จี้กฟผ.เลิกโรงไฟฟ้ากระบี่ ชี้กระทบสุขภาพ-ท่องเที่ยว

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 มี.ค. 2557 | อ่านแล้ว 5161 ครั้ง

กรีนพีซนำนักวิชาการ ตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยว จ.กระบี่ แถลงข่าวระบุการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของท่าเรือขนส่งถ่านหิน และรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) โรงไฟฟ้ากระบี่ ระบุผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่ำกว่าความเป็นจริง ทั้งที่มีผลกระทบรุนแรง ทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติสำคัญ รวมทั้งสุขภาพของคนพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าการศึกษา ขณะภาคท่องเที่ยวเผยนักท่องเที่ยวยุโรป โดยเฉพาะสวีเดน ทำเงินสะพัดสูงถึงปีละ 1,400-1,500 ล้านบาท แต่จะหายไปทันที

วันที่ 9 มีนาคมนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในการกำหนดขอบเขต และแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Public Scoping) ของการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ซึ่งมีปัญหาร้องเรียน คัดค้านจากคนในพื้นที่ เนื่องจากเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของ จ.กระบี่ ที่ถือว่าเป็นจังหวัดสำคัญด้านการท่องเที่ยวของไทย

น.ส.จริยา เสนพงศ์ และนายธีรพจน์ กษิรวัฒน์

ก่อนการจัดประชุมดังกล่าว กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้จัดเวทีวิพากษ์แผนการศึกษาโครงการทั้งหมดของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยมีนักวิชาการด้านพลังงาน และ สมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา จ.กระบี่ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นถึงแผนการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมด โดยระบุถึงข้อกังวลใจต่อกระบวนการศึกษาดังกล่าว โดยมีความเห็นตรงกันว่า แผนการศึกษาของ กฟผ.ที่ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาทำการศึกษานั้น ระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่ำกว่าความเป็นจริง

กรีนพีซระบุกฟผ.ทำEIA-EHIA ไม่ครอบคลุม

น.ส.จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า สิ่งที่กรีนพีซกังวลคือ การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมนี้ จะไม่มีความแตกต่างจากรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือท่าช้าง ที่มีการจัดทำไปก่อนหน้า คือการระบุผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ที่ต่ำกว่าความเป็นจริง หรือหากจะเกิดผลกระทบก็ระบุว่าสามารถแก้ไขได้ ทั้งนี้สิ่งที่เห็นได้ชัด คือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ต่ำกว่าความเป็นจริงมาก โดยมีประเด็นที่ค้นพบคือ การ กำหนดพื้นที่ศึกษาในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้กำหนดคลุมคลุมรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรรอบที่ตั้งโครงการเท่านั้น และระบุว่า หากการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในครั้งนี้ มีประเด็นใดที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบเกินขอบเขตพื้นที่ศึกษาในรัศมี 5 กิโลเมตร บริษัทที่ปรึกษาจะศึกษาให้ครอบคลุมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบข้างต้นด้วย ซึ่งการศึกษาโดยระบุรัศมีเพียง 5 กิโลเมตรนี้ ทำให้การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ แยกไม่ออกจากโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินทั้ง 3 ทางเลือก ที่เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมน้ำปากน้ำกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมน้ำระดับประเทศและระดับนานาชาติ ที่แม้จะอยู่ห่างออกไป 8-10 กิโลเมตร แต่การเดินเรือขนส่งถ่านหินโดยเรือเดินสมุทรขนาดใหญ่ขนาด 80,000-100,000 เดตเวทตัน ย่อมส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อพื้นที่ชุ่มน้ำนี้อยู่แล้ว

            “นอกจากนี้ ในการประเมินผลกระทบของระบบนิเวศของพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง โดยบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตชีวภาพ และระบบนิเวศ ที่จำกัดเพียงรัศมี 5 กิโลเมตร ทำให้บัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตแตกต่างกับความเป็นจริงที่มีจำนวนมากกว่า และการเดินเรือขนส่งถ่านหินทางทะเล จะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตที่เคลื่อนที่อย่างไม่จำกัดพื้นที่เลยหรือ สิ่งนี้คือคำถามและประเด็นสุดท้ายคือ การหลีกเลี่ยงที่จะศึกษาผลกระทบจากการขนถ่ายถ่านหินกลางทะเล และการขนส่งถ่านหินที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล ที่ระบุว่า จะไม่มีฝุ่นจากถ่านหินลงมาเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะทุกขั้นตอนของการขนถ่ายถ่านหินที่ยังไม่ได้เผาไหม้ ย่อมส่งผลกระทบร้ายแรงในบริเวณที่มีการขนถ่ายถ่านหิน จากเรือเดินสมุทรตามเส้นทางขนส่งถ่านหิน และสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้” น.ส.จริยากล่าว

เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการทั้งหมด

ทั้งนี้สำหรับโครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้ว เป็นแผนทางเลือกล่าสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจาก อินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกา มาเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ต.ตลิ่งชัน อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ ในช่วงฤดูมรสุม การขนถ่ายถ่านหินจากเรือเดินสมุทรลงเรือขนถ่านหินขนาดเล็กจะเกิดขึ้น บริเวณกลางทะเลใกล้เกาะปอซึ่งอยู่ท้ายเกาะลันตา และบริเวณเกาะกลางในช่วงไม่มีมรสุม แล้วผ่านเข้าไปยังท่าเทียเรือบ้านคลองรั้ว เพื่อขนส่งถ่านหินไปตามสายพานลำเลียงยาว 8.4 กิโลเมตร เข้าสู่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนถ่ายถ่านหินจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของกระบี่ โดยเฉพาะปะการัง หญ้าทะเล ผืนป่าชายเลน แหล่งทำประมงพื้นบ้าน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและสัตว์ และที่สำคัญจะสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น จ.กระบี่

            “กรีนพีซ เรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ยกเลิกโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กระบี่ พร้อมให้สัตยาบันต่อภาคประชาชนในความร่วมมือแบบพหุภาคีเพื่อผลักดันพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน ซึ่งครอบคลุมจ.ระนอง พังงา กระบี่ ภูเก็ต และสตูล รวมทั้งกับการพัฒนาและส่งเสริมการลงทุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและปลอดภัย” น.ส.จริยากล่าวในตอนท้าย

ท่องเที่ยวหวั่นฝุ่นถ่านหินกระทบสภาพแวดล้อม-ชุมชน

ขณะที่ นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นโครงการที่สวนทางกับนโยบายการพัฒนาการท่องเที่ยว จ.กระบี่ อย่างชัดเจน และเชื่อว่าหากเกิดโครงการขึ้น จะทำให้จ.กระบี่สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไปจำนวนมาก ทั้งนี้จากจากข้อมูลของสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตาพบว่า ปัจจุบันเกาะลันตามีนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่จำนวนมาก ถึงปีละ 150,000 คน ในจำนวนมีนักท่องเที่ยวชาวสวีเดน ที่อาศัยอยู่ในเกาะลันตาปีละ 40,000-50,000 คน เนื่องจากมีการส่งเสริมในประเทศสวีเดน ให้เกาะลันตาเป็นเมืองหนึ่ง ที่เป็นบ้านหลังที่สองของชาวสวีเดน โดยในเกาะลันตายังมีการสร้างระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับประเทศสวีเดน เพื่อการศึกษาที่ต่อเนื่องได้สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาอาศัยอยู่ในเกาะลันตาเวลาด้วย 

โดยนักท่องเที่ยวเหล่านี้จะใช้เวลาพักอาศัยในเกาะลันตาเป็นเวลา 19 วัน ใช้จ่ายตกปีละ 1,400-1,800 ล้านบาทต่อปี นับเป็นรายได้จากการท่องเที่ยวเข้า จ.กระบี่ ที่สูง แต่หากเกิดการขนส่งถ่านหินนักท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ให้ข้อมูลว่า พร้อมที่จะออกจากพื้นที่ทันทีเพราะมีความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพและสภาพแวดล้อมแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ด้วย

            “จากเส้นทางเดินเรือที่ถูกระบุไว้ในหนังสือข้อมูลการประชุมที่จะจัดขึ้นในวันที่ 9 มีนาคมนี้ เราจะพบว่า เป็นเส้นทางที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของ จ.กระบี่ ทั้งจุดดำน้ำลึก เกาะรอก เกาะห้า เกาะไหง รวมไปถึง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับหญ้าทะเล ดังนั้น เราจึงอยากให้มีการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจจากแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ไปเปรียบเทียบกับมูลค่าที่จะเกิดขึ้นจากการโรงไฟฟ้า แล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าจะคุ้มกันหรือไม่ ซึ่งก็คงเห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ไม่คุ้มกันเพราะธรรมชาติเหล่านี้ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้หากเสียหายไป” นายธีรพจน์กล่าว

โครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan 2013 Revised 3, 2012-2030) โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีแผนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ไว้รวม 3,200 เมกะวัตต์ หลังจากที่ได้ทำการทดสอบพลังของชุมชนต่อต้านถ่านหินทั้งที่ประจวบคีรีขันธุ์ (ทับสะแก) นครศรีธรรมราช (ท่าศาลา หัวไทรและปากพนัง) และตรัง  ล่าสุดได้เปลี่ยนแผนมาเพื่อพิจารณาโรงไฟฟ้าที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่โรงไฟฟ้าลิกไนต์ (เดิม) 60 เมกะวัตต์ และเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้น้ำมันเตาและก๊าซธรรมชาติ 340 เมกะวัตต์ในปี 2540 โดยจะใช้เป็นที่ดำเนินการผลิตไฟฟ้าถ่านหิน เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ตามกฎหมายท่ามกลางการต่อต้านคัดค้านของคนในพื้นที่ ล่าสุด บริษัทที่ปรึกษาซึ่ง ได้รับการว่าจ้างในการจัดทำแผนการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว และแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ จะจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Public Scoping) ในวันที่ 9 มีนาคม 2557 นี้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: