‘เงิน’ไม่ใช่ชี้ขาดว่าเลือกตั้งแล้วจะได้ส.ส. แค่มายาคติ‘ผู้สมัคร-พรรค’ก็ต้องพร้อม

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ม.ค. 2557 | อ่านแล้ว 3347 ครั้ง

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 เพื่อคืนอำนาจการตัดสินใจให้ประชาชนและหวังลดกระแสร้อนแรงทางการเมือง จากการชุมนุมของประชาชน ที่นำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ซึ่งมีสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ อย่างไรก็ตาม กปปส. กลับยังไม่ยุติการชุมนุม เพราะยังไม่บรรลุข้อเรียกร้องที่ต้องการ ให้ยิ่งลักษณ์ลาออกจากรักษาการนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดสูญญากาศทางการเมือง และนำไปสู่การใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ ตั้งสภาประชาชน และหานายกฯ คนกลางขึ้นมาทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงค่อยเลือกตั้ง

เหตุผลหนึ่งที่สุเทพยกขึ้นมากล่าวบนเวทีคือ การเลือกตั้งทุกวันนี้เต็มไปด้วยการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ผู้ที่มีเงินมากกว่าย่อมชนะการเลือกตั้ง เงินเป็นตัวชี้ขาดว่าใครจะได้บริหารประเทศ ซึ่งหากไม่ปฏิรูปประเทศเสียก่อน พรรคเพื่อไทยและเครือข่ายตระกูลชินวัตรย่อมกลับเข้ามาสานต่อระบอบทักษิณเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า ‘การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง’ คือวาทกรรมหลักที่อยู่คู่กับสังคมไทยเรื่อยมา โดยไม่ถูกตั้งคำถามว่า หากในอดีต การซื้อสิทธิ์ ขายเสียงเป็นปัญหาจริง ล่วงเลยจนถึงปัจจุบัน สภาพดังกล่าวยังคงสถิตนิ่งเหมือนเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อนโดยไม่มีพลวัตรใดๆ จริงหรือ หรือเอาเข้าจริงๆ แล้ว ‘การซื้อสิทธิ์ ขายเสียง’ ต้องการคำอธิบายมากกว่านั้น เพราะการตัดสินใจทางการเมืองของคนชนบทมีความสลับซับซ้อนมากกว่าแค่ ‘เงินไม่มา กาไม่เป็น’

เงินส่งผลต่อการเลือกตั้งเพียง 4.59 เปอร์เซ็นต์

หากเงินเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ข้อมูลที่มักถูกนำมากล่าวถึงเสมอเพื่อตอบโต้การกล่าวอ้างของสุเทพ ก็นับว่าน่าสนใจ เพราะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคเพื่อไทยส่งผู้สมัคร 124 ราย ใกล้เคียงกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ส่งผู้สมัคร 125 ราย ทว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายที่ทั้งสองพรรคใช้ในการหาเสียงกลับแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อพรรคเพื่อไทยใช้เงินไป 93,846,296.45 บาท ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ใช้จ่ายไปถึง 165,420,868.94 บาท

งานศึกษาเกี่ยวกับการใช้เงินซื้อเสียงจากการเลือกตั้งครั้งเดียวกันของ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังพบข้อสรุปที่ชัดเจนว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดอผลการเลือกตั้งอีกต่อไป งานศึกษาพบว่า มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งรับเงินจากผู้สมัคร แต่ไม่เลือกผู้สมัครรายนั้น ร้อยละ 46.79 ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งร้อยละ 48.62 ยืนยันว่า แม้ไม่ได้รับเงินก็จะเลือก ขณะที่มีเพียงร้อยละ 4.59 เท่านั้นที่เลือกเพราะได้รับเงิน

ผลการศึกษาระบุอีกว่า ปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง กับประชาชนผู้ใช้สิทธิ์ไม่ใช่ลักษณะของการซื้อและการขายเสียงอีกแล้ว เพราะไม่มีการตรวจสอบควบคุมให้คนรับเงินต้องเลือกผู้สมัครที่จ่าย แต่เป็นการให้แบบให้เปล่าหรือสินน้ำใจ ขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับเงินก็ไม่รู้สึกว่า การรับแล้วไม่เลือกจะเป็นบาปหรือไม่ซื่อสัตย์ อีกทั้งจำนวนเงินที่ให้ก็ไม่มากเช่นในอดีต ผู้สมัครที่ใช้เงินก็รู้ดีว่าการซื้อเสียงให้ผลน้อย แต่กลัวแพ้และกลัวว่าอีกฝ่ายจะให้เงิน จึงต้องให้เงินด้วย

‘ซื้อสิทธิ์ ขายเสียง’ ถูกทำให้ใหญ่เกินจริง

แม้จะมีงานวิจัยที่พยายามเผยให้เห็นความเปลี่ยนแปลงในการตัดสินใจเลือกผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของคนชนบท แต่มายาคติเรื่องการซื้อเสียงใช่ว่าจะสั่นคลอนได้ง่ายดาย ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงการซื้อสิทธิ ขายเสียง ในบทความ ‘นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท : มายาคติและอคติของนักรัฐศาสตร์ไทย’ ว่า เป็นผลพวงจากการแนวทางการศึกษารัฐศาสตร์ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นการศึกษาเชิงพฤติกรรมนิยม ซึ่งเป็นกรอบคิดแบบเก่าที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทย ทำให้ไม่สามารถหาคำอธิบายและทำความเข้าใจต่อพฤติกรรมการเลือกตั้งที่เปลี่ยนแปลงไปได้

            ‘ข้อสรุปของงานศึกษาแบบพฤติกรรมนิยมมีอยู่ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมีผลต่อพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง คือผู้ที่อยู่ในชนบทมีการศึกษาต่ำ รายได้น้อย มีโอกาสถูกชักจูงให้ไปลงคะแนนเสียงได้ง่ายกว่าผู้ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองหรือในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีการศึกษาสูง และมีฐานทางเศรษฐกิจดี... มีแนวโน้มไปลงคะแนนเสียงโดยเลือกพรรค และคำนึงถึงนโยบายของพรรค มากกว่าผู้เลือกตั้งชนบท ซึ่งลงคะแนนเสียงโดยคำนึงถึงตัวบุคคลเป็นสำคัญ

            ‘ข้อสรุปจากงานวิจัยจำนวนมาก... ชี้ว่าผู้เลือกตั้งชาวชนบทขาดความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการเลือกตั้งและไม่เข้าใจประชาธิปไตย ทำให้ไม่รู้จักการใช้สิทธิการเลือกตั้งของตนอย่างมีความหมาย ไม่รู้จักพิจารณานโยบายของพรรคการเมือง เน้นแต่คุณสมบัติส่วนตัวของผู้สมัคร ประกอบกับฐานะอันยากจน ทำให้ผู้เลือกตั้งชนบทตกอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำให้ถูกชักจูงโดยอิทธิพลในการออกเสียงเลือกตั้ง มากกว่าที่จะใช้สิทธิในฐานะปัจเจกบุคคลที่มีอิสรภาพ ฐานะอันยากจนและการขาดการศึกษา ยังทำให้คนชนบทเห็นแก่อามิสสินจ้าง รับเงินจากหัวคะแนนและผู้เลือกตั้ง นำไปสู่ปัญหาการซื้อขายเสียง ซึ่งนักรัฐศาสตร์จำนวนมากมองว่า เป็นปัญหาสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยไทย’

หนังสือเล่มดังกล่าวอธิบายว่า ในประเทศไทย วาทะกรรมดังกล่าวถูกทำให้เป็นเรื่องใหญ่เกินจริง และทำให้เกิดทัศนะการเมืองแบบชนชั้นนำ และเบี่ยงเบนประเด็นความสนใจของสาธารณชนออกจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งยังเป็นคำอธิบายที่ขาดมิติทางประวัติศาสตร์ ไม่เข้าใจและไม่เห็นพลวัตรของการเลือกตั้งที่แตกต่างกันในแต่ละระดับ และไม่ตระหนักถึงกระบวนการเรียนรู้ของชาวบ้าน ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร

จะชนะเลือกตั้ง ต้องมีมากกว่าเงิน

บทความดังกล่าวยังอธิบายถึงปัจจัยที่มากกว่าเงินในการเลือกผู้สมัครของคนชนบท เพราะการใช้เงินหว่านโดยไม่สามารถสร้างสายสัมพันธ์ทางศีลธรรมกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องและแน่นแฟ้น กลับยิ่งทำให้พ่ายแพ้ ย่อมแสดงว่า คนชนบทตีความการแจกเงิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างสายสัมพันธ์ทางจิตใจ ระหว่างผู้เลือกตั้งกับผู้สมัคร

หรือในบางพื้นที่ การที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถสร้างอัตลักษณ์ท้องถิ่นนิยม หรือจังหวัดนิยมและการพัฒนาเขตที่อยู่อาศัยให้มีความเจริญ กระทั่งทำให้ชาวบ้านเกิดความภูมิใจในพื้นที่ของตน หากทำเช่นนี้ได้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนนั้นก็มีโอกาสสูง ที่จะชนะการเลือกตั้ง โดยไม่ต้องอาศัยแต่เงินหรืออำนาจมืด

นอกจากนี้ ยังมีคำอธิบายถึงรัฐธรรมนูญของชาวบ้าน หรือรัฐธรรมนูญฉบับท้องถิ่น ที่ทำหน้าที่เป็นกรอบกำกับพฤติกรรมทางการเมืองอย่างกว้าง ๆ สำหรับชาวบ้านในชุมชน โดยรัฐธรรมนูญท้องถิ่นดังกล่าวมีเนื้อหาหลัก ๆ 3 ประการคือ หนึ่ง-ชื่นชอบผู้สมัครที่มาจากท้องถิ่นเดียวกัน มากกว่าผู้สมัครต่างถิ่น สอง-คาดหวังว่าเมื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งได้เป็น ส.ส. แล้วจะคอยให้ความสนับสนุนช่วยเหลือ และสาม-มุ่งเน้นการบริหารที่โปร่งใสและเข้มแข็ง

มายาคติว่าด้วยการขายเสียงกับระบบอุปถัมภ์

ในงานเสวนา ‘มวลมหาประชาธิปไตย’ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งจัดโดยศูนย์ข่าว TCIJ เวียงรัฐ เนติโพธิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งไว้อย่างน่าสนใจ ที่ผ่านมา วาทกรรมการขายเสียงถูกเชื่อมโยงกับระบบอุปถัมภ์ กล่าวคือ มันไปส่งเสริมให้ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเวียงรัฐเห็นว่านี่คือมายาคติ

            “เราคิดว่าการตอบแทนเรื่องเงิน เรื่องพรรคพวก เป็นการอุปถัมภ์ แต่เมื่อเข้าสู่วงจรการเลือกตั้ง การเลือกตั้งจะผลิตสิ่งใหม่ขึ้นมา ใน 20 ปีที่แล้ว มีการใช้เงินอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีการใช้อยู่ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ตนสอนการเมืองการปกครองท้องถิ่นในระดับปริญญาโท ให้นิสิตเก็บข้อมูลในท้องถิ่นตัวเอง ทุกปีจะมีรายงานแบบนี้เข้ามา เงินในเทศบาล ในอำเภอ จ.พิษณุโลก ทำหน้าที่อะไรบ้าง นิสิตกล่าวว่า ที่บ้านตนได้รับเงินรายหัว หัวละ 2,000 บาท แต่ทุกพรรคการเมืองจ่ายหมด ระหว่าง 1,000-2,000 บาท แล้วคุณเลือกพรรคไหน ก็ต้องเลือกพรรคที่ตนชอบ บางแห่งเลือกพรรคที่ให้เงินสูงสุด เพราะคิดว่าจริงจังที่สุด พร้อมลงเลือกตั้งมากที่สุด”

เวียงรัฐพยายามชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘สิ่งตอบแทนทางการเมือง’ ซึ่งมีความแตกต่างจากการอุปถัมภ์หรือการให้เงินตามที่เคยเข้าใจกัน โดยการตั้งคำถามว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ถือเป็นการอุปถัมภ์หรือไม่ เวียงรัฐกล่าวว่า มันเป็นสิ่งตอบแทนทางการเมือง ซึ่งหากผู้อุปถัมภ์เลือกใช้นโยบายมากกว่าเงิน ผู้อุปถัมภ์จะเปลี่ยนลักษณะจากคนให้ผลประโยชน์เฉพาะด้าน ไปเป็นนักการเมืองมืออาชีพ

สิ่งตอบแทนทางการเมือง

เงินจึงมิใช่ปัจจัยเดียวที่ชาวบ้านใช้ในการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร แต่ยังมีปัจจัยอื่นอีกอย่างน้อย 4 ประการคือ หนึ่ง- ภาพลักษณ์เบื้องหน้า หมายรวมถึงทั้งหน้าตา การพูดจา ความเป็นผู้นำ และการศึกษา สอง-ความเป็นมาต้องใสสะอาด หลายแห่งมักถูกฝ่ายตรงข้ามโจมตีด้วยเรื่องส่วนตัว ฉะนั้น จึงจำเป็นที่ผู้สมัครต้องล้างมือ ล้างภาพที่ไม่ดีออกให้หมด สาม-ผู้อุปถัมภ์ต้องมีเนื้อหาหรือนโยบาย

            “มันถูกบังคับโดยอัตโนมัติ ว่าคุณต้องเหนือคู่แข่ง ผู้แข่งขันที่เหมือนกันทั้งภาพลักษณ์ หน้าตา บุคลิกภาพ แต่นโยบายคุณด้อยกว่า คุณจะเสียคะแนนเสียงพอสมควร” เวียงรัฐกล่าว

และสี่-หากดูในบริบทการกระจายอำนาจ การเลือกตั้งจะก่อให้เกิดความสัมพันธ์รูปแบบใหม่คือ แทนที่นักการเมืองระดับชาติจะเป็นใหญ่เหนือนักการเมืองท้องถิ่น กลายเป็นว่านักการเมืองระดับชาติอาจต้องขอความช่วยเหลือจากนักการเมืองท้องถิ่น เพราะจะเป็นตัวสร้างความมั่นใจให้กับคะแนนเสียง ความสัมพันธ์จึงไม่ใช่แนวดิ่ง ที่คนที่มีอำนาจมากกว่า ควบคุมคนที่มีอำนาจน้อยกว่า ดังนั้นในระดับการกระจายอำนาจ กลไกการเลือกตั้งจะทำให้เกิดการต่อรอง ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจ มีอำนาจสร้างนโยบาย โดยมีงบประมาณของตนเองในการใช้จ่าย ซึ่งจะช่วยลดการอุปถัมภ์หรือลดการใช้การเมืองแบบเก่าลง

เหตุนี้การปฏิรูปจึงหมายถึง การทำให้กระบวนการการเลือกตั้ง มีความมั่นคงและต่อเนื่อง เพื่อทำให้พรรคการเมืองตอบสนองกับประชาชนอย่างแท้จริง โครงสร้างของเครือข่ายที่เด่นชัดขึ้นมา จึงกลายเป็นพรรคการเมืองและนักการเมือง

            “พรรคที่มีภาพลักษณ์ที่ดี พรรคที่หาเสียงด้วยนโยบายที่ดีจะประหยัดเงิน อันนี้เป็นตรรกะที่สำคัญ ไม่ใช่ว่านักการเมืองทุกคนมีเงินไม่จำกัด นักการเมืองจึงนิยมประหยัดเงินในทางการเมืองด้วยวิธีสังกัดพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ชาวบ้านถูกใจที่สุด หัวคะแนนก็เช่นเดียวกัน หัวคะแนนอยากทำงานให้กับพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายที่ดี เพราะจะได้ประหยัดเวลา”

การเลือกตั้งจะเปลี่ยนโฉมระบบอุปถัมภ์

สิ่งตอบแทนทางการเมืองที่เมื่อเข้าสู่ระบบการเลือกตั้งแล้ว จึงแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเรียกว่าระบบอุปถัมภ์หรือไม่ก็ตาม ในทางกลับกัน สิ่งตอบแทนทางการเมืองก็ส่งผลสะท้อนกลับเข้ามาในกระบวนการการเลือกตั้ง ฉะนั้นสิ่งตอบแทนตรงทางการเมือง จึงเป็นตัวเปลี่ยนความสัมพันธ์ และกระบวนการการเลือกตั้งก็เปลี่ยนสิ่งตอบแทนทางการเมืองเช่นกัน

            “ผู้สมัครที่จะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง จึงต้องเสนอนโยบายที่ดีกว่าคู่แข่ง ต้องสร้างผลงานที่เป็นที่ถูกใจต้อง โรงเรียนไม่ดีต้องปรับปรุงโรงเรียน โรงพยาบาลไม่ดีต้องปรับปรุงโรงพยาบาล ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ และเงินที่ใช้ในการรณรงค์จะใช้อย่างไร ให้ประหยัดกว่าและชนะคู่แข่งได้”

เวียงรัฐสรุปว่า การกล่าวว่ากระบวนการการเลือกตั้ง ทำให้ระบบอุปถัมภ์เข้มแข็งจึงเป็นมายาคติ เพราะในความเป็นจริง การเลือกตั้งต่างหากที่เปลี่ยนโฉมผู้อุปถัมภ์ หนทางในการปฏิรูป จึงมิใช่หยุดการเลือกตั้ง แต่จะต้องทำให้การเลือกตั้งเป็นสนามทางอำนาจที่สำคัญ เพราะจะทำให้เกิดพลวัตที่ส่งผลต่อความเป็นประชาธิปไตย เกิดการมีส่วนร่วม ความเท่าเทียมบังคับให้รัฐต้องให้บริการสาธารณะ และเกิดคุณธรรมในทางประชาธิปไตย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: