เปิดหลักฐานจนท.รัฐยัดข้อหาเตร็ดเตร่ ‘SexWorker’พัทยา-ไม่มีกฎหมายรองรับ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล TCIJ 7 ส.ค. 2557 | อ่านแล้ว 8554 ครั้ง

ไม่ว่ากฎหมายไทยจะให้การยอมรับอาชีพ ‘พนักงานบริการ’ หรือ Sex Worker หรือไม่ก็ตาม ความจริงก็คือมีผู้คนทั้งชาย หญิง เกย์ และสาวประเภทสองจำนวนมากที่อยู่ในอาชีพนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่พัทยา

และแม้ว่าการค้าประเวณีจะถือเป็นความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 อย่างไรก็ตาม โดยหลักของกฎหมายอาญาต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด หากกฎหมายมิได้ระบุว่า การกระทำใดเป็นความผิด เจ้าหน้าที่รัฐย่อมไม่สามารถเอาผิดได้

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะ TCIJ รับแจ้งจากแหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ว่า พนักงานบริการในพัทยา จ.ชลบุรี โดยเฉพาะสาวประเภทสองซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มักถูกเจ้าหน้าที่ตั้งข้อหาที่ถูกยกเลิกไปแล้ว รวมถึงข้อหาที่น่ากังขาว่า ฐานความผิดลักษณะนี้เป็นอย่างไร TCIJ จึงลงพื้นพัทยาเพื่อตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

(หมายเหตุ: ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

‘เตร็ดเตร่’ ข้อหาที่ถูกยกเลิกตั้งแต่ 2539

แหล่งข่าวในพื้นที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี ได้แสดงใบเสร็จรับเงินค่าปรับให้ผู้สื่อข่าว TCIJ ดู ซึ่งเอกสารดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ยังมีการสั่งปรับพนักงานบริการด้วยข้อหา ‘เตร็ดเตร่’ ซึ่งแหล่งข่าวกล่าวว่า ทุกวันนี้ก็ยังคงมีการจับกุมในข้อหานี้อยู่

และเมื่อตรวจสอบข้อกฎหมายพบว่า ข้อหาดังกล่าวอยู่ใน พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 มาตรา 5 ที่ระบุว่า ผู้ใด เพื่อการค้าประเวณี กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ และใน (2) ระบุว่า ‘เตร็ดเตร่หรือคอยอยู่ตามถนนหรือสาธารณะสถานในลักษณะหรืออาการที่เห็นได้ว่า เป็นการเรียกร้องการติดต่อในการค้าประเวณี’

อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 แทน โดยในมาตรา 5 กล่าวเพียงว่า

‘ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนนหรือสาธารณะสถาน หรือกระทำการดังกล่าวในที่อื่นใด เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท’

(หมายเหตุ: ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

ยันจับข้อหาเตร็ดเตร่ไม่ได้ ไม่มีกฎหมายรองรับ

นัยนา สุภาพึ่ง อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยืนยันว่า ข้อหาเตร็ดเตร่เป็นกฎหมายเก่า ซึ่งถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2539 ฉะนั้นจึงไม่ควรจะมีคำนี้อยู่แล้ว

เหตุผลในการยกเลิก พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 เป็นเพราะมีลักษณะการเลือกปฏิบัติเอาผิดต่อผู้ขาย โดยไม่ลงโทษผู้ซื้อและผู้เป็นธุระจัดหา

        “จึงเห็นว่าต้องแก้กฎหมาย เพื่อทำให้เจตนารมณ์ของกฎหมายชัดเจนว่า ถ้าจะแก้ปัญหาบังคับค้าประเวณีให้ได้ ต้องมุ่งลงโทษคนที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เช่น เอเย่นต์ พ่อเล้า แมงดา เจ้าของสถานบริการ และต้องไม่เอาผิดกับคนที่ขายบริการ เพราะคนที่ขายบริการมีปัญหาทางสังคมเศรษฐกิจที่ผลักดันให้เขาต้องอยู่ในอาชีพนี้ ถ้าจะลงโทษก็ต้องลงโทษแต่น้อย เป็นการลงโทษเพื่อจะเปิดโอกาสให้ได้รับการคุ้มครองช่วยเหลือ อันนี้เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย” นัยนากล่าว

เมื่อมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายในปี 2539 คำว่า ‘เตร็ดเตร่’ จึงถูกตัดออกไปด้วย ทว่าที่ผ่านมาข้อหาเตร็ดเตร่ยังถูกนำมาใช้กับคนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง นัยนากล่าวว่า ผู้หญิงทั้งหลายเมื่อถูกจับกุมจะพยายามให้ออกไปจากตรงนี้โดยเร็วจึงมักรับสารภาพ ขณะที่ตำรวจก็จับด้วยความเคยชิน

นัยนากล่าวยืนยันว่า โดยหลักการของกฎหมายอาญาหรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญานั้น จำเป็นที่จะต้องตีความตามตัวอักษรโดยเคร่งครัด หากกฎหมายไม่ได้ระบุว่า การกระทำใดเป็นความผิด เจ้าหน้าที่รัฐย่อมไม่สามารถตั้งข้อหานั้นได้

(หมายเหตุ: ภาพนี้เป็นเพียงภาพประกอบข่าวเท่านั้น)

ตำรวจพัทยายันยังใช้คำว่า ‘เตร็ดเตร่’

เมื่อสอบถามประเด็นนี้ไปยัง พ.ต.อ.สุภธีร์ บุญครอง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี รักษาการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา ได้รับคำตอบว่า

“(เตร็ดเตร่) มีอยู่นะครับ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 5 ก็เขียนว่า ผู้ใดเข้าติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลตามถนน หรือสาธารณะสถานเพื่อการค้าประเวณี อันเป็นการเปิดเผยหรือน่าอับอาย หรือเป็นการเดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท”

เมื่อถามว่า คำว่า ‘เตร็ดเตร่’ ไม่ได้มีอยู่ในกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว พ.ต.อ.สุภธีร์ กล่าวว่า “มันก็มีคำว่า เตร็ดเตร่ ชักชวนค้าประเวณี มันก็มีใช้คำนี้อยู่”

ข้อหา ‘กระทำการไร้ประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว’ กว้างและคลุมเครือ

นอกจากการตั้งข้อหาเตร็ดเตร่แก่พนักงานบริการแล้วผู้สื่อข่าว TCIJ ยังพบว่า มีการตั้งข้อหา ‘กระทำการไร้ประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว’

เมื่อสอบถามไปทางเมืองพัทยาก็ได้รับการยืนยันว่า มีข้อหานี้อยู่จริง โดยเป็นข้อบัญญัติเมืองพัทยา เรื่องควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว พ.ศ.2522 ข้อ 4 ที่กล่าวว่า ในสถานสาธารณะซึ่งเมืองพัทยาได้ประกาศห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ในการควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ โดยใน (5) ระบุว่า กระทำการอื่นใดอันเป็นเหตุให้เกิดการเดือดร้อนรำคาญหรือไร้ประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว

           “ข้อบัญญัติก็ไม่ได้ระบุขอบเขตไว้ แต่เป็นเรื่องของการก่อเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือไปตื๊อ ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเสียหาย” แหล่งข่าวจากสำนักงานเมืองพัทยากล่าว

ในทัศนะของนัยนาเห็นว่า ข้อหา ‘กระทำการไร้ประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว’ มีความคลุมเครือและสามารถตีความได้กว้างมาก

        “ถ้าให้ฟันธงคิดว่า ข้อหานี้ถือเป็นข้อหาที่ละเมิดสิทธิ์ ไม่เป็นธรรม และขัดรัฐธรรมนูญ (หมายถึงรัฐธรรมนูญปี 2550) แต่กระบวนการที่จะนำไปสู่การยกเลิกต้องมีการรวบรวมข้อมูลและสอบถามจากหลายๆ ฝ่าย”

กรณีของการตั้งข้อหาทั้งสองกรณีนี้ คงต้องมีการถกเถียงกันในเชิงกฎหมายและในเชิงปฏิบัติ เพื่อหาข้อยุติและสร้างบรรทัดฐานที่ถูกต้องตามหลักนิติศาสตร์ต่อไป

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์

http://www.facebook.com/tcijthai

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: