จริงๆแล้ว การรู้เท่าทันสื่อ หรือ Media literacy เป็น”ทักษะชีวิต” ไม่ใช่แต่เพียงเป็น”ความรู้”อย่างหนึ่ง อย่างที่นักวิชาการบางท่านและภาคประชาสังคมบางกลุ่ม พยายามผลักดันให้เป็นหลักสูตรในสถานศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชน การรู้ทันสื่อในฐานะทักษะชีวิตจึงไม่มีสูตรตายตัว หากแต่ยิ่งซับซ้อนซ่อนเงื่อนในยุคสมัยของสื่อหลากหลายและโซเชียลมีเดีย
ทักษะชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ในช่วงการก่อรูปความเข้าใจต่อโลกรอบตัวที่จะค่อยสะสมความรับรู้-ความเข้าใจจากรูปธรรมสู่นามธรรม เช่น ไฟมันร้อนเล่นกับมันแล้วเจ็บแสบแบบไหน เรียกมันว่า ”อันตราย” ฯลฯ ไปจนถึงความเข้าใจว่า ตัวเราสัมพันธ์กับคนอื่นยังไง นอกจากพ่อแม่แล้ว ใครควรคบไม่ควรคบ โฆษณาในทีวีทำให้เราอยากซื้ออยากได้ แต่ก็รู้ว่าเขาขายของ เป็นต้น เรียกว่า”ความรู้เท่าทัน” ซึ่ง เป็นทักษะที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น อย่างที่หลักสูตรหรือทฤษฎีรู้เท่าทันสื่อบอกไว้ว่า สื่อเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น สื่อมีจุดประสงค์และทัศนคติของเขา อะไรเหล่านี้ จึงเป็นตัวความรู้ที่หากไม่นำไปสู่การเกิดประสบการณ์ตรงของแต่ละช่วงวัย ก็อาจไม่สามารถประทับอยู่ในวิธีคิดของเราได้
ดิฉันพูดเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะติดตามการขับเคลื่อนและการณรงค์เพื่อสร้างการรู้เท่าทันสื่อมานานนับสิบกว่าปี ของกลุ่มภาคสังคม ทั้งเครือข่ายเท่าทันสื่อประเทศไทย แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.)รวมถึง กสทช. และเครือข่ายโรงเรียน ได้เห็นความเอาการเอางานและพัฒนาการด้านกลยุทธ์หลายอย่าง ทั้งการผลักดันเชิงนโยบาย ทั้งการระดมพลังปัญญาจากปัจเจกและเครือข่าย มีความพยายามจะก่อตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อดำเนินการต่อเนื่องจริงจัง การทดลองและพัฒนากิจกรรมกระบวนการรู้ทันสื่อ การฝึกให้เด็กๆเป็นผู้สร้างสื่อผลิตสื่อ และการให้ความรู้เชิงบวกว่าสื่อสร้างสรรค์ควรเป็นอย่างไร เป็นต้น
ที่เอาใจช่วยอยู่ก็เห็นว่า มันเป็นประเด็นใหญ่และยากเพียงใด และมันก็แทบเป็น The Impossible Dream เพราะจะต้องอาศัย”ต้นทุน”ของการศึกษาไทยทั้งระบบ ที่จะทำให้เยาวชนไทย ค.ว.ย. หรือ รู้จัก “คิด-วิเคราะห์- แยกแยะ” ซึ่งหมายถึง การสร้างระบบคิดหรือ Methodology of Thinking ด้วยหลักเหตุผลและกลวิธีต่างๆในกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมดทุกวิชา รวมทั้งครูผู้สอนเอง ก็จะต้องสามารถให้ข้อมูล ให้คำอธิบายที่เข้ากับยุคสมัย สามารถบูรณาการข้ามศาสตร์ข้ามวิชาได้ พูดง่ายๆคือ ครูผู้สอนไม่ว่าในวิชาไหน ก็จะต้องมีความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเสียก่อน จึงจะสอนหรือถ่ายทอดให้เด็กได้ และที่สำคัญคือ มีความเป็นนักประชาธิปไตยด้วย ซึ่งหมายถึงคุณภาพของครู คุณภาพของระบบการศึกษาทั้งระบบ
ก็ลองนึกดูว่า ในบรรยากาศของห้องเรียนแบบที่ครูกางตำราสอน หรือใช้เวลากับการพร่ำบ่นด่าว่านักเรียน กระทั่งลงมือฉีกกระโปรงนักเรียนหาว่านุ่งสั้น ตบหน้านักเรียนหาว่าไม่เคารพครู ต่อให้เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ แต่บรรยากาศแห่งการใช้อำนาจ ปิดกั้นการถกเถียงเช่นนี้ จะหวังให้เด็กไทยคิดได้คิดเป็นได้อย่างไร ดังนั้น การรู้เท่าทันสื่อ จึงไม่ใช่การมีหลักสูตรรู้เท่าทันสื่อเพิ่มขึ้นมา ที่น่าหวั่นเกรงว่าจะลงเอยแบบเดียวกับหลักสูตรท้องถิ่นหรือหลักสูตรภูมิปัญญา ที่กลายเป็นหลักสูตรอีกหลักสูตรหนึ่งที่มีคู่มือสำเร็จ รูปสำหรับครูอีกด้วย
ยากยิ่งไปอีก เพราะต้นทุนชีวิตในการรู้เท่าทันอะไรก็ตามแต่ ไม่อาจได้มาจากการคาดหวังหรือฝากความ หวังไว้กับครูและระบบโรงเรียนเท่านั้น ก็เหมือนกับที่เราอยากให้เด็กไทยรักการอ่าน แต่ถามว่า ถ้าเด็กส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นพ่อแม่อ่านหนังสือเป็นนิสัย เพราะการศึกษาไทยทำให้เมื่อเรียนจบแล้วไม่อยากอ่านความรู้อะไรอีกเลย ในบ้านจึงเปิดทีวีทั้งวี่วัน ไม่มีห้องสมุดที่น่าเข้า เพียงพอหรือเข้าถึงได้ง่าย เป็นต้น ฉันใดฉันนั้น การรู้เท่าทันสื่อจึงเป็นทักษะของชีวิต ที่ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมของชีวิตหรือสังคมที่จะบ่มเพาะมัน ซึ่งรวมไปถึงการมีสื่อมวลชนที่โปร่งใส แม้มีความเห็นทางการเมืองต่างๆกัน แต่ก็ทำหน้าที่ค้นหาความจริงและพูดความจริงด้วยข้อมูลด้วยหลักฐาน การมีบรรยากาศทางการเมืองที่ยอมให้มีการถกเถียง เปิดเผย การทำให้บ้านเมืองมีกติกาที่เป็นธรรม มีการเปิดพื้นที่ให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ถ่วงดุลกัน พร้อมๆไปกับการเสริมหลักคิดและภูมิคุ้มกันการรู้เท่าทันสื่อ อย่างที่ภาคประชาสังคมกำลังขับเคลื่อนกันอยู่ เพื่อให้เยาวชนของเราอยู่ในบรรยากาศของการกล้าคิด กล้าตั้งคำถาม เชื่อมั่นว่าแม้ตนจะเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ แต่ก็มีศักดิ์ศรีและสังคมจะให้โอกาส เรียนรู้จากชีวิตจริงว่า ทำไมสื่อนี้พูดไม่เหมือนสื่อนั้น ทำไมสื่อนั้นสัมภาษณ์แต่คนนี้ คนนี้เมื่อก่อนพูดอย่างหนึ่ง ตอนนี้ทำไมพูดอีกอย่างหนึ่ง รู้ทันนะ อีตาเสี่ยคนนี้แจกเงินรวยเปรี้ยงอีกแล้ว ฯลฯ
ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ดิฉันเองก็ตระหนักว่า ประเทศเราแทบไม่เหลือระบบอะไรที่เข้มแข็งพอจะค้ำยันปัญหาวิกฤตเวลานี้ แต่ก็ยังอยากตั้งความหวังเพราะความหวังทำให้คนมีชีวิตอยู่ ว่า ถ้าเราช่วยกันมองให้เห็นถึงปัญหาที่”ลึกสุด”ของประเด็น จะทำให้เรายิงศรตรงเป้าได้บ้าง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ