เปิด'ข้อเสนอ'20กลุ่มกิจกรรมการเมือง หวังผลให้เป็นจริงหรือทำแค่โหนกระแส

รวิวรรณ รักถิ่นกำเนิด ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2557 | อ่านแล้ว 2311 ครั้ง

นับตั้งแต่มีการชุมนุมของประชาชนคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พ.ศ.... เมื่อปลายปี 2556 กระทั่งขยับขยาย มาเป็นกลุ่มกปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นเลขาธิการ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ศูนย์ข่าว TCIJ พบว่า มีกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองที่ประกาศตัว เพื่อเคลื่อนไหว ร่วมกิจกรรมทางการเมือง ทั้งกลุ่มที่เห็นด้วยกับรัฐบาล และกลุ่มที่เห็นด้วยกับกปปส.ราว 20 กลุ่ม ที่มีความแตกต่างและหลากหลายกันไป เช่น ประกอบด้วย นักศึกษา เกษตรกร นักวิชาการ หมอ เอ็นจีโอ ฯลฯ

1.คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) มีข้อเสนอคือ สร้างสภาประชาชน ที่มาการแต่งตั้ง 400 คน จากผู้รงคุณวุฒิและตัวแทนสาขาวิชาชีพ เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศไทย 5 ข้อ 1.ปฏิรูประบบการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม 2.สร้างการป้องกันปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น 3.ให้ประชาชนมีอำนาจในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการและนักการเมืองมากขึ้น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจจากการเลือกตั้ง 4.ผลักดันการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นวาระแห่งชาติ 5.ปรับโครงสร้างตำรวจ ให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้การควบคุมโดยคณะกรรมการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)

ประกอบด้วยแนวร่วมการเคลื่อนไหว ได้แก่ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท) กลุ่มประชาคมนักธุรกิจสีลม เครือข่ายนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย กองทัพธรรม กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เครื่อข่ายประชาชนปฏิรูปประเทศ 77 จังหวัด สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)

2.สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ก่อตั้งโดยเครือข่ายนักวิชาการ กว่า 150 โดยมีจุดร่วมเบื้องต้นคือ ไม่เห็นด้วยกับการนำสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการที่ทหารแทรกแซงการเมือง รักษาและขยายพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาและขยายพื้นที่ประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอ ได้แก่ 1.การก่อตั้งสภาประชาชนของฝ่าย กปปส ด้วยการอ้างอิงมาตรา 3 ถือว่า ไม่สอดคล้องประชาธิปไตย หลักนิติธรรม ไม่สามารถทำได้ 2.ข้อเสนอให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลางหลังยุบสภา ตามมาตรา 7 เป็นการพยายามตีความรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นไปตามครรลองประชาธิปไตย 3.เสนอการร่วมออกแบบการทำประชามติ ในการแก้ไขหรือยืนยันการใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ควรเป็นทางออกของสังคม

3.เครือข่ายผู้รับใช้การปฎิรูปประเทศไทยโดยสันติของประชาชนไทย ประกอบด้วยนักวิชาการ อดีตข้าราชการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคมกว่า 190 คน นอกจากนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1.เชื่อมโยงบุคคลผู้มีจุดยืนการปฏิรูปชัดเจนและมีทุนทางสังคมสูง เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง 2.ร่วมประคับประคองประเทศในระยเปลี่ยนผ่านอย่างสันติ 3.น้อมตัวเป็นผู้รับใช้ในการปฏิรูปประเทศ และ 4.สร้างเสริมเครือข่ายเฉพาะประเด็นและพื้นที่

มีข้อเสนอประเด็นการปฏิรูป 5 ข้อ ได้แก่ 1.ปฏิรูปปรับปรุงโครงสร้างระบบและกฎหมายที่จำเป็น 2.ปฏิรูปโครงสร้างการเมือง การปกครองและระบบบริหารราชการแผ่นดิน 3.ปฏิรูปโครงสร้างและกระบวนการยุติธรรม 4.ปฏิรูปโครงสร้างเพื่อป้องกันการผูกขาด สร้างธรรมาภิบาลทางเศรษฐกิจและ 5.ปฏิรูปสังคมเพื่อเสริมสร้างพลังพลเมืองที่เข้มแข็ง

4. 73องค์กรเครือข่ายเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป อาทิ FTA Watch, Human Right Watch, Nation Group, Sasin Institute for Global Affairs (SIGA), เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย, เครือข่ายกะเหรี่ยงแห่งประเทศไทย, เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง, สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ, กลุ่มจับตาความรุนแรง, บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด,คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา35, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.), ธนาคารกรุงเทพ, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), ประชาคมพรรคการเมืองเอเชีย/ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย, สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดล, ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.), สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สำนักข่าวอิศรา, องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) เป็นต้น มีข้อเสนอคือ ประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปการเมือง ทั้งการเข้าสู่อำนายและการใช้อำนาจ 2.การกระจายอำนาจ และ 3.การต่อต้านการคอรัปชั่น เบื้องต้นคาดว่าภายใน 1เดือนนับจากวันแถลงข่าว (30 มกราคม 2557) แจะมีการจัดเวทีเพื่อรับฟังข้อเสนอของการปฏิรูปทั้ง 3 เรื่อง

5.เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรและบุคคลต่าง 10 จุดยืน 2 เอา คือเอาเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเอาการปฏิรูป 2 ไม่เอารัฐประหารและไม่เอาความรุนแรง
ข้อเสนอ - คัดค้านการรัฐประหาร, คัดค้านการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ, เคารพการใช้สิทธิเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ และสนับสนุนการปฏิรูปบนวิถีทางประชาธิปไตย

เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา

เครือข่ายดังกล่าวประกอบด้วย 10 องค์กร ประกอบด้วย สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) สมัชชาคนจน ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) เวทีเสวนาประชาธิปไตยภาคใต้ มูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มวลมหาประชาคุย เครือข่ายสลัมสี่ภาค ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) กลุ่มโลกสวย ปฏิรูปการเมืองตามวิถีประชาธิปไตยด้วยสันติวิธี และเครือข่ายภาคประชาสังคม

6.กลุ่ม we vote กลุ่มสนับสนุนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.2557 มีข้อเสนอคือ สร้างพื้นที่ทางสังคมเพื่อรณรงค์สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไป 2 ก.พ.2557 แสดงพลังหนุนกระบวนการปฏิรูปการเมืองอย่างเป็นรูปธรรม บนหลักประชาธิปไตย

7.กลุ่มนักกิจกรรมพอกันที เสนอเรียกร้องให้หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง สนับสนุนแนวทางการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 2557 เนื่องจากเป็นทางออกที่สันติและเสมอภาคเพื่อปฏิรูปทางการเมือง โดยจัดกิจกรรมจุดเทียนเขียนสันติภาพถายใต้แฟนเพจเฟซบุ๊ก พอกันที!ž หยุดการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขไปสู่ความรุนแรง

กลุ่มนักกิจกรรมพอกันที

8.กลุ่มศิลปวัฒนธรรม ANTs’ POWER มีข้อเสนอคือ ต้องการระบบคัดกรองและตรวจสอบนักการเมืองที่มีประสิทธิภาพ แม้ว่า สนับสนุนการเลือกตั้ง เป็นทางออก ลดความขัดแย้งทางการเมืองและไม่ต้องการเห็นคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียวถือครองอภิสิทธิ์ หรือลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของไทยภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ผ่านมากิจกรรมที่จัดขึ้น ได้แก่ ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์ด้วยการสวมเสื้อขาวและปล่อยลูกโป่งขาวพร้อมข้อความสนับสนุนการเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.2557 บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กทมฯ

9.กลุ่ม I peace เครือข่ายสามัญชนที่ปรารถนาจะเห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างสันติวิธี มีข้อเสนอต่อผู้ชุมนุมกปปส.และเครือข่าย ไม่สนับสนุนความรุนแรงและการใช้อาวุธ ใช้วิจารณญาณในการติดตามข่าวสารเพื่อรักษาคุณภาพการชุมนุม ไม่นำเด็กมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง งดใช้ hate speech หรือถ้อยคำที่กระตุ้นให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อผู้คิดต่างในทุกกรณี ด้านข้อเสนอต่อรัฐบาล ให้ทำความจริงให้ปรากฏ ดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกลาง

10.กลุ่มโลกสวย เสนอให้ 1. ให้รักษาการนายกรัฐมนตรีลาราชการ มอบหมายให้รองนายกฯ ทำหน้าที่ดูแลการเลือกตั้งและเริ่มต้นปฏิรูปแทน 2.เลื่อนเลือกตั้งออกไป แต่ต้องดำเนินการเลือกตั้งใหม่ภายใน 3-5 เดือน 3.จัดตั้งรัฐบาลเพื่อการปฏิรูปการเมือง ที่มาจากการเลือกตั้ง อยู่ในตำแหน่ง 2 ปี จากนั้นให้ยุบสภาดำเนินตามแนวทางประชาธิปไตย

11.กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย คัดค้านการเปลี่ยนแปลงการระทำหรือการเรียกร้องใด ๆ ที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและควรหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อสถานพยาบาลในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อความเป็นกลาง สนับสนุนให้มีการเลือกตั้ง พร้อมชี้ให้แพทย์ต้องเป็นกลางทางการเมือง

12.เครือข่ายแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ 9 สถาบัน เพื่อการปฏิรูปประเทศ เสนอให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนยุติความรุนแรง ค้นหาความจริงนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ คุ้มครองความปลอดภัยผู้ชุมนุม แพทย์ สื่อมวลชล ยกเลิอกการเลือกตั้งเร่งเดินหน้าปฏิรูปประเทศและให้นายยกรัฐมนตรีและคณะลาออกจากตำแหน่งรักษาการ

13.กลุ่มคณบดี 8 โรงเรียนแพทย์ ประกอบด้วย คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัย เรียกร้องรัฐบาลรักษาการยุติบทบาท หนุนตั้ง “รัฐบาลเฉพาะกาล” ขึ้นมาปฏิรูปการเมืองก่อนจัดให้มีการเลือกตั้ง พร้อมข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.ปฏิรูปการเมืองโดยเร็ว ในประเด็นการได้มาซึ่งอำนาจ การใช้อำนาจ และการตรวจสอบอำนาจ 2.ให้รัฐบาลรักษาการปัจจุบันเสียสละโดยยุติบทบาท เพื่อให้มีรัฐบาลเฉพาะกาลที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายเข้ามาเพื่อแก้ไข ควบคุมสถานการณ์ และจัดการเลือกตั้ง 3.ยกเลิกการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. 2557 4.ให้ทุกฝ่ายยุติการยั่วยุ บิดเบือนข้อมูลและความรุนแรงทุกรูปแบบ 5.สนับสนุนการเจรจา

กลุ่มสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย

14.คณาจารย์ นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และประชาชนผู้สนับสนุนประชาธิปไตย มีข้อเสนอคือ 1.สนับสนุนการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ.2557 2.เรียกร้องต่อพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เคยแสดงเจตนารมณ์เชื่อมั่นในระบอบรัฐสภาให้สนับสนุนการเลือกตั้งอย่างจริงใจ 3.ขอเรียกร้องต่อ กกต. ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มศักยภาพ โดยคำนึงถึงเจตจำนงของประชาชน 4.ขอเรียกร้องตือกลุ่มกปปส. ให้ทบทวนการแสดงออกที่เป็นการขัดขวาง และละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน และ 5.ให้รัฐบาลไม่ใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติต่อประชาชนทุกฝ่าย อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ตามหลักนิติธรรม และยืนหยัดปกป้องประชาชนผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง

15.เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ภาคอีสาน เรียกร้องให้กลุ่มกปปส.หยุดคุกคามการใช้สิทธิเลือกตั้งของประชาชน พร้อมยุติทุกการชุมนุมและทุกปฏิบัติการที่สร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความรุนแรง ทั้งขอให้ทหารอย่ารัฐประหาร ส่วน กกต.ให้ดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมาย

เครือข่ายนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่ภาคอีสาน

16.เครือข่ายพลเมืองปกป้องประเทศไทย (คพ.ปท) เสนอให้ 1.กปปส.เสนอรูปแบบความเป็นไปได้ของสภาประชาชน 2.ขอให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายยกรัฐมนตรี พร้อมคณะรัฐมนตรี ลงสัตยาบันร่วมกับมวลมหาประชาชน พร้อมยุบสภาใน 3 เดือน และภายใน 3 เดือนห้ามรัฐบาลกระทำการใดๆ เช่น ลงนามในสัญญาต่าง 3.เรียกร้องให้สื่อฟรีทีวี นำเสนอข้อเท็จจริง 4.ให้พลเมืองทุกภาคส่วนช่วยกันเป็นธุระต่อสังคม

17.เครือข่ายพลเมืองรุ่นใหม่ใส่ใจการเมือง เสนอเรียกร้องให้กกต.จัดการเลือกตั้งให้สุจริต โปร่งใส และเที่ยง 2.ให้ยุติการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นที่ต้องการเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ.2557 3.ให้รัฐบาลอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุดไม่เลือกปฏิบัติและพึงระลึกถึงความสูญเสียของทุกฝ่ายอยู่เสมอ และ 4.ร่วมแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างสร้างสรรค์และสันติ ด้วยวิถีทางและครรลองประชาธิปไตย

นอกจากนี้ ยังปรากฏความเคลื่นไหวของจากฟากที่ขับเคลื่อนประเด็นเฉพาะด้าน ถือโอกาสร่วมกระแสปฏิรูป เช่น 18.กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อความหลากหลายทางเพศ เสนอให้เปิดพื้นที่ถกเถียง เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศประชาธิปไตย และความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ประณามการเหยียดเพศและการใช้ประเด็นทางเพศเป็นเครื่องมือโจมตีทางการเมือง

เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากเพื่อปฏิรูปประเทศไทย

19.แนวร่วมองค์กรการเกษตรกรเพื่อการปฏิรูปภาคเกษตรกรรม เสนอให้ทุกฝ่ายใช้แนวทางสันติวิธี เริ่มปฏิรูปประเทศโดยทันที โดยเฉพาะภาคการเกษตร อาทิ เตรียมรับมือการเจรจา FTA ปฏิรูปกฏหมายที่ดิน การจัดการน้ำ จัดตั้งองค์กรแนวร่วมเป็นกลไกร่วมปรึกษาหารือผ่านการร่วมมือจากองค์กรภาคีเครือข่าย 23 องค์กร

20.เครือข่ายประชาชนปฏิรูปสลากเพื่อปฏิรูปประเทศไทย ผลักดันการ “ปฏิรูปสลากเพื่อเปลี่ยนปรัชญาในการออกสลาก” ควบคู่ไปกับประเด็นอื่น ๆ ร่วมกับการปฏิรูปสังคม อาทิ สนับสนุนกฎหมายจัดตั้ง กองทุนส่งเสริมการพัฒนาภาคประชาสังคม เป็นต้น

เป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งกว่า กลุ่มกิจกรรมการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่เหล่านี้ และกลุ่มอื่น ๆ ที่มิได้กล่าวถึงอีก จะคงอยู่ต่อไป พร้อมกับติดตาม ทวงถาม ข้อเรียกร้อง ข้อเสนอที่เคยแถลงไว้อย่างจริงจังมากน้อยแค่ไหน หลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ในอนาคต ไปจนถึงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ การมีสภาผู้แทนราษฎร หรือจะเป็นเพียงกิจกรรมที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับไปตามกระแสคลื่นลมทางการเมือง ด้วยหวังแค่ว่า ครั้งหนึ่งได้ร่วมมีชื่อในประวัติศาสตร์เท่านั้นเอง

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารจากแฟนเพจเฟสบุ๊คของ TCIJ

www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: