8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ยื่นหนังสือ คสช. ปลดบอร์ดและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) รวมถึง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ฐานทำให้ อภ. เสียหายจนอาจเกิดวิกฤตด้านยา
นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ชมรมแพทย์ชนบท เปิดเผยว่า วันนี้ (7 กรกฎาคม) หน้ากองบัญชาการกองทัพบก 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพร่วมกันไปยื่นหนังสือต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อขอให้พิจารณาปลดคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรมและผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากบริหารองค์การเภสัชกรรมจนเกิดวิกฤตด้านยา รวมทั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถเลี่ยงความรับผิดชอบนี้ได้ เพราะเป็นกรรมการบอร์ดมาตลอด
“เดิมองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำตามบทบาทหน้าที่ในเรื่องการผลิต จัดหา และจำหน่ายยาให้แก่หน่วยงานสาธารณสุขโดยเฉพาะในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ด้วยดี สามารถเพิ่มยอดจำหน่ายและทำกำไรส่งคลังได้ตามเป้าหมาย แต่คณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด) ที่มี นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เป็นประธาน และ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา เป็นผู้อำนวยการ อภ. มีพฤติการณ์ส่อว่าจะดำเนินการที่ทำให้ อภ. อ่อนแอ เพื่อประโยชน์ของธุรกิจยาข้ามชาติ มุ่งหาประโยชน์จาก อภ. และบริหารองค์กรอย่างผิดหลักธรรมาภิบาล”
ตัวแทนชมรมแพทย์ชนบทระบุว่า ในการพิจารณาปลดบอร์ดและผู้อำนวยการ อภ. ต้องปลดทั้งคณะ และที่ไปอยู่ตามบริษัทลูก รวมทั้ง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นผู้ร่วมในการทำให้เกิดความเสียหายแก่ อภ. จึงต้องปลดให้พ้นไปด้วย และไม่ควรได้รับความไว้วางใจให้กลับเข้ามาเป็นผู้แก้ปัญหาหรือเป็นกรรมการของบอร์ด อภ. อีก นพ.ณรงค์จะปัดความรับผิดชอบไม่ได้
ทางด้าน ภญ.ศิริพร จิตรประสิทธิศิริ ชมรมเภสัชชนบท เปิดเผยว่า ขณะนี้ โรงพยาบาลในต่างจังหวัดจำนวนมากเผชิญภาวะยาขาด เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมไม่สามารถส่งยาให้แก่ลูกค้าได้มากถึง 80 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลของรัฐ
“การที่ ผอ.และบอร์ดหวังที่จะแก้ปัญหาภาวะขาดทุนด้วยการสั่งงดผลิตยาจำเป็น เช่น ยาเบาหวาน ซึ่ง อภ. เป็นผู้ผลิตส่งให้ รพ. ต่างๆ ของรัฐราว 80 เปอร์เซ็นต์ของที่ใช้กับคนไข้ทั้งประเทศด้วยเหตุเพราะเห็นว่ากำไรน้อย ทั้งๆ ที่พันธกิจของ อภ.ต่อสังคมต้องไม่มุ่งเอากำไรมาก เพื่อให้โรงพยาบาลรัฐซึ่งใช้เงินภาษีของประชาชนมาซื้อยาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อ อภ. ไม่ทำหน้าที่ตามพันธกิจขององค์กร ขณะนี้ผู้เดือดร้อนคือประชาชน”
จดหมายร้องเรียนระบุว่า ตั้งแต่บอร์ด อภ. ชุดนี้ได้ไล่ผู้อำนวยการคนเก่าออกไป แต่การก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต และโรงงานวัคซีนที่ทับกวาง สระบุรี กลับดำเนินการอย่างล่าช้าและมีพฤติการณ์ส่อทุจริต โดย...
“การก่อสร้างโรงงานยาที่รังสิต นพ.พิพัฒน์ ประธานบอร์ด และ นพ.สุวัช ผอ. มีพฤติกรรมเอื้อประโยชน์แก่บริษัท Ascon Takasako ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทที่ อภ. ยกเลิกสัญญา เนื่องจากบริษัทนี้ไม่เข้ามาดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญา โดยการบีบบังคับให้คณะกรรมการจัดจ้างยกเลิกการประมูลที่ได้บริษัทที่เสนอราคาต่ำกว่าหลายล้านบาท นอกจากนี้ นพ.สุวัช ผอ. ไม่ดำเนินการขึ้นทะเบียนชื่อบริษัท Ascon Takasako เป็นผู้ละทิ้งงาน” ขณะที่การดำเนินการก่อสร้างโรงงานวัคซีนไม่คืบหน้าตามระยะเวลาที่กำหนด ทำให้บริษัทวัคซีน Kaketsuken ของญี่ปุ่นที่มาเป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่แจ้งลดระดับความช่วยเหลือ อภ. ทำให้ประเทศไทยเสียชื่อเสียงอย่างมาก
ทางด้านนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย ระบุว่า เท่าที่ทราบมา อภ. ขาดส่งยาไปยังกองทุนยาต้านไวรัสกว่า 400 ล้านบาท แม้ขณะนี้ผู้ติดเชื้อจะยังไม่ได้รับผลกระทบเพราะสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยังมีระบบสำรองยา แต่มีแนวโน้มว่า หากไม่มีการแก้ปัญหาวัตถุดิบยาเอดส์ ต่อไปคนไข้อาจขาดยา ซึ่งจะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมา คือภาวะดื้อยา ทำให้คนไข้เสียชีวิตหรือต้องไปใช้สูตรยาราคาแพง สิ้นเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ
“น่าตกใจมากที่รู้ว่า นพ. สุวัช ผู้อำนวยการ อภ. เสนอตัดงบวิจัย 45 ล้าน เพื่อแก้ปัญหาขาดทุน ถือเป็นการแก้ปัญหาโดยไม่คำนึงถึงอนาคตของ อภ. ที่ต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ดังนั้น องค์การเภสัชกรรมต้องได้รับการปฏิรูปโดยเร็วที่สุดเพื่อให้องค์การเภสัชกรรมกลับมาเป็นกำลังหลักในการดูแลระบบสาธารณสุขของประเทศ”
นอกจากนี้ ในการร้องเรียนวันพรุ่งนี้ จะมีการนำเสนอเอกสารหลักฐานที่ชี้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเงินจากกองทุนดอกพิกุลของ นพ. พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานบอร์ด
ทั้งนี้ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพที่ร่วมลงชื่อในจดหมายที่ยื่นต่อ คสช. ประกอบด้วย ชมรมแพทย์ชนบท, ชมรมเภสัชชนบท, กลุ่มศึกษาปัญหายา, กลุ่มคนรักหลักประกัน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนา และมูลนิธิเภสัชชนบท
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ