากขึ้น

ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือ ระบบผลิตครูของไทยมีลักษณะเป็นวิชาชีพ ถ้าไม่ได้เรียนทางสายครูย่อมไม่สามารถเป็นครูได้ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการที่ใช้เวลาค่อนข้างยาวนาน จนไม่สามารถสร้างแรงจูงใจให้แก่บัณฑิตที่จบสาขาอื่นๆ ที่ต้องการเป็นครู ปัญหานี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นในระดับอาชีวะศึกษา ซึ่งมีครูกว่าหมื่นคนที่เป็นครูอัตราจ้าง เพราะไม่สามารถจ้างคนที่จบด้านวิศวกรรมเป็นครูได้

       “เรื่องนี้ต้องรีบแก้ ยกตัวอย่างปัจจุบัน เราส่งเด็กไปเรียนภาษาจีนที่เมืองจีน 4 ปี บางคนเรียนภาษาจีนโดยเฉพาะ กลับมาเป็นครูสอนภาษาจีนในเมืองไทยไม่ได้ เข้าระบบไม่ได้ เขาก็ไปทำงานภาคเอกชน นี่คือระบบของเรา”

ด้านระบบคัดเลือกรับก็พบว่า ในสถานศึกษาท้องถิ่นที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนมีการจ้างครูอัตราจ้างของตนเอง รวมทั่วประเทศประมาณ 6-7 หมื่นคน ซึ่งส่งผลให้เกิดกติกาที่รับรู้กันว่า หากเป็นครูอัตราจ้างเท่านี้ปีก็จะได้รับคัดเลือกเป็นข้าราชการครูโดยปริยาย กลายเป็นระบบคัดเลือกครูอีกแบบหนึ่งที่ไม่ต้องมีหลักเกณฑ์มาก ไม่ต้องแข่งขัน และจะไม่มีวันออกจากการเป็นครูหากไม่ได้ทำผิดวินัยร้ายแรง ซึ่งผิดกับต่างประเทศที่ครูทุกคนต้องมีการประเมินเป็นระยะ ๆ หากไม่ผ่านก็ต้องพ้นจากหน้าที่ครู

       “การพัฒนาครูเป็นเรื่องใหญ่ เรามีครูหลากหลายมาก ครูที่อยู่นานๆ แต่ขาดความรู้ประสบการณ์ในการจัดการศึกษาแบบใหม่ ไม่รู้วิธีสอนให้คิดเป็น วิเคราะห์เป็น รู้จักถกเถียง โต้แย้ง ตั้งกลุ่มสนทนา หรือการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ใช้เครื่องมือแบบอินเตอร์แอ็คทีฟ เราไม่มี ครูด้านเทคโนโลยีการศึกษาขาดแคลนมาก หลายๆ เขตมีครูเทคโนโลยีการศึกษาแค่คนเดียว หลายๆ โรงเรียนไม่มี”

การสร้างและพัฒนาครูที่มีอยู่แล้วให้มีความรู้ใหม่ๆ จำเป็นต้องมีการอบรมพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจะทำได้ย่อมต้องมีการวางระบบที่เอื้ออำนวย พร้อมกับสร้างระบบประเมินที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการสร้างแรงจูงใจด้วยการสร้างระบบการประเมินวิทยฐานะให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาครูและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน

การศึกษาต้องโยงกับผลสัมฤทธิ์

ในมุมมองของจาตุรนต์เห็นว่า ทั้งปัญหาการขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ หลักสูตร และบุคลากรทางการศึกษา ต่างขมวดปมเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาไทยที่ไม่มีการเชื่อมโยงหลักสูตร การเรียนการสอน การพัฒนาครู การวัดผล ประเมินผลเข้ากับผลสัมฤทธิ์ การจัดการศึกษาแต่ละส่วนจึงต่างคนต่างทำกันไป

จาตุรนต์คิดว่าการจัดการศึกษาจำเป็นต้องโยงสู่ผลสัมฤทธิ์ ซึ่งที่ผ่านมาประมาณสิบกว่าปี แม้จะมีการจัดสอบโอเน็ต แต่ก็ยังต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

       “โอเน็ตยังมีปัญหา เพราะถ้าเด็กอยู่ในชั้นที่กำลังจะสอบเพื่อเรียนต่อมัธยมปลายหรือมหาวิทยาลัย เด็กจะไม่สนใจสอบโอเน็ต เพราะไม่ใช่ตัวตัดสินว่าเขาจะเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ บางทีไปสอบตรงได้ ไม่ต้องสอบโอเน็ตแล้ว ผลสอบโอเน็ตจึงไม่บอกเราเท่าที่ควร”

การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ และไม่สามารถอ่านจับใจความได้ของเด็กนักเรียนชั้น ป.6 หลายหมื่นคน เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของปัญหาการขาดการวัดผลสัมฤทธิ์ที่จาตุรนต์กล่าวถึง คำถามคือเมื่ออ่านไม่ได้ เหตุใดจึงสามารถผ่านขึ้นชั้น ม.1 คำตอบคือระบบการศึกษาของไทยไม่มีการสอบตก แต่ใช้วิธีการซ่อมแทน ซึ่งก็มักเป็นซ่อมแบบขอไปที แต่โรงเรียนเหล่านี้กลับผ่านการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ได้ เป็นเพราะ สมศ. มีเกณฑ์ว่า หากมีนักเรียนตกซ้ำชั้นมากถือว่าไม่ผ่าน โดยไม่ได้ดูรายละเอียดว่าข้อสอบได้มาตรฐานหรือไม่ มีวิธีการสอบซ่อมแบบไหน เหตุนี้ สมศ. จึงไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์

ในทัศนะของจาตุรนต์ นักเรียนต้องสอบตกได้ในวิชาพื้นฐานต่างๆ พร้อมกับสร้างแบบทดสอบกลางที่เป็นมาตรฐานให้สามารถวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนได้ ขณะเดียวกันต้องสร้างระบบวิชาเลือกที่ดีและมีความหลากหลาย ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเพื่อค้นหาความชอบ ความถนัดของตนได้ ซึ่งวิชาเลือกไม่จำเป็นต้องให้ตก

      “พอพูดขึ้นมาว่า ให้ตกก็ทำให้เด็กเสียอนาคต ทำไมใจร้ายกับเด็กจัง แต่เรากลับให้เด็กเรียน 6 ปีแล้วอ่านหนังสือไทยไม่ออก โดยไม่พูดว่านี่คือการทำให้เสียอนาคต”

ปฏิรูปการศึกษาต้องใช้ฐานประชาธิปไตย

การเมืองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จาตุรนต์เห็นว่ามีผลกระทบต่อการปฏิรูปการศึกษาด้วยสองเหตุผลหลักๆ หนึ่ง-ระบบการเมืองไทยให้ความสำคัญกับการศึกษาค่อนข้างน้อย เห็นได้จากนโยบายด้านการศึกษามักไม่ใช่นโยบายเด่นที่ใช้ในการหาเสียง ทั้งการวางตัวนักการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาก็เป็นการ

“เอาไว้ให้นักการเมืองที่จำเป็นต้องให้ เป็นรัฐมนตรี”

เหตุผลข้อที่สอง- คือการขาดความต่อเนื่อง สังเกตได้ว่าสิบกว่าปีที่ผ่านมามีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาฯ หลายคน การเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อยส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย

จาตุรนต์ยังกล่าวด้วยว่า ถึงกระนั้น ถือว่าการเมืองมีผลไม่มากต่อการศึกษา เนื่องจากการเมืองลงไปจัดการศึกษาได้น้อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาที่การเมืองไม่มีผลเลย หรืออาจกล่าวได้ว่ามีผลน้อยเกินไปด้วยซ้ำ

        “ทางเลือกอาจจะเป็นว่าให้รัฐบาลมีระบบอะไรที่จะผลักดันการศึกษาได้มากกว่านี้ แล้วประชาชนก็ตรวจสอบรัฐบาล อีกแบบหนึ่งคือทำอย่างไรให้สังคมมีบทบาทกำหนดการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ หรือทำทั้งสองอย่าง แต่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้ก็ย้อนกลับไปที่การเมืองอีก เพราะการจะวางระบบ จะออกกฎหมาย จะใช้มาตรการทางบริหาร มันหนีไม่พ้นรัฐบาล เพียงแต่ต้องสร้างระบบที่ให้สังคมเข้ามากำหนดมากขึ้น”

สำหรับแนวคิดการปฏิรูปการศึกษารอบนี้ จาตุรนต์มีทัศนะว่าคงไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก เนื่องจากช่วงเวลาหนึ่งปีถือว่าสั้นเกินไป หรือหากจะบอกว่าเป็นการวางรากฐานและกำหนดทิศทางการปฏิรูปการศึกษาเอาไว้สำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในอนาคต จาตุรนต์ก็เห็นว่า สังคมไม่สามารถตั้งความหวังได้เช่นกัน

       “เราไม่ควรตั้งความหวังว่าจะต่อเนื่องหรือไม่เมื่อมีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง เพราะนี่เป็นการพูดในเชิงปัญหาการเมืองแล้ว รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ก็ไม่ควรจะมาวางแนวปฏิรูปอะไรมากๆ แล้วบอกว่าขอมอบมรดกให้ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งต้องไปทำต่อ มันไม่ได้ มันขัดหลักการ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งควรจะมีความชอบธรรมที่จะทำอะไรที่แตกต่างไปจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จะเหมือนหรือไม่เหมือนก็ได้ ผมพูดในฐานะที่ต้องการเห็นหรือคนที่มีความเชื่อว่ายังไงก็ต้องใช้ระบบประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาประเทศ”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: