บทวิเคราะห์: สหรัฐอเมริกาผู้ร้ายบริสุทธิ์ในนโยบายต่างประเทศ 2 ระดับยุคคสช.

กานต์ ยืนยง 7 ก.ค. 2557 | อ่านแล้ว 2702 ครั้ง

ดังนั้น กลุ่มทุนเหล่านี้จึงอยู่เบื้องหลังความพยายามในการสนับสนุน "ขบวนการล้มเจ้า" หรือแม้แต่ "พรรคเพื่อไทย" เพื่อที่ในที่สุดนำไปสู่การล้มล้างระบอบการปกครองที่มีแนวนโยบายไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเหล่านี้ และตั้งรัฐบาลที่พร้อมจะยินดีเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนประเทศ "ตะวันตก" ตัวอย่างของกลุ่มทุนสมคบคิดเหล่านี้ก็เช่น กลุ่มที่เรียกว่า รอตไชล์ หรือกลุ่มบิลเดอร์เบิร์ก เป็นต้น และตามแนวคิดทฤษฎีสมคบคิดแล้ว กลุ่มลึกลับเหล่านี้เป็นยอดสุดของปิรามิด อยู่เบื้องหลังกลุ่มทุนใหญ่ ๆ ของตะวันตก และเป็นผู้ควบคุมระเบียบโลกที่แท้จริง

และสิ่งที่เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ประเทศ "ตะวันตก" เหล่านี้ ทำการขับเคลื่อนแนวทางเช่นนี้ก็เป็นเพราะว่า ประเทศเหล่านั้นต่างประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และไม่สามารถฟื้นฟูสภาวะทางเศรษฐกิจได้ในระยะเวลารวดเร็ว ในขณะที่ประเทศทาง "ตะวันออก" มีเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรืองและรุ่มรวยด้วยทรัพยากร โดยเฉพาะประเทศไทยมีความเชื่อกันว่าเรามีทรัพยากรอย่างน้ำมันมากกว่าที่เคยเชื่อกัน ประเทศตะวันตกเหล่านั้นในทางหนึ่งก็ทำการ "พิมพ์เงิน" เพื่อประคับประคองเศรษฐกิจ ในอีกทางหนึ่งก็พยายามแสวงหาวิธีการครอบงำและเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในประเทศตะวันออก เพื่อให้เปิดรับการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

สิ่งที่นักทฤษฎีสมคบคิดกลุ่มนี้เชื่อ คือมองว่าการควบคุมโลกด้วยสกุลเงินดอลลาร์นั้นเป็นเพียงภาพลวงตา พื้นฐานของดอลลาร์ถูกสร้างขึ้นจากการค้าขายน้ำมันของประเทศในตะวันออกกลางด้วยสกุลเงินนี้ (เปโตร์ดอลลาร์) ทำให้สกุลเงินดอลลาร์กลายเป็นสกุลเงินหลักของโลก และเอื้อประโยชน์ให้ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาอาศัยประโยชน์ในการทำนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (Quantitative Easing หรือ QE) และพิมพ์เงินออกมาใช้จ่ายมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่เศรษฐกิจของประเทศตนเจ๊งไปแล้ว

ในระยะหลัง เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ปรากฎว่า มาตรการที่ประเทศตะวันตกเหล่านี้แสดงออกมาอย่างแข็งกร้าวในเวทีสาธารณะ อาทิ ปาฐกถาของ นายชัค เฮเกล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกาที่เวทีแชงกรีล่า ไดอะล็อก ที่สิงคโปร์ หรือการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ และการแสดงออกเพื่อระงับความร่วมมือกับทางการไทยของประเทศในกลุ่มยูโร จึงดูกลายเป็นข้อเท็จจริงสำหรับคนไทยกลุ่มหนึ่งที่ทำให้ "ทฤษฎีสมคบคิด" ที่ถูกนำเสนอโดยสื่อบนดินและสื่อใต้ดินส่วนหนึ่งดูกลายเป็นความจริงมากขึ้น ว่าประเทศต่างชาติเหล่านี้มีทัศนะที่ต่อต้านวาระการแก้ไขปัญหาของประเทศไทย จนทำให้เกิดความเคลื่อนไหวต่อต้านสินค้าของอเมริกาและอียูในโซเชียลมีเดียกันอย่างกว้างขวาง กระแสการต่อต้านนี้เกินเลยไปถึงขนาดที่ว่า มีการเพ่งเล่งแขกเชิญของสถานทูตสหรัฐอเมริกาในการเฉลิมฉลองงานวันชาติสหรัฐอเมริกา เมื่อค่ำวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาว่า สถานทูตสหรัฐอเมริกาเชิญมาเฉพาะเพื่อน และเพื่อนที่ว่านั้นก็มีแต่พวก "เสื้อแดง" และพวก "พรรคเพื่อไทย" ทั้งที่ในความเป็นจริง จากการรายงานข่าวของหลายสำนักข่าวปรากฎว่า มีการเชิญแขกคนอื่น เช่น หม่อมหลวง ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หรือ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่ม กปปส และอดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ ก็ปรากฎตัวอยู่ในงานนี้ด้วยเช่นกัน

ขบวนการนำเสนอทฤษฎีสมคบคิดนี้ไปไกลขนาดที่ว่า มีสื่ออย่างผู้จัดการและแนวหน้าได้รายงานข่าวโดยอ้างอิงรายงานของผู้ที่ใช้ชื่อว่า "Tony Cartaluccy" (ซึ่งเป็นนามปากกา และมักรายงานข่าวโดยใช้แนวคิดแบบบทฤษฎีสมคบคิด) ในทำนองว่า อาจารย์ สาวตรี สุขศรี รับเงินจากสหรัฐอเมริกามาเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยอ้างอิงการไป study trip กับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งในภายหลังอาจารย์ สาวตรี ได้ออกมาชี้แจงว่า การเดินทางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ IVLP (The International Visitor Leadership Program) ซึ่งโครงการนี้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นเวลานานแล้ว และมีการเชิญนักการเมือง นักข่าว ภาคประชาสังคม จากหลายประเทศเพื่อเยี่ยมชมงานในประเทศอเมริกา และมีนักการเมืองอย่างคุณชวน หลีกภัย จากพรรคประชาธิปัตย์เองก็เคยเป็นศิษย์เก่าของโครงการ IVLP นี้ในช่วงปี พ.ศ. 2514 มาก่อนเช่นกัน

อันที่จริงไม่ใช่เรื่องแปลก หากจะมีรายงานข่าวประเภทที่สวนกระแสสำนักข่าวกระแสหลัก และดูเหมือนใช้ทฤษฎีสมคบคิด เพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่กระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงตามมาตรฐานยังไม่สามารถเปิดเผยความสัมพันธ์ความเชื่อมโยงเหล่านั้นได้ แต่ด้วยข้อกำกับทางจริยธรรมและมาตรฐานของสื่อมวลชนที่ดีควรนำเสนอโดยชี้แจงหมายเหตุตัวโตๆ เอาไว้ว่า "ข้อเท็จจริง" เท่าที่พอสืบค้นได้ สามารถสาวไปถึงความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงในระดับใด ข้อมูลที่เป็นการคาดเดาก็ควรชี้แจงให้กระจ่างชัดว่าเป็นเพียงการคาดเดา และทางที่ดีควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยนั้นได้มีพื้นที่และโอกาสในการชี้แจงความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งด้วย

การรายงานข่าวเช่นนี้ หลายครั้งนำไปสู่การเปิดเผยปัญหาที่แท้จริงและนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบางด้าน เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการสร้างกติกาให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น สร้างจริยธรรมเชิงวิชาชีพมากขึ้น และการสร้างการรับผิดชอบ (Accountability--คำนี้ในภาษาไทยควรครอบคลุมไปถึงการเปิดให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ ตรวจสอบ และการเอาผิดได้) ต่อสาธารณะมากขึ้น สำหรับผู้มีบทบาทต่อสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสาธารณะและมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งนั้น ย่อมต้องคำนึงถึงเรื่อง Accountability นี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว เพราะในสังคมสมัยใหม่ ผู้ใช้อำนาจสาธารณะหรือมีตำแหน่งหน้าที่สาธารณะโดยปราศจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ การตรวจสอบ และการเอาผิด ย่อมไม่อาจเป็นที่ยอมรับได้

นอกจากนี้ ปัญหาการโหมประโคมทฤษฎีสมคบคิด แทนที่จะใช้หลักคิดในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หรือเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ก็มีจุดอ่อนทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลที่ผิดพลาด และมองข้ามข้อเท็จจริงที่เป็นรายละเอียดเชิงปลีกย่อยเกินไป อย่างน้อยที่สุด การนำเสนอความเห็นที่มากไปกว่างานรายงานข่าวตามปกติ ควรวิ่งด้วยหลักคิดเชิงทฤษฎีที่มีการพิสูจน์ทราบและถูกตรวจสอบมาเป็นอย่างดีแล้วในแวดวงวิชาการ กลับทำให้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในการตรวจสอบหลักคิดและนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจากสังคมเลย เพราะเสนอข้อมูลที่ผิดทิศผิดทาง และไม่ได้ตรงกับหลักคิดที่กลุ่มชนชั้นนำ หรือนโยบายสาธารณะใช้ในการตัดสินใจหรือทำการดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างที่เป็นจริง

อาทิ ข้อเสนอเรื่องการที่สกุลเงินดอลลาร์จะล่มสลายเพราะหมดค่าไปเนื่องจากสหรัฐอเมริกามีการดำเนินนโยบาย QE เป็นจำนวนมาก และเริ่มมีข้อตกลงระหว่างจีนกับรัสเซียในการทำการซื้อขายพลังงานระยะยาวโดยไม่ใช้สกุลเงินดอลลาร์ จนทำให้ในที่สุดทองคำจะเริ่มมีบทบาทกลายเป็น "เงินตราสกุลหลัก" ที่ถูกใช้ในการแลกเปลี่ยนของโลก  นอกจากนี้ ยังมีปัญหาที่ประเทศในเขตอียูอาจแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แต่ในความเป็นจริง ไม่ได้มีเฉพาะสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวที่ดำเนินนโยบาย QE ธนาคารกลางของญี่ปุ่นและอังกฤษต่างก็เคยดำเนินนโยบายเช่นนี้มาก่อน โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นดำเนินนโยบาย QE มาเป็นเวลานาน และมีสัดส่วนหนี้สาธารณะสูงกว่าสหรัฐอเมริกาเป็นอันมาก แต่เรายังไม่เห็นว่าเงินเยนจะหมดอิทธิพลในระดับโลกไปอย่างไร เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับสภาพคล่องการตลาดตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลของแต่ละประเทศด้วย ในขณะที่จีนเองหากต้องการจะให้เงินหยวนของตนเป็นเงินตราสกุลหลักที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนดอลลาร์ นั่นหมายความว่าจีนอาจหมดโอกาสในการใช้นโยบายค่าเงินต่ำ เพื่อหนุนภาคส่งออกของตนไปด้วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นประเทศจีนเองนั่นแหละ โดยนายโจวเสี่ยวฉวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนที่ได้เคยเสนอให้ใช้สินทรัพย์สำรองของไอเอ็มเอฟ (Special Drawing Rights หรือ SDR) เป็นมาตรฐานทุนสำรองแทนเงินดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (นักข่าวสมคบคิดมองว่า SDR เป็นแผนการของสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งตรงข้ามข้อเท็จจริง) และธนาคารของสามประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ก็ได้สนับสนุนข้อเสนอนี้ของจีนมาตั้งแต่เมื่อแปดปีก่อนแล้ว

ข้อวิเคราะห์แบบทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการล่มสลายของอียู ก็มองข้ามเรื่องใจกลางของสถาปัตยกรรมอียู ที่เกิดขึ้นมาได้ก็ด้วยการตกผลึกที่ว่า สองประเทศแกนกลางของอียูอย่างพันธมิตรเยอรมนีและฝรั่งเศส (Franco-German alliance) ไม่ควรทำสงครามต่อกันอีก เพราะที่ผ่านมาด้วยความจำเป็นเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เยอรมนีเกรงจะถูกรุกรานจากพรมแดนสองด้านพร้อมกัน คือจากด้านฝรั่งเศสและรัสเซีย เยอรมนีจึงพัฒนาแผนการที่เรียกว่ายุทธศาสตร์ Schlieffen Plan ซึ่งจะประกอบไปด้วยการรวบอำนาจในยุโรปตอนกลาง สร้างพันธมิตรกับรัสเซียและรวมศูนย์การโจมตีไปที่ฝรั่งเศส ซึ่งฝรั่งเศสเองก็ตระหนักดีถึงยุทธศาสตร์ที่ว่านี้ การหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดสงครามระหว่างกันของสองประเทศขึ้นมาได้อีก จึงต้องสร้างสถาปัตยกรรมอย่างอียูขึ้น ฝรั่งเศสเองแม้จะเสียผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจที่เสียเปรียบดุลการค้าโดยเปรียบเทียบกับเยอรมนี แต่ก็ได้ข้อแลกเปลี่ยนที่ว่าเยอรมนีจะไม่พัฒนากำลังทางทหารมากเหมือนในอดีต และฝรั่งเศสเองก็มีอิทธิพลที่สำคัญในสภายุโรปอีกด้วย การล่มสลายของอียูจึงอยู่ที่การชั่งน้ำหนักระหว่างผลได้ผลเสียในเชิงเศรษฐกิจและความเสี่ยงด้านความขัดแย้งระหว่างประเทศที่อาจเกิดขึ้นได้อีก ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเงินสกุลยูโรที่บังคับให้แต่ละประเทศในสมาชิกสูญเสียเสรีภาพนโยบายการเงินของตนเองจึงเป็นปัญหาและความท้าทายที่พันธมิตรยุโรปคู่นี้ต้องเอาชนะให้ได้ ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาในประเทศ เช่นในกรณีฝรั่งเศสจะเกิดการจราจลเพราะปัญหาการว่างงานมาอย่างยาวนาน และในเยอรมันจะเกิดกรณีความเคลื่อนไหวพรรคฝ่ายขวาที่รณรงค์ให้เยอรมนีออกจากอียูเพราะที่ผ่านมาเยอรมนีต้องใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนของตนในการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับประเทศสมาชิกในอียู เป็นต้น

เราจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของแต่ละประเทศจึงมีความละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนในมิติด้านต่างๆ ที่ประเทศเหล่านี้จะต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียของประเทศตนเองอยู่ตลอดเวลา ท่ามกลางพลวัตและความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ต่างๆ ในระดับโลก เมื่อเร็วๆ นี้เราได้เห็นว่า เยอรมนีมีปัญหาถึงกับเรียกตัวทูตประจำสหรัฐอเมริกากลับ เพราะจับได้ว่าเจ้าหน้าที่ในสำนักข่าวกรองของตนขายข่าวใหักับสหรัฐอเมริกา และเมื่อมองย้อนไปในอดีต ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและเยอรมนีก็ลุ่มๆ ดอนๆ นับตั้งแต่การออกมาาเปิดเผยของ นายเอ็ดเวิร์ด สโนดิน ว่าหน่วยงาน NSA ได้มีการดักฟังการสนทนาทางโทรศัพท์ของ นางแองเจลา เมอร์เคล ซึ่งเป็นแชนสเลอร์ (หรือนายกรัฐมนตรี) ของเยอรมนี และเมื่อมองย้อนไปก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2553 วิกิลีกส์ก็ได้ออกมาเปิดเผยเคเบิลที่ใช้สื่อสารกันในสถานทูตสหรัฐอเมริกาว่า สหรัฐฯ มีปัญหากับนายกุยโด เวสสเตอร์เวลล์ อดีตหัวหน้าพรรค FDP และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีคนก่อน ที่มีความมเห็นไปในเชิงที่ว่าต้องการให้ถอดหัวรบนิวเคลียร์ออกจากเยอรมนี เพื่อไม่ให้เป็นการคุกคามรัสเซีย (นัยยะคือเยอรมนีต้องการเปิดความสัมพันธ์ที่กว้างขวางมากขึ้นกับรัสเซีย) และสหรัฐฯ ประสบปัญหาอย่างมากในการโน้มน้าวให้รัฐบาลเยอรมนีสนับสนุนกำลังของตนในการต่อสู้สงครามก่อการร้ายในตะวันออกกลาง ในเคเบิ้ลนี้ยังมองว่านางเมอร์เคลมีลักษณะอนุรักษ์นิยม มองแต่ผลได้ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และขาดการเสนอทางออกที่มีความสร้างสรรค์ เป็นต้น

ข้อเสนอเชิงทฤษฎีสมคบคิดที่ดูเสมือนว่า ประเทศตะวันตกมีความเคลื่อนไหวเป็นหนึ่งเดียวในการเข้าครอบงำเศรษฐกิจและการเมืองไทยจึงเป็นเรื่องที่มองสถานการณ์ง่ายเกินไปและขาดความละเอียดอ่อนและความซับซ้อนไปโดยสิ้นเชิง จากข้อมูลข้างต้นนี้ เราจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ของแต่ละประเทศและแปรเปลี่ยนไปมาตามสถานการณ์ที่พัฒนาไป บางครั้งประเทศต่างๆ เหล่านี้ก็มีผลประโยชน์ร่วมกัน บางครั้งก็มีผลประโยชน์ขัดกันและพยายามสร้างอิทธิพลของตนในเวทีพื้นที่ระหว่างประเทศ

แต่จากการที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา อียู และออสเตรเลีย ดูเหมือนจะมีสุ้มเสียงไปในทิศทางเดียว ที่ดูเหมือนจะต่อต้านการทำรัฐประหารของ คสช. และดูประหนึ่งว่ามีทิศทางที่แข็งกร้าวกว่าสมัยที่เกิดรัฐประหารขึ้นในปี 2549 นั้น ผมคิดว่าบทความเรื่อง "The Tale of a 'Realism' in International Relations" ของ Hartmut Behr และ Xander Kirke ที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอันยาวนานของอิทธิพลและความคิดแบบ Realism ในการศึกษาด้านนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ทฤษฎีของ Machiavelli, Hobbes ไปจนถึง Morgenthau มีผลต่อการประกาศจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยและปฏิเสธการทำรัฐประหารของ คสช. เพราะไม่สอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ในนประเทศอย่างไร (แม้ คสช. จะพยายามอ้างถึง "เหตุผลแห่งรัฐ" หรือ "raison d'état" ก็ตามที) แต่ในระยะยาวประเทศเหล่านั้นก็จำจะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและพร้อมที่จะกลับมามีความสัมพันธ์ตามปกติกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ทั้ง คสช. และประเทศตะวันตกเหล่านี้ จึงมองว่าสภาพรัฐประหารในปัจจุบันเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ในทางปฏิบัติจึงไม่ต่างจากมาตรการที่สหรัฐอเมริกาเคยปฏิบัติมาเมื่อเกิดรัฐประหารเมื่อปี 2549 ที่ระบุไว้ในเคเบิ้ลหมายเลข 06BANGKOK5799 ที่เสนอโดย ราล์ฟ บอยซ์ อดีตทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยคนก่อน ที่เสนอให้สหรัฐฯ เสนอมาตรการแซงค์ชั่น เพื่อบีบให้รัฐบาลทหารไทยในขณะนั้นกลับสู่สภาพรัฐบาลพลเรือนที่ได้รับการยอมรับ และมาตรการดังกล่าวไม่ควรสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ 

นโยบายต่างประเทศที่เป็นทางการของ คสช. จึงเป็นการหลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับประเทศตะวันตกเหล่านี้ และมองว่าปัญหาความไม่ราบเรียบทางการทูตที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว พร้อมทั้งสำทับว่าความสัมพันธ์ตามปกติยังคงดำเนินต่อไปอยู่ นี่จึงเป็นนโยบายการต่างประเทศที่เป็นจริงสำหรับรัฐไทย หรือเป็นนโยบายชั้นบนสำหรับชนชั้นนำไทยที่สามารถตัดสินใจได้จริง ในขณะที่นโยบายชั้นล่างหรือนโยบายตามความเข้าใจของสาธารณะ (ซึ่งต่างกันไปตามความเชื่อทางการเมือง) ข้างหนึ่งก็มองว่า (จากทฤษฎีสมคบคิด) คสช. จะทำการตอบโต้รัฐบาลตะวันตกเหล่านั้น จึงทำการรณรงค์ต่อกันเองให้มีการแบนสินค้าจากประเทศตะวันตกบ้าง หรือมีการเดินขบวนไปประท้วงต่อสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยบ้าง หรือรณรงค์ในโซเชียลมีเดีย ให้ทำการส่งทูตสหรัฐฯ คนปัจจุบันกลับประเทศบ้าง เป็นต้น ในขณะที่อีกข้างหนึ่งก็เชื่อว่ารัฐบาลตะวันตกจะสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในไทยอย่างจริงจัง และอาจดำเนินการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ เพื่อกดดันให้ คสช. พ้นจากอำนาจเป็นต้น

อันที่จริง เรื่องนี้ก็อาจอธิบายแนวโน้มนโยบายอื่น ของ คสช. ที่นอกเหนือจากนโยบายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้เช่นกัน ที่มีนโยบายที่เป็นจริง อาทิ นโยบายเศรษฐกิจ นโยบายพลังงาน ฯลฯ คสช. คงจะมีทิศทางที่แตกต่างจากความเข้าใจของประชาชนฝ่ายสนับสนุนการรัฐประหาร (ซึ่งเกิดจากความเชื่อในทางการเมือง ที่เกิดจากสื่อมวลชนทำการรณรงค์โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะไปอ้างอิงรายงานหรือบทวิเคราะห์ที่ใช้ทฤษฎีสมคบคิดบ้าง หรืออาจเป็นเพราะสื่อมวลชนบางรายก็มีวาระทางการเมืองอยู่แล้วเองบ้าง) นโยบายทางเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานเหล่านี้ คสช. คงจะใช้เทคโนแครตที่มีความคิดไปในทางเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งคงไม่เห็นด้วยกับนโยบายเช่น "การทวงคืน ปตท." ของภาคประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารแต่อย่างใด (ผมคงไม่ขออธิบายในที่นี้เพิ่มเติมว่า แม้ผมจะเห็นด้วยกับการต้องสร้างระบบธรรมาภิบาลภาคพลังงานให้มากขึ้น และจำเป็นต้องสร้างความโปร่งใสในแง่นโยบายพลังงงาน และตรวจสอบนักการเมืองและเทคโนแครตในภาคพลังงานให้มากขึ้น แต่ข้อเสนอของภาคประชาชนฝ่ายทวงคืน ปตท. เองก็มีปัญหาความเข้าใจที่ผิดพลาดอยู่หลายเรื่องเช่นกัน)

ในระยะยาว ผลเสียจากการที่มีการใช้ทฤษฎีสมคบคิดปลุกปั่นให้เกิดความเอนเอียงในทางการเมือง และปลุกปั่นให้เกิดความเข้าใจผิดต่อนโยบายสาธารณะที่ผู้มีส่วนตัดสินใจที่เป็นจริง จะทำให้ประชาชนและภาคประชาสังคมหลุดลอยออกไปจากการเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่พึงมีต่อการดำเนินนโยบายสาธารณะอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งนี้เรายังไม่พูดถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นของ คสช. ที่อาศัยสภาพยกเว้น (State of Exception) เพื่อยกตนไปให้พ้นจากการตรวจสอบสาธารณะโดยอ้างเหตุผลแห่งรัฐ การดำเนินนโยบายสาธารณะ การใช้อำนาจสาธารณะจะทำให้ความมีสุขภาพดีของพัฒนาการประชาธิปไตยของประเทศเสื่อมทรามลง แทนที่จะสร้างพัฒนาการประชาธิปไตยที่ดีอย่างที่เข้าใจกัน

เรื่องนี้ประเทศตะวันตกที่ผ่านพัฒนาการการต่อสู้ความขัดแย้งในสังคม เพื่อแสวงหาศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกันของมนุษย์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์มานานจนมีข้อสรุปลงตัวแล้วว่า อำนาจเด็ดขาดจากการทำรัฐประหารไม่ใช่ทางออกแต่อย่างใดเลย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

www.facebook.com/tcijthai

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: